สถาบัน IMC จับมือ ATCI เผยผลสำรวจเช็คความพร้อมเทคโนโลยีก่อกำเนิดในไทย ในยุคมุ่งหน้าสู่ AEC ชี้เมืองไทยเน้นพัฒนาแอพพ์โมบายสูงสุด

สถาบันไอเอ็มซี (IMC Institute) เดินหน้าจับมือสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (ATCI) ออกผลวิจัยเช็คความพร้อมวงการไอทีไทยรับมือ 4 เทคโนโลยีใหม่สำคัญสำหรับการขับเคลื่อนธุรกิจในสถานการณ์เดินหน้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC

ผลสำรวจล่าสุดชี้ธุรกิจไทยสนใจพัฒนาซอฟต์แวร์ด้านแอพพ์โมบายสูงสุด แต่ระบบคลาวด์ยังห่างความสนใจ ในขณะที่แต่ละองค์กรยังมีจำนวนนักพัฒนาซอฟต์แวร์น้อย และพบปัญหาขาดแคลนบุคลากรมือดี และขาดแผนงานทิศทางในการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ชัดเจน

งานสำรวจชิ้นนี้ที่มีชื่อว่า โครงการวิจัยเชิงสำรวจในหัวข้อ “Emerging Technology: Thai IT Professional Readiness Survey” มีขึ้นเพื่อเตรียมรับ ความเปลี่ยนแปลงในกลุ่มของบุคลากรด้านซอฟต์แวร์ในการพัฒนาซอฟต์แวร์ด้าน Emerging Technology หรือ เทคโนโลยีก่อกำเนิดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในความเคลื่อนไหวที่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) กำลังจะเข้ามามีบทบาทอย่างเต็มที่ในปี พ.ศ.2558

การสำรวจครั้งนี้ได้เจาะลึก 4 ด้านในรายละเอียดภาพรวมศึกษาความพร้อมของบุคลากรทางด้านซอฟต์แวร์ของหน่วยงาน/องค์กร ในประเด็นต่างที่น่าสนใจ อันได้แก่ ทักษะของบุคลากรในด้านภาษาคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการเขียนโปรแกรม, ด้านการพัฒนาโมบายแอพพลิเคชั่น, ด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์บนคลาวด์เทคโนโลยี และด้านการพัฒนาเทคโนโลยีก่อกำเนิดอื่นๆ โดยมีการศึกษาในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2556 ด้วยจำนวนกลุ่มตัวอย่างกว่า 100 บริษัทในประเทศไทย

ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการ สถาบันไอเอ็มซี (IMC Institute) เปิดเผยว่า “จากผลสำรวจเห็นว่าองค์กรต่างๆตระหนักถึงความสำคัญของ Emerging Technology เพราะเห็นโอกาสทางการตลาด แต่ปัญหาสำคัญคือขาดบุคลากรที่มีความเข้าใจทางด้านนี้พียงพอ”

ภาษาหลักในงานซอฟต์แวร์ คือ PHP, Java และ .NET

ผลการสำรวจในด้านภาษาคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการเขียนโปรแกรม (Computer Programming Language) พบว่า ยังนิยมใช้ภาษาคอมพิวเตอร์ PHP, Java และ .NET โดยภาษาทั้งสามได้รับความนิยมเป็นจำนวนเกินกว่าครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างนั้น ได้แก่ PHP (65.17%), Java (62.92%) และ .NET (61.80%)

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่พบเช่นกันก็คือ จำนวนนักพัฒนาซอฟต์แวร์ในแต่ละบริษัท หรือองค์กรยังมีน้อย โดยมากน้อยกว่า 10 คน และมีเพียงไม่กี่รายที่ระบุว่ามีมากกว่า 20 คน

แอพพ์โมบายเน้น iOS และ Android

ส่วนผลสำรวจในด้านพัฒนาโมบายแอพพลิเคชั่น (Mobile Application Development) ชี้ว่าส่วนใหญ่ระบบiOS และ Android ในจำนวนที่เท่ากัน คือ 51.69% ตามมาด้วย Windows (24.72%) แต่กระแสใหม่คือ เริ่มสนใจพัฒนา HTML5 เป็นแอพพลิเคชั่นแบบ Cross Platform ในจำนวนถึง 50.56%

ที่น่าสนใจก็คือ ด้านนี้ยังมีแนวโน้มขยายตัว เพิ่มบุคลากรพัฒนาโมบายแอพพลิเคชั่นมากกว่าเทคโนโลยีด้านอื่นๆ ที่สำรวจวิจัยในคราวนี้ และเน้นความสนใจที่ขยายตัวด้าน iOS มากที่สุด

อย่างไรก็ตาม ทางด้านจำนวนบุคลากรซอฟต์แวร์ในแต่ละองค์กรยังมีบุคลากรทางด้านนี้น้อย โดยส่วนใหญ่มีน้อยกว่า 10 คนในปัจจุบัน

คลาวด์คอมพิวติ้งยังสนใจกันน้อย

ถึงแม้ว่า คลาวด์คอมพิวติ้งเทคโนโลยี (Cloud Computing Technology) ถือเป็นเทคโนโลยีที่กำลังเป็นที่สนใจกันอย่างกว้างขวางนักในกลุ่มบริษัท / หน่วยงานไทย แต่เมื่อมีการสำรวจแนวโน้มการพัฒนาซอฟต์แวร์บน Cloud Platform ก็ยังจัดว่ามีสัดส่วนที่ค่อนข้างน้อย โดยแพลตฟอร์มที่หน่วยงาน/บริษัทมีบุคลากรที่มีทักษะในการพัฒนามากที่สุดคือ Google App Engine เพียง 22.47% และ Microsoft Azure จำนวน 19.10% ตามมาด้วย Amazon Web Services (13.48%) และ Heroku (5.62%)

นอกจากแต่ละองค์กรต่างๆจะมีบุคลากรที่พัฒนาซอฟต์แวร์บน Cloud Computing น้อยกว่า 10 คน แล้ว กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ยังไม่มีแผนงานในการขยายบุคลากรซอฟต์แวร์อย่างชัดเจนนัก และน้อยมากเมื่อเทียบกับเทคโนโลยีอื่นๆ

ความสนใจเทคโนโลยีก่อกำเนิดอื่นๆ

สำหรับเทคโนโลยีก่อกำเนิดอื่นๆ ที่อยู่ในความสนใจของบริษัทไทย พบว่ามีบุคลากรพัฒนาด้าน Business Intelligence (BI) มากที่สุด ถึง 58.42% ตามด้วย Facebook Application Development (33.71%), noSQL (21.35%) และ Big Data (17.98%) อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่ยังไม่มีแผนงานอย่างชัดเจนนัก

สำหรับปัญหาในการพัฒนาเทคโนโลยีก่อกำเนิด ที่มากที่สุดที่พบก็คือ การขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะความสามารถซึ่งมีจำนวนผู้ตอบถึง 76.40% ตามมาด้วยปัญหาการขาดแคลนแหล่งความรู้ / การฝึกอบรม (49.44%), ขาดงบประมาณ (42.70%), เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนไม่สามารถก้าวตามได้ทัน (31.46%), ขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ (25.84%), ยังมองไม่เห็นโอกาสทางการตลาด (16.85%) ตามลำดับ

“สถาบัน ไอเอ็มซี ได้เริ่มเน้นการพัฒนาบุคลากร ในสาขาเทคโนโลยีก่อกำเนิด ตั้งแต่ต้นปี 2556 และสานต่อแผนการสำหรับเติมความพร้อมของบุคลากรไทย ไปเวที AEC หรือ เวทีโลก อย่างเข้มข้นมากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จาก หลักสูตรการอบรมทางด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่น่าสนใจ การร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Cloud Credential Coucil, Asia Cloud Association, IEEE, และ พันธมิตรในประเทศไทยอีกหลายส่วน ไม่ได้จำกัดแต่ความรู้ หรือทักษะในแง่เทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังดึงเอา Softskill การบริการโครงการ การคิดสร้างสรรค์ มาจัดเป็นหลักสูตร ให้บุคลากรไทยมีความพร้อมครบทุกด้าน” ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ กล่าว