กสิกรไทย แนะไทยรับมือยุคการลงทุนเคลื่อนย้าย จัดงาน International Summit & Business Matching 2013 พบปะนักลงทุนไทย-เทศ

พลวัตการลงทุนปรับโฉม ต่างชาติเริ่มกระจายการลงทุน ญี่ปุ่นชูนโยบายไทยบวกหนึ่ง กสิกรไทยแนะศึกษาแต่ละประเทศก่อนลงทุน พร้อมตอกย้ำการเป็นคู่พันธมิตรธุรกิจต่างประเทศในตลาด AEC+ จัดงาน International Summit & Business Matching 25 – 26 พ.ย. ดึงพันธมิตรจากญี่ปุ่น เกาหลี อาเซียน และยุโรป จัดจับคู่ธุรกิจ เพิ่มโอกาสการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ คาดผู้ร่วมงานกว่า 300 บริษัท และจับคู่ธุรกิจกว่า 400 คู่ธุรกิจ

นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันอาเซียนยังเป็นเป้าหมายการลงทุนที่น่าสนใจของนักลงทุนจากทั่วโลก เนื่องจากเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่และมีศักยภาพสูงในระยะยาว ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า จีดีพีของอาเซียนในปีนี้น่าจะเติบโตประมาณ 4.7 – 5.3% โดยมีกรณีฐานที่ 5.1% อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 3.9 – 4.2%

ปัจจุบันทุกประเทศในอาเซียนต่างแข่งขันดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐ ยุโรป และจีน โดยแต่ละประเทศก็มีข้อได้เปรียบและความพร้อมที่ไม่เท่ากัน โดยปัจจัยหลักๆ ได้แก่ ค่าแรงที่มีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ การเปิดกว้างของนโยบายการลงทุน อย่างไรก็ตาม การลงทุนจากนักลงทุนภายในกลุ่มอาเซียนยังเป็นผู้ลงทุนสำคัญ โดยคิดเป็น 23%ของการลงทุนทั้งหมดในปี 2554 ส่วนการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนนอกกลุ่มอาเซียนมีความหลากหลายในอุตสาหกรรมมากขึ้น แสดงให้เห็นว่ากลุ่มประเทศอาเซียนมีความพร้อมในการรองรับห่วงโซ่ (Chain) การผลิตทั้งกระบวน ซึ่งถือว่าเป็นศูนย์กลางการผลิต (Production Hub) ที่สำคัญของโลก

ประเทศที่เป็นฐานการผลิตและแหล่งวัตถุดิบที่สำคัญได้แก่ CLMV+I หรือ กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม และอินโดนีเซีย โดยเน้นที่ 3 อุตสาหกรรมใหญ่ ๆ ได้แก่ อุตสาหกรรมการเกษตร เช่น ข้าว ยางพารา น้ำตาล ข้าวโพด อุตสาหกรรมพลังงานและแร่ธาตุ และอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงาน เช่น สิ่งทอ รองเท้า เครื่องหนัง เครื่องประดับ โดยกลุ่มประเทศเหล่านี้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มากกว่า 5% รวมทั้งมีกำลังซื้อที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ อินโดนีเซีย ยังมีความน่าสนใจ เนื่องจากไทยเป็นคู่ค้าอันดับสองในอาเซียนของอินโดนีเซีย โดยสินค้าหลักๆ ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วน เครื่องจักรและชิ้นส่วน น้ำตาล และพลาสติก แต่นักลงทุนไทยต้องระวังเรื่องค่าเงิน และผลกระทบอื่นๆ ที่เกิดจากนโยบาย QE ให้มาก เนื่องจากหากค่าเงินรูเปี๊ยะอ่อนค่าลงมาก ส่งผลให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากอินโดนีเซียเป็นประเทศที่ส่งออกต่ำ และเน้นการนำเข้าเพื่อบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก ซึ่งผลกระทบโดยรวมของสินค้าออกจากไทยไปอินโดนีเซียอาจจะชะลอลงหากกำลังซื้อของคนอินโดนีเซียลดลง แต่ปัจจุบันรัฐบาลอินโดนีเซียได้ออกนโยบายให้ต่างชาติเข้าไปลงทุนได้ง่ายขึ้นกว่าที่ผ่านมา

สำหรับประเทศไทย จะเป็นศูนย์กลางทั้งทางด้านการค้าชายแดน และด้านการขนส่ง ซึ่งถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่อยู่ตรงกลางของอาเซียนตอนบน ซึ่งการค้าชายแดนกับประเทศ CLMV เพิ่มขึ้นที่เฉลี่ย 7.5% ต่อปี โดยคาดว่าจะมียอดค้าชายแดนที่ 5.4 แสนล้านบาทในปีพ.ศ.2558 ทั้งนี้ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นนักลงทุนรายใหญ่สุดของไทย ได้มีการปรับกลยุทธ์การลงทุนจากเดิมที่ใช้ China Plus One Strategy เปลี่ยนมาเป็น ใช้ไทยเป็นฐานการลงทุนและผลิต หรือ Thailand Plus One Strategy โดยจะยังคงการผลิตและการจัดการในไทย แต่จะเพิ่มฐานการผลิตในประเทศอื่นอีกหนึ่งประเทศ โดยมีประเทศเป้าหมายได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนาม และพม่า

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยในบางอุตสาหกรรมอาจจะมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาเรื่องการย้ายฐานการผลิต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการผลิตและการแข่งขันในตลาด ไม่ว่าจะย้ายฐานไปยังประเทศเพื่อนบ้านในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงาน โดยการนำเทคโนโลยีจากประเทศไทยเข้าไปใช้ นอกจากนี้ มุมมองในการทำธุรกิจควรมีการปรับเปลี่ยน โดยใช้ฐานการผลิตร่วมกันให้เกิดประโยชน์ และมีการปรับให้เข้ากับความเหมาะสมของแต่ละประเทศด้วย โดยการเลือกคู่ค้าหรือผู้ร่วมลงทุนที่ดี เชื่อถือได้ เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง

นายทรงพล กล่าวว่า เพื่อเป็นการสนับสนุนการค้า การลงทุนในประเทศไทยและอาเซียน ธนาคารกสิกรไทย จะจัดงาน International Summit & Business Matching 2013 ระหว่างวันที่ 25 – 26 พฤศจิกายน 2556 โดยร่วมกับธนาคารพันธมิตรกว่า 30 แห่งจากประเทศญี่ปุ่น เกาหลี เยอรมนี อิตาลี เวียดนาม อินโดนีเซีย กัมพูชา และลาว ซึ่งจะช่วยตอกย้ำความร่วมมือในเชิงลึกของธนาคารพันธมิตร ทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ แก่ผู้ประกอบการไทยและต่างชาติที่ต้องการเข้าไปลงทุนในประเทศต่างๆ รวมถึงการจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ เพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายการค้า การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างธนาคารพันธมิตรในด้านของเศรษฐกิจ การลงทุนในแต่ละประเทศ และการอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าเข้ามาใช้สถานที่ในพื้นที่ของธนาคารพันธมิตรเพื่อติดต่อธุรกิจต่างประเทศ

ทั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทยคาดว่า จะมีผู้ประกอบการเข้าร่วมงานกว่า 300 บริษัท ในด้านอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเทคโนโลยีด้านอาหาร และอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค จากประเทศญี่ปุ่น ไทย เกาหลีกัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม อินโดนีเซีย อิตาลีและเยอรมัน คาดว่าจะมีการจับคู่ธุรกิจกว่า 400 ธุรกิจ ผู้สนใจเข้าร่วมงาน Business Matching 2013 หรือ ติดต่อเรื่องการจับคู่ธุรกิจทั่วไป สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ K-Biz Contact Center โทร.0 2888 8822 หรือ ศูนย์ K Global Business Center ที่อีเมล์แอดเดรส [email protected]