ต้องยอมรับว่าตอนนี้ โซเชียลมีเดียมีผลกับพฤติกรรมคนไทยในหลายๆ ด้าน และยังมีอิทธิพลอย่างมากต่อหลายๆ วงการทั้งบันเทิง ธุรกิจ รวมไปถึง “การเมือง” ทำให้เกิดการรวมตัวของคนที่มีความคิดแบบเดียวกัน และหลายครั้งที่มันส่งผลถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศอีกด้วย อย่างประเทศในกลุ่มอาหรับ และเช่นเดียวกันกับเมืองไทย โซเชียลมีเดียกลายเป็นช่องทางที่คนไทย ใช้พูดคุย แลกเปลี่ยน ระดม และสื่อสารคนที่มีแนวความคิดเหมือนกัน
ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการ บริษัท Zocial Incได้จับกระแสคนไทยในโลกออนไลน์ โดย ZocialEye.com ในช่วงเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา (12 ต.ค. – 11 พย. 2556) เกี่ยวกับการรวมตัวคัดค้าน พรบ. นิรโทษกรรม โดยจับจากข้อความการพูดคุยสื่อสารกันในโลกออนไลน์อย่างเช่น Facebook, Twitter, Instagram เว็บบอร์ดต่างๆ และ Blog
ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลเพียงบางส่วนที่สะท้อนมาให้เห็นถึง การใช้ Social Media ของคนไทย ในม็อบการเมืองครั้งนี้ ที่สื่อโซเชียลมีเดีย มีอิทธิพลสูงมาก และกลายสภาพเป็น “สื่อหลัก” ที่คนใช้รับข้อมูลข่าวสาร แทนสื่อดั้งเดิม
“เห็นได้ชัดเจนเลยว่า สื่อโซเชียล มีเดีย มีบทบาทกับผู้บริโภคมากกว่า สื่อดั้งเดิม ทั้งในเรื่องความเร็ว และข้อมูลข่าวสาร เมื่อผู้บริโภค สามารถเป็นทั้งผู้รับ และผู้ผลิตสื่อได้เอง มีการโพสท์ภาพ และข้อความผ่านเฟซบุ้ค ทวิตเตอร์ คนส่วนใหญ่ก็หันไปบริโภคข่าวผ่านสื่อเหล่านี้แทน เป็นปรากฎการณ์ที่เห็นได้ชัดเจน” ดั่งใจถวิล อนันตชัย นายกสมาคมวิจัยการตลาดแห่งประเทศไทย
เมื่อ หลายคนใช้พื้นที่บน Social Media ของตนเอง เป็นพื้นที่ในการแสดงออกความคิดเห็นของตัวเอง ซึ่งมันทำให้เกิดการบอกต่อและการโน้มน้าวเพื่อนๆ รอบๆ ตัวได้อย่างไม่ยาก
ในขณะเดียวกันในการสื่อสารบนโลกออนไลน์ย่อมมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ที่เราอาจจะเห็นภาพการทะเลาะเบาะแว้งกันทาง Social Media อยู่บ่อยครั้ง แต่สิ่งที่สำคัญคือ ต้องใช้วิจารณญาณให้มากกว่าเดิม โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดกระแสเหตุการณ์ เพราะจะมีข่าวจริง ข่าวเท็จออกมามากมาย ซึ่งยังไม่มีการพิสูจน์ข้อเท็จริง