นีลเส็นเจาะลึกพฤติกรรมนักช้อป “ผู้หญิง คนชั้นกลาง เด็ก และคนสูงอายุ” 4 กลุ่มผู้บริโภคต้องจับตา…เทรนด์โมบายช้อปปิ้งมาแรง นิยมล่าดีลราคาถูก ….สาวโสดไทย ลูกค้าชั้นดี กำลังซื้อสูง
ปัจจุบันผู้บริโภคไม่เพียงแต่มีความฉลาดขึ้น แต่ยังรู้เท่าทันแบรนด์สินค้ามากขึ้น เพราะผู้บริโภคในปัจจุบันนี้มีสื่ออยู่ในมือมากมาย และสื่อที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดคือ “ปากต่อปาก” ไม่ว่าแบรนด์นั้นจะดีหรือไม่ดี เขาพร้อมที่จะส่งต่อความรู้สึกนั้นต่อเพื่อนฝูงและคนรอบข้างได้ทันที และนี่เอง “นีลเส็น คอมปะนี ประเทศไทย” ได้เจาะลึก พฤติกรรมผู้บริโภคของไทยว่ามีแนวโน้มไปในทิศทางใด
คอนนี่ เชง หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการสนับสนุนลูกค้า นีลเส็น คอมปะนี ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก กล่าวว่า “ในการจะทำสินค้าให้ประสบความสำเร็จในตลาดนั้น และทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกซื้อนั้น สิ่งที่จำเป็นที่ต้องรู้ก่อนคือ Who/What/How”
3 กลุ่มนักช้อปที่ต้องจับตา
จากคนทั่วโลก แต่มีเพียงผู้บริโภค 3 กลุ่ม ที่นักการตลาดต้องให้ความสนใจมากในตอนนี้นั่นคือ
– กลุ่มผู้หญิง (Female Shoppers) 2 ใน 3 ของผู้หญิงทั่วโลกเป็นผู้ตัดสินใจในการซื้อสินค้า เป็นกุญแจสำคัญในการช้อปปิ้ง โดยในเอเชียผู้หญิง 49% เป็นคนตัดสินใจในเรื่องอาหารการกิน แต่ในเรื่องของสินค้าอุปโภค Health & Beauty เขามีอำนาจตัดสินใจถึง 65%
– กลุ่มคนชั้นกลาง (Middle Class) ตอนนี้มีการเติบโตสูง ในเอเชียมีมากถึง 59% ส่วนในตอนนี้ประเทศไทศมีอยู่ 43% คาดว่าในปี 2020 จะมีกลุ่มคนชั้นกลางเพิ่มขึ้นถึง 57% (ข้อมูล : National Statistical Office) วิธีที่จะ Engage กับกลุ่มลูกค้ากลุ่มนี้ อาจจะทำได้หลายวิธี ซึ่งตอนนี้หลายๆ คนต้องการสินค้าพรีเมียม แต่คนกลุ่มนี้ต้องการสินค้าพรีเมียมที่สามารถเข้าถึงได้ ไม่ได้ราคาสูงเกินไป เขายอมที่จะจ่ายประมาณเพิ่ม 20% เมื่อเทียบกับราคาที่จ่ายในปัจจุบัน สามารถทำได้โดยใส่ดีไซน์ใน Packaging ให้ดูดี ทำให้เขาสะดุดตามากขึ้น หรือเป็นการให้เขาได้ทดลองสินค้าใหม่ๆ
– กลุ่มเด็กและคนแก่ (Young & Old) สำหรับกลุ่มนี้ต้องให้ความสะดวกสบายในเรื่องของสถานที่ เช่น การเดินเข้าร้าน มีป้ายที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน หรือในอนาคตตำแหน่งของชั้นวางสินค้าอาจจะต้องต่ำลงเพราะคนอายุมากขึ้นจะหลังค่อม
เทรนด์สุขภาพยังแรง
เมื่อพิจารณาว่าผู้บริโภคต้องการอะไร? พบว่า ผู้บริโภคในปัจจุบันให้ความสนใจกับสุขภาพเพิ่มมากขึ้น เทรนด์สินค้า Health & Wellness จึงกำลังมาแรงมากในขณะนี้
จากสถิติ 50% ของคนทั่วโลกจะน้ำหนักเกินมาตรฐาน ซึ่งในทวีปเอเชียเองก็มีคนน้ำหนักเกินถึง 40% ในหลายๆ ประเทศมีการออกนโยบายใหม่ๆ ออกมา เช่น เพิ่มฉลากควบคุมปริมาณน้ำตาล จำกัดการกินหวาน
และผู้ซื้อยอมที่จะเสียเงินกับสินค้าเพื่อสุขภาพ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ เขาพร้อมที่จะจ่ายสำหรับสินค้าที่ “Adding a Benefit” สิ่งที่ได้คุณประโยชน์เพิ่มขึ้น เช่น เสริมโปรตีน แคลเซียม หรือไฟเบอร์ มากกว่าที่จะจ่ายเงินให้กับ “Reducing a Negative” หรือสิ่งที่ลดน้อยลง เช่น ลดเกลือ ลดไขมัน เป็นต้น
จับตาโมบายช้อปปิ้ง
ตอนนี้เข้าสู่โลกดิจิตอลมากขึ้น สมาร์ทโฟนในประเทศไทยก็โตขึ้นอย่างมาก Mobile Shopping เลยเข้ามามีบทบาทสำคัญ เช่น ในประเทศอินเดียที่มีประชากรเยอะมาก ทำให้ Retailer ไม่สามารถเข้าถึงได้หมด การช้อปปิ้งผ่านมือถือเลยมีส่วนร่วมอย่างมาก
นอกจากนี้ ชาวเอเชียมักใช้การช้อปปิ้งออนไลน์สำหรับการหาสินค้าลดราคามากกว่าทั่วโลกอีกด้วย เรียกว่าชาวเอเชียเป็นนักล่าหาดีล และคนเอเชียจะชอบบอกต่อเยอะ ถ้ามีประสบการณ์ที่ดีก็จะมาบอกต่อเพื่อน เป็นอีกหนึ่งความน่าสนใจที่นักการตลาดควรหยิบยกไปใส่ในแบรนด์ตัวเอง
เออีซีโอกาสของไทย
ยงยุทธ องค์วัฒนะพัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายดัชนีบริโภคค้าปลีก นีลเส็น คอมปะนี ประเทศไทย กล่าวว่า “มีปัจจัยหลายๆ อย่างที่จำส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคของชาวไทย ที่เห็นได้ชัดคือการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน หรือ AEC อันนี้มีโอกาสทางธุรกิจมากมาย ทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างไม่มีข้อจำกัด แต่นอกจากนั้นยังมีอีก 3 ปัจจัยใหญ่ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน”
สาวโสด..ลูกค้าชั้นดี กำลังซื้อสูง
เมื่อเจาะลึกถึง กลุ่มผู้บริโภคของไทย ที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ นีลเส็น ชี้ให้เห็นถึง กลุ่มผู้หญิง ที่มีบทบาทสำคัญ อันนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครอบครัว รายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นมากกว่าผู้ชาย และวิถีชีวิต ที่เปลี่ยนไป 3 ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในประเทศไทย
1. โครงสร้างครอบครัว (Family Structure)
ปัจจุบันในประเทศไทยมีครอบครัวเล็กลง เพราะคนมีลูกน้อยลง จากที่แต่ก่อนหนึ่งบ้านมีลูกประมาณ 3-4 คน แต่ในปัจจุบันมีแค่ 2 คนเท่านั้น และตัวเลขของคนที่ไม่มีครอบครัวก็เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย สัดส่วนคนโสดไม่มีครอบครัวอยู่ที่ 12.6% ครอบครัวที่ไม่มีลูก 15% และ Single Parent 7.6% มีอัตราการหย่าร้างที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ (ข้อมูล : National Statistic Office)
อำนาจของผู้หญิงเป็นผู้ตัดสินใจทุกอย่างในบ้าน เป็นคนที่จับจ่ายซื้อสินค้าเข้าบ้าน ผู้หญิงเริ่มเป็นช้างเท้าหน้ามากขึ้น ผลสำรวจพบว่า ครอบครัวที่มีผู้หญิงเป็นหัวหน้าครอบครัวในประเทศไทยมีถึง 33% และจากเดิมที่มีรายได้น้อยกว่าผู้ชาย 4.4% กลายเป็นมีรายได้มากกว่าผู้ชาย 1.4% ในปัจจุบัน และเป็น Working Women เพิ่มขึ้น 7.6% (ข้อมูล : National Statistic Office)
เมื่อการแพทย์มีการพัฒนา ในปัจจุบันอายุเฉลี่ยของคนไทยเพิ่มขึ้นจาก 72 ปี เป็น 77 ปี มีอัตราผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น 37% และอัตราคนแก่ทำงานหลังเกษียนเพิ่มขึ้นจาก 5.9% เป็น 8.4% (จากปี 2001-2012) ในขณะที่อัตราการเกิดน้อยลง เพิ่มขึ้นเพียงแค่ 4% เท่านั้น (จากปี 2000 – 2012)
ถ้ามองให้ดีแล้ว ตัวเลขจากวงจรชีวิตเหล่านี้เป็นช่องทางที่จะสามารถเพิ่มโอกาสให้แก่หลายธุรกิจเลยทีเดียว เช่น ธุรกิจสถานพยาบาล อาหารเสริม และผลิตภัณฑ์ Health & Beauty สินค้าลดเลือนริ้วรอยต่างๆ เป็นต้น ซึ่งธุรกิจเหล่านี้มีเปอร์เซ็นต์การเติบโตสูงขึ้น และเป็นที่น่าจับตามองเป็นอย่างมาก
2. รายได้ (Disposable Income)
พบว่ารายได้เฉลี่ยต่อครอบครัวเพิ่มมากขึ้น จาก 18,660 บาท เป็น 23,236 บาท นับว่าเพิ่มขึ้น 6% ส่วนถ้าเป็นรายได้ที่หักค่าใช้จ่ายแล้ว โตขึ้น 9% จาก 4,160 บาท เป็น 5,833 บาท แต่ในขณะเดียวกันค่าใช้จ่ายก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน 5% จาก 14,500 บาท เป็น 17,403 บาท (ข้อมูล : National Statistic Office จากปี 2007 – 2011)
3. วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป (Condition of Living)
ปี 2000 การทำงานในภาคบริการมี 55% ส่วนในภาคเกษตรกรรม 45% แต่ในปัจจุบันแนวโน้มการทำงานในภาคบริการสูงขึ้น เพิ่มเป็น 59% อีกทั้งยังมีรายได้ที่มากกว่าภาคเกษตรกรรมถึง 3 เท่าตัว คือรายได้เฉลี่ย 12,777 บาทต่อเดือน แต่อาชีพเกษตรกรรมมีรายได้ 5,517 บาทเท่านั้น ทำให้หลายคนหันเหความสนใจเข้ามาทำงานในเมืองมากยิ่งขึ้น