ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี ห่วงผู้บริโภคเริ่มประสบภาวะเงินสดขาดมือ พบอัตราการเพิ่มขึ้นของการกดเงินสดจากบัตรเครดิต ที่แม้ต้องจ่ายอัตราดอกเบี้ยอัตราสูงลิ่ว
สภาวะเศรษฐกิจที่แผ่วลงชัดเจนในไตรมาสสาม จากการเติบโตของเศรษฐกิจที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 2.7 เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงอีกจากการขยายตัวที่ค่อนข้างต่ำอยู่แล้วที่ในระดับร้อยละ 2.9 ในไตรมาสสอง ส่งผลให้ดัชนีการค้าปลีกหดตัวร้อยละ 5.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
นับเป็นครั้งแรกในรอบสี่ปีที่ดัชนีค้าปลีกหดตัว (ไม่นับการหดตัวในไตรมาส 4/54 ที่เกิดเหตุสุดวิสัยน้ำท่วมใหญ่) เมื่อพิจารณาในรายละเอียดพบว่า ยอดขายห้างสรรพสินค้า ที่ย้อนสถิติกลับไปในช่วงสิบปีไม่เคยหดตัวเลย แต่ก็กลับหดตัวร้อยละ 0.9 ขณะที่ยอดขายปลีกเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนและเฟอร์นิเจอร์ที่ออกอาการหดตัวราวร้อยละ 1 ทั้งสองไตรมาสแรกปีนี้ ก็ยิ่งหดตัวมากขึ้นเป็นร้อยละ 5 ในไตรมาสที่ 3 สัญญาณดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าประชาชนต้องลดการบริโภคลงจากภาวะรายได้ที่จะไม่พอกับรายจ่ายที่มากขึ้น
ทั้งนี้ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี สังเกตเห็นสัญญาณที่แสดงถึงการที่ประชาชนบางส่วนอาจประสบกับปัญหาภาวะเงินสดขาดมือมากขึ้นจากข้อมูลที่สามารถสะท้อนถึงสถานการณ์ดังกล่าวได้ในระดับหนึ่งคือ การกดเงินสดจากบัตรเครดิตที่กลับมาเพิ่มขึ้นแบบต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงกลางปี 2555 ถึงแม้ในช่วงสองเดือนสุดท้ายของปี 2555 จะมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยเป็นผลของฐานต่ำจากเหตุการณ์อุทกภัยในปี 2554 แต่อัตราการขยายตัวในช่วงที่ผ่านมาในปีนี้นั้น ก็อยู่ในระดับสูงกว่าช่วงก่อนและหลังเกิดวิกฤติซับไพรม์ในปี 2551 อย่างต่อเนื่องอีกด้วย
และเมื่อเปรียบเทียบอัตราการเติบโตเฉลี่ยจากปีก่อนของการกดเงินสดในช่วงเก้าเดือนแรกของปีนี้ จะสูงถึงร้อยละ 13 ขณะที่ในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2555 มีอัตราเพิ่มจากปีก่อนเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น
นอกจากนั้น ความแตกต่างระหว่างอัตราเพิ่มของการกดเงินสดกับของการรูดบัตร ที่ส่วนใหญ่จะติดลบ ยกเว้นช่วงที่เศรษฐกิจเกิดปัญหาอย่างตอนวิกฤติซับไพรม์ ก็กำลังมีลักษณะเช่นนั้นอีกในช่วงนี้
ทั้งนี้ เนื่องจากการใช้บัตรเครดิตจะมีอยู่สองกรณี คือ การรูดบัตรเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการ และ การกดเงินสด ซึ่งการใช้งานจะต่างกัน การใช้บัตรเพื่อการกดเงินสด จะถูกเก็บดอกเบี้ยเงินกู้เป็นอัตราสูงถึงร้อยละ 20 ต่อปี แม้ว่าจะมีการชำระเต็มจำนวนก็ตาม และด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูงถึงขนาดนี้ ทำให้มองได้ว่า ย่อมไม่มีใครต้องการที่จะจ่ายอย่างแน่นอนหากไม่มีความจำเป็นอันเนื่องมาจากเงินสดขาดมือ
เมื่อเปรียบเทียบอัตราการเพิ่มของการกดเงินสดกับอัตราการเพิ่มของการใช้บัตรซื้อสินค้าในแต่ละประเภทของกลุ่มลูกค้า พบว่า กลุ่มลูกค้าบัตรเครดิต Non-Bank มีอัตราเพิ่มของการกดเงินสดมากกว่าอัตราการเพิ่มของการชำระค่าสินค้าเป็นพิเศษ โดย กลุ่มลูกค้าดังกล่าวซึ่งมีรายได้เฉลี่ยน้อยกว่าลูกค้าบัตรเครดิตของธนาคารพาณิชย์ทั่วไป ทำให้มีโอกาสที่จะประสบปัญหาเงินสดขาดมือได้มากกว่า
อย่างไรก็ตาม คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการกดเงินสดผ่านบัตรเครดิตที่เพิ่มในอัตราเร่งขึ้นของลูกค้าทั้งของธนาคารพาณิชย์ และ Non-Bank ทำให้การกดเงินสดมีบทบาทมากขึ้นสำหรับยอดสินเชื่อบัตรเครดิตที่ยังขยายตัวสูงต่อเนื่องในช่วงปีนี้ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับในอดีตที่การใช้บัตรเพื่อซื้อสินค้าจะมีบทบาทมากกว่าแม้การบริโภคในประเทศจะมีการชะลอตัวลงอย่างชัดเจนก็ตาม จึงเป็นข้อมูลที่อาจบ่งชี้ได้ว่า ผู้บริโภคบางกลุ่มเริ่มมีสัญญาณเงินสดขาดมือแล้ว