อินเด็กซ์ฯ บุกหนักตลาดพม่า เปิดไอซีเว็กซ์ เน้นงานแฟร์

 

 

ด้วยสถานการณ์ปัญหาทางการเมืองที่ไม่นิ่งมาหลายปี บวกกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ไม่สู้ดีนัก ส่งผลให้ตลาดอีเว้นท์ในเมืองไทยในปี 2556 ที่ผ่านมาดิ่งลงราว 10% ภาพรวมมูลค่าตลาดอยู่ที่ 13,500 ล้านบาท ซึ่งในปี 2555 ก็ตกลงมา 20% 

อีกทั้งการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ก็เป็นแรงผลักดันให้หลายบริษัทต่างถีบตัวเองเพื่อเตรียมความพร้อมสู่สนาม AEC ให้ได้ “Index Creative village” บริษัทอีเว้นท์เอเจนซี่รายใหญ่ของไทยบุกหนักตลาดประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า คลอดบริษัทใหม่ “ไอซีเว็กซ์ (ICVeX)” เน้นตลาดงานแฟร์และงานแสดงสินค้าแบบครบวงจร

เกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “เศรษฐกิจในประเทศพม่ามีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปีที่ผ่านมาอัตราการเติบโตของ GDP ในประเทศ โตขึ้นถึง 6.5% และจากการที่พม่าเปิดประเทศ ทำให้มีอัตราการลงทุนในพม่าเพิ่มขึ้นอย่างสูง โดยนักลงทุนจากประเทศไทยไปลงทุนเป็นอันดับ 2 รองจากประเทศจีน รวมไปถึงปัจจัยจากตลาดอีเว้นท์ในประเทศก็ลดลงจากสถานการณ์บ้านเมืองที่ไม่แน่นอน เราจึงต้องกระจายความเสี่ยงในการลงทุนในต่างประเทศ”

ก่อนหน้านี้อินเด็กซ์ฯ ได้ขยายตลาดสู่พม่าได้เปิดบริษัทใหม่ บริษัท เมียนมาร์ อินเด็กซ์ ครีเอทีฟวิลเลจ จำกัด (Myanmar Index Creative Village) หรือ MICV โดยจับมือกับพาร์ทเนอร์ บริษัท ฟอร์เอฟเวอร์ กรุ๊ป สื่อมวลชนชั้นแนวหน้าของพม่า หรือเทียบกับช่อง 3 ช่อง 7 ในประเทศไทยท ได้ให้บริการด้านการบริหารจัดการงานอีเว้นท์ และกิจกรรมการตลาด มีสำนักงานตั้งอยู่ที่เมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า

โดยมีบริษัทในเครือ 5 บริษัทในประเทศพม่า คือ 1. บริษัท เมียนมาร์ อินเด็กซ์ ครีเอทีฟวิลเลจ จำกัด 2. บริษัท อีเว้นท์ โซลูชั่น จำกัด 3. บริษัท ฟอร์เอฟเวอร์ อีเว้นท์ โซลูชั่น จำกัด 4. บริษัท เอ็นไวโรเซล 5. บริษัท ไอซีเว็กซ์ จำกัด (ICVeX) 

ในปัจจุบันทางอินเด็กซ์มีรายได้จากบริษัทต่างประเทศประมาณ 10-15% ตั้งเป้าภายใน 3-5 ปี บริษัทต่างประเทศจะทำรายได้ให้บริษัทถึง 50% โดยให้พม่าเป็นพระเอกหลัก ซึ่งรายได้จากประเทศพม่าในปีที่แล้วอยู่ที่ 100 ล้านบาท มีอัตราเติบโต 10% คาดว่าปีนี้เปิดบริษัทใหม่ ICVeX จะสามารถโกยรายได้ถึง 250 ล้าน 

การขยายการลงทุนในประเทศพม่าของอินเด็กซ์ครั้งนี้ ได้วางยุทธศาสตร์ 5 ข้อเป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจของบริษัท คือ 1. งานด้านอีเว้นท์มาร์เก็ตติ้ง (Event Marketing) รับจัดงานอีเว้นท์และวางกลยุทธ์ทางการตลาดให้ลูกค้า 2. งานด้านการจัดเฟสทีฟ อีเว้นท์ (Festive Event) คือ การจัดงานในเทศกาลต่างๆ ในพม่าให้มีความเป็นสากลมากขึ้น เช่น งานเค้าท์ดาวน์ขึ้นปีใหม่ 3. งานด้านการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคผ่านงานวิจัย (Consumer insight: Research) โดยบริษัทในเครือ คือ เอ็นไวโรเซล (ไทยแลนด์) สำรวจพฤติกรรมการบริโภคของคนพม่า เพื่อใช้ในการศึกษาข้อมูลตลาด 4. การสร้างช่องทางในการสื่อสารแบบผสมผสาน (Integrated media platform) คือ สร้างแพลตฟอร์มการสื่อสารในรูปแบบ Mass Media (กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินงาน) 5. การจัดงานแฟร์ และเอ็กซิบิชั่นทุกรูปแบบ (Professional Exhibition Organizer) ด้วยการก่อตั้งไอซีเว็กซ์ 

ทั้งนี้ได้มีการแต่งตั้ง นุชรินทร์ ภารดีวิสุทธิ์ ผู้คว่ำหวอดในวงการ Exhibition มากกว่า 15 ปี เป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอซีเว็กซ์ จำกัด (ICVeX) 

“เศรษฐกิจที่พม่าที่กำลังขยายตัวอย่างมาก แต่ผู้ประกอบการหลายคนยังไม่รู้จะเริ่มต้นบุกตลาดยังไง เราเลยคิดว่างานแสดงสินค้า หรืองานแฟร์ ถือว่าเป็นช่องทางธุรกิจที่จะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างชัดเจน ทำให้ได้พบผู้ประกอบการของไทย ซึ่งพม่าก็ติดปัญหาที่ไม่มีที่จัดงาน เราก็เลยไปสร้าง Myanmar Exhibition Park (MEP) เพื่อเป็นฮอลล์แสดงสินค้า โดย โดยไอซีเว็กซ์ จะเป็นเซอร์วิสให้บริการในด้านการบริหารจัดการงานแสดงสินค้าสำหรับผู้ประกอบการคนไทยต้องการไปแสดงสินค้าที่พม่า โดยงานแสดงสินค้าจะเน้นที่ผู้ประกอบการไทย 80% และผู้ประกอบการต่างชาติ 20%” นุชรินทร์ กล่าว

ในปีนี้ไอซีเว็กซ์ได้มีการจัดเตรียมงานแสดงสินค้าสำหรับธุรกิจต่างๆ 6 ประเภท

1. งานมหกรรมยานยนตร์และอุปกรณ์รถยนต์ (Myanmar Auto Plus, Automobile & Auto Salon) 

2. งานมหกรรมครบเครื่องเรื่องโรงแรม ร้านอาหาร และการจัดเลี้ยง (Myanmar HoReCa (Hotel-Restaurant-Catering)) 

3. งานเทศกาลอาหารและเครื่องดื่มนานาชาติ (Myanmar International Food & Beverage) 

4. งานมหกรรมความรู้และการศึกษา (Myanmar International Education Fair (MIE)) 

5. งานเพื่อสุขภาพ อาหารและยา (Myanmar MediHealth & Wellness) 

6. งานมหกรรมการที่อยู่อาศัยและของแต่งบ้าน (Myanmar Architect & Dcor) 

สำหรับการแข่งขันในตลาดพม่า นุชรินทร์เล่าว่า มีการลงทุนของหลายประเทศทั้งสิงคโปร์ มาเลเซีย จีน เวียดนาม หรือจะเป็นบริษัทโซนยุโรปอย่างประเทศอังกฤษก็มีเข้าไปทำงานแฟร์บ้างแล้ว โดยเข้าไปในโมเดลคล้ายๆ กันคือนำผู้ประกอบการของประเทศตนเองเข้าไป 

แต่ประเทศไทยจะได้เปรียบตรงที่มีสินค้าที่มีคุณภาพ เป็นผู้นำในภาคการผลิตไม่ว่าจะเป็นด้านอาหาร เครื่องดื่ม ยานยนต์ เรียกว่าป็น Asians hub สินค้าไทยจะได้ภาษีที่ดีกว่าสินค้าจากประเทศจีนแน่นอน ส่วนประเทศสิงคโปร์แม้จะมีความพร้อมหลายๆ ด้าน แต่ก็ไม่ใช่ประเทศผู้ผลิตโดยตรง เป็น Distributer มากกว่า

อีกทั้งกำลังซื้อของคนพม่าสูงขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้เศรษฐกิจในพม่าเติบโตขึ้นตามลำดับ เปรียบเทียบได้จาก “ดัชนีไข่” (ข้อมูลจาก CP) โดยในปี 2010 คนพม่ามีการบริโภคไข่เพียง 300,000 ฟอง / วัน และในปี 2012 ได้เพิ่มอัตราการบริโภคเป็น 1,000,000 ฟอง/วัน

อินเด็กซ์ฯ ยังตั้งเป้าขยายตลาดในภูมิภาคอาเซียนต่อ เล็งมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย กำลังอยู่ในช่วงดีลงานอยู่ ส่วนเวียดนามยังคงลงทุนต่อ เพียงแต่ตลาดยังไม่แอคทีฟเท่าพม่าเท่านั้นเอง