กสิกรไทย ชี้พื้นฐานภาคธุรกิจขนาดใหญ่ยังแกร่ง พร้อมรับมือความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจปี 2557

กสิกรไทย ชี้ธุรกิจไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน ทั้งจากปัจจัยภายนอกและภายใน รวมถึงทิศทางการฟื้นตัวที่ยังไม่ชัดเจนของประเทศสหรัฐฯ ภาคพื้นยุโรป และญี่ปุ่น ขณะที่จีนส่งสัญญาณชะลอการเติบโตที่ชัดเจน เพื่อปรับสมดุลของเศรษฐกิจภายในประเทศ อันจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการส่งออกของอาเซียนและไทย ทำให้การคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยปรับลดลงมาอยู่ในกรอบระหว่าง 2.2% – 3.7%

นายวศิน วณิชย์วรนันต์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า จากการวิเคราะห์ของกสิกรไทย พบว่า ผู้ประกอบการไทยในช่วงที่ผ่านมาได้มีการปรับตัวเพื่อรับมือกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการปรับโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เช่น สัดส่วนหนี้สินต่อทุนที่ปรับตัวลดลงจาก 1.67 เท่าเป็น 1.57 เท่า ที่จะทำให้พอมีศักยภาพในการกู้ยืมเพิ่มเติมเพื่อลงทุนหรือปรับองค์กรให้ทันกับสถานการณ์การแข่งขันมากขึ้น ขณะเดียวกันค่าเฉลี่ยอัตราตอบแทนจากสินทรัพย์ทั้งหมดเพิ่มขึ้นจาก6.89% เป็น 7.21% แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพการจัดการต้นทุนและการใช้สินทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งยังมีโอกาสและช่องทางที่ผู้ประกอบการสามารถศึกษาและพิจารณาเพื่อรับมือกับภาวะเศรษฐกิจได้ โดยประเทศไทยยังคงมีภูมิศาสตร์ที่เชื่อมโยงห่วงโซ่ทางธุรกิจให้กับหลายอุตสาหกรรมในภูมิภาคอาเซียน พร้อมกับปัจจัยความเป็นคลัสเตอร์ทางธุรกิจในบางอุตสาหกรรมอย่างยานยนต์และอิเล็กโทรนิกส์ ประกอบกับแรงหนุนจากค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนตัวลง ที่จะทำให้ภาคการส่งออกและการค้าในภูมิภาคยังคงเป็นตลาดที่เต็มไปด้วยโอกาสที่ควรพิจารณา ควบคู่กับการใส่ใจในการบริหารจัดการความเสี่ยงของธุรกิจ

นายสุวัฒน์ เตชะวัฒนวรรณา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ กลุ่มอุตสาหกรรมสื่อสาร ยานยนต์ และอิเล็กโทรนิกส์ กล่าวเสริมถึงโอกาสในธุรกิจสื่อสารที่สืบเนื่องจากโครงการดิจิตอลทีวี ที่จะก่อให้เกิดการลงทุนในการวางโครงข่ายเพื่อกระจายสัญญาณให้ครอบคลุมทั่วประเทศ รวมทั้งเทคโนโลยีและอุปกรณ์สื่อสารต่างๆ ตลอดจนแผนขยายโครงข่ายโทรศัพท์ 3G และ 4G ที่น่าจะสร้างโอกาสการขยายตัวของธุรกิจอุตสาหกรรมนี้ ขณะที่ยานยนต์จะรับผลการขยายฐานการผลิตของญี่ปุ่น เพื่อเพิ่มปริมาณการส่งออก ที่จะชดเชยการชะลอตัวของการบริโภคภายในประเทศ

นายทวิช ธนะชานันท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ก่อสร้าง และภาคการบริการ ชี้ว่า ในปีนี้จะมีแนวโน้มของการต้องการในการควบรวมและการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการจากกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ที่จะทำให้ความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจในห่วงโซ่นี้ดียิ่งขึ้น ซึ่งโครงการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศจะสนับสนุนให้ธุรกิจก่อสร้างมีการเติบโตได้ ในขณะที่ภาคบริการจะได้รับผลบวกจากเศรษฐกิจอาเซียนที่เข้ามาท่องเที่ยวและลงทุนในประเทศ

ด้านนายสุรเดช เกียรติธนากร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ กลุ่มอุตสาหกรรมโครงสร้างสาธารณูปโภค และธุรกิจด้านโลจิสติกส์ กล่าวถึงปริมาณการลงทุนของธุรกิจพลังงานในปีนี้กว่า 5,700 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นมูลค่าโครงการประมาณ 286,000 ล้านบาท ซึ่งจะสามารถส่งผลกระตุ้นต่อเนื่องถึงอุตสาหกรรมก่อสร้างของภาคเอกชนได้ ในขณะที่การชะลอตัวของโครงการ 2.2 ล้านล้านบาทของรัฐบาลนั้น ก็ยังคงมีโครงการต่อเนื่องที่ได้เริ่มดำเนินการตามขั้นตอนแล้ว อาทิเช่น โครงการรถไฟฟ้าบางสาย เป็นต้น

นายสำมิตร สกุลวิระ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ กลุ่มอุตสาหกรรมภาคอุตสาหกรรมเกษตร อาหารและการค้าปลีก ระบุว่า สำหรับภาคอุตสาหกรรมเกษตร อาหารและการค้าปลีก เกษตรเป็นอุตสาหกรรมการส่งออกหลักของไทย ที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน แต่ก็มีปัจจัยช่วยอย่างการอ่อนตัวของค่าเงินบาทลงกว่า 10% นอกเหนือจากการที่ญี่ปุ่นกลับมานำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปไก่ รวมถึงอัตราการบริโภคในกลุ่มประเทศอาเซียนที่ยังคงมีความต้องการผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป และอาหารพื้นฐานอื่นๆ จากไทย  จึงทำให้ปริมาณการส่งออกของภาคเกษตรยังคงมีโอกาสสร้างปริมาณการค้าที่เติบโตได้

นายวศิน กล่าวในตอนท้ายว่า ธนาคารได้ปรับโครงสร้างการบริหารจัดการเพื่อรองรับกับการดูแลสนับสนุนลูกค้าตามกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ให้คล่องตัวยิ่งขึ้น โดยมีผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการดูแลในแต่ละสายอุตสาหกรรม ซึ่งธนาคารได้วางเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อในปี 2557 อยู่ในกรอบของ 6 – 8% และมีการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 15% ซึ่งจะทำให้สัดส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมและรายได้ที่ไม่ได้มาจากการให้สินเชื่อ เมื่อเทียบกับปริมาณสินเชื่ออยู่ที่ 2.6% ปรับตัวดีขึ้นจากปี 2556 ที่ระดับ 2.4%