กสิกรไทยเร่งช่วยเหลือเอสเอ็มอีธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับชาวนา

สถานการณ์จำนำข้าวส่งผลลูกโซ่ เอสเอ็มอีเงินขาดมือหลังชาวนาไม่มีเงินจ่ายคืน กสิกรไทยออกมาตรการพักชำระเงินต้น 3-6 เดือน พร้อมให้เงินกู้เพิ่มเสริมสภาพคล่อง ส่งทีมงานลงพื้นที่ดูแลช่วยลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ
 
นายพัชร สมะลาภา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า จากการที่ชาวนายังไม่ได้รับเงินจากโครงการรับจำนำข้าว ได้ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ ผู้ค้าปุ๋ย เคมีภัณฑ์ ผู้ค้าเมล็ดพันธุ์ ผู้ค้าเครื่องจักรการเกษตร และให้เช่าเครื่องจักรการเกษตร เนื่องจากโดยปกติช่วงเดือนเมษายนของทุกปี เป็นช่วงเวลาที่ชาวนาจะมาเบิกปุ๋ย เมล็ดพันธุ์ เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักร จากร้านค้าของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ได้ให้เทอมการชำระเงินกับชาวนาเป็นเวลา 3 -6 เดือน และมีกำหนดชำระคืนหลังจากชาวนาได้รับเงินจากโครงการจำนำข้าว ซึ่งต้องได้เงินคืนในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา  แต่จนถึงปัจจุบันจากผลกระทบของโครงการรับจำนำข้าว ทำให้ชาวนายังไม่มีเงินมาชำระคืนค่าปุ๋ย เคมีภัณฑ์ เมล็ดพันธุ์ที่ติดค้าง และค่าเครื่องจักร รวมทั้งไม่มีเงินมาซื้อสินค้าทางการเกษตรเพื่อเตรียมการผลิตในฤดูกาลใหม่ ทำให้กลุ่มเอสเอ็มอีที่เป็นร้านค้าเกี่ยวเนื่องกับการเกษตรได้รับผลกระทบไปด้วย
 
ผลกระทบต่อเอสเอ็มอีแม้จะยังไม่รุนแรง เนื่องจากยังมีทุนเดิมที่สามารถนำมาหมุนเวียนและชำระหนี้ธนาคารได้ระดับหนึ่ง แต่ได้เริ่มเห็นสัญญาณว่า บางส่วนมีการชำระหนี้ล่าช้าบ้างแล้ว หากปล่อยไว้อาจส่งผลให้ขาดสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ ทำให้การเดินบัญชีของลูกค้าลดลง และไม่กล้าลงทุนต่อเนื่อง เพื่อขอรอดูสถานการณ์ว่าจะคลี่คลายไปในทิศทางใด
 
นายพัชร กล่าวเพิ่มเติมว่า ธนาคารกสิกรไทยมองว่า หากการชำระเงินค่าจำนำข้าวแก่เกษตรกรยืดเยื้อออกไป จะยิ่งส่งผลกระทบกับเอสเอ็มอีในกลุ่มธุรกิจดังกล่าวมากขึ้น ดังนั้นจึงได้ส่งทีมงานเข้าไปติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด และออกโปรแกรมช่วยเหลือลูกค้าเอสเอ็มอีของธนาคาร ฯ เพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ด้วยการพักชำระเงินต้น และให้ลูกค้าสามารถผ่อนชำระเฉพาะดอกเบี้ยนาน 3-6 เดือน เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ลูกค้า  นอกจากนี้ ธนาคาร ฯ ได้เตรียมให้วงเงินสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องให้ลูกค้าที่เป็นผู้จำหน่ายปัจจัยการผลิตแก่ชาวนา ประกอบด้วยกลุ่มผู้ค้าปุ๋ยและเคมีภัณฑ์ทางการเกษตร  กลุ่มผู้ค้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ทางการเกษตรและกลุ่มบริการทางการเกษตร
 
ทั้งนี้ ธนาคารฯ มีลูกค้าที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการเกษตรที่อาจได้รับผลกระทบจากโครงการรับจำนำข้าวรวม 4,537 ราย ยอดสินเชื่อคงค้างรวม 13,683 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.75 ของยอดสินเชื่อเอสเอ็มอีทั้งหมดของธนาคาร ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในธุรกิจค้าปุ๋ย เคมีการเกษตร และโรงสี ที่อยู่ในภาคอีสานเป็นหลัก โดยตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 ที่เริ่มเกิดปัญหาในโครงการรับจำนำข้าว จนถึงปัจจุบัน ธนาคารได้อนุมัติวงเงินสินเชื่อเพิ่มให้กับลูกค้าในกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการเกษตร รวม 1,030 ล้านบาท  ซึ่งธนาคารคาดหวังว่ามาตรการในการช่วยเหลือของธนาคารในครั้งนี้ จะช่วยให้ลูกค้ามีสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจไปได้ระยะหนึ่ง จนกว่าปัญหาเรื่องการชำระเงินค่าจำนำข้าวจะคลี่คลาย