หลังจากตกเป็นข่าวพักใหญ่ ในที่สุดค่ายทรูมูฟ ก็ตกลงปลงใจ ประกาศจับมือเป็นพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ กับ “บริษัทไชน่าโมบายล์” ด้วยการขายหุ้นเฉพาะเจาะจง (Private Placement) มูลค่า 28,600 ล้านบาท คิดเป็น 18% ชองจำนวนหุ้นทั้งหมด พร้อมกันนี้ยังได้จัดสรร “หุ้นสามัญใหม่” ให้กับผู้ถือหุ้นเดิม มูลค่า 36,400 ล้านบาท
ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น บอกว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ของกลุ่มทรู พร้อมเป็นอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนการปรับฐานการเงินด้วยการเพิ่มทุนครั้งนี้
โดยเครือซีพียินดีที่จะรับซื้อหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิ และในกรณีที่ผู้ถือหุ้นเดิมรายอื่นๆ ไม่ใช้สิทธิรับซื้อหุ้นเพิ่มทุนในครั้งนี้ครบ เครือซีพีก็ยินดีจะพิจารณาสนับสนุนการเพิ่มทุนครั้งนี้ให้สำเร็จตามช่องทางที่จะทำได้
ศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการและประธานคณะผู้บริหาร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าว การเลือกไชน่าโมบายล์เป็นพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Partner) ที่จะช่วยสร้างศักยภาพในการแข่งขัน ตลอดจนการปรับฐานการเงินให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นพร้อมต่อการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และยังช่วยลดระดับหนี้โดยรวมของบริษัท เพิ่มความแข็งแกร่งให้ทุนของบริษัท เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของกลุ่มทรูที่จะพลิกโฉมเป็นองค์กรที่สร้างกำไร รวมถึงการขยายสู่การแข่งขันระดับภูมิภาค เพื่อรองรับกับการเปิด AEC
การเป็นพันธมิตรร่วมทุนกับ “ไชน่าโมบายล์” ในครั้งนี้ เป็นการขยายการลงทุนในภาคพื้นเอเชียเพื่อรองรับการเปิด AEC แล้ว และยังแสดงถึงความเชื่อมั่นที่ต่างประเทศมีต่อเศรษฐกิจในระยะยาวของประเทศไทยอีกด้วย
สำหรับ “ไชน่าโมบายล์” จัดเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือระดับโลก มีฐานลูกค้า 800 ล้านราย โดยเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่ฮ่องกงและนิวยอร์ค และยังได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ ซึ่งกลุ่มซีพีเองได้ชื่อว่าเป็นเอกชนของไทยที่มีบทบาทในการลงทุนในจีนอย่างมาก ชื่อของ “ไชน่าโมบายล์” เองก็ติดอยู่ในโผการเจรจาของทรูมาตลอด
ศึก 3 ก๊กมือถือ จาก 3 โกบอลแบรนด์
การที่ค่ายทรู เปิดทางให้ “ไชน่าโมบายล์”เข้ามาถือหุ้น จะทำให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือของไทยทั้ง 3 ราย ล้วนแล้วแต่มีบริษัทสื่อสารโทรคมนาคมข้ามชาติต่างชาติเข้ามาถือหุ้นด้วยกันทั้งสิ้น เอไอเอส มีค่าย “สิงค์เทล” จากสิงคโปร์ ส่วนดีแทคก็มีค่ายเทเลนอร์ จากประเทศนอร์เวย์ เข้ามาซื้อหุ้นและเป็นหลักในการบริหารงาน
ค่ายทรูมูฟนั้น หลังจากที่ผู้ถือหุ้นข้ามชาติ “ออเรนจ์” จากอังกฤษที่เคยเข้ามาถือหุ้นในบริษัทรู โดยเวลานั้นยังใช้ชื่อ “ซีพี ออเรนจ์” ถอนหุ้นออกไป ค่ายทรูเป็นโอปะเรเตอร์มือถือเพียงรายเดียวที่ถือหุ้นโดยบริษัทไทย โดยตลอดเวลาที่ผ่านมา ก็มีกระแสข่าวว่าทรูเองก็ต้องการให้บริษัทสื่อสารข้ามชาติเข้ามาถือหุ้น เพราะปัญหาจากหนี้สะสมโดยรวม ทำให้ตัวเลขทางการเงินของทรูยังไม่เข้าตานักลงทุนมากนัก
ศุภชัย ก็บอกกับสื่อมวลชนว่า เขาต้องการเปิดทางให้บริษัทสื่อสารข้ามชาติเข้ามาเจรจาเรื่องการถือหุ้นในทรู ส่วน “สเปค” ของผู้ที่จะมาถือหุ้นนั้น นอกจากช่วยเรื่องของเรื่องเงินทุน ยังต้องสนับสนุนยุทธศาสตร์เรื่องของการ “คอนเวอร์เจ้นท์” แล้ว รวมถึงต้องร่วมขยายไปสู่ธุรกิจไปยังภูมิภาคนี้ แต่ตัวเลขต้องได้ไม่เกิน 20-25% เพื่อยังคงรักษาสิทธิในการบริหารงานไว้
จะเห็นได้ว่า การขายหุ้นครั้งนี้ ได้มีการเพิ่มทุนอีก 36,400 ล้านบาท ให้ผู้ถือหุ้นเดิม เพื่อคงสัดส่วนการถือหุ้นไว้ โดยขายในอัตราส่วน 2.5725 หุ้นสามัญเดิมต่อ1 หุ้นใหม่ (2.5725 : 1) ในราคาหุ้นละ 6.45 บาท ซึ่งเป็นราคาเดียวกันกับราคาที่ไชน่าโมบายล์เข้าซื้อหุ้น
ดีลนี้ เมื่อรวมเงินที่จะได้จากการขายหุ้นให้ผู้ถือหุ้นเดิม และไชน่าโมบาลย์ จะทำให้ทรูได้ 65,000 ล้านบาท มาใช้ในการทำธุรกิจ ยกระดับฐานะการเงินดีขึ้น พร้อมกับสู้ศึกมือถือรอบใหม่
เมื่อทรูมีทั้งความพร้อมทั้ง “เสบียงกรัง” และได้โนวฮาวจากหุ้นสว่นระดับโกบอลแบรนด์มาช่วยรบในสนามแข่งขัน ที่ทรู เอง ใช้จังหวะการเปลี่ยนผ่านสู่ 3 จี และ 4 จี พลิกจากเบอร์ 3 ก้าวขึ้นเป็น “เบอร์ 1” หรือ อย่างน้อยก็ต้องเบอร์ 2 ในตลาดมือถือ
เชื่อว่า ดีกรีตลาดโทรศัพท์มือถือนอกจากจะดุเดือดขึ้นแน่ๆ แล้ว รวมถึงความร้อนแรงของประมูลใบอนุญาติใช้คลื่นความถี่ 900 เมกกะเฮิร์ทซ์ และ 1800 เมกกะเฮิร์ทซ์ เพื่อนำมาใช้ในบริการ 3 จี และ 4 จี ที่กำลังจะมีขึ้นในเร็วๆนี้ จะเพิ่มขึ้นแน่นอน