"TRANSMEDIA STORYTELLING" เล่าเรื่องข้ามสื่อในยุคดิจิทัล (ตอน 1)

ผู้เขียน : ธาม เชื้อสถาปนศิริ

การเล่าเรื่องนั้นคือหัวใจสำคัญของคนทำงานสื่อ ไม่ว่าคุณจะเป็นนักโฆษณา นักทำหนัง นักทำละคร นักข่าว หรือนักการตลาด – หากคุณสามารถเล่าเรื่องได้ดีนั่นเป็นจุดเริ่มต้น แต่การเล่าเรื่องในยุคหลอมรวมสื่อวันนี้ “การเล่าเรื่องข้ามสื่อ” (Transmedia Storytelling) นั้นสำคัญกว่ามาก

วงการสื่อนั้นมีพัฒนาการองค์ความรู้ใหม่ๆ เสมอ อย่างแนวคิดเรื่องการเล่าเรื่อง ซึ่งเป็นเสมือนเครื่องมือหลักในการผลิตเนื้อหาสื่อที่สำคัญ เพราะไม่ว่าผลงานสื่อจะถูกผลิตออกมาในรูปแบบใด จะเป็นภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ ข่าวหนังสือพิมพ์ กระทั่งรายการสนทนาทางวิทยุ ก็มักให้ความสำคัญกับการเล่าเรื่อง (storytelling) เสมอมา แต่โลกของการเล่าเรื่องในยุคสื่อเก่านั้น เป็นยุคการเล่าเรื่องในยุคการสื่อสารทางเดียว (one-way communication) ที่ซึ่งเชื่อในทฤษฎีแบบจำลองการสื่อสาร ตามโมเดลของ “David K. Berlo” นักสังคมศาสตร์นิเทศศาสตร์ ที่สร้างขึ้นจากฐานคิดที่ว่า องค์ประกอบการสื่อสาร มี “Sender>Message>Channel>Receiver” ซึ่งเชื่อว่าผู้ส่งสารเท่านั้นที่มีอำนาจในการบอกเล่าเรื่องราว

แต่โลกการสื่อสารวันนี้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว, นับตั้งแต่มีอินเตอร์เน็ต เมื่อปี ค.ศ. 1990 และนับตั้งแต่มีกระดานสนทนา และ มีเครือข่ายสื่อสังคมออนไลน์ ที่เชื่อมต่อและทำให้ผู้ใช้สามารถติดต่อเชื่อมถึงกันได้ไม่ยาก จนโลกการสื่อสารเราก้าวเข้าสู้ยุค “ผู้ใช้งานเป็นผู้ผลิตสาร” (user generate content) ซึ่งหมายถึง ผู้รับสารปัจจุบัน ที่ไม่เพียงแต่เป็นผู้รับปลายทางธรรมดาแต่เขาสามารถกลายเป็นผู้แสดงความคิดเห็นตอบกลับ กระทั่งกลายเป็นผู้ส่งสารได้ด้วย ผู้คนสมัยนี้สามารถ เผยแพร่วิดีโอคลิปเพลงที่ตนเองร้อง โพสต์ความคิดเห็นทางการเมือง เขียนบล็อกความรู้รีวิวสินค้า หรือโพสต์แชร์ภาพถ่ายเซลฟี่ตนเอง เนื้อหาเหล่านี้ถูกนำเสนอผ่านสังคมออนไลน์ ด้วยช่องทางต่างๆ

“ประสบการณ์ชีวิต” (life experience) ของมนุษย์ได้กลายมาเป็นข้อมูลสารสนเทศที่มีพลังมหาศาลที่สุดในวันนี้ ตั้งแต่ชีวิตประจำวัน ความทรงจำสุดแสนประทับใจ อารมณ์ ความรู้สึก หรือทัศนคติต่อเรื่องราวทางสังคม กระทั่งการติดต่อพูดคุยสื่อสารกับเพื่อนในสังคม หรือกระทั่งการโฆษณา สื่อสารสร้างภาพลักษณ์ สร้างสถานะ ตัวตน อัตลักษณ์ ก็สามารถกระทำได้ในโลกออนไลน์

ประกอบกับการปฏิรูปสื่อที่ทำให้สื่อเข้าสู่การหลอมรวมมากขึ้น 

“การเล่าเรื่องข้ามสื่อ” (transmedia)  หมายถึง การข้ามสื่อ หรือ การก้าวข้ามพ้นสื่อ ส่วน story telling ก็คือ การเล่าเรื่อง เมื่อนำ 2 คำนี้มารวมกัน จึงได้ความหมายว่าเป็น การเล่าเรื่องข้ามสื่อ

โดยปกติแล้ว การเล่าเรื่องข้ามสื่อ จะหมายถึง 

(1) การเล่า ‘เรื่องเอก’ (main story) ผ่านเรื่องย่อย (sub story) หลายเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกัน
(2) โดยที่เรื่องย่อยหนึ่งๆ นั้นต่างก็มีความครบถ้วนสมบูรณ์ได้ด้วยตัวมันเอง
(3) ใช้เทคนิคการนำเสนอที่แตกต่างกัน ผ่านรูปแบบช่องทางสื่อต่างๆ กัน
(4) โดยคำนึงถึง ธรรมชาติของสื่อ, พฤติกรรมผู้รับสาร, กิจวัตรประจำวัน, ช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม
(5) ซึ่งเรื่องต่างๆ จะถูกเชื่อมโยง สัมพันธ์ บูรณาการ สหสัมพันธ์กัน (linkage, relate, engage, synchronize ) โดยเป็นเจตนาและความตั้งใจของผู้ผลิตและผู้รับสาร
(6) ผู้ส่งสารเพียงให้กำเนิดเรื่องหลัก และพัฒนาเรื่องนั้นต่อไปร่วมกับผู้ใช้ผู้รับสารด้วยประสบการณ์และจินตนาการของเขาเอง

เรื่องแต่ละเรื่องที่ถูกเล่าข้ามสื่อนั้น จะมีความสมบูรณ์ครบถ้วนได้ด้วยตัวของมันเอง, มิจำเป็นต้องดูเรื่องนั้นผ่านสื่อใดสื่อหนึ่งมาก่อนจึงจะรู้เรื่อง

“Henry Jenkins” นักวิชาการสื่อชาวอเมริกัน ให้นิยามความหมายคำว่า “Transmedia Storytelling” ว่า คือภาพแทนองค์ประกอบพื้นฐานเรื่องราวย่อยต่างๆ ที่ดูเหมือนจะกระจัดกระจาย แต่จริงๆ ได้ถูกบูรณาการเข้าไว้ด้วยกัน ผ่านช่องทางสื่อที่หลากหลาย โดยที่แต่ละเรื่องจะมีวัตถุประสงค์จำกัดเฉพาะอย่างของมันเอง เพื่อสร้างประสบการณ์ความบันเทิงให้กับผู้ชม, ในทางอุดมคติแล้ว แต่ละสื่อจะทำหน้าที่นำพาสารและคลี่คลายพัฒนาเนื้อหาสาระเรื่องราวนั้นได้ด้วยตัวมันเอง

กรณีที่ “ต้อง” ศึกษา “เดอะแม็กทริกซ์”

The Matrix: (1999) ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นตัวอย่างที่มักใช้อ้างอิงและสมบูรณ์แบบที่สุดเวลาที่พูดเรื่องการเล่าเรื่องข้ามสื่อ แม้มันจะดังในฐานะหนังไซไฟแอ๊คชั่น, ทว่าในทางการผลิตสื่อข้ามสื่อ “เดอะแม็ทริกซ์” นั้นมักถูกยกเอามาอ้างเสมอ ก็เพราะว่ามันมีทั้งเรื่องราวที่ถูกเล่าผ่านหนัง 3 ภาค The Matrix (1999), The Matrix Reloaded (2003) และ The Matrix Revolution (2003)

นอกจากนี้แล้ว ผู้ผลิตยังนำเอาหนังเรื่องนี้ไปพัฒนาต่อเป็นวีดีโอเกมส์ ชื่อ “Enter the Matrix” ซึ่งเอาตัวละครประกอบจากหนังบางตัว มากลายเป็นตัวละครเด่นในเกม, จากนั้น จึงมีภาพยนตร์ อนิเมชั่นวาดลายเส้นมือ ชื่อ “Animatrix” 13 ตอน ที่เล่าเรื่องโลกก่อนเกิด “เดอะแม็ทริกซ์” และเรื่องราวอีกเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับตัวละครหลักจากหนัง และนำเสนอด้วยเนื้อหาที่แกแนวออกไปเป็นแนวทางของตนเอง มีตัวการ์ตูนใหม่ๆ ที่ไม่ปรากฏในภาพยนตร์ และมากกว่านั้น ผู้ผลิตยังทำหนังสือการ์ตูนฉบับวาดลายเส้น เรื่อง  The Matrix ซึ่งเนื้อหาก็ละม้ายคล้ายคลึงกับภาพยนตร์แต่เป็น “คนละเรื่องเดียวกัน” คือมีตอนพิเศษ และเรื่องราวที่ละเอียดมากกว่าเดิม

นอกจากนี้บริษัทผู้ผลิตยังทำหุ่นพลาสติกปั้น (figure) จากตัวละครหลักทั้ง 3 ภาคมาขายเพื่อเอาใจคอแฟนภาพยนตร์ที่อยากเก็บเป็นที่ระลึก

การเล่าเรื่องเดอะแม็ทริกซ์ผ่าน 5 ช่องทางนี้ ถือเป็นปรากฏการที่อาจดูไม่ใหม่นัก หากมองกันที่เรื่อง “การตลาดแฟรนส์ไชส์” หรือ “การค้าเชิงพาณิชย์สินค้าจากหนัง” (franchise and merchandise) และนั่นทำให้เกิดปรากฎการณ์ใหม่ของการเล่าเรื่องข้ามสื่อ

จริงๆ แล้ว การทำของพรีเมี่ยม (ของที่ระลึกจากหนัง เช่น แก้วน้ำ หุ่น โปสเตอร์ สมุดโน้ต เครื่องใช้อื่นๆ จากหนัง) นั้นก็ทำกันมานาน แต่อย่าสับสนไปนะครับว่านี่คือการเล่าเรื่องข้ามสื่อ – ไม่ใช่ครับ นี่คือการตลาดสินค้าโฆษณาประชาสัมพันธ์แบบหนึ่ง หรือ การทำการค้าขายของที่ระลึกปกติ แต่ทว่ามันก็อนุญาต-อนุโลมว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเล่าเรื่องข้ามสื่อได้ แต่ต้องนับเฉพาะสินค้าของที่ระลึกที่มี “เรื่องเล่า” ของมันด้วยตัวเองเท่านั้น

เช่น อาจจะนับว่า “หุ่นฟิกเกอร์” นั้นเป็นการเล่าเรื่องข้ามสื่อในกรณีที่เด็กๆ ซื้อหุ่นตัวละครที่ชื่นชอบจากหนังเรื่องหนึ่ง แล้วไปนั่งเล่นที่บ้าน ใช้จินตนาการเขาเองวาดฝันบู๊สนั่นแอ๊คชั่นกันเอาเอง (จินตนาการเด็กเวลาเล่นหุ่นของเล่น) อย่างนี้ถือว่า “เรื่องเล่าใหม่ๆ เกิดขึ้น”

ตัวอย่างที่ชัดเจนก็เช่น ตัวต่อเลโก้ หรือ ตุ๊กตาหุ่นยนต์จากซีรี่ย์หนังดังต่างๆ (เช่นสตาร์วอร์ส หรือ ทรานส์ฟอร์มเมอร์ หรือ แฮร์รี่ พ๊อตเตอร์ เป็นต้น)

(อ่านต่อ  TRANSMEDIA STORYTELLING เล่าเรื่องข้ามสื่อในยุคดิจิทัล ตอน 2 กรณีที่ “ควร” ศึกษา Club Friday)

=================================================
ผู้เขียน : ธาม เชื้อสถาปนศิริ., นักวิชาการสื่อ สถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ (สวส.) , [email protected]
หมายเหตุ : ท่านผู้อ่านที่สนใจเรื่องการเล่าเรื่องข้ามสื่อ สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ http://goo.gl/BBybkS