“วีซ่า เพย์เวฟ” ได้รับการตอบรับอย่างดีเยี่ยมจากธนาคารและร้านค้าชั้นนำ ที่นำเทคโนโลยีเข้าไปใช้ในระบบการชำระเงิน ซึ่งระบบเทคโนโลยีแบบไร้สัมผัสนี้จะช่วยให้ลูกค้าสามารถใช้งานได้ง่ายมากยิ่งขึ้นเพียงแค่ “แตะ” หรือยื่นบัตรให้อยู่ในระยะใกล้กับเครื่องรับชำระเงินแบบไร้สัมผัสเท่านั้น โดยที่ไม่ต้องรูดบัตรหรือ ลงนามใดๆ และด้วยวิธีการใช้งานที่สะดวกและรวดเร็วจึงช่วยลดระยะเวลาในการรอคิวชำระเงิน ทั้งยังสามารถทำธุรกรรม โดยไม่ต้องพกเงินสดได้สูงสุดถึง 1,500 บาท
นายสมบูรณ์ ครบธีรนนท์ ผู้จัดการวีซ่า อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำประเทศไทย กล่าวว่า เรามองว่า “วีซ่า เพย์เวฟ” กำลังจะกลายเป็นช่องทางการชำระเงินพื้นฐานในชีวิตประจำวันของลูกค้า โดยที่ลูกค้าไม่จำเป็นต้องพกเงินสด นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ลูกค้าและร้านค้าอีกด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงทิศทางการเติบโตของเทคโนโลยีการชำระเงินและโอกาสในอนาคต
อย่างไรก็ตาม การชำระเงินของลูกค้าก็ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่การ “แตะ” บัตรเท่านั้น แต่ยังคงมีช่องทางการชำระเงินรูปแบบใหม่ผ่านอุปกรณ์อื่นๆ อีกด้วย อาทิ สติ๊กเกอร์, NFC (เทคโนโลยีสื่อสารไร้สายระยะสั้น), สายข้อมือ (wristband) และโทรศัพท์มือถือที่มีระบบ NFC ที่ช่วยให้ลูกค้าสามารถจ่ายเงินได้โดยไม่ต้องยุ่งยากในการค้นหากระเป๋าเงิน
สำหรับวิวัฒนาการการชำระเงินในระบบดิจิตอลมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตามอัตราการใช้สมาร์ทโฟน ควบคู่ไปกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ยกตัวอย่างเช่น การจัดเก็บข้อมูลสำคัญของบัตรของระบบคลาวด์ ซึ่งเป็นช่องทางใหม่ในการชำระเงิน อาทิ เทคโนโลยีแบบไร้สัมผัส,การชำระเงินผ่านบัตร และธุรกิจออนไลน์ โดยทั้งหมดจะรวมกันกลายเป็นแอพพลิเคชั่นการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในการชำระเงินสำหรับลูกค้าทุกท่าน ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตาม
ด้าน มร. เบน ซอฟพิต ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตภัณฑ์ใหม่และนวัตกรรม วีซ่า ประจำภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดีย และเอเชียใต้ กล่าวว่า การเติบโตของของการชำระเงินผ่านเทคโนโลยีดิจิตอล ได้ถูกขับเคลื่อนโดยผู้บริโภคที่ต้องการความรวดเร็วและความปลอดภัยในการทำธุรกรรมผ่านอุปกรณ์ต่างๆ โดยเฉพาะสมาร์ทโฟนที่มีส่วนเปลี่ยนพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยอย่างชัดเจน ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้กลายเป็นศูนย์กลางด้านการชำระเงินผ่านระบบดิจิตอล โดยได้กลายเป็นผู้นำในตลาดโลกด้านเทคโนโลยีแบบไร้สัมผัส และสามารถได้ส่วนแบ่งทางการตลาดได้อย่างรวดเร็ว และยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง
“วีซ่า เพย์เวฟ” ไม่ได้จำกัดการใช้เฉพาะในกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ปัจจุบันได้ขยายไปพื้นที่อื่นๆในประเทศไทยผ่านร้านค้ารายใหญ่และร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศ อาทิ แฟมิลี่มาร์ท, เทสโก้ โลตัส และบิ๊กซี
ปัจจุบัน “วีซ่า เพย์เวฟ” มีแนวโน้มการเติบโตที่ดีในประเทศไทย ซึ่งเห็นได้จากร้านแมคโดนัลล์ ซึ่งมีสาขาที่สามารถใช้ “วีซ่า เพย์เวฟ”มากกว่า 195 สาขา และมีอัตราของผู้ทำธุรกรรมผ่าน “วีซ่า เพย์เวฟ” เพิ่มขึ้น 260% สำหรับบิ๊กซีและเทสโก้ โลตัส มีอัตราของผู้ทำธุรกรรมผ่าน “วีซ่า เพย์เวฟ” เพิ่มขึ้น 2.5 เท่า ในเดือนเดียวกัน
มร. ซอฟพิต กล่าวเสริมว่า ประเทศไทยคล้ายกับสิงคโปร์เมื่อสองปีที่แล้ว และการใช้ “วีซ่า เพย์เวฟ” จะมีการเติบโตไปในทิศทางเดียวกัน โดยตัวเลขล่าสุดแสดงให้เห็นว่า การทำธุรกรรมการเงิน ณ จุดขายหรือแบบหน้าร้านในประเทศสิงคโปร์มาจากการทำธุรกรรมผ่าน “วีซ่า เพย์เวฟ”ถึง 20% (เมษายน 2557)
ปัจจุบันมีผู้ออกบัตร “วีซ่า เพย์เวฟ” ทั้งหมด 4 รายในประเทศไทย ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารทหารไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และเทสโก้ คาร์ด เซอร์วิสเซส จำกัด ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ยอดการชำระเงินทั้งหมดเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า ซึ่งเป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่า“วีซ่า เพย์เวฟ” ได้รับการยอมรับเป็นที่แพร่หลาย นอกจากนี้ยอดการชำระเงินโดยรวมเพิ่มขึ้น 44% หรือคิดเป็น 306 บาทต่อธุรกรรม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคมีความมั่นใจที่จะใช้ “วีซ่า เพย์เวฟ” มากขึ้น ธนาคารต่างๆได้เริ่มมีผลิตภัณท์ของ “วีซ่า เพย์เวฟ” เป็นของตนเองและพร้อมที่จะนำออกมาเสนอให้เห็นกันในช่วงสิ้นปีนี้
“วีซ่า เพย์เวฟ คือก้าวแรกของแผนการทำงานของวีซ่าที่มุ่งมั่นจะนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมรูปแบบใหม่มายังประเทศไทย ด้วยการยอมรับอย่างกว้างขวางของเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือจึงแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยพร้อมที่จะก้าวข้ามไปสู่เทคโนโลยีการชำระเงินในรูปแบบของโทรศัพท์มือถือ ที่จะทำให้การชำระเงินกว้างไกลไปทั่วประเทศได้อย่างสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น วีซ่าได้ร่วมลงทุนในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆไปพร้อมกับพันธมิตรของเราทั้งธนาคาร สถาบันการเงิน และร้านค้า สรุปได้ว่าการพัฒนาการทั้งหมดนี้คือจะทำอย่างไรให้เทคโนโลยีการชำระเงินในรูปแบบดิจิตอลและนั่นรวมไปถึงการชำระเงินในรูปแบบไร้สัมผัส สามารถกลายเป็นส่วนหนึ่งของการจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวันของผู้ถือบัตรวีซ่าได้อย่างไร้รอยต่อ” คุณสมบูรณ์ กล่าวเสริม
นอกจากนี้นวัตกรรมอื่นๆ ที่วีซ่าได้ร่วมผลักดันกันสถาบันการเงินต่างๆ เช่น เทคโนโลยีการชำระเงินผ่านสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตอย่างmobile point-of-sale (mPOS) ซึ่งช่วยให้ร้านค้าต่างๆไม่ว่าจะขนาดใหญ่หรือเล็กสามารถรับการชำระเงินผ่านบัตรได้ ไม่ว่าจะเป็นร้านเสื้อผ้าอินดี้ในตลาดนัดจตุจักรก็สามารถรับการชำระเงินได้ผ่านเครื่องรูดบัตรของ mPOS ที่เชื่อมต่อโดยตรงเข้ากับโทรศัทพ์มือถือหรือแท็บเล็ต แต่ยังคงความรวดเร็วและรักษาระบบความปลอดภัยได้เสถียรเหมือนใช้จ่ายผ่านบัตรที่ร้านค้าขนาดใหญ่หรือห้างสรรพสินค้า เพราะธุรกรรมต้องผ่านวีซ่าเน็ท (VisaNet) เครือข่ายประมวลและควบคุมการทำธุรกรรมที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่รองรับการชำระเงินในแต่ละปีมากกว่า 7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ