“เคทีซี” ชูธงสินค้าใหม่และกลุ่มเป้าหมายใหม่ เป็นจุดขยายฐานบัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคล พร้อมอัดโปรโมชั่นตรงใจสมาชิก ตามแนวคิด Make It BETTER

เคทีซีประกาศปรับกลยุทธ์ครึ่งปีหลัง ขยายฐานผลิตภัณฑ์ผ่านสองช่องทางหลักคือ ช่องทางธนาคารกรุงไทย และช่องทางเอาท์ซอร์ส เซลส์ (Outsource Sales) เจาะกลุ่มเป้าหมายใหม่คนที่เพิ่งจบการศึกษา พร้อมนำเสนอโปรแกรมการตลาดเฉพาะกลุ่ม เข้าถึงผู้บริโภคระดับกลางและระดับบนมากขึ้น คาดสิ้นปีสมาชิกบัตรเครดิตโตขึ้น 150% ส่วนสินเชื่อบุคคลตั้งเป้าโตประมาณ 10%

นางณัฐชนัญ เก่งลือชา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร – ช่องทางจัดจำหน่าย “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ในปี 2557 นี้ การแข่งขันขยายฐานสมาชิกใหม่ของธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลมีความเข้มข้นมาก แม้ว่าภาพรวมอุตสาหกรรมความต้องการสินเชื่ออาจลดลงจากสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และความผันผวนของสถานการณ์ทางการเมือง แต่ธนาคารพาณิชย์ทั้งไทยและต่างประเทศ รวมถึงสถาบันการเงินหลายแห่งต่างตั้งเป้าการขยายฐานสมาชิกไว้สูงกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงเคทีซีที่ตั้งเป้าการขยายฐานบัตรเครดิตใหม่ทั้งหมด 400,000 บัตร ซึ่งเติบโตขึ้นถึง 150% หรือประมาณ 2.5 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2556 ในขณะที่สินเชื่อบุคคลคาดว่าจะมีสมาชิกเพิ่ม 137,500 บัญชี หรือเติบโตประมาณ 10%”

“สำหรับกลยุทธ์ครึ่งปีหลังของการบริหารช่องทางจัดจำหน่าย เพื่อการมุ่งสู่เป้าหมายการเป็นอันดับ 1 ของธุรกิจบัตรเครดิตภายใน 5 ปี ในปีแรกจะสร้างฐานการเติบโตไปสู่เป้าหมาย ด้วยแนวคิดการทำงาน “Make it BETTER” โดยบัตรเครดิตจะขยายฐานสมาชิกไปยังกลุ่มเป้าหมายใหม่ และมีการออกบัตรใหม่ให้สอดคล้องกับความต้องการของสมาชิก ผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรหลากหลาย และโปรแกรมการตลาดแบบเฉพาะกลุ่ม เจาะกลุ่มคนระดับกลางและบนมากขึ้น สำหรับสินเชื่อบุคคล จะออกแคมเปญเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้กับสมาชิก สร้างสรรค์แคมเปญตอบแทนกลุ่มสมาชิกที่มีวินัยในการชำระเงิน และออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เข้าถึงและตรงความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย”

“ส่วนกลยุทธ์การบริหารช่องทางการขยายฐานผลิตภัณฑ์ เคทีซีจะใช้ความได้เปรียบ จากความหลากหลาย ทั้งการขายผ่านช่องทางธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ควบคู่กับการขายผ่านศูนย์บริการลูกค้า “เคทีซี ทัช” ที่เปิดให้บริการอย่างต่อเนื่อง และช่องทางออนไลน์ ที่กำลังเติบโต ครอบคลุมทั้งเว็บไซต์บริษัทฯ www.ktc.co.th ผ่านไอคอน “I Want KTC” และเว็บไซต์ของพันธมิตรทางธุรกิจ รวมถึงช่องทาง เอาท์ซอร์สเซลส์ และเทเลเซลส์”

“ในปีนี้เคทีซีวางกลยุทธ์การขยายฐานผลิตภัณฑ์ไปที่ 2 ช่องทางหลัก คือ ผ่านสาขาธนาคารกรุงไทย และเอาท์ซอร์ส เซลส์ ซึ่งคิดเป็น 80% ของเป้าหมายทั้งหมด สำหรับการดำเนินธุรกิจร่วมกับธนาคารกรุงไทย จะเน้นการผนวกจุดแข็งด้านการตลาดและนวัตกรรมของเคทีซี กับจุดเด่นด้านฐานการเงินของธนาคารกรุงไทย และจำนวนสาขาที่มีอยู่ทั่วประเทศกว่า 1,200 สาขา ผ่านการใช้เครือข่ายและฐานลูกค้าของทั้งสองฝ่าย เช่น โครงการผ่อนบ้านผ่านบัตรเครดิตเคทีซี ที่ได้รับความสนใจจากกลุ่มเป้าหมายอย่างดี และยังช่วยเพิ่มฐานสมาชิกให้กับธนาคารกรุงไทย และเพิ่มการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเคทีซี รวมถึงช่วยกระตุ้นให้กลุ่มเป้าหมายที่ยังไม่มีบัตรเครดิตเคทีซีสนใจสมัครบัตรมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นเคทีซียังสามารถใช้ช่องทางนี้นำเสนอผลิตภัณฑ์บัตรเครดิต ควบคู่ไปกับผลิตภัณฑ์ของธนาคาร หรือผลิตภัณฑ์ของบริษัทในเครือได้เช่นเดียวกัน”

“สำหรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจร่วมกับ เอาท์ซอร์ส เซลส์ จะเน้นการเพิ่มตัวแทนขายอิสระที่มีคุณภาพ และมีความผูกพันกับเคทีซี โดยมีทีมงานในการสรรหาและฝึกสอน และสามารถควบคุมเพื่อให้แน่ใจได้ว่าผู้สมัครมีคุณภาพที่ดีและมีความเชี่ยวชาญในการขาย และการบริการที่มีประสิทธิภาพตามเป้าหมายที่วางไว้”

“ในปีนี้เรายังมีแผนจะขยายฐานไปยังกลุ่มนักศึกษาจบใหม่ หรือกลุ่ม First Jobber มากขึ้น เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความต้องการเครื่องมือที่จะช่วยบริหารการใช้จ่ายประจำเดือนให้คล่องตัวมากขึ้น และเน้นการขยายฐานไปยังลูกค้าต่างจังหวัดมากขึ้น โดยเลือก 14 จังหวัดที่มีการเติบโตในการใช้บัตรเครดิตสูง รวมทั้งช่องทางธนาคารออมสินก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่มีโอกาสในการขยายฐานบัตรเครดิต เคทีซี – ธนาคารออมสิน ซึ่งมีจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมือนใคร คือสามารถใช้คะแนนสะสม Forever Rewards ทุก 1,000 คะแนนแลกซื้อสลากออมสินได้มูลค่า 100 บาท และด้วยจำนวนสาขาที่มีอยู่ทั่วประเทศกว่า 1,000 สาขา มีฐานลูกค้าเงินฝาก รวมถึงลูกค้าสลากออมสินจำนวนมาก จึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่เป็นข้อได้เปรียบจากผู้ประกอบการรายอื่น”

“อย่างไรก็ตาม เรายังให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายครั้งแรกของลูกค้า ดังนั้นตัวแทนขายอิสระหรือผู้แนะนำจะแจ้งให้ผู้สมัครทราบถึงโปรโมชั่นต่างๆ ในช่วงเวลานั้นๆ เพื่อกระตุ้นให้ผู้สมัครเปิดบัตรทันทีที่ได้รับ เพื่อความพร้อมในการใช้จ่ายครั้งแรกของลูกค้า ด้วยกลยุทธ์ดังกล่าวทำให้ลูกค้าที่เริ่มใช้จ่ายครั้งแรก (ภายใน 60 วัน) มีสัดส่วนที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเราเชื่อว่าหากลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดีในการใช้บัตรในครั้งแรก จะทำให้ลูกค้าเกิดความผูกพันและมีการใช้จ่ายอย่างต่อเนื่องในอนาคต ทำให้บริษัทฯ สามารถสร้างรายได้ และลดต้นทุนในการขยายฐานสมาชิกใหม่ได้มากยิ่งขึ้น”