“12 Rule of Content is the king” 12 กฎทำเนื้อหาโดนใจผู้ชม!

เรื่องโดย : ธาม เชื้อสถาปนศิริ

วันนี้เราเคยสังเกตไหมว่า รายการโทรทัศน์ที่ดังๆ และมีคนดูติดตามมาก มี 2 กลุ่ม คือ ละครไทยกับรายการโชว์ต่างประเทศ ซึ่งเป็นรายบันเทิงที่สะท้อนว่า คนสื่อไทยอาจรวบรัดตัดตอนซื้อรายการต่างประเทศเข้ามาทำเองจะดีกว่า เพราะมีความเสี่ยงต่ำ ไม่ต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องการควบคุมคุณภาพ และที่สำคัญ รับประกันได้แน่ๆ ว่ามันจะฮิต

“Content is the King” เป็นหลักการสำคัญที่คนทำรายการโทรทัศน์ยึดถือ แต่เคยมีใครเคยอธิบายไหมว่า จะทำอย่างไร ให้ “เนื้อหา กลายเป็น พระราชาไปได้” ?

ในห้วงเวลาที่ทีวีดิจิทัลต้องแข่งเป็นแข่งตายในอุตสาหกรรม ที่มีการแข่งขันสูง ผู้ที่เข้มแข็งที่แท้จริงเท่านั้น ที่จะเป็นผู้อยู่รอด และปัจจัยชี้ชัดในวงการอุตสาหกรรมจะพุ่งไปที่ การให้ความสำคัญกับคุณภาพความคิดสร้างสรรค์ในการผลิตรายการที่ ดี เด่น ดัง โดน ใจผู้ชมเท่านั้น และนั่นเป็นหน้าที่ของครีเอทีฟรายการที่ต้องพัฒนา ศึกษาว่าองค์ประกอบแบบใดที่จะทำให้ “เนื้อหาเป็นพระราชา” ไปได้

ปัจจุบันรายการโทรทัศน์ที่ประสบความสำเร็จในบ้านเรา ส่วนมาก มักซื้อลิขสิทธิ์มาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะรายการบันเทิงที่พิสูจน์แล้วว่าดังแน่นอนจากทั่วโลก เช่น “Got Talent Series”, “The Voice”, “Dancing with the Stars” ที่ช่อง 3 ซื้อลิขสิทธิ์มาผลิต หรือรายการ เชฟกระทะเหล็ก ที่มาผลิตเป็นเวอร์ชั่นไทย หรือง่ายกว่านั้น ก็ซื้อซีรี่ย์ละคร เกมโชว์แอ๊คชั่นต่างประเทศ มาฉายในช่องรายการเสียดื้อๆ เพราะฉะนั้นรายการที่เป็นของคนไทยทำจริงๆ ที่โด่งดัง ตอนนี้จะมีไม่มาก เช่น รายการวู๊ดดี้ เกิดมาคุย (ฉาย แรง เป็นประเด็น), รายการคนอวดผี (อันนี้ก็เอามาจากต่างประเทศ รายการทดลองกล้าท้าเจอผี) หรือรายการเกมโชว์ช่อง 9 (ซึ่งเน้นจากฝั่งเกาหลี และญี่ปุ่น)

ผู้เขียนเคยผ่านการอบรม เรื่อง “Entertainment and Formats: Overview of the hottest success and new TV trends from France” โดย AIBD/CFI ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการผลิตรายการโทรทัศน์ของฝรั่งเศสบอกว่า “การทำให้เนื้อหาโดนใจผู้ชมนั้น ไม่ใช่เรื่องยาก แต่มีเทคนิคที่ผู้ผลิตรายการจะต้องสนใจ คือ รายการโทรทัศน์ที่ดีนั้น เนื้อหาจะต้องทำให้ผู้ชมรู้สึกมีอารมณ์ร่วมไปกับเนื้อหา และเชื่อมโยงกับประสบการณ์ภายในของเขาให้ได้”

เขายกตัวอย่างรายการ “TAKE ME OUT” ซึ่งในยุโรปและอังกฤษนั้นนิยมมาก คุณจะไม่เชื่อเลยว่า รายการนี้ สร้างจากประสบการณ์ของสาวโสดที่ไปเที่ยวสถานบันเทิงยามราตรีในคืนวันศุกร์ พวกเธอสวย โสด และอยากไปผับ บาร์ และนั่งที่เคาน์เตอร์ เพื่อรอหนุ่มโสดหล่อๆ เดินเข้าประตูร้านมา จากนั้น หากมีหนุ่มหล่อที่โดนใจ สาวๆ ในกลุ่มจะพิจารณาคุณสมบัติและทำความตกลงกันว่า “ใครจะคว้าตัวหนุ่มหล่อคนนั้นไปต่อข้างนอกในค่ำคืน

“รายการ Take Me Out เกิดจากไอเดียของครีเอทีฟที่เขาสังเกตเห็นพฤติกรรมตื่นเต้นของสาวๆ ในคืนวันศุกร์ พวกเธอทอดสะพานให้หนุ่มๆ อย่างไร พวกเธอเกทับ บลัฟแหลกเพื่อนสาวด้วยกันอย่างไร และในทางสถิติบอกว่า ค่าเฉลี่ยของสาวๆ ที่ไปเที่ยวเป็นกลุ่มนั้นคือ 3 คน ฉะนั้นหากสาวโสดคนใดคนหนึ่งคว้าหนุ่มหล่อที่สุดในผับออกไปเดทต่อได้ เพื่อนสาว 2 คนที่เหลือก็จะทำหน้าที่ปลอบใจซึ่งกันและกันที่จะต้องครองโสดในค่ำคืนนั้นต่อไป”

และปัจจุบันรายการเทคมีเอ๊าท์ ก็ถูกนำไปผลิตและออกอากาศในเวอร์ชั่นของแต่ละประเทศ ซึ่งสามารถดัดแปลงได้บ้างตามความเหมาะสมของแต่ละประเทศ แต่แก่นคิดหลักของรายการยังคงอยู่

นี่เป็นตัวอย่างการผลิตรายการจากการสังเกตพฤติกรรมมนุษย์ ซึ่งครั้งหนึ่งก็คล้ายกับรายการเกมทัศกัณฑ์ mที่เคยโด่งดังในอดีต ที่ครีทีฟรายการ พัฒนารายการนี้จากการคิดว่า คนเราจะนึกชื่อคนออกไหมถ้าเห็นแค่รูปภาพใบหน้า?

(1) แคแร็คเตอร์ชัดเจน – CHARACTER : รายการโทรทัศน์ดีๆ ปัจจุบันสร้างจากบุคลิกจริงของคนจริง ยิ่งรายการเกมโชว์ การแสดงความสามารถต่าง ยิ่งต้องอาศัยบุคลิกและอัตลักษณ์ความเป็นตัวตนของผู้ร่วมรายการ

วิธีการสร้างแคแรกเตอร์ มีหลายแบบ เช่น สร้างแคเร็กเตอร์แบบเชิงอุปนิสัย, แบบเชิงเปรียบเทียบ, แบบคู่ตรงกันข้าม, แบบขัดแย้ง, แบบเหนือจริงกว่าคนธรรมดา, แบบตัวละครขาวเทาดำ ฯลฯ

เทคนิค : การสร้างแคเร็กเตอร์มักโดดเด่นในการผลิตการณ์ตูน หรือ ภาพยนตร์แนวฮีโร่ เช่น The Avenger ที่มีกัปตันอเมริกา, ธอร์ เทพเจ้าสายฟ้า, ยักษ์เขียวฮัคล์ หรือแม้แต่นวนิยาย เรื่อง ฮังเกอร์เกมส์ ก็สร้างตัวละครแต่ละตัวให้มีบุคลิกที่โดดชัดเจน, หรือ การ์ตูนซี่รี่ย์ยอดมนุษย์เอ็กซ์เมน ก็จะเห็นว่านิสัย บุคลิก อารมณ์ของตัวละครมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาเรื่อง

แม้แต่วงเกริ์ลกรุ๊ป บอยแบนด์ที่มีสมาชิกวงหลายๆ คน ก็สร้างมาจากบุคลิกที่แตกต่างหลากหลายของผู้คนจริงๆ ที่ผู้ชายจินตนาการซื่นชอบถึงสาวๆ ในแบบสวน น่ารัก เซ็กซี่ โนะเนะ ที่แตกต่างกัน (แนวคิดต้นแบบการพัฒนาแคเร็คเตอร์นี้ โดดเด่นมากในรายการเรียลลิตี้ เช่น บิ๊กบราเธอร์ หรือ เซอร์ไวเวอร์

(2) พิธีกรดึงดูดใจ – ATTRACTIVE HOST : รายการที่เป็นที่นิยม ผู้ดำเนินรายการมักมีส่วนสำคัญในการส่งต่อเนื้อหา ดำเนินเรื่องราว รายการที่ดี จำเป็นต้องมีพิธีกรที่ดี เข้าใจเนื้อหาและเป็นเนื้อเดียวส่วนหนึ่งกับรายการให้ได้ จนต้องทำให้คนดูรู้สึกว่า ถ้าไม่มีพิธีกร รายการก็หมดความสนุก

เทคนิค : เลือกพิธีกรให้เหมาะสมกับรายการ บางครั้งพิธีกรดัง กับพิธีกรดี ก็อาจไม่ใช่คนเดียวกัน, พิธีกรดัง เป็นที่รู้จัก แต่พิธีกรดีนั้น สามารถดำเนินรายการไปตั้งแต่ต้นจนจบได้ ฉะนั้น ควรเลือกพิธีกรที่ทำงานได้ดี สื่อความหมายได้ถูกต้องและภาษา ท่าทาง บุคลิกที่เหมาะสมกับรายการจะดีกว่า ที่สำคัญ ถ้าพิธีกรคนนั้นมีความสนใจ มีความสามารถในเรื่องนั้นจนเชี่ยวชาญหรือเป็นที่รับรู้กันว่าเขาคือคนที่รู้จริงเรื่องนั้น จะทำให้รายการดุน่าเชื่อขึ้นมาก

(3) ทำให้เห็นแอ๊คชั่น– ACTION : รายการโทรทัศน์ที่เป็นยอดนิยม ทุกๆ ตอน หรือทุกนาทีต้องมีแอ๊คชั่น ของการแสดงหรือการกระทำที่ชัดเจน โดยเฉพาะเกมโชว์เน้นการแข่งขัน มักทำให้ผู้ชมตื่นเต้นกับการติดตามดูมากกว่า (รายการสนทนา ไม่สามารถทำฉากแอ๊คชั่น หรือมีกิจกรรมการแสดงออกอะไรได้มาก) ดังนั้นรายการโทรทัศน์ยอดนิยมจึงต้องเน้นไปที่ แอ๊คติ้ง แอ๊คชั่น การโชว์ การแสดงออก การเล่น การทดสอบ การแข่งขัน การต่อสู้ การร้องเพลง การกระทำใดๆ ก็ได้ที่ผู้ชมเห็นภาพชัดเจนมากกว่าการใช้จินตนาการทางโสต

เทคนิค : กฎสำคัญที่คนทำทีวีมักหลงลืมคือ ทีวีนั้นมีภาพ เพราะฉะนั้น “การกระทำให้เห็นภาพ” คือส่วนที่สำคัญที่สุด, คุณจะต้องคิดทุกเนื้อหา ออกมาให้เป็นการกระทำที่เหนภาพได้ชัดเจน เปล่าประโยชน์ที่จะเล่าเรื่องนั้น ด้วยการเอาคนสองคนมานั่งพูดถึงมัน (ยกเว้นรายการสนทนา)

(4) สมจริงไม่เสแสร้าง – REAL/UNPREDICTABLE : บทรายการต้องทำให้ผู้ชม “คาดเดาไม่ได้” จนรู้สึกหงุดหงิดใจ แต่อยากจะติดตาม เพราะพวกเขารู้สึกว่ารายการนี้ท้าทายความคิดเขา ไม่ทำให้น่าเบื่อ (แต่ละครไทย ดูตอนจบ ก็รู้ว่าตอนต้นเรื่องเป็นอย่างไร) ต้องทำให้คนดูรู้สึกว่าไม่มีบทหรือสคริปต์ล่วงหน้า

รายการเรียลลิตี้จึงมักเป็นที่นิยมของคนดู แม้จะบอกว่ารายการเรียลลิตี้ นั้นมีการเตี๊ยม แต่ผู้ผลิตก็ควรมีสิ่งที่คุณไม่รู้ว่าใครจะชนะ คุณต้องให้ผู้ชมรู้สึก และเป็นจริงอย่างมากว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นนั้นเป็นไป เพราะความจริงโดยผู้ชมเป็นผู้กำหนด มิใช่ผู้ผลิตเป็นผู้กำหนด

เทคนิค : เคยได้ยินประโยคนี้ไหม? “รายการเรียลิตี้ คือ รายการประเภท ยิ่งมีความสมจริงสมจังมากเท่าใด มันก็ยิ่งเฟค (ไม่จริง) มากเท่านั้น!” เพราะฉะนั้น อย่าทำตามประโยคแบบนี้ก็แล้วกัน!

(5) สร้างกฎแข่งขัน – GAME : รายการโทรทัศน์ที่สนุกต้องมีการแข่งขัน ความท้าทาย คือสิ่งที่ง่ายที่สุดในการสร้างรายการ ผู้คนมักชอบการแข่งขันอยู่เสมอ “บทที่แท้จริงของรายการ” คือเกมที่กลายเป็นพระเอกของรายการที่มองไม่เห็น เกมกลายเป็นตัวดำเนินเรื่องหลัก มันนำพาผู้ชมเข้ามาดูรายการ นั่งดู ติดตามรายการตั้งแต่ต้นจนจบ  เกมจะกำหนดอารมณ์ และ ความท้าทาย ความตื่นเต้น ลองสังเกตรายการปัจจุบันดังๆ ดูว่ารายการไหนไม่มีการแข่งขันบ้าง เช่น BIG BROTHER, THE IDOL, THE GOT’S TALENT SERIES, THE AMAZING RACE, THE FORT BOYARD, หรือ X FACTOR เป็นต้น

เทคนิค : การสร้างเกมแข่งขัน มีหลายวิธีการ เช่น แข่งขันกันเองระหว่างผู้ร่วมรายการ ผู้แข่งขันในเกม หรือ ระหว่างแฟนคลับรายการ (หรือบรรดา ติ่งแฟนคลับของดารา) เหล่านี้ ช่วยเพิ่มให้มีความท้าทาย เพิ่มความเคลื่อนไหวให้กับรายการได้ตลอดเวลา และควรเป็นเกมที่มีความแปลกใหม่กว่าเกมทั่วๆ ไป ต้องเป็นเกมที่ไม่มีในรายการอื่นๆ จริง จึงจะทำให้รายการแตกต่าง แต่ถ้าคิดเกมเหมือนๆ ในรายการอื่นๆ ก็อย่ามีดีกว่า เพราะผู้ชมจะจดจำได้ว่าคุณลอกมาจากรายการอื่น

(6) ดราม่าเข้าไว้ – DRAMA : รายการโทรทัศน์ที่นิยมนั้น เล่นกับอารมณ์ของคนดู กำกับอารมณ์ให้บิดแปรผันตลอดเวลา เหมือนกราฟขึ้นลง ตามเสียงหัวใจเต้นจังหวะรัวกลอง รายการที่สนุกนั้นทำให้ผู้ชมรู้สึก กดดัน ตื่นเต้น ท้าทาย คาดเดา มึนงง ผิดหวัง เสียใจ ลุ้นระทึก ฯลฯ

เทคนิค : อย่าใช้วิธีการเขียนบท กำกับเพื่อให้ออกมาดราม่า แต่ให้ตัวการดำเนินเรื่องของทำให้ผู้เข้าร่วมรู้สึกหรือตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้นเอง เช่น กฎการเข้ารอบ การชนะเลิศ การพลิกสถานการณ์ เหล่านี้ ตัวผู้ร่วมรายการต้องรู้ล่วงหน้าก่อนรับชม

ระมัดระวังเรื่องความแนบเนียน ถ้าผู้ชมรู้สึกว่ามันดราม่ามากเกินไป จนเหมือนเตี๊ยมกันมา ผู้ชมจะปฏิเสธ เดี๋ยวนี้ผู้ชมฉลาด อย่าคิดว่าเขารู้ไม่ทันว่าอันไหนจริง เพราะฉะนั้น ดราม่ากลางๆ เป็นธรรมชาติโดยผู้ร่วมรายการ ผู้เล่น ผู้แข่งขัน จะดีที่สุด

(7) ใช้ความสัมพันธ์จริงๆ – REAL RELATIONSHIP : รายการโทรทัศน์ปัจจุบันจำลองภาพชีวิตของผู้คนมากขึ้น เช่นเกมโชว์หลายๆ รายการใช้ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเป็นตัวดำเนินเรื่อง คู่รัก เพื่อนรัก ความเป็นครอบครัว สายสัมพันธ์พ่อแม่ลูก เหล่านี้เอามาเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการสร้างรายการได้ทั้งสิ้น

ความสัมพันธ์ของชีวิตผู้คนมันเข้าถึงอารมณ์คนดูได้มากกว่า เพราะมันสื่อถึงใกล้ชิด และจับจิตใจผู้คนมากกว่า โดยเฉพาะความผูกพันด้านมิติอารมณ์ ยิ่งทำให้เรื่องมีความน่าสนใจมากขึ้น

เทคนิค : การมองหาเรื่องราวความสัมพันธ์ของผู้คนเป็นเรื่องง่าย แต่ควรจะผูกปมความสัมพันธ์ให้ซับซ้อนขึ้น 2-3 ห่วง เช่น พ่อ-ลูกสาว, แม่-ลูกชาย, ลูกสาว-แฟนหนุ่ม, หรือ ครู-ลูกศิษย์ หรือมองหาจุดเชื่อมความสัมพันธ์ของผู้คนในหลายๆ ระดับให้มากขึ้น ให้ผูกปมด้วยตัวมันเอง ผู้ชมจะจินตนาการความยากของความสัมพันธ์นั้นด้วยตัวเขาเอง

(8) คิดเนื้อหาระดับโลก – WORLD WIDE CONTENT : รายการโทรทัศน์ที่ประสบความสำเร็จมิใช่เฉพาะคิดถึงคนดูในประเทศเท่านั้น แต่เป็นรายการที่ทำเรื่องง่ายๆ ที่คนทั่วโลกมีจุดเชื่อมตรงถึงกัน ผู้ผลิตควรคิดถึง “สถานการณ์แวดล้อมคนธรรมดาทั่วไป” ยิ่งเป็นเรื่องง่ายๆ มากเท่าไร รายการนั้นจะยิ่งขายได้ทั่วโลกมากขึ้นเท่านั้น

เทคนิค : รายการโทรทัศน์ที่ประสบในปัจจุบันแบ่งออกได้ 4 กลุ่มหลัก คือ
(1) รายการเกมโชว์แอ็คชั่น เช่น รายการ X-FACTOR, FORT BOYARD, INTERCITY, BATTLE PASS, COUNT DOWN
(2) รายการตลก เช่น ANYTHING ELSE, MY PARENT ARE GONNA LOVE YOU, TV TRAP, MY FRIDGE TOLD ME
(3) รายการโชว์ความสามารถ เช่น MY FAMILY ROCK, BEAUTY AND THE BEAT และ
(4) รายการควิซโชว์ เช่น SLAM, HARRY, NATIONAL SMS CHAMPION, DUEL, DO YOU KNOW YOUR COUNTRY, HONEY PACK THE BAG

สังเกตว่ารายการเหล่านี้คือรายการบันเทิงที่ต้องลงทุนสูง กับฉาก โลเคชั่น และสตูดิโอ แต่สามารถลดต้นทุนค่าจ้างดารา พิธีกรดังๆ ไปได้ และเนื้อหาหลักมุ่งไปที่ตัวเส้นเรื่องรายการมากกว่า เน้นผู้คนจริงๆ ธรรมดาเข้าแข่งขันแสดงความสามารถ เป็นยุคที่เน้นการสื่อสารของคนธรรมดา ใครก็ได้ที่มีความสามารถและคุณสมบัติเด่น

เป็นรายการของยุค “SOMEBODY” แต่ไม่ใช่ “ELITE CLASS” เช่นแต่ก่อนอีกแล้ว

(9) มีคนเด่น คนดัง คนธรรมดา – CELEB AND REGULAR PERSON : รายการโทรทัศน์ต้องมีคนดึงดูดเข้าสู่เนื้อหารายการ การใช้ดารา คนดัง นักร้องยังเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่เขาเหล่านี้มาในมาดคนดังที่ต้องมาทำเรื่องธรรมดา นั่นจึงจะทำให้รายการน่าสนใจ คนดูไม่ได้คาดหวังว่าเขาจะเห็นคนดังเลิศหรูทำในสิ่งที่คุ้นเคย แต่อยากเห็นเขาตกอยู่ในสถานการณ์แบบคนธรรมดาเผชิญ ส่วนคนธรรมดาเช่นประชาชนทั่วไป เมื่ออยู่ในรายการ เขาต้องดูพิเศษขึ้นมานิดหน่อย ดูคล้ายดารา คล้ายคนดัง นั่นคือการผสมผสานระหว่างการใช้ดารากับคนธรรมดาที่ประสบความสำเร็จ

เทคนิค : การเลือกคนดัง มีหลายแบบ คนดังวันนี้ ตอนนี้ นาทีนี้ (นาทีนี้ ดีที่สุด) กับการเลือกให้คนดังมาทำกิจกรรม เล่าเรื่อง ร่วมรายการในแบบคนธรรมดา หรือ จะเล่าเรื่องชีวิตสุดหรูหราอลังการของคนดังก็ได้ แต่ส่วนมากมักเอาคนดังมาอยู่ในสถานการณ์ที่ขัดแย้งกับชีวิตจริงของเขามากกว่า (และถ้าเป็นสถานการณ์ชีวิตจริงที่คนทั่วๆ ไปก็ทำ ฝ่าฟัน เผชิญ รับมือได้ด้วยยากแล้ว ก็จะยิ่งดุน่าสนุกมากขึ้นอีก)

(10) มีความท้าทาย – CHALLENGES : ความท้าทายของรายการส่วนมาก ถูกสร้างขึ้นมาจาก “4ก” คือ

ก-เกมการแข่งขันที่น่าตื่นเต้น, ก-กฎการแข่งขันที่ยาก เคี่ยวข้น, ก-กติการะหว่างผู้เล่นที่ขับเตี่ยว บีบเค้นอารมณ์ และ ก-การดำเนินเรื่องที่เร้าใจคาดเดาไม่ได้

แต่นั่นเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่ง เพราะที่สำคัญ ผู้ผลิตรายการต้องท้าทายคนดูด้วย คนดูชอบการถูกท้าทายทางความคิดและสมองเช่นกัน คุณอาจสร้างการมีส่วนร่วมกับพวกเขาในการแข่งขัน ให้เสมือนว่าเขาเล่นอยู่ร่วมในรายการจริงๆ (ไม่ใช่แค่นั่งปรบมือส่งเสียงกรี๊ดเฮฮาในรายการ) หากคุณทำรายการเกมแข่งขัน คุณต้องคิดโจทย์ กติกาการแข่งขันใหม่ๆ อยู่เสมอ และให้ผู้ชมรู้สึกว่ามันทั้งยาก โหด และอันตราย (แนวคิดความท้าทายนี้  โดดเด่นมากในเกมออนไลน์ พวกเขาเข้าไปเล่นเกมเพราะว่าชีวิตจริงมันอาจจะน่าเบื่อ ดังนั้นในโลกเกมออนไลน์ จึงต้องมีสถานการณ์ที่ทำให้พวกเขาดึงศักยภาพและจินตนาการตนเองออกมา)

เทคนิค : การมองเรื่องความท้าทายนั้น ต้องมองไปที่ เนื้อหา/สถานการณ์ที่ท้าทายคนร่วมรายการ และ ท้าทายความคิด สมอง สติปัญญา ความระคนงงสงสัยของผู้ชม เลิกทำอะไรที่มันดูง่ายๆ เดาทิศทางได้แน่นอน แบบนั้นไม่ได้เรียกว่าท้าทาย แต่เรียกว่าน่าเบื่อ

(11) ทำให้เป็นรายการสำหรับครอบครัว – MAKE IT FAMILY SHOW : รายการโทรทัศน์ที่ประสบความสำเร็จส่วนมากนั้น เป็นเพราะมันสามารถออกอากาศฉายในเวลาสำหรับครอบครัวได้ ยิ่งพ่อแม่ ผู้ปกครองรู้สึกว่ารายการนี้ ดูได้ไม่มีพิษมีภัย สนุก ปลอดภัย รายการคุณก็จะลดข้อวิพากษ์วิจารณ์ได้มากขึ้นเท่านั้น

พยายามหลีกเลี่ยงเนื้อหาที่ฉายภาพความชัดเจน เรื่องเพศ ความรุนแรง เซ็กส์ และภาษาหยาบคาย ต้องกำจัดข้อจำจัดนี้ออกไปให้หมด รายการคุณจึงจะประสบความสำเร็จในระดับโลก

เทคนิค : เดี๋ยวนี้ประเทศต่างๆ มีเสรีภาพในการข้ามสื่อมากขึ้น รายการต่างๆ สามารถออกอากาศได้ทั่วโลก แต่ว่าแต่ละประเทศก็มีกฎกำกับดูเช่นกัน เพราะฉะนั้นถ้าเนื้อหารายการเราปลอดภัย ก็ไม่ยากที่รายการคุณจะสามารถออกอากาศในหลายๆ ประเทศได้

อย่าลืมว่าในโลกปัจจุบัน คุณไม่ได้ทำรายการให้คนดูเฉพาะกลุ่มอีกต่อไป แต่ทำรายการให้คนทั้งโลกสามารถดูได้ แบบนั้นจะขายได้มากกว่า ฉะนั้นแต่ละประเทศมีกรอบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมที่แตกต่างกันพยายามทำเรื่องกลางๆ ให้มากที่สุด มุขตลกในรายการอาจไม่ขำทั่วโลก แต่ถามเป็นความเศร้า ตื่นเต้น รัก โรแมนติก ท้าทาย แข่งขัน อารมณ์เหล่านี้เป็นพื้นฐานคนทั่วโลกแน่ๆ

(12) ต่อยอดเนื้อหา ทำเกมออกมาขาย– MORE THEMES VDO GAME : มีใครไม่ชอบเล่นเกมบ้าง คนดูทุกคนชอบเล่นเกมเสมอ รายการโทรทัศน์ปัจจุบัน ผนวกเอาความรู้สึก วิสัยทัศน์นี้เอาไว้ด้วย และปัจจุบัน ผู้ผลิตเกมมากมายต่างก็สร้างเกมจากรายการยอดฮิตกันทั้งนั้น วิธีนี้ช่วยสร้างกำไรและต่อยอดรายการคุณให้ต่อเนื่อง เพราะเกมจะช่วยขายรายการคุณขณะที่มันหยุดออกอากาศ

เทคนิค : ลองใช้การตลาด การผลิตเล่าเรื่องข้ามสื่อดู บางครั้ง เนื้อหาในรายการ ละคร ภาพยนตร์ ก็ดูจะสนุกขึ้นมาก เมื่อผู้ชมสามารถเล่นเกมส์ หรือเสพสื่ออื่นๆ เพื่อเข้าถึง (เพื่อฟิน) เนื้อหาสื่อนั้นๆ จากแพลทฟอร์มที่แตกต่างกัน

รายการโทรทัศน์ที่ประสบความสำเร็จในระดับโลกมักเป็นรายการลูกผสม (hydrid program) ไม่ใช่รายการที่มีการนำเสนอแบบเดียวอีกต่อไป (single format) และเนื้อหาที่ดีที่สุดของรายการ ต้องสามารถสร้างประสบการณ์ในการับชมได้

โดยไม่เพิกเฉยกับความน่าสนใจตื่นเต้นของเนื้อหา และการดำเนินเรื่องที่มีลักษณะคาดเดาไม่ได้ เน้นความผสมจริงระหว่าง ความจริงกับจินตนาการ เน้นเนื้อหาเชิงอารมณ์ และจิตวิทยาความสัมพันธ์ของมนุษย์มากขึ้น นำเสนอภาพขัดแย้งถ่ายทอดเรื่องราวอันเหลือเชื่อของคนธรรมดาในลักษณะปกติและคนดังในลักษณะสามัญ เพิ่มช่องทางปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ชมกับรายการมากขึ้น และในทางการตลาด ต้องคิดเรื่องการขายรายการในแง่มุมที่หลากหลายมากขึ้น

และที่สำคัญ การจะทำให้ “Content is the king.” ได้นั้น “ความคิดสร้างสรรค์เชิงบูรณาการ” สำคัญที่สุด คนทำสื่อและรายการต้องปั้นเนื้อหาในมุมมองของใจผู้ชม เดาให้ออกว่าเขาจะสนุกกับเนื้อหานั้นๆ ได้อย่างไร เพราะเบื้องหลังของ Content ก็คือ Consumer นั่นเอง!