ถ้าเปรียบเป็นภาพยนตร์แล้ว กรณีระหว่าง กสทช. และช่อง 3 กับการผลักดันให้ช่อง 3 อนาล็อกออกคู่ขนานในช่องดิจิตอล เปรียบเหมือน “หนังเรื่องยาว” เมื่อ กสทช. งัดมาตรการล่าสุด “เรียงเลขช่องใหม่” มาเป็นแรงบีบให้ช่อง 3 อนาล็อกอีกครั้ง
ในขณะที่ทุกคนเฝ้ารอว่าวันที่ 1 กันยายน 2557 ที่เป็นกำหนดเส้นตายในการผ่อนผันให้ช่อง 3 ยืดเวลาการออกอากาศช่อง 3 อนาล็อกออกไป 100 วัน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ หรือ กสทช. จัดการกับปัญหานี้อย่างไร จะยืดเวลาออกไปอีก หรือจะนำมาตรการอะไรมาใช้ เพื่อผลักดันให้ช่อง 3 ออกอากาศคู่ขนาน
ปรากฏว่าในการแถลงข่าวกับสื่อมวลชนถึงผลการประชุมบอร์ด กสทช. เมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา กสทช. บอกแต่เพียงว่าไม่ขยายเวลาออกไปอีก โดยให้เหตุผลว่า ทีวีระบบอนาล็อกเดิมสามารถออกอากาศได้ทุกแพลตฟอร์ม เพราะเป็นไปตามประกาศฉบับที่ 27 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่กำหนดให้ผู้ให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบอนาล็อก ซึ่งได้รับอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ออกอากาศรายการประจำของสถานีได้ตามปกติ ประกอบไปด้วย
ช่อง 3, ช่อง 5, ช่อง 7, ช่อง 9, ช่อง NBT และช่องไทยพีบีเอส สามารถออกอากาศได้ตามปกติ ผ่านโครงข่ายดาวเทียม และเคเบิลทีวี แบบบอกรับสมาชิก (เพย์ทีวี)
หากดูกันแค่นี้ ดูเหมือนว่า กสทช. จะยอมอ่อนข้อให้กับช่อง 3 ออกอากาศช่องอนาล็อกต่อไปได้ โดยมีประกาศฉบับที่ 27 ของ คสช. เป็นไม้ค้ำยันให้กับช่อง 3 โดยที่กฎ Must Carry ของ กสท. ที่หวังจะนำมาใช้เพื่อ “บีบ” ให้ช่อง 3 ต้องนำช่องอนาล็อกมาออกอากาศคู่ขนาน ไม่สามารถทำอะไรช่อง 3 ได้
การที่ กสทช. ต้องยอมให้ช่อง 3 อนาล็อกออกอากาศต่อไปได้ เพราะหากปล่อยให้ช่อง 3 จอดำ นอกจากคนดูจะไม่ยอม บรรดาเจ้าของแพลตฟอร์ม กล่องดาวเทียม และเพย์ทีวี ที่ต้องถอดรายการช่อง 3 อนาล็อกออก จะได้รับผลกระทบจากกฎ Must Carry ไม่มีช่อง 3 อนาล็อกออนแอร์ ซึ่งก็เป็นไปได้ว่าแพลตฟอร์มเหล่านี้อาจต้องออกมาเคลื่อนไหว
เมื่อเกิดเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น ย่อมส่งผลกระทบต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมทีวี รวมทั้งสถานการณ์ของทีวีดิจิตอล ก็กำลังถูกจับตาว่าตกอยู่ในสภาพย่ำแย่ หลายช่องเริ่มออกอาการ จนถึงกับมีการรวมตัวของผู้ประกอบการจะไม่จ่ายค่าใบอนุญาต กสท.ในฐานะผู้กำกับดูแลและผลักดันต้องรับผิดชอบ
นอกจากนี้ คสช. เองมีรายการ คืนความสุขให้คนในชาติ ที่ออกอากาศทีวีทุกช่อง ทุกวันศุกร์ เพื่อสื่อสารถึงนโยบายต่างๆ ของรัฐที่มีกับประชาชน หากช่อง 3 ออกอากาศไม่ได้ ก็ย่อมทำให้ช่องทางในการเผยแพร่ข่าวสารของ คสช. ลดลง
รวมทั้งยังมีกรณีการถ่ายทอดสด กีฬา “เอเชียนเกมส์” ที่ทางทีวีพูลหน่วยงานกลาง ได้ซื้อลิขสิทธิ์มาและต้องจัดสรรให้ช่องต่างๆ ร่วมกันออกอากาศ หากช่อง 3 อนาล็อกออกอากาศไม่ได้ จะเกิดปัญหาเรื่องการออกอากาศ
แต่ใช้ว่า กสทช. จะยอมอ่อนข้อให้กับช่อง 3 เพียงแต่เปลี่ยนวิธีการ และซื้อเวลาออกไปก่อน โดยใช้ประกาศเรื่องหลักเกณฑ์การจัดลำดับบริการโทรทัศน์ พ.ศ. 2556 และกำหนดให้ทุกแพลตฟอร์ม ต้องเรียงเลขช่อง 1-36 เหมือนกล่องทีวีดิจิตอล
ประกาศนี้เข้าข่าย “ยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว” อย่างแรก คือ แก้ปัญหาเรื่องการ “เรียงเลขช่อง” ที่เป็นปัญหากับคนดูอย่างมากเวลานี้
กสทช. ได้อ้างถึงกรณีที่ทรูวิชั่นส์ได้ยื่นฟ้อง กสทช. ต่อศาลปกครองกลาง กรณีที่ กสทช. ได้ออกหลักเกณฑ์การกำหนดหมวดหมู่ และจัดลำดับบริการโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ โดยให้แพลตฟอร์มทีวีดิจิตอล และเพย์ทีวีต้องบวกช่องทีวีดิจิตอลอีก 10 ช่อง จาก 32 เป็น 42 ปรากฏว่า ทีวีดาวเทียม เพย์ทีวี ต่างก็เรียงช่องกันคนละแบบ คนดูจึงเกิดความสับสน
ที่ประชุม กสทช. ยกเลิกประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดลำดับบริการโทรทัศน์ พ.ศ. 2556 และได้ออกประกาศฉบับใหม่กำหนดให้ทุกแพลตฟอร์มต้องเรียงเลขช่อง 1-36 เหมือนกล่องทีวีดิจิตอล ส่วนช่องรายการที่ 37-60 บนโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ ให้เป็นช่องของผู้ประกอบการเลือกเอารายการใดมานำเสนอ แทนที่ช่องรายการที่ 1-10 เพื่อป้องกันความสับสนในการรับชมทีวีดิจิตอล
โดยขั้นตอนต่อไป กสทช. ต้องเปิดรับฟังความเห็นสาธารณะ และคาดว่าประกาศฉบับใหม่จะมีผลบังคับใช้อย่างเร็วก็ปีนี้ อย่างช้าๆ ก็ต้องไปถึงต้นปี
ผลจากประกาศฉบับใหม่ ยังส่งผลต่อ “ช่อง 3 อนาล็อก” ที่เคยถูกจัดวางอยู่ช่องหมายเลข 1 ในกล่องทีวีดาวเทียม และเพย์ทีวี หมดสิทธิ์จะอยู่ในช่องหมายเลข 1 และจะอยู่ในช่อง 37-60 ก็ไม่ได้ เพราะเป็นช่องของ รายการของดาวเทียม และเพย์ทีวี
เท่ากับว่าช่อง 3 อนาล็อก จะถูกโยกไปอยู่ช่องหมายเลขต่างๆ ตามแต่ละแพลตฟอร์มกล่องทีวีดาวเทียม และเพย์ทีวีจะเป็นผู้กำหนด เมื่อช่องกระจัดกระจาย คนดูจะเกิดความยุ่งยากและสับสน และเมื่อเกิดปัญหากับคนดู ย่อมส่งผลไปถึง “เรตติ้ง” และรายได้ของช่อง 3 ที่ต้องได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน
ช่อง 3 อาจต้องวิ่งเจรจากับบรรดาเจ้าของกล่อง หรือแพลตฟอร์มต่างๆ ในการนำช่อง 3 อนาล็อกออกอากาศหมายเลขเดียวกัน ซึ่งต้องใช้เวลา และอาจต้องมีต้นทุนเพิ่มขึ้น
ยกเว้น ช่อง 3 ต้องการมีที่ยืนแบบไร้ปัญหากับ กสทช. ก็ต้องยอมนำช่อง 3 อนาล็อกมาออกอากาศคู่ขนานในช่องดิจิตอล 3 ช่อง ที่ประมูลมาได้ คือ ช่อง 13 ช่อง 28 และช่อง 33
ต้องดูว่า ช่อง 3 จะรับมือกับ “เงื่อนปม” ที่เป็นแรงบีบครั้งใหม่จาก กสทช. นี้อย่างไร ในเมื่อช่อง 3 ต้องการรักษาเกมเดิม ยึดช่อง 3 อนาล็อกไว้ให้นานที่สุด
หากต้องนำช่องอนาล็อกไปออกอากาศคู่ขนานในช่องดิจิตอล ที่นอกจากจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น ต้องจ่ายค่าสัมปทานที่ยังเหลืออีก 6 ปี ให้กับช่อง 9 ยังต้องจ่ายค่าใบอนุญาตให้กับ กสทช. ในการออกอากาศ เกมธุรกิจจะเปลี่ยนทันที มีคู่แข่งเพิ่มขึ้นอีกหลายราย ที่สำคัญทีวีดิจิตอลยังมีปัญหาเครือข่ายยังไม่พร้อม คนดูยังน้อย เรตติ้งไม่มาโฆษณาไม่เข้า ไม่คุ้มกับที่ต้องลงทุนรายการดีๆ
ในขณะที่ กสทช. มองว่า ช่อง 3 เป็น “จิ๊กซอว์” ที่จะช่วยดึงดูดคนดู หากช่องไม่กระโดดเข้าสู่ทีวีดิจิตอลเต็มตัว หรือไม่มีช่องอนาล็อกมาออกอากาศคู่ขนาน โอกาสจะแจ้งเกิดทีวีดิจิตอลในเร็ววันย่อมเป็นไปได้ยาก
เมื่อต่างฝ่ายต่างมองต่างมุม ปัญหาจึงไม่จบง่ายๆ
ส่วนอีกรายที่จะได้รับผลกระทบจากการออกประกาศเรียงช่องใหม่ของ กสทช. ก็คือค่าย “พีเอสไอ” ด้วยความที่เป็น “ขาใหญ่” ในกล่องทีวีดาวเทียม ที่ครองส่วนแบ่งตลาดกว่า 50% ทำให้พีเอสไอจึงมีรายได้จากช่องรายการที่ต้องการเข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มของพีเอสไอ ที่เป็นหมายเลขช่องต้นๆ 1-10 โดยเก็บอยู่รายละ 2 ล้านบาท 10 ราย ได้ 20 ล้านบาท เช่น ช่องเวิร์คพอยท์ ที่เคยอยู่หมายเลข 1 จะต้องไปอยู่ในช่องที่ประมูลใบอนุญาตมา คือ ช่อง 23
นั่นหมายความว่า หลังจากประกาศเรียงช่อง กสทช. ประกาศใช้ รายได้ของพีเอสไอ 20 ล้านบาทจะหายไปทันที
เรียกว่า ประกาศเรียงเลขช่องครั้งนี้ แรงสะเทือนหลายทอด แต่ที่แน่ๆ ระหว่าง กสทช. และช่อง 3 จะหาทางออกกับเรื่องนี้อย่างไร เกมนี้มีเวลาจนถึงต้นปีหน้า ที่จะรอดูว่ามาตรการนี้ จะดึงให้ช่อง 3 อนาล็อกต้องกระโดดเข้าสู่ทีวีดิจิตอลได้อย่างที่ กสทช. หมายมั่นไว้หรือไม่