ทำตลาดยุคนี้จะมุ่งขายสินค้าอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องสร้างแบรนด์เลิฟ มัดใจ “คู่ค้า” อย่างแคมเปญล่าสุดของ “โค้ก” มุ่งไปเจาะใจ “ร้านโชว์ห่วย” 250,000 ร้านค้า ที่มีผู้หญิงเป็นเจ้าของ 60%
ที่มาของแคมเปญนี้มาจากโครงการ “5by20” โกบอลแคมเปญของโคคา-โคลา เริ่มต้นครั้งแรกในปี 2553 เพื่อพัฒนาศักยภาพ “ผู้หญิง” และส่งเสริมบทบาทสตรี ในห่วงโซ่คุณค่า หรือ Value Chain โดยตั้งเป้าว่าจะมีผู้หญิงเข้าร่วมโครงการจำนวน 5 ล้านคน ในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก ภายใน ปี 2020 (พ.ศ. 2563)
สาเหตุที่ต้องให้ความสำคัญกับผู้หญิงนั้น เพราะมีรายงานจากยูนิเซฟว่า ผู้หญิงคิดเป็นแรงงานถึง 66% ของแรงงานทั่วโลก แต่มีรายได้เพียงแค่ 10% ของรายได้รวมทั่วโลก โดยที่ 90% ของรายได้ผู้หญิงนั้นจะนำไปใช้จ่ายในครัวเรือนเพื่อครอบครัว ผู้หญิงจึงกลายเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนสังคม
ใจความสำคัญของโครงการนี้อยู่ที่การฝึกอบรม และพัฒนาศักยภาพการดำเนินธุรกิจให้แก่ผู้หญิง ซึ่งในแต่ละประเทศมีการฝึกอบรมที่แตกต่างกันไปแล้วแต่บริบทของประเทศนั้นๆ โดยคัดเลือกจาก Value Chain ทั้ง 6 ของโคคา-โคลา ได้แก่ ผู้ผลิต, ผู้จัดจำหน่าย, ร้านค้าปลีก, ซัพพลายเออร์, ฝ่ายบรรจุภัณฑ์ และฝ่ายช่างฝีมือ
ในประเทศไทยนั้นโคคา-โคลาเลือกที่จะเจาะไปที่กลุ่ม “ร้านโชว์ห่วย” ที่โคคา-โคลามีลูกค้าร้านค้าปลีกกว่า 250,000 ร้านค้า ซึ่งร้านโชว์ห่วยถือเป็นหัวใจหลักของตลาดน้ำอัดลมในประเทศไทย และสำหรับโคคา-โคลาเองด้วยเช่นกัน เพราะมีสัดส่วนถึง 70% ส่วนอีก 30% เป็นช่องทางโมเดิร์นเทรด และร้านคอนวิเนียนสโตร์อื่นๆ
และจากจำนวนลูกค้าร้านโชว์ห่วยกว่า 250,000 ร้านค้าของโคคา-โคลานั้น พบว่า 60% มีผู้หญิงเป็นเจ้าของร้าน ตรงกับความต้องการของโครงการนี้พอดีในการที่จะโฟกัสไปที่กลุ่มผู้หญิง
มร.แอนโตนิโอ เดล โรซาริโอ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท โคคา-โคลา (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของโคคา-โคลา ต้องพยายามช่วยเหลือพันธมิตรทางธุรกิจ และชุมชน โค้ก ได้ทำสำรวจกับร้านโชว์ห่วยถึงสิ่งที่เขาต้องการ และพัฒนาศักยภาพในการดำเนินธุรกิจของผู้หญิงเจ้าของร้านค้าปลีก ซึ่งเป็นหัวใจหลักของธุรกิจเรา สุดท้ายแล้วถ้าพวกเขาเติบโตมีรายได้เพิ่มขึ้น ชุมชน สังคมเติบโต ธุรกิจเราก็เติบโตไปด้วย และโตอย่างยั่งยืน
โดยกลุ่มโคคา-โคลา ประเทศไทยได้จับมือพันธมิตรทั้ง 4 ได้แก่ บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด, บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน), กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และธนาคารทีเอ็มบี
ในระยะแรกเริ่มนั้นได้เริ่มทดลองการฝึกอบรมแก่ร้านโชว์ห่วยในจังหวัดภาคใต้ไปแล้วกว่า 1,300 คน เมื่อเดือน มิถุนายน 2557 โดยบริษัท หาดทิพย์ หลักสูตรประกอบได้ด้วย 1. การจัดเรียงสินค้าภายในร้าน 2. การบริหารจัดการสต็อคสินค้า 3. การบริหารด้านการเงิน
หลังจากนั้นก็เริ่มการฝึกอบรมในกรุงเทพ และจังหวัดอื่นๆ ต่อไป ตั้งเป้าผู้หญิงเข้าฝึกอบรมจำนวน 45,000 คน ภายในปี 2563 คาดหวังว่าร้านค้าจะมีผลประกอบการเพิ่มขึ้น 17-20%
โค้กมองว่า โครงการนี้ Win-win กันทั้งสองฝ่าย ร้านค้าได้การจัดการที่เป็นระบบมากขึ้น ทำให้ผลประกอบการในร้านก็ดีขึ้นตามกัน และทำให้มีจุดแข็งที่สามารถต่อกรกับร้านคอนวิเนียนสโตร์ที่กำลังบุกยึดทุกมุมตึกอยู่ ณ ขณะนี้
ทางด้านโคคา-โคลาเองนอกจากจะได้ภาพลักษณ์ขององค์กรที่ดีขึ้นแล้ว เมื่อร้านค้าเข็มแข็งก็สะท้อนกลับมาที่ผลประกอบการของโคคา-โคลาที่แข็งแกร่งขึ้นเช่นกัน