กสิกรไทยจับมือศูนย์เอสเอ็มอีของกรุงโตเกียว ดึงเอสเอ็มอีโตเกียวลงทุนในไทยและอาเซียน หลังรัฐบาลญี่ปุ่นหนุนเอสเอ็มอีทั่วประเทศ 10,000 แห่งขยายตลาดไปลงทุนในต่างประเทศ ตั้งเป้าเบื้องต้นชวนเอสเอ็มอีจากโตเกียวลงทุนในไทย 50-70 บริษัท มูลค่าลงทุนมากกว่า 3,500 ล้านบาท
นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารได้ลงนามความร่วมมือกับศูนย์สนับสนุนลูกค้าเอสเอ็มอี โตเกียว เมโทร โพลิแทน (Tokyo Metropolitan Small and Medium Enterprise Support Center) ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐบาลของกรุงโตเกียว ที่ให้การสนับสนุนและพัฒนาเศรษฐกิจของเอสเอ็มอีในกรุงโตเกียวโดยเฉพาะ ปัจจุบันมีจำนวนสมาชิกมากกว่า 30,000 บริษัท และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากจํานวนบริษัททั้งหมดในโตเกียวประมาณ 440,000 เเห่ง
ทั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทยจะให้การสนับสนุนและร่วมมือในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับเศรษฐกิจเเละการลงทุนในประเทศไทยเเละประเทศในกลุ่มอาเซียนแก่เอสเอ็มอีจากกรุงโตเกียว โดยการจัดสัมมนา การหาพันธมิตรทางธุรกิจทั้งในไทยเเละต่างประเทศร่วมกัน การสร้างเครือข่ายทางธุรกิจระหว่างประเทศ การลงพื้นที่ศึกษาลู่ทางการลงทุนและดำเนินธุรกิจเพื่อเพิ่มยอดทางการค้าระหว่างไทย–ญี่ปุ่น รวมทั้งการเเนะนำบริการที่ธนาคารกสิกรไทยสามารถสนับสนุนแก่ลูกค้าเอสเอ็มอีญี่ปุ่นเมื่อเข้ามาในประเทศไทย
ความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้าและการพัฒนาของระบบการจัดการธุรกิจของเอสเอ็มอีไทย รวมถึงระบบการจัดการด้านเทคโนโลยีจากผู้ประกอบการชาวญี่ปุ่น โดยอุตสาหกรรมหลักที่เอสเอ็มอีจากโตเกียวสนใจเข้ามาลงทุนในไทยนั้นจะเป็นในอุตสาหกรรมประเภทเครื่องจักรและอุปกรณ์หนักเป็นส่วนใหญ่ โดยเบื้องต้นคาดว่าจะบริษัทที่จะเข้ามาลงทุนในไทยราว 50-70 บริษัท คิดเป็นมูลค่าการลงทุนมากกว่า 3,500 ล้านบาท
ที่ผ่านมา ธนาคารกสิกรไทยให้ความสําคัญกับผู้ประกอบการญี่ปุ่นด้วยการเตรียมบุคลากรที่เข้าใจภาษาเเเละวัฒนธรรมญี่ปุ่นมาดูแลการให้บริการแก่ลูกค้าผู้ประกอบการชาวญี่ปุ่นในประเทศไทย เพื่อให้ลูกค้าได้รับความสะดวกในการใช้บริการของธนาคาร นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้งเเละปรับปรุง Japanese Friendly Branch, Call Center, ATM และเอกสารต่างๆ สำหรับลูกค้าชาวญี่ปุ่นโดยเฉพาะ ซึ่งก็สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้เป็นอย่างดี อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมาธนาคารกสิกรไทยยังได้เป็นพันธมิตรกับสถาบันการเงินในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้ให้บริการหลักแก่เอสเอ็มอีในญี่ปุ่น ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยให้ธนาคารสามารถสานต่อการให้บริการแก่เอสเอ็มอีญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้ดียิ่งขึ้น ปัจจุบันธนาคารกสิกรไทยมีลูกค้าบริษัทญี่ปุ่นประมาณ 3,000 กว่าราย และมีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 13% โดยตั้งเป้าที่จะเป็นธนาคารไทยในใจนักลงทุนญี่ปุ่นและจะเพิ่มส่วนแบ่งตลาดกลุ่มลูกค้าญี่ปุ่นในไทยเป็น 16% ภายในอีกสองปีข้างหน้า
ด้านนายยูจิ อิซาว่า ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์สนับสนุนลูกค้าเอสเอ็มอี โตเกียว เมโทร โพลิแทน กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาพรวมของธุรกิจในประเทศญี่ปุ่นมีจำนวนผู้ประกอบการขนาดใหญ่ เช่น โตโยต้า ฮอนด้า มีสัดส่วนไม่ถึง 1% ของจำนวนผู้ประกอบการทั้งหมดในญี่ปุ่น ในขณะที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในญี่ปุ่นมีสัดส่วนกว่า 99% ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเป็นตัวขับเคลื่อนหลักให้กับระบบเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก
แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศญี่ปุ่นต้องเผชิญกับภาวะกำลังซื้อในประเทศลดลง เนื่องจากประชากรวัยทำงานและวัยเด็กมีจำนวนลดลงขณะที่จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น จากแรงกดดันดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของญี่ปุ่นต้องพยายามหาตลาดใหม่ๆ ในต่างประเทศ หรือเเม้เเต่การหาผู้ผลิตในต่างประเทศเพื่อเป็นการลดต้นทุน ซึ่งคาดว่าเเนวโน้มดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องท่ามกลางแรงกดดันทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น
รัฐบาลญี่ปุ่นจึงมีมาตรการในการสนับสนุนเอสเอ็มอีให้สามารถยืนหยัดได้ด้วยตนเองอย่างยั่งยืนและสามารถขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศได้ ซึ่งผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถขอรับการสนับสนุนจากทั้งองค์กรของรัฐบาลและเอกชนภายในประเทศ ทั้งในด้านการเงิน การขอคำปรึกษาการบริหารการจัดการ และการขอข้อมูลในการทำธุรกิจในต่างประเทศ เเละตั้งเป้าจะผลักดันให้เอสเอ็มอีในประเทศญี่ปุ่น มากกว่า 10,000 รายออกมาดําเนินธุรกิจต่างประเทศภายในปี 2560
สำหรับประเทศไทยเป็นประเทศเป้าหมายหนึ่งที่รัฐบาลญี่ปุ่นสนับสนุนให้เอสเอ็มอีเข้ามาลงทุน เพื่อเป็นศูนย์กลางในการทำธุรกิจในอาเซียน เนื่องจากมีความพร้อมในเรื่องปัจจัยพื้นฐานต่างๆ และทำเลที่ตั้งของประเทศได้เปรียบกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ โดยความร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทยน่าจะเกิดประโยชน์สูงสุดแก่เอสเอ็มอีญี่ปุ่นที่สนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยและอาเซียน เนื่องจากเป็นธนาคารที่มีชื่อเสียงในการให้บริการและมีส่วนแบ่งตลาดลูกค้าเอสเอ็มอีเป็นอันดับหนึ่งในประเทศไทย ให้ความสำคัญกับการให้บริการทางการเงินและสนับสนุนข้อมูลการดำเนินธุรกิจแก่นักลงทุนญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างจริงจัง ดังนั้นการมีสถาบันการเงินที่เข้มแข็งและเข้าใจผู้ประกอบการญี่ปุ่นที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย จะช่วยอำนวยความสะดวกและสร้างความมั่นใจแก่เอสเอ็มอีญี่ปุ่นที่ต้องการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้นด้วย