จุดเปลี่ยนของทรู ในวันที่มี “ไชน่าโมบายล์” ร่วมทาง

ค่ายทรูนั้น ถือเป็น “บิ๊กทรี” ของผู้ประกอบธุรกิจโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ของไทย แต่การมาเป็นที่ 3 ในตลาดมือถือ ทำให้ทรูต้องเร่งขยายลงทุนเครือข่าย เพื่อวิ่งให้ทันคู่แข่งอีก 2 ราย ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก

บวกกับการวาง “จุดยืน”ในเรื่องของการเป็นผู้นำในเรื่องของ “คอนเวอร์เจ้นท์” โดยได้แตกขยายการลงทุนครอบคลุมโทรศัพท์มือถือ 3 จี และ 4 จี อินเทอร์เน็ตบรอดแบรนด์ และธุรกิจบรอดคาสติ้ง รวมทั้งธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ “ทรู”ให้แตกต่างไปจากคู่แข่งอีก 2 ราย

แต่ ทรู ต้องแบกภารับภาระการ “ขาดทุน”สะสม ติดต่อกันมาหลายปี

การได้ “ไชน่าโมบายล์” เข้ามาถือหุ้น  และได้มีการลงนามอย่างเป็นทางการในวันที่ 10 กันยายน โดยมีผู้บริหารระดับสูงจากทั้งสองฝ่ายรวมกันกว่า 30 คน
 
ฝั่งทรู นำโดย “ธนินท์ เจียรวนนท์” ประธานกรรมการ และประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และศุภชัย เจียรวนนท์ ซีอีโอ พร้อมกับทีมผู้บริหาร ส่วนทางด้านไชน่าโมบายล์ นำโดย หลี่ เยว่ กรรมการบริหารและหัวหน้าคณะผู้บริหาร พร้อมกับทีมผู้บริหารบินที่บินมาจีนเข้าร่วมงานกว่า 10 คน

เพราะงานครั้งนี้ ถือเป็น “จุดเปลี่ยน” ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของค่ายทรู

สิ่งแรกที่ทรูจะได้รับจากดีลนี้ คือ การปรับฐานการเงินครั้งใหญ่ โดยทรูจะนำเงิน จำนวน 65,000 ล้านบาท ที่ระดมมาได้จากการขายหุ้นให้กับไชน่าโมบายล์ และการเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นเดิม คือ เครือเจริญโภคภัณฑ์ นำไปใช้หนี้ 55,000 ล้านบาท จะทำให้ทรูปลอดหนี้จากธนาคาร เหลือแต่เพียงหุ้นกู้ ส่งผลให้ทรูลดภาระหนี้จาก 5 เท่าของกำไรก่อนหักค่าเสื่อมและดอกเบี้ย เหลือ 1:1.5 เท่า และยังช่วยลดภาะเรื่องของดอกเบี้ยจ่ายไปได้ 4,000 ล้านบาทต่อปี

ผลจากการลดหนี้ก้อนใหญ่ ส่งผลให้ “ไตรมาส 4 ของปีนี้ จะเป็นครั้งแรกที่ทรูจะเริ่มทำกำไร” ศุภชัย บอก

นอกจากจะทำให้โครงสร้างทางเงินของทรูที่แข็งแกร่งขึ้นแล้ว การร่วมมือกับไชน่าโมบายล์ จะเป็นก้าวสำคัญของทรู ที่จะพลิกโฉมไปสู่การเป็นผู้นำธุรกิจคอนเวอร์เจนซ์ในภูมิภาค ตามที่ทรูได้วางแนวทางมาตลอด 2 ปี

ทั้งนี้ นอกจากไชน่าโมบายล์จะเข้ามานั่งเป็นกรรมการ 2 ที่นั่งในบอร์ดบริหารแล้ว ไชน่าโมบายล์ และทรู จะวางแนวทางความร่วมมือทางธุรกิจ 6 ด้านร่วมกัน โดยจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการ เข้ามาร่วมกันกำหนดกลยุทธ์ในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มผลประโยชน์ให้กับทั้ง 2 ฝ่าย

หนึ่งในตัวอย่างของบริการที่มีโอกาสเกิดขึ้นจากการร่วมมือกันในครั้งนี้  คือ บริการรับชำระเงินผ่านมือถือ รวมถึง การบริหารจัดการต้นทุนในการจัดซื้อ เช่น การสั่งซื้อเครื่องโทรศัพท์มือถือเข้ามาจำหน่ายได้ถูกลง และหลากหลายมากยิ่งขึ้น

ส่วนทางด้านไชน่าโมบายล์ มองว่า การเข้ามาร่วมเป็นพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์กับทรู ที่สื่อสารเบอร์ต้นๆ ของไทย ที่มีฐานลูกค้า ช่องทางจำหน่ายจำนวนมาก รวมทั้งประสบการณ์ในธุรกิจ คอนเวอร์เจ้นส์ของทรู จะเป็นประโยชน์ต่อการเป็นพันธมิตรในเชิงยุทธศาสตร์ ที่ไชน่าโมบายล์ในการทำตลาดในประเทศ และมองหารกิจใหม่ๆ รวมทั้งในการขยายธุรกิจระหว่างประเทศร่วมกัน