“The Voice” : ถอดรหัส 13 อารมณ์คู่ขัดแย้ง

เรื่องโดย : ธาม เชื้อสถาปนศิริ

รายการ “เดอะวอยซ์” มีองค์ประกอบมากมายที่ทำให้ประสบความสำเร็จ นับถึงวันนี้ มี 59 ประเทศทั่วโลกที่มีรายการนี้ออกฉายในประเทศของตน

เคล็ดลับความสำเร็จของรายการเดอะวอยซ์ คือ เป็นรายการโชวว์เรียลิตี้ประกวดร้องเพลงแข่งขันแบบมีส่วนร่วม ระหว่างตัวนักร้อง (ผู้เข้าแข่งขัน) กับกรรมการ (โค้ช) และคนดู (คนโหวตสุดท้าย) และผู้สนับสนุนรายการ (สปอนเซอร์)ได้อย่าลงตัว

ไอเดียแรกเริ่ม นั้นมาจากประเทศออลแลนด์ จากรายการ “The Voice if Holland” ซึ่งสร้างสรรค์โดยโปรดิวเซอร์รายการโทรทัศน์ ชื่อ “John del Mol” โดยออกอากาศครั้งแรกในปี ค.ศ. 2010 เพื่อมาแข่งขันกับรายการเรียลิตี้โชว์ที่โด่งดังอยู่แล้ว ณ ตอนนั้น คือ รายการ “Idol” และ “X-Factor”

จอห์น เดอ โมล คือผู้สร้างสรรค์รายการเรีบลิตี้ยุคแรกๆ ที่โด่งดังมาก คือ รายการ “Big Brother” และเขาพัฒนาแนวคิดรายการมาจาก นักร้องชาวฮอลแลนด์ที่ชื่อ “Roel van Velzen” โรแอล วาน เวลเซ่น โดยมีแนวคิดว่า “อยากจะได้นักร้องที่มีเสียงที่ดีที่สุด และมาจากความสามารถของเสียงเท่านั้น”

ในเดือนกันยายน 2010 รายการเดอะว๊อยซ์เทปแรกจึงออกอากาศในประเทศฮอลแลนด์ทางช่อง สถานี RTL ด้วยการมีกรรมการตัดสิน (หรือโค้ช) 4 มาคัดเลือกเฟ้นหานักร้องที่ดีที่สุดโดยไม่ได้ตัดสินจากหน้าตา แต่เอาเสียงเท่านั้น และเป็นรายการที่ประสบความสำเร็จมากในปีนั้นเอง

ในประเทศไทย รายการเดอะว๊อยซ์ออกอากาศมาแล้ว 4 ฤดูกาล โดยครั้ง ที่ 1-2 และ 4 คือการประกวดแข่งขันของผู้ใหญ่ และครั้งที่ 3 คือการแข่งขัน ของเด็ก (The Voice Kid)

จังหวะของ รายการเดอะว๊อยซ์ มี 4 ขั้นตอน คือ

(0) “First Audition – คัดเข้ารอบ” –  ช่วงนี้คือการทำงานเบื้องหลังของทีมงานรายการ ในการคัดเลือกประวัติและเทปเสียงขั้นต้นที่ผู้สมัครส่งมา ทางรายการจะตระเวนไปตามหาผู้เข้าร่วมแข่งขันแต่ละคน เพื่อแจ้งข่าวให้ทราบว่า ผู้เข้าแข่งขันได้ผ่านเข้าสู่การคัดเลือกรอบตอไปหรือไม่

จุดเด่นของรายการ ก็คือ การแสดงให้เห็นการเปิดกว้าง เปิดรับผู้เข้าแข่งขัน ที่ไม่ได้มีกติกาปิดกั้น ฐานะ ชนชั้น เพศ หน้าตา สถานภาพทางสังคม ทุกคนสามารถเข้ามาเป็นผู้เข้าแข่งขันในรายการได้ทั้งหมด ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้ชมจะได้รู้สึก “วางใจ” ว่า รายการคัดเลือกคนเข้ามาแข่งขันอย่างยุติธรรมและดูเป็นคนธรรมดา/ธรรมชาติจริงๆ

(1) “Blind Audition – คัดบอด” ซึ่งก็คือการเปิดรับสมัครผู้เข้าแข่งขันที่มีคุณสมบัติความพร้อม มาคัดตัวแบบที่กรรมการไม่เห็นหน้า แต่จะได้ยินเสียงร้องเพลง 1-2 นาที เท่านั้น ซึ่งกรรมการแต่ละท่านสามารถใช้ระยะเวลาตราบจนเสียงร้องสุดท้ายของผู้แข่งขันจนจบ หากกรรมการพอใจและคิดว่าเสียงของผู้ประกวดมีคุณภาพดีจริง ก็จะกดปุ่มไฟ หันเก้าอี้มามองเห็นนักร้อง และการกดปุ่มไฟหมายความว่า กรรมการต้องการผู้แข่งขันคนนั้นเข้าร่วมทีม

ในกรณีที่มีกรรมการสนใจผู้เข้าแข่งขันคนนั้นมากกว่า 1 คน เป็นหน้าที่ของผู้เข้าแข่งขัน ที่จะต้องเลือกว่าจะเข้าร่วมทีมกับกรรมการคนใด (ซึ่งมักเรียกว่า โค้ช)

ในรอบ Blind Audition นี้ กรรมการทั้ง 4 ท่าน จะพยายามแย่งชิง แข่งขันกันคัดเลือกผู้แข่งขันเข้าร่วมทีม ซึ่งอาจมีจำนวนอยู่ระหว่าง 6-10 คนโดยประมาณ และโค้ชแต่ละคนอาจได้จำนวนลูกทีมที่ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับความสมัครใจทั้ง 2 ฝ่าย

ในช่วงนี้ผู้ชมจะได้ชมการออดิชั่น (การคัดเลือกเพื่อผ่านเข้ารอบ) พร้อมๆ กันกับกรรมการ ซึ่งความตื่นเต้นของรายการ คือ การได้ “เซอไพรช์” กับเสียงที่ได้ยิน กับการลุ้นเข้ารอบโดยโค้ชแต่ละคนว่าจะกดปุ่มไฟเลือกเข้าร่วมทีมหรือไม่?

ความตื่นเต้นของช่วงนี้ อยู่ที่ ทั้ง 4 ฝ่ายคือ ผู้ร้อง โค้ช ผู้ชมหน้าจอ/ในห้องส่ง และ เพื่อน พ่อแม่ของผู้แข่งขันที่มาให้กำลังใจเบื้องหลัง

“อึ้ง ทึ่ง ลุ้น” คือภาวการณ์บีบคั้นทางอารมณ์ที่เกิดขึ้น ระหว่างที่ผู้เข้าแข่งขันร้องเพลง เป็นจุดร่วมอารมณ์ลุ้นเดียวกันที่อยู่ภายในระยะเวลา 1-2 นาทีเท่านั้น”

อีกจุดเด่นของช่วงนี้ คือ การแย่งชิงผู้เข้าแข่งขันของโค้ชแต่ละคน ในการโน้มน้าวใจ (ขอร้อง วิงวอน ขู่ งอน อ้อน) ซึ่งโค้ชแต่ละคนก็จะใช้ลีลาและสำนวนโวหารส่วนตัว ซึ่งเป็นช่วงที่ขำและสนุกมากของรายการ
เป็นช่วง “ขายของจากโค้ช” และ “รับข้อเสนอ” ของผู้แข่งขัน (คนดูก็จะได้ลุ้นด้วยเหมือนกัน)

และเป็นช่วงที่ “เรียกแขก” ผู้ชมได้มาก เพราะเป็นช่วงที่เต็มไปด้วย “ปฏิกิริยา” มากที่สุด ซึ่งเป็นช่วงที่กล้องโทรทัศน์ต้องทำงานมาก เพราะต้องพยายามเก็บภาพซึมซับทุกรายละเอียดความรู้สึกให้ผู้ชมทางบ้านได้ชอม เสมือนเป็นส่วนหนึ่งของรายการ

ความสำคัญในช่วงนี้ คือ ความสุข ดีใจ ที่ผู้ชมจะได้รับมาก เพราะร่วมรู้สึกยินดีกับผู้เข้าแข่งขันที่ได้ผ่านเข้ารอบ (รายการมักถ่ายให้เห็นว่า คนทางบ้านสนับสนุนและร่วมดีใจกับผู้เข้าแข่งขันอย่างไร)

(2) “Coaching – ฝึกฝน” หลังจากที่โค้ชแต่ละคนได้ผู้แข่งขันเข้าบ้านจนครบ ก็จะเข้าสู่ช่วงการฝึกหัด เคี่ยวข้น เตรียมตัว ซึ่งโค้ช และลูกทีม จะได้ทำความรู้จัก และได้รับคำแนะนำในการร้องเพลง เพื่อพัฒนาการร้องให้ดีมากขึ้น การพัฒนาทักษะการเต้นไม่ใช่สิ่งสำคัญในรายการนี้ เพราะเดอะว๊อยซ์ให้ความสำคัญกับเสียง และเช่นกัน การพัฒนาทางด้านบุคลิกภาพก็มิใช่เป้าหมายหลักของรายการ ดังนั้น ผู้เข้าแข่งขันจะได้เรียนรู้เคล็ดลับการร้อง เทคนิคการใช้เสียง การคัดเลือกเพลง หรือเรียนแบบการร้องต่างๆ เพื่อดึงศักยภาพที่ดีที่สุดของผู้แข่งขันออกมา

ในช่วงนี้ ผู้ชมจะได้เห็นแง่มุมตัวตนของผู้เข้าแข่งขัน ได้เรียนรู้ชีวิต ประสบการณ์ เบื้องหลังก่อนที่จะมาแข่งขัน ได้ทราบถึงแรงจูงใจและความหวัง ความฝัน (ซึ่งก็ได้รู้ไปแล้วบางส่วนในช่วงแรก ตอนเดินเข้ามาประกวด หรือ ตอนสัมภาษณ์แนะนำตัวผู้แข่งขัน)

ช่วงนี้คือช่วง “ลดความเข้มข้น” แต่ผู้ชมจะได้เห็นรายละเอียดอันเป็นเนื้อแท้ของการพัฒนาทักษะ ผู้ชมจะรู้สึกว่าได้ประโยชน์และเห็นแก่นสาระของรายการ จากคำแนะนำของโค้ชที่ให้แก่ลูกทีม

ความหนักแน่นและน่าเชื่อถือนี้เอง ที่ทำให้รายการเดอะว๊อยซ์แตกต่างจากรายการเรียลิตี้ทั่วไป เพราะผู้เล่นแต่ละคนไม่จำเป็นต้องควักชีวิตส่วนตัวมาออกอากาศให้คนดู มีแต่เรื่องการแข่งขันร้องเพลงเท่านั้นที่ผู้ชมให้ความสนใจ และ ผู้เข้าแข่งขันก็ไม่จำเป็นต้องมาเป็นเพื่อนหรือเล่นเกมหน้ากากสร้างมนุษย์สัมพันธ์เป็นเพื่อน-ศัตรู เพราะนี่ไม่ใช่รายการเรียกลิตีแบบบีกบราเธอร์ (หรือ ทรู อะคาเดมี่แฟนตาเซีย)

(3) “Battle – ดวลไมค์” หลังจากลูกทีมแต่ละคนผ่านการฝึกคนไปแล้ว ก็จะเข้าสู่การดวลไมค์บนเวทีร้องจริงให้ผู้ชมและต่อหน้า

ช่วงนี้คือการแข่งขันที่แท้จริง เพราะโค้ชจะกำหนดเพลงๆ เดียวกันให้ร้อง และลูกทีมในทีมเดียวกันจะต้องขึ้นเวทีดวลไมค์ คู่ (หรือ สามคน) โดยร้องกันคนละท่อน ละวรรค ในแนวทางเพลงเดียวกัน และโดยมากโค้ชมักเลือกเอาผู้เข้าแข่งขันที่มีทางเสียงเดียวกันมาแข่งขันกัน

เมื่อร้องจบ โค้ชจะเลือกเพียงหนึ่งคนให้ได้ไปต่อ (และต้องไปแข่งขันกับลูกทีมคนอื่นที่ชนะคนอื่นมา)

ตรงนี้ มีจุดพลิกผันของรายการเล็กน้อย ซึ่งผู้ผลิตรายการสร้างมา คือ หาก “ผู้แพ้จากการดวลไมค์” นั้น ยังดูดีมีค่าที่จะเข้าแข่งขันต่อ ไม่ควรจะกลับบ้าน โค้ชทีมอื่นจะมีสิทธิ “ขโมย” หรือ “steal” มาเข้าทีมตนเองได้

(4) “Knock Out – น็อคไมค์” รอบนี้ ก็ยังเป็นการคัดตัวของผู้เข้าแข่งขัน แต่ผู้แข่งขันสามารถเลือกเพลงที่ตนเองถนัดมาร้องบนเวทีเดียวกันจนจบ และต้องยืนฟังคู่แข่งขันร้องเพลงของเขาจนจบเช่นกัน เป็นรอบที่ผู้เข้าแข่งขันจะได้แสดงศักยภาพ ตัวตน และความมุ่งหวังของตนเองอย่างอิสระ (ไม่ถูกบังคับเหมือนในรอบก่อน)

ความตื่นเต้นของช่วงนี้ คือ ผู้ชมจะได้เห็นตัวตนที่แท้จริงของผู้แข่งขัน และลุ้นกับการตัดสินใจของโค้ชที่ต้องเลือกลูกทีมสุดท้ายของตนเอง เพื่อเป็นตัวแทนเพียงหนึ่งเดียวของโค้ชในการแข่งขันรอบสุดท้าย
ความเข้มข้นคือ โค้ชจะเลือกใครเพื่อเป็นตัวแทนตนเอง แทนลูกทีมทุก ๆ คนเพื่อแข่งขันกับทีมอื่น แต่การแข่งขันในรอบสุดท้ายนี้ จะเป็นการแข่งขันที่ต้องเอาชนะใจของผู้ชมทางบ้าน

(5) “Live Performance – แสดงจริง ตัวจริง” รอบสุดท้ายจะมีผู้แข่งขันเพียง 1 คนจากแต่ละทีม ต้องมาแข่งขันกันเองในโชว์สุดท้าย โดยมีผู้ชมทางบ้านเป็นกรรมการตัดสินจาก 4 ตัวเลือก ผ่านการโหวตลงคะแนนทางเอสเอ็มเอส

ช่วงนี้เป็นช่วงไคล์แม็กซ์ของรายการ เพราะผู้ชมจะหวนระลึกถึงความสามารถและเส้นทางฝ่าฟันต่อสู้ของผู้แข่งขันแต่ละคน โดยมากเมื่อถึงรอบสุดท้าย ผู้เข้าแข่งขันแต่ละคนจะมีอัตลัษณ์ชัดเจนและเริ่มเห็นภาพตัวตนของผู้แข่งขันแต่ละคนแล้วว่าใครที่ควรจะเป็นผู้ชนะการแข่งขัน

นอกจากการเน้นที่เสียงของผู้ร้องแล้วองค์ประกอบที่ทำให้รายการเดอะว๊อยซ์ประสบความสำเร็จคือ “อารมณ์คู่ขัดแย้ง” ในรายการ ผู้เขียนนั่งดูรายการเดอะว๊อยซ์แล้วถามว่า อะไรคือรหัสความสำเร็จของรายการเดอะว๊อยซ์ ที่ทำให้มันแตกต่างจากรายการอื่นๆ

ธรรมดา หรือ คนดัง : เดอะว๊อยซ์ สร้างความขัดแย้ง ว่า คนธรรมดา สามารถกลายเป็นคนพิเศษได้เมื่อคุณปลดปล่อยพลังเสียงที่แท้จริงออกมาให้คนดู คนฟังได้เห็นตัวตนของคุณ ก่อนหน้านี้ คุณอาจเป็นคนธรรมดา แต่หากชนะใจคนดู และผู้แข่งขันคนอื่นได้ ในที่สุดคุณคือผู้ชนะและจะกลายเป็นคนดังในที่สุด และอีกอย่าง ผู้เข้าแข่งขันคือคนธรรมดา แต่ต้องมาปะทะเคี่ยวข้นกับคนดัง คือ โค้ช ที่เป็นนักร้องที่ได้รบความนิยมระดับประเทศ

ตามขนบ หรือ แหกขบถ : ผู้เข้าแข่งขันแต่ละคนสามารถเลือกเพลงมาร้องได้ ตามจังหวะทำนองเดิม แต่แน่นอนว่า ลีลาเฉพาะตัวต่างหากที่สามารถจะทำให้ผู้แข่งขัน เอาชนะผู้อื่นได้ ดังนั้นเขาต้อง แหกออกนอกกรอบขนบการร้องเดิมๆ ที่คุ้นชิน แต่ต้องพยายามดึงตัวตนที่แท้จริงของตนเองใส่ลงไปในเพลงให้ได้ นั่นยิ่งทำให้รายการนี้ เป็นรายการเพลงที่มีคุณภาพมากกว่ารายการอื่นๆ เพราะการออกนอกขนบ แต่ขบถนั้น คือแนวคิดเรื่องความสร้างสรรค์ ผู้ชมต้องการสิ่งใหม่ที่แตกต่างจากเพลงเดิมบนหน้าปัดคลื่นวิทยุ หรือแผ่นซีดี คนดูต้องการอะไรที่แตกต่างไปจากเดิม มันคือเพลงเดิมแต่ถูกร้องด้วยท่วงทำนองลีลาใหม่ที่ดีกว่าเดิม

หวาดหวั่น หรือ มั่นใจ : ก่อนแข่งขันเราจะเห็นภาพความไม่มั่นใจ ความกังวลของผู้แข่งขัน นั่นเป็นทริ๊ค ที่ดีของรายการ เพราะเท่ากับว่า คนดูจะไม่ตั้งมาตรฐานอะไรไว้เลยจากผู้แข่งขัน  ผู้ชมจะไม่คาดหวังสูงเลย หรือไม่มีความคาดหวังใดๆ เลย เพราะเขาจะไม่รู้จักผู้เข้าแข่งขันมาก่อน จึงเป็นช่วงที่ฐานความรู้สึกเท่ากับศูนย์ เหมือนให้ไปดูกันตอนแข่งจริง ตรงกันข้าม ความมั่นใจของผู้แข่งขันจะยิ่งเพิ่มสูงมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อผ่านเข้าสู่รอบการแข่งขันต่อไป

พรสวรรค์ หรือ พรแสวง : คุณสมบัติของผู้เข้าแข่งขันนั้น มีความหลากหลายมาก ทั้งพรสวรรค์ที่ธรรมชาติให้มา และ  พรแสวงที่มาจากการฝึกหัด สภาวะแวดล้อม และประสบการณ์จุดหักเหชีวิต ผู้ชมจะเหมือนเอาตัวเองไปเกาะอยู่กับผู้แข่งขันที่กำลังเดินไต่เชือก และข้างล่างคือเหว (พร้อมตกรอบ) แต่เขาจะแน่ใจว่า ไม่ว่าผู้แข่งขันจะมาจากพรสวรรค์หรือพรแสวง แต่สิ่งที่จะทำให้ผู้แข่งขันไดไปต่อก็คือคุณภาพของเสียงและการร้องที่ดีเท่านั้น

ปฏิเสธ และ ยอมรับ : นี่เป็นจุดขัดแย้งทางอารมณ์ที่ดีและเข้มแข็งที่สุดในรายการ เพราะผู้แข่งขัน จะมีโอกาสที่จะได้รับการยอมรับเข้าทีมหรือถูกปฏิเสธให้ตกรอบหรือพ่ายแพ้ไปที่สุดจากเสียงของกรรมการ จุดเด่นอยู่ที่ว่า ผู้แข่งขันมีอำนาจเสมอภาคเท่าเทียมกับกรรมการ (ต่างฝ่ายต่างเลือกซึ่งกันและกัน)

ได้เลือก หรือ เลือกได้ : ผู้แข่งขันได้เลือกโค้ช โค้ชได้เลือกผู้แข่งขัน, ผู้แข่งขันได้เลือกเพลงที่จะร้อง และโค้ชก็เลือกเพลงที่บังคับให้ร้องได้เช่นกัน และสุดท้าย ผู้ชม จะเป็นคนที่มีอำนาจสูงสุดในการได้เลือกว่า เขาอยากให้ใครกลายเป็นผู้ชนะในที่สุด

แรงดึง หรือ แรงผลัก : ในเดอะว๊อยซ์ ผู้แข่งขันเข้าร่วมรายการด้วยแรงผลักบางอย่างคือ อยากรู้ อยากลองความสามารถตนเอง หรือมาจากแรงผลักของสมาชิกครอบครัว คุณพ่อ คุณแม่ เพื่อนๆ บอกว่าให้มาลองแข่งดู ไม่งั้นจะเสียใจในภายหลัง แต่เมื่อเขาผ่านเข้ารอบ ทุกคนจะมีแรงดึงเดียวกัน คือ มาจากโค้ช และคู่แข่งขัน และความฝัน

เสียงดี หรือ หน้าตาดี : อารมณ์นี้ คือ อารมณ์ภายในของทั้งกรรมการ ผู้แข่งขัน และคนดู ว่าเราควรจะตัดสินคนเป็นนักร้องที่หน้าตาหรือคุณภาพเสียงกันแน่ ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งหลักในรายการเพลงทุกๆ รายการ เพราะอุตสาหกรรมเพลงวันนี้ดูเหมือนว่าจะเทไปทางฝั่งเป็นนักร้องได้เพราะหน้าตาดี แต่รายการเดอะว๊อยซ์ต้องการท้าทายคนดูว่า คนร้องคนฟังจริงๆ นั้น ต้องเลือกที่เสียงเท่านั้น

ยอมกัน หรือ เกทับ : ผู้ชมจะเห็นความขัดแย้ง ระหว่างการเกทับบลั๊ฟแหลกจากโค้ชและผู้แข่งขัน และความยอมรับนับถือระหว่างกันด้วย สิ่งนี้คือเสน่ห์ของเกมการแข่งขัน เหมือนแฟนทีมฟุตบอลที่ต้องเกทับก่อนการแข่งขัน แต่เมื่อแข่งขันจบ เราจะไม่ถือโกรธแค้นฝ่ายที่แพ้หรือชนะ เพราะมันคือเกมการแข่งขันกีฬา รายการนี้ทำให้ผู้ชนะไม่ได้หยิ่งผยอง ไม่ได้ทำให้ผู้แพ้ทดท้อสิ้นหวัง ในทางกลับกันมันคือจุดสมดุลกันระหว่างสองฝ่ายจริงๆ

ในบท หรือ นอกบท : เนื่องจากเป็นรายการเรียลิตี้ จึงมีทั้งส่วนที่เตรียม-เตี๊ยม ซึ่งอยู่ในแนวทางการกำกับดูแลของทีมงานรายการ แต่ก็เช่นกัน องค์ประกอบของความประหลาดใจ คือส่วนผสมพิเศษที่ทำให้รายการดึงดูดผู้ชมรายการ เพราะสิ่งที่ผู้ชมไม่สามารถคาดเดาได้จากรายการ การออกนอกบทตลอดเวลาของทั้งผู้แข่งขันและโค้ช ทำให้ผู้ชมทางเฝ้ารอว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นในนาทีถัดไป

ดีที่สุด หรือ ดีได้อีก : ผู้แข่งขันทุกคนจะมี “ของ” อยู่ในตัวเองอยู่แล้ว ผู้ชมและโค้ชจะรู้สึกสงสัยว่า คุณภาพที่ดีอยู่แล้วนั้น คือ ดีที่สุดที่มี หรือ มันจะยังดีได้อีกหรือไม่หากผู้แข่งขันผ่านเข้ารอบลึกๆ ไปเรื่อยๆ นั่นทำให้ผู้ชมมีกำลงใจที่จะลุ้นระทึกและสร้างความกดดันคาดหวังลงไปที่ตัวผู้แข่งขันว่าต้องทำให้ดีขึ้นได้อีก

ดีเบื้องหน้า หรือ เด่นเบื้องหลัง : เนื่องจากเป็นรายการเรียลิตี้ ผู้ชมจึงคาดหวังที่จะได้เห็นหน้าเวที และหลังเวที ว่าผู้แข่งขันนั้นผ่านกระบวนการฝึกฝนและแสดงบนเวทีได้ดีเท่าเทียมที่ฝึกฝนมาหรือไม่ แต่ความยากอยู่ที่ว่า ความชื่นชอบเบื้องหลังจะไม่ได้ถูกนำมาใช้ในการตัดสินใดๆ เลย ไม่มีคะแนนสะสม ไม่มีความนิยมสะสม มีแต่ 3 นาทีบนเวทีเท่านั้น ผู้ชมจึงอาจจะรู้สึกเสียดาย แต่ก็จะยอมรับได้ว่าต้องตัดสินกันที่ความดีของการร้องบนเวทีเท่านั้น

ท้อแท้ หรือ ยืนหยัด : รายการร้องเพลงเรียลิตี้อื่นๆ คุณจะเห็นอาการท้อแม้สิ้นหวังของผู้แข่งขัน จนพาลพลอยคิดไปว่ารายการจะดราม่าอะไรขนาดนั้น แต่ รายการเดอะวอยซ์แสดงความรู้สึกดราม่าอย่างจำกัดเท่านั้น และจะไม่เอามันมาเกี่ยวข้องกับการตัดสินผ่านเข้ารอบหรือชนะคู่แข่งรายอื่นๆ นี่คือความยุติธรรมที่รายการรักษาเอาไว้ ฉะนั้น ผู้แข่งขันจะไม่ต้องสูญเสียสมาธิกับเกมดราม่า หรือทำอะไรเอาใจเพื่อนร่วมทีมหรือโค้ชเลย ผู้ชมจะเห็นได้ทันทีว่า ทุกอย่างที่ผู้แข่งขันทำนั้น ไม่ได้เพื่อเอาชนะคู่แข่ง หรือโค้ช แต่เพื่อเอาชนะคนดู คนฟังในท้ายที่สุด และมันจะพิสูจน์ว่า ผู้แข่งขันต้องพัฒนาตนเองเพื่อเป็นผู้ยืนหยัดในการแข่งขันเป็นคนสุดท้ายที่ชนะใจคนดู

ตลอดระยะเวลาที่ผู้ชมรับชมรายการนี้ ก็จะเกิดอารมณ์ความรู้สึกขัดแย้งตลอดเวลา รายการนี้ เล่าเรื่องของดนตรีและชีวิตผู้คนที่เกี่ยวกับมันอย่างถึงที่สุด เป็นการแข่งขันที่ผู้ชมยอมรับ ผู้แข่งขันเข้าใจว่า กฎข้อเดียวของการเป็นผู้ชนะคือการเอาชนะคนดูด้วยเสียงของคุณเท่านั้น

ส่วนผู้ชมก็ดูรายการนี้ไปพร้อมๆ กับการเสพดนตรี การแสดงดีๆ และชีวิตที่ดูจริงจังของผู้แข่งขันโดยที่ไม่ต้องไปเปรียบเทียบกับใคร

ความขัดแย้งทางมิติอารมณ์นี้ คือ การออกแบบรายการให้มีความน่าสนใจ และน่าศึกษาว่าทำไมผู้ผลิตรายการจึงใส่รหัสความขัดแย้งทางอารมณ์คู่ตรงกันข้ามให้ผู้ชมได้เสพตลอดเวลา

ตัวจริง เสียงจริง คือ เป็นตัวจริงของคุณ และใช้เสียงจริงๆ ของคุณเท่านั้น ไม่มีอะไรอื่น

นี่คือสูตรการสร้างรายการ ที่เปี่ยมไปด้วยอารมณ์และความรู้สึกทางดนตรีล้วนๆ คือรายการดนตรีที่ไม่ตัดสินคนดู คนร้อง คนฟัง ที่หน้าตาหรือเหตุผลใด

เป็นรายการหนึ่งที่ดีที่สุดในรายการเพลงทั้งหมด!