เทสโก้ โลตัส ถอดสูตรปั้น “พลัส มอลล์” พลิกไฮเปอร์มาร์เก็ตสู่ศูนย์การค้า

“เทสโก้ โลตัส” ควักงบพันล้านปรับโฉมสู่ “พลัส มอลล์” สู้ศึก “ศูนย์การค้า” ในโซน “บางใหญ่” อีกแนวรบสำคัญของค้าปลีกกรุงเทพฯชานเมือง โดยมี “เซ็นทรัลเวสต์เกต” ก้าวมาเป็นคู่แข่งสำคัญ
       
ควักเงินลงทุนระดับ “พันล้านบาท” ในการพลิกโฉมเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์ตร้า สาขาบางใหญ่ จากความเป็น “ไฮเปอร์มาร์เก็ต” มาสู่ “ความเป็นศูนย์การค้า” แถมยังนำชื่อ “พลัส มอลล์” บนเนื้อที่ 2.5หมื่นตารางเมตร ทั้งทีก็ต้องไม่ธรรมดา

ศูนย์การค้าแห่งนี้ จะแตกต่างไปจากความเป็น “ไฮเปอร์มาร์เก็ต” ของเทสโก้ โลตัสทั่วไป โดยพลัส มอลล์ จะประกอบไปด้วยศูนย์การค้าที่เป็นพื้นที่เช่าให้กับร้านค้าต่างๆ 15,000หมื่นตารางเมตร ซึ่งเวลานี้มีร้านค้า 110 ร้าน และบูทเล็กๆ อีก รวมแล้ว 300ร้าน ส่วนพื้นที่ของเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์ตร้า 8,000ตารางเมตร ที่เหลือเป็นโรงภาพยนตร์ 5,000 ตารางเมตร และยังมีสวนน้ำ ที่ร่วมทุนกับแดนเนรมิต บนพื้นที่ 700 ตารางเมตร จะเสร็จในช่วงสิ้นปีนี้ 

เรียกว่าเป็นการ “พลิก” สู่การเป็น “ศูนย์การค้า” เต็มรูปแบบ ที่แม้ว่าจะดูแล้วไม่ต่างจากคู่แข่งมากนัก แต่เทสโก้ โลตัสก็ยืนยันด้วยดีไซน์ของร้านค้าอย่าง เอ็มเค สุกี้ ที่ใส่ความเป็น “ลอนดอน” ไปในสาขาพลัส มอลล์ บางใหญ่ เพื่อให้เข้ากับการยกระดับของเทสโก้ โลตัส และสร้างความแตกต่าง

สาเหตุแรกที่เลือกพลิกโฉมเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์ตร้า สาขาบางใหญ่มาเป็น พลัส มอลล์ เพื่อต้องการตอบโจทย์ลูกค้าในย่านบางใหญ่ โดยมี “ครอบครัว” เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก เนื่องจากเป็นโซนที่อยู่อาศัยรอบนอกกรุงเทพฯ รับกับการขยายของเมือง มีหมู่บ้านต่างๆ ทั้งใหญ่เล็กเกิดขึ้นมากมาย 

ที่แล้วมา พื้นที่ “บางใหญ่” จะมีทั้งห้างท้องถิ่น มีเทสโก้ โลตัส และบิ๊กซี เข้ามาเปิดสาขาไฮเปอร์มาร์เก็ต รองรับกับลูกค้าที่เป็นระดับกลางและล่าง

แต่นับจากนี้ “บางใหญ่” กำลังจะเป็นอีกหนึ่งใน “โซน” ที่ศึกค้าปลีกขนาดใหญ่กำลังเตรียม “ห้ำหั่น” กันอย่างหนัก จากการมาของกลุ่มเซ็นทรัลที่ได้เตรียมเปิดตัว เซ็นทรัลเวสต์เกต แยกบางใหญ่ โดยเรียกตัวเองว่าเป็น “ซูเปอร์รีจินัลมอลล์” ด้วยขนาด 5 แสนตารางเมตร บนพื้นที่ 100 ไร่ รองรับกับซูเปอร์รีจินัลมอลล์” ที่ดีที่สุดในเอเชีย ด้วยมูลค่าการลงทุนทั้งโครงการกว่า 10,000 ล้าน พื้นที่โครงการเต็มเฟสขนาด 500,000 ตร.ม. บนพื้นที่ใหญ่ 100 ไร่ รองรับกับ New CBD และเป็น Gateway ที่ใหญ่ที่สุดของกรุงเทพฯ ตะวันตก

การมาของเซ็นทรัลก็ไม่ธรรมดา เน้นขนาดความใหญ่พื้นที่ และการใส่ “แองเคอร์” ที่เซ็นทรัลมีบรรดาร้านอาหาร ร้านกาแฟชื่อดั้ง ทั้งของกลุ่มเซ็นทรัลเอง และเครือข่ายพันธมิตร ที่พร้อมจะติดตามมาเปิดกันอย่างเต็มรูปแบบ

ทำให้ เทสโก้ โลตัส เอ็กซ์ตร้า ที่เปิดพื้นที่อยู่ก่อนหน้านี้แล้ว จึงต้องลงทุนพลิกโฉมขนานใหญ่ อัพเกรดให้เป็น “ศูนย์การค้า” ต้องตอบโจทย์ทั้งเรื่องของ ฟู้ด และ ฟัน โดยมีแองเคอร์ อย่าง โรงหนัง ร้านค้า ร้านอาหาร มีความเป็น “Mix Use” ทั้ง นอนฟู้ด และฟู้ดในรูปแบบของ “ศูนย์การค้า” เพื่อดึงกลุ่ม “ครอบครัว” และคนรุ่นใหม่ให้มาใช้บริการ

โดยเป้าหมายของ พลัส มอลล์ จะต้องรองรับลูกค้าได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคนต่อเดือน จากลูกค้าในรัศมี 20กิโลเมตร รองรับ บางใหญ่ นครปฐม กาญจนาภิเษก ไปถึงเขตบรมราชชนนี

“สาขาบางใหญ่ของเซ็นทรัลฯ เขาอยู่ห่างออกไปเป็นสิบกิโลเมตร ลูกค้าจะเป็นคนละกลุ่มกับเรา ของเซ็นทรัลฯ จะอยู่โซนรถไฟฟ้า ในขณะที่พลัส มอลล์ อยู่ในโลเกชั่นตรงกลาง ซึ่งลูกค้าจะมาได้หลายทิศ และที่สำคัญด้วยขนาดของเราไม่ได้ใหญ่มาก การทำร้านค้าให้ตอบโจทย์ลูกค้าจะทำได้ง่ายกว่า เราอยู่ในจุดที่ได้เปรียบกว่า โอกาสที่จะสำเร็จมีสูงกว่า “สมพงษ์ รุ่งนิรัติศัย ประธานกรรมการบริหารฝ่ายอสังหาริมทรัพย์ บริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด ผู้บริหารธุรกิจค้าปลีก เทสโก้ โลตัส บอก

การปรับตัวของเทสโก้ โลตัส สู่ความเป็นศูนย์การค้าครั้งนี้ ยังมาจากการเติบโตของกลุ่ม “คนชั้นกลาง” ที่มีไลฟ์สไตล์ความเป็น “คนเมือง” เพิ่มจำนวนมากขึ้น ที่สำคัญ “อินไซท์” ข้อมูลพฤติกรรมลูกค้า ได้เปลี่ยนจากเดิมที่เคยชื่นชอบเดิน “ไฮเปอร์มาร์เก็ต” ขนาดใหญ่ เปลี่ยนมาช้อปในพื้นขนาดเล็กลง ในรูปแบบของ “ศูนย์การค้า” ที่สามารถตอบโจทย์ได้ทั้งมาเดินเล่น ทานอาหาร ดูหนัง ช้อปปิ้งซื้อสินค้าข้าวของเครื่องใช้ ซื้อเสื้อผ้า สินค้าแฟชั่น ได้แบบเบ็ดเสร็จ

เมื่อผู้บริโภคใช้ “เวลา” อยู่ในศูนย์การค้ามากขึ้น ในการช้อปปิ้ง ดูหนัง ทานอาหาร สิ่งที่ตามมาจะส่งผลให้ “ยอดใช้จ่าย” ต่อคนของลูกค้าเทสโก้ โลตัส มียอดเฉลี่ยอยู่ที่ 400 บาท จะเพิ่มขึ้น 20% เมื่อเป็น “พลัส มอลล์”

การเพิ่มพื้นที่ให้ร้านค้าต่างๆ มาเช่าเปิดร้าน นอกจากจะเติมความหลากหลายให้ช้อปปิ้งมอลล์” มีความน่าสนใจยิ่งขึ้นแล้ว ยังทำให้ เทสโก้ โลตัส มีรายได้จาก “ค่าเช่า” พื้นที่เพิ่มขึ้น และถือเป็น “รายได้สำคัญ” ต่อไป ที่มีความแน่นอน ใช้เงินทุนลงทุนน้อยกว่า แต่ได้กำไรมากกว่าซื้อมาขายไป

นอกจากโอกาสของธุรกิจให้เช่าพื้นที่ ยังมาจากการที่ร้านค้า ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านขายสินค้าต่างๆ เปิดขึ้นมากมาย ทั้งรายใหญ่ รายเล็ก ร้านแบรนด์ดังจากต่างประเทศ แบรนด์ไทย ทำให้ความต้องการเช่า “พื้นที่” ในช้อปปิ้งมอลล์มีเพิ่มขึ้นตลอดเวลา

ยิ่ง เทสโก้ โลตัส มีส่วนของ “ไฮเปอร์มาร์เก็ต” เป็น “แม่เหล็ก” การันตีให้ร้านค้าใจชื้นได้ว่า  ยังไงก็มีลูกค้าเข้ามาจับจ่ายใช้สอยแน่นอน เป็นการตอบโจทย์ซึ่งกันและกัน ที่ทำให้การขายพื้นที่เช่าได้ ไม่ใช่เรื่องยาก

ที่ผ่านมา การทำ “ศูนย์การค้า” ไม่ใช่เรื่องใหม่ ทำมาตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจ เพียงแต่พื้นที่เช่าไม่มากเท่ากับพื้นที่ของไฮเปอร์มาร์เก็ต แต่นับจากนี้จะเป็นหนึ่งใน “ฟอร์แมต” สำคัญที่จะใช้สู้ศึก “สงครามค้าปลีก” ที่มีดีกรีเข้มข้นต่อเนื่องมาตลอด

สำหรับ “ศูนย์การค้า” ภายใต้แบรนด์ “พลัส มอลล์” เปิดมาแล้ว 2 สาขา คือ ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร รออนุมัติจากกองทุนรวม TLGF และสาขาถนนศรีนครินทร์ ใช้เงินประมาณ 100 ล้านบาทในการปรับปรุงสภาพให้ดูดีขึ้น

ส่วนจะมีสาขาพลัส มอลล์ ในอนาคตหรือไม่ ผู้บริหาร เทสโก้ โลตัส ยังไม่เปิดเผย บอกแค่ว่าขอรอดูผลจากสาขาบางใหญ่ก่อน โดยมองว่า ศูนย์การค้าเป็นรูปแบบที่เอเชียและคนไทยชื่นชอบ นอกจากที่ไทย เกาหลี และยุโรปบางประเทศ

นี่คือ อีกหนึ่งในความเคลื่อนไหว เทสโก้ โลตัส ค้าปลีกจากอังกฤษ กับก้าวย่างธุรกิจค้าปลีกในไทย ที่กำลังต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับการแข่งขัน และพฤติกรรมของผู้บริโภค ที่เปลี่ยนจากช้อปในห้างขนาดใหญ่ไฮเปอร์มาร์เก็ต หันมาช้อปในศูนย์การค้าขนาดเล็กลง

มุมมองนักวิเคราะห์

ในมุมมองของนักวิเคราะห์ “วัชรุตม์ วัชรวงศ์สิทธิ์” แห่งบริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) มองว่า การเปิดเป็นศูนย์การค้าของ “เทสโก้ โลตัส” หรือแม้แต่บิ๊กซี จะช่วยเรื่องผลประกอบการ ในเรื่องของ Margin Operation ได้ดีขึ้น เนื่องจากรายได้มาจาก “ค่าเช่า” จะมีต้นทุนไม่สูง แต่ทำรายได้ใน “ระยะยาว”

อย่างไรก็ตาม แต่รายได้จากค่าเช่าก็ยังเป็น “สัดส่วน” ที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับยอดขายโดยรวมที่มาจากการซื้อมาขายไป เช่น กรณีของ “บิ๊กซี” มียอดรายได้รวมของปี 2013เป็นเงิน 118,177ล้านบาท โดยมีค่าเช่า 8,745ล้านบาท ถือว่า “ทำยอดรายได้ไม่มาก” 

นอกจากนี้ ยังเป็นการปรับตัวให้ทันกับกระแสของผู้บริโภค ที่ชื่นชอบการเดินศูนย์การค้า ที่มีหลากหลาย มีทั้งโรงหนัง ช้อปปิ้ง ร้านค้าเล็กและใหญ่

ส่วนทำเลบางใหญ่ ในความเห็นส่วนตัว มองว่า ทั้งทำเลที่ตั้ง และกลุ่มเป้าหมายของพลัส มอลล์ และเซ็นทรัลเวสต์เกต แตกต่างกัน โดยพลัส มอลล์ กลุ่มเป้าหมายจะเป็นระดับกลางและล่าง ในขณะที่เซ็นทรัลเวสต์เกตจะเน้นกลุ่มลูกค้ากลางและบน

สำหรับมุมมองเกี่ยวกับธุรกิจในกลุ่มค้าปลีก โดยประเมินจาก 6 บริษัท บิ๊กซี,ซีพี ออลล์,โฮมโปร,สยามแม็คโคร,เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ มองว่า ปีนี้ กำไรจะเติบโต 5% มาจากผลประกอบการที่น่าผิดหวังของไตรมาส 1 และไตรมาส 2 ส่วนไตรมาส 3ยังทรงตัว รอดูไตรมาส 4ที่เป็นช่วงเทศกาล แต่ก็ต้องดูนโยบายกระตุ้นของภาครัฐประกอบด้วย ส่วนลูกค้าในต่างจังหวัดยังได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ