ธนาคารกสิกรไทยผนึกกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ บีโอไอ และดิ อีคอนอมิสต์ จัดงาน The AEC+3 Summit & Expo 2014 สุดยอดงานสัมมนาระดับภูมิภาค ระดมความคิดผู้นำในเออีซีบวกสาม พร้อมงานแสดงสินค้าในภูมิภาคกว่า 150 บูธ และครั้งแรกกับความร่วมมือระหว่างธนาคารในภูมิภาคอาเซียน 40 ธนาคาร จาก 13 ประเทศเพื่อยกระดับบริการทางการเงินสู่มาตรฐานสากล คาดการณ์ในอีก 10 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจเออีซีมีจีดีพีโตเฉลี่ยปีละ 7%
นายธีรนันท์ ศรีหงส์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ทั่วโลกต่างจับตามองความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น จากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ที่จะเกิดขึ้นในปลายปี 2558 ที่จะถึงนี้ อันเนื่องจากศักยภาพทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีความน่าสนใจ ด้วยจำนวนประชากรรวมที่มีถึง600 ล้านคน ซึ่งนับเป็นตลาดที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก และคาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจใน AEC จะมีจีดีพีเติบโตเฉลี่ยสูงถึง 7% ต่อปี นอกจากนี้ กลุ่มประเทศAEC ได้ขยายการรวมตัวไปสู่ประเทศชั้นนำด้านเศรษฐกิจของเอเชีย ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ หรือ AEC+3 ซึ่งได้เข้ามาทำการค้าและการลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เศรษฐกิจของภูมิภาคนี้มีการเติบโตรุดหน้า
ธนาคารกสิกรไทย จึงร่วมมือกับ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และนิตยสารดิ อีคอนอมิสต์ จัดงาน The AEC+3 Summit & Expo 2014 ในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2557 ที่จะถึงนี้ ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอนด์ บางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แอทเซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อผลักดันให้ธุรกิจไทยได้เพิ่มองค์ความรู้และมีโอกาสลต่อยอดธุรกิจของตนให้สามารถรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้ พร้อมเดินหน้ายกระดับการให้บริการด้านการเงินการธนาคารในภูมิภาคนี้ โดยงานดังกล่าวประกอบด้วยกิจกรรม 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่
งานสัมมนา The AEC+3 จะดำเนินการโดย ดิ อีคอนอมิสต์ อินแทลิเจนซ์ ยูนิท (The Economist Intelligence Unit) บริษัทในเครือนิตยสารดิ อีคอนอมิสต์ นิตยสารด้านธุรกิจชั้นนำของโลก ซึ่งจะเชิญวิทยากรที่เป็นบุคคลระดับผู้นำจากภาครัฐ นักธุรกิจชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศ นักวิชาการระดับโลกและตัวแทนจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ ที่จะร่วมระดมความคิดในการพัฒนาแนวทางการดำเนินธุรกิจและวางยุทธศาสตร์ประเทศ และในอุตสาหกรรมสำคัญ อาทิ อาหารและเครื่องดื่ม ยานยนต์และชิ้นส่วน การท่องเที่ยวและธุรกิจบริการ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยและผู้ประกอบการให้พร้อมรับการรวมตัวของ AEC+3 ที่กำลังจะเกิดขึ้น ทั้งนี้ ธนาคารฯ คาดว่าจะมีผู้สนใจเข้าร่วมงานสัมมนาจำนวนกว่า 1,300 คน
งานแสดงสินค้าและจับคู่ธุรกิจที่จะมีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารและสินค้าด้านอุปโภค-บริโภค จากประเทศใน AEC+3 อาทิ จีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย เวียดนาม ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองจากธนาคารพันธมิตรของธนาคารกสิกรไทย ร่วมออกบูธแสดงสินค้ากว่า 150 บูธ โดยมีผู้สนใจลงทะเบียนร่วมกิจกรรมจับคู่ธุรกิจแล้วกว่า 500 คู่ และคาดหมายว่าภายในงานดังกล่าวจะมีการจับคู่ธุรกิจ มูลค่ารวมกว่า 6,000 ล้านบาท
การจัดทำ Bangkok Declaration ด้วยธนาคารกสิกรไทยเล็งเห็นว่า การสร้างนวัตกรรมและมาตรฐานการให้บริการด้านการเงินการธนาคารในภูมิภาคให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกันในระดับสากลถือเป็นวาระสำคัญ ควบคู่กับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อให้บุคลากรในแวดวงการธนาคารของอาเซียนมีความพร้อมในการให้บริการแก่ธุรกิจข้ามชาติใน AEC+3 ได้ จึงได้ริเริ่มการประกาศปฏิญญากรุงเทพ (Bangkok Declaration) อันจะมุ่งสู่การพัฒนาบริการด้านการเงินและการร่วมมือกันเพื่อรองรับลูกค้าในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ผ่านสถาบัน Taksila-ASEAN Banker Academy
Taksila-ASEAN Banker Academy จะเป็นเวทีให้นักการเงินการธนาคารในภูมิภาคมาพบกันเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ด้านธนาคาร (Banking Experience) และเป็นพื้นที่ระดมความคิด อันจะนำไปสู่สร้างนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ เพื่อยกระดับการให้บริการไปสู่สากล อีกทั้งยังขยายขอบเขตพื้นที่การให้บริการออกไปให้กว้างยิ่งขึ้น โดยเป็นการร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรท้องถิ่นต่างประเทศในการออกผลิตภัณฑ์และบริการแก่ลูกค้าในประเทศนั้นๆ ซึ่ง Taksila-ASEAN Banker Academy จะประกอบด้วย 2 โปรแกรม คือ โปรแกรมสำหรับนักการเงินการธนาคาร และโปรแกรมสำหรับผู้บริหารและผู้นำระดับสูง
การบรรลุข้อตกลง Bangkok Declaration จะถือเป็นครั้งแรกในภูมิภาคที่ธนาคารผู้ให้บริการในประเทศต่าง ๆ จะสร้างความร่วมมือระหว่างกันในการพัฒนาคุณภาพการให้บริการลูกค้าให้ได้มาตรฐานเดียวกันในระดับสากล
นายธีรนันท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า งาน The AEC+3 Summit & Expo 2014 จะเป็นเวทีสำคัญที่จะช่วยให้ภาคธุรกิจไทย ได้เข้าถึงองค์ความรู้และวิสัยทัศน์ในระดับสากล เพื่อจะสามารถนำมาใช้ในการพัฒนากลยุทธ์ทางธุรกิจ รวมถึงการสร้างพันธมิตรและเครือข่ายธุรกิจในระดับประเทศให้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง อันจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจในตลาดภูมิภาคนี้ ขณะเดียวกันธนาคารฯตั้งเป้าหมายให้ Bangkok Declaration ที่จะเกิดขึ้น เป็นจุดเริ่มต้นในการยกระดับการให้บริการของภาคการธนาคารในภูมิภาคนี้ให้เป็นสากลและมีมาตรฐานบริการเดียวกัน พร้อมผลักดันให้เกิดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในภาคธุรกิจการธนาคาร ให้สามารถรองรับธุรกิจข้ามชาติที่จะเกิดขึ้นในตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้
ร.อ.สุวิพันธุ์ ดิษยมณฑล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DIPT) เปิดเผยว่า บทบาทของกรมส่งเสริมการค้าฯ ในฐานะพันธมิตรผู้จัดงานนี้ จะมุ่งเน้นด้านการสนับสนุนข้อมูล รวมทั้งการนำเสนอธุรกิจในอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมงานแสดงสินค้าและจับคู่ธุรกิจด้วย เพื่อสนับสนุนธุรกิจไทยในการเข้าตลาดและรักษาตลาดการค้าในต่างประเทศ ทั้งนี้ ตัวเลขการค้าระหว่างไทยและ AEC+3 ในช่วงเดือน ม.ค.-ส.ค. ปี 2557 มีมูลค่า 3,725,335 ล้านบาท สำหรับผลของการรวมตัวของ AEC+3 ที่มีต่อการค้าของไทย เชื่อว่าทิศทางของการค้าระหว่างประเทศ ระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศใน AEC+3 จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งจะก่อให้การเชื่อมโยงกันเป็นห่วงโซ่ทางธุรกิจ ซึ่งการรวมตัวของ AEC+3 นอกจากจะเป็นการเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจไทยไปสู่ตลาดที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ในทางกลับกัน ก็จะมีความท้าทายจากการแข่งขันกับธุรกิจในตลาดที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการไทยต้องให้ความสำคัญในการหาข้อมูลและปรับกลยุทธ์เพื่อรับมือกับสถานการณ์นี้ อาทิ การพัฒนาแบรนด์ของสินค้า หรือเน้นผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมมากขึ้น เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า
นายโชคดี แก้วแสง รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เปิดเผยว่า บทบาทของบีโอไอ ในงาน AEC+3 Summit & Expo 2014 จะเป็นการสนับสนุนข้อมูลด้านสิทธิประโยชน์ที่ประเทศไทยจะมีให้แก่นักลงทุน ซึ่งบีโอไอมั่นใจว่ากิจกรรมดังกล่าวจะช่วยตอกย้ำยุทธศาสตร์ของไทยในการเป็นศูนย์กลางการค้าของอาเซียนได้อย่างชัดเจนขึ้น ทั้งนี้ ในช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย.ปี 2557 ประเทศในกลุ่ม AEC+3 ได้เข้ามาลงทุนในอาเซียนคิดเป็นร้อยละ 50 จากมูลค่าการลงทุนทั้งหมด ประเทศไทยมีความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของอาเซียนด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ แรงงานที่มีศักยภาพสูง ประกอบกับการมีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมรองรับการลงทุนจากนานาชาติ ทว่าการรวมตัวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอาจส่งผลให้ประเทศไทยพบความท้าทายหลายประการ แต่อย่างไรก็ตามบีโอไอก็พร้อมที่จะนำเสนอแผนสนับสนุนการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศที่จะเข้ามาในไทย (Inbound Investment) และนักลงทุนไทยที่จะไปลงทุนในต่างประเทศ (Outbound Investment) ที่จะมอบสิทธิประโยชน์ทั้งในด้านภาษีและด้านอื่นๆ ด้วย
มร.ชาร์ลส์ โกดาร์ด Editorial Director, Asia-Pacific, ดิ อีคอนอมิสต์ อินแทลิเจนซ์ ยูนิท เปิดเผยว่า การจัดงานสัมมนา The AEC+3 Summit & Expo 2014ดังกล่าว จะช่วยให้ภาคธุรกิจเตรียมความพร้อมต่อการเกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ด้วยการให้ข้อมูลบริบททางเศรษฐกิจอย่างครบถ้วนทุกมิติ ทั้งภาพรวมการค้าและการลงทุนในภูมิภาคนี้ ความท้าทายทางภูมิศาสตร์การเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เจาะลึกแนวโน้มอุตสาหกรรมต่างๆ หลังการเกิดเออีซี และบทบาทของไทยในอาเซียน
ผู้เข้าร่วมการสัมมนา ประกอบด้วยบุคคลระดับผู้นำจากภาครัฐบาล ธุรกิจ นักวิชาการและสถาบันระหว่างประเทศ ที่จะร่วมระดมความคิดเพื่อผลักดันการรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และคัดกรองความเป็นจริงออกจากการโฆษณาประชาสัมพันธ์ โดยผ่านการบรรยายและการหารืออย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมา เพื่อนำไปสู่การสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจสำหรับภาคธุรกิจของไทย นอกจากนี้ นักลงทุนจากจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และประเทศอื่นๆ ในเอเชียก็จะได้ประโยชน์จากความเจริญในภูมิภาคนี้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ จะมีการพิจารณาถึงขั้นตอนที่จำเป็นก่อนการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอย่างสมบูรณ์จะเกิดขึ้นได้ และจะมุ่งสู่การมอบเครื่องมือที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงแก่ผู้นำทางธุรกิจและนักลงทุน เพื่อช่วยในการวางยุทธศาสตร์สำหรับการเข้าสู่ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนต่อไป