ขายเสื้อผ้าออนไลน์ยังไงให้ได้ 100 ล้าน!

ธุรกิจอีคอมเมิร์ช กลายเป็นทางเลือกใหม่ของคนยุคนี้ แต่ใช่ว่าทุกรายจะสำเร็จ มาดูกันว่า ร้าน “Panicloset” ทำได้อย่างไร จึงสามารถปั้นแบรนด์เสื้อผ้าออนไลน์สร้างรายได้ 100 ล้านบาท มีแฟนเพจบนเฟซบุ๊กมากถึง 1.3 ล้านไลค์!

Panicloset (ปนิโครเซ็ต) ก่อตั้งเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2554 โดยสองพี่น้อง แอ้-ปนิดา ศรีชัย อดีตแอร์โฮสเตสสาวที่รู้สึกอิ่มตัวจากอาชีพนางฟ้าที่เก็บชั่วโมงบินกว่า 8 ปี จึงอยากออกจากงานประจำแล้วมาทำอาชีพส่วนตัว โดยร่วมหุ้นกับพี่สาว ณัฐปภัฑร์ วุฒิกร ที่ชื่นชอบช้อปปิ้งออนไลน์อยู่แล้ว เปิดร้านขายเสื้อผ้าออนไลน์ เพราะใกล้ตัวที่สุด และลงทุนน้อย

เมื่อลงมือศึกษาตลาด เธอพบว่า ส่วนใหญ่จะเป็นร้านที่รับซื้อเสื้อผ้ามาแล้วขาย ไม่มีเอกลักษณ์ของตัวเอง จึงต้องทำให้แตกต่าง สร้าง Unique Selling Point ออกแบบ และตัดเย็บเสื้อผ้าเองเพื่อจะได้ไม่ซ้ำกับร้านอื่น

แนวเสื้อผ้าจะสไตล์วินเทจนิดๆ หวานแต่ไม่แหวว สามารถมิกซ์แอนด์แมตช์ได้ สำหรับกลุ่มสาววัยทำงาน 20-40 ปี ถูกเลือกให้เป็นจุดขายของร้านค้าออนไลน์แห่งนี้

ช่วงเริ่มต้นธุรกิจ แอ้และพี่สาว ใช้เงินลงทุนก้อนแรก 50,000 บาท โดยมีสินค้าเริ่มต้นประมาณ 25 ชิ้น เริ่มต้นออกแบบเสื้อผ้า 5 แบบ แบบละ 5 ตัวเท่านั้น แต่ก็สามารถขายหมดภายใน 1 เดือน และสามารถคืนทุนได้ภายใน 2- 3 เดือน จากนั้นแอ้ก็ทำการศึกษาจากลูกค้าว่าแบบไหนขายดี จึงทำแบบนั้นออกมาเยอะๆ โดยที่ปัจจุบันผลิตเดือนละ 1 คอลเลกชัน จะมี 50 แบบ เริ่มต้นแบบละ 50 ชิ้น สามารถขายได้ถึง 3,000-4,000 ชิ้น/เดือน

การออกแบบสินค้าของแอ้ จะดูตามเทศกาลส่วนใหญ่ อย่างวันแม่ก็จะเน้นสีฟ้า ช่วงปีใหม่จะมีสีสันสดใสหน่อย ส่วนช่วงสงกรานต์เป็นช่วงซัมเมอร์ก็จะมีสินค้าพวกสายเดี่ยว แม็กซี่เดรส โดยที่เสื้อเริ่มต้นตั้งแต่ราคา 300 – 2,000 บาท และชุดราตรีราคา 3,000-4,000 บาท

จากนั้น 1 ปี แอ้ก็เริ่มเปิดโรงงานเป็นของตัวเอง ด้วยงบลงทุน 5 แสนบาท เพื่อต้องการควบคุมผลงาน ตรวจงาน และแก้ไขงานได้ทันที จากจักรเย็บผ้า 2 ตัว ปัจจุบันมีทั้งหมด 8 ตัว พร้อมช่างเย็บผ้า 5 คน
เวลานี้ Panicloset มีการต่อยอดสินค้าสำหรับผู้หญิงต่อไปอีกเพื่อต้องการให้สินค้าครบวงจร เริ่มต้นจากแตกไลน์เป็นสกินแคร์ ครีมหรือเซรั่ม แต่ราคาค่อนข้างสูง ราคา 1,290-1,590 บาท และต่อด้วยเครื่องสำอาง อายไลเนอร์ แอ้บอกว่าเป็นสินค้าขายดีมาก เพราะด้วยราคาไม่แพงมาก 199 บาท เท่านั้น 

แผนในอนาคตนอกจากจะแตกเซ็กเมนต์ใหม่ๆ ออกไป ยังมีแผนรุกประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย  “อยากพัฒนาแบรนด์ให้มั่นคง ตามกระแสไปเรื่อยๆ มีการดูตลาด AEC ส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้าน และอยากแตกไลน์เซ็กเมนต์เฉพาะทางมากขึ้น เช่น ชุดคุณแม่ ชุดเด็ก ชุดคนท้อง เพราะยังมีคู่แข่งในตลาดน้อย รวมไปถึงการมีหน้าร้านเป็นของตัวเอง ตอนแรกไม่เคยอยากเปิดหน้าร้านเลย เพราะมีลูกค้าต่างจังหวัดค่อนข้างเยอะ การเปิดหน้าร้านอาจจะไม่ได้ตอบโจทย์อะไรมาก ในกรุงเทพฯ เองก็มีห้างเยอะอยู่แล้ว แต่พอเรามีชุดราตรีเข้ามาผลตอบรับค่อนข้างดี พอราคาสูงขึ้น ลูกค้าอยากมาลองด้วยตัวเอง”

ปั้นอย่างไรให้ได้ 1.3 ล้านไลค์

การเปิดร้านค้าออนไลน์นั้นแม้ไม่ต้องเสียค่าเช่าหน้าร้าน แต่การตลาดย่อมเป็นสิ่งสำคัญที่จะดึงดูดลูกค้าเข้ามา

แอ้บอกว่า การซื้อโฆษณาบนเฟซบุ๊กก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยดึงลูกค้าเข้าร้านได้ การที่เพจ Panicloset มียอดไลค์ถึง 1.3 ล้านนั้น ส่วนหนึ่งก็มาจากการซื้อโฆษณาบนเฟซบุ๊กนั่นเอง 

“ข้อดีของการทำร้านค้าออนไลน์คือเข้าถึงคนตลอดเวลา เพราะคนสมัยนี้ติดสมาร์ทโฟน สามารถทำเป็นอาชีพหลัก และอาชีพเสริมได้ มีการลงทุนน้อย คือเราไม่ต้องเสียค่าหน้าร้าน เราเอาเงินส่วนต่างนั้นมาพัฒนาสินค้า เราก็ขายได้ถูกลง และขายได้ง่ายขึ้น

Panicloset เองที่มาได้ถึงจุดนี้ เริ่มต้นจากการชวนเพื่อนที่รู้จักมาให้เป็นแฟนเพจ แล้วเปลี่ยนแฟนเพจมาให้เป็นคอนเนกชัน จะเกิดการแชร์ต่อเนื่องออกไปบนเฟซบุ๊ก จากนั้นก็ขยายฐานให้กว้างขึ้นด้วยการซื้อโฆษณาบนเฟซบุ๊ก

“เมื่อก่อนแฟนเพจบนเฟซบุ๊กจะได้เห็นที่เราโพสต์ 100% แล้วก็เริ่มลดลงมาเหลือ 10% 5% จนตอนนี้เหลือเพียงแค่ 1% เท่านั้น ร้านค้าออนไลน์จึงต้องอาศัยโฆษณาในการบอกต่อ เคยใช้เงินสำหรับการโฆษณามากที่สุดถึงเดือนละ 50,000 บาท เป็นช่วงแรกๆ ที่ต้องสร้างแบรนด์ แต่ตอนนี้จะซื้อโฆษณาเป็นช่วงๆ แค่ตอนออกคอลเลกชันใหม่เสียส่วนใหญ่”

ส่วนเรื่องการบริหารเพจนั้น จะมีแอดมินคอยตอบคำถามลูกค้าตลอด 16 ชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 8 โมงเช้า ไปจนถึงเที่ยงคืน และจะทำการโพสต์เนื้อหาในเพจวันละ 14 โพสต์ คือโพสต์ทุกชั่วโมง แต่จะมีการแทรกข่าวสาร อัปเดตข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจในเพจด้วยประมาณ 20% เช่นข่าวบันเทิง ข่าวเม้าท์ดารา จะไม่โพสต์ขายของอย่างเดียว ให้ลูกค้าอินเตอร์แอคทีฟกับเพจ

อย่างไรก็ตาม การเปิดร้านค้าออนไลน์มีข้อควรระวัง “การเปิดออนไลน์เป็นดาบสองคม เรื่องปากต่อปากเป็นสิ่งสำคัญมาก ถ้าดีก็ดีไปเลย คนรักเรา แชร์สินค้าเราออกไป เป็นการโฆษณาให้เราไปในตัว แต่ถ้าเมื่อไรที่ลูกค้าไม่พอใจ ก็ทำให้เกิดการแชร์ประสบการณ์แย่ๆ ออกมาเหมือนกัน และเรื่องทางด้านลบมักจะถูกแชร์ออกไปอย่างรวดเร็วเสมอ

ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกันแล้วการทำงานจะแตกต่างกันเลย แต่ก่อนทำงานประจำ ยังไงมันก็ไม่ใช่ธุรกิจของตัวเอง หน้าที่เราคือทำยังไงให้ลูกค้าแฮปปี้ แต่พอทำธุรกิจของตัวเองมันมีอะไรท้าทายตลอด ต้องคิดแก้ปัญหาตลอด ทำอย่างไรให้ลูกค้าพอใจ และกลับมาซื้อของเราอีก เรื่องบริการเป็นสิ่งที่สำคัญ ต้องรู้จักพูด รู้จักคุยให้วิน-วินทั้งสองฝ่าย” แอ้นักธุรกิจ 100 ล้านพูดปิดท้าย

ยุคนี้ต้องโซเชียล คอมเมิร์ซ

สุวิมล จุนพึ่งพระเกียรติ์ ผู้อำนวยการการวางแผนและพัฒนาธุรกิจ มายด์แชร์ กล่าวว่า “ตอนนี้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในไทยเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จุดเปลี่ยนสำคัญก็มาจากการใช้สมาร์ทโฟน และโซเชียลมีเดียอย่างแพร่หลาย ทำให้เกิดการค้าหรือธุรกิจออนไลน์ขึ้นมากมาย โดยที่ช่องทางยอดนิยมหนีไม่พ้น Social Commerce ได้แก่ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ไลน์ ปัจจุบันมีร้านค้าในเพจเฟซบุ๊กจำนวนเยอะมาก หลายหมื่นเพจ แต่การสร้างเอกลักษณ์ให้แบรนด์ของตนเองเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้แบรนด์ประสบความสำเร็จ

ร้าน Panicloset ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่เรียกว่าเริ่มจากออนไลน์ไปสู่ออฟไลน์อย่างชัดเจน แม้ไม่ได้สร้างยอดขาย ณ จุดขาย แต่เป็นการหารายได้ก่อน แล้วต่อยอดในการมีหน้าร้านเป็นของตัวเอง โดยเริ่มต้นจากธุรกิจขายเสื้อผ้าออนไลน์บนเฟซบุ๊กอย่างเดียวเท่านั้น แต่สร้างความแตกต่างด้วยการตัดเย็บชุด และสร้างแบรนด์เอง จากตอนแรกตัดเพียงไม่กี่ชุด ไปจนถึงเดือนละหลายพันชุด สามารถสร้างรายได้ถึงร้อยล้าน โดยใช้เวลาแค่เพียง 2 ปี ปัจจุบันเขาสามารถมาต่อยอดในโลกออฟไลน์ได้ สามารถเปิดโรงงาน หรือมีหน้าร้านเป็นของตัวเอง”