กสิกรไทยผนึก 35 ธนาคารพันธมิตรอาเซียนภายใต้กรอบปฏิญญากรุงเทพฯ หวังยกระดับการให้บริการด้านการเงินธนาคารสู่มาตรฐานสากลรับเออีซี

กสิกรไทย จับมือ 35 ธนาคารพันธมิตรจาก 9 ประเทศ ประกาศปฏิญญากรุงเทพฯ (Bangkok Declaration: ASEAN+3 Banking Initiative) เพื่อยกระดับการให้บริการแก่ลูกค้าที่ต้องการทำธุรกรรมข้ามแดน โดยร่วมมือทั้งด้านผลิตภัณฑ์และบริการ ตลอดจนการพัฒนาบุคคลากรทางการเงิน ผ่านโครงการ Taksila ASEAN Banking Forum ร่วมพัฒนาหลักสูตร บุคลากร แลกเปลี่ยนข้อมูล ประสบการณ์ ต่อยอดสู่ความร่วมมือทางธุรกรรมการเงิน หวังยกระดับการให้บริการธนาคารสู่มาตรฐานสากลรับเออีซี

นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า การรวมตัวกันภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซีที่กำลังจะเกิดขึ้นปลายปี 2558 นี้ ส่งผลให้มีการเคลื่อนไหวทางด้านเงินทุน สินค้าและบริการเป็นไปอย่างคล่องตัว ซึ่งช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศในกลุ่มภูมิภาคอาเซียน+3 รวมทั้งปริมาณการค้าและการลงทุนก็จะสูงขึ้นด้วย ธนาคารพาณิชย์ในภูมิภาคจึงจำเป็นต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วตามความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป เพื่อส่งมอบบริการข้ามพรมแดนด้านการเป็นที่ปรึกษา ด้วยข้อมูลเชิงลึกและนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ธนาคารผ่านช่องทางบริการที่มีประสิทธิภาพ

ธนาคารกสิกรไทย จึงได้ร่วมลงนามความร่วมมือกับธนาคารพันธมิตรในภูมิภาครวม 35 แห่ง จาก 9 ประเทศ ได้แก่ ไทย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา เวียดนาม และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว  เพื่อส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจด้านการธนาคารระหว่างกัน เป็นการยกระดับการให้บริการของธนาคารให้เป็นมาตรฐานเดียวกันในระดับสากลเป็นครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านความร่วมมือ “พันธมิตรธนาคารในอาเซียน+3“ (ASEAN+3 Banking Alliance) บนพื้นฐานแห่งปฏิญญากรุงเทพฯ ในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้  ประสบการณ์ด้านธนาคาร (Banking Experience) และเป็นพื้นที่ระดมความคิดอันจะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ เพื่อยกระดับการให้บริการสู่สากล อีกทั้งยังขยายขอบเขตพื้นที่การให้บริการออกไปกว้างยิ่งขึ้น โดยเป็นความร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรท้องถิ่นต่างประเทศในการออกผลิตภัณฑ์และบริการให้แก่ลูกค้าในประเทศนั้นๆ

นอกจากนี้ ธนาคารกสิกรไทยในฐานะผู้ริเริ่มการประกาศปฏิญญากรุงเทพฯ จึงได้จัดตั้งโครงการความร่วมมือ Taksila ASEAN Banking Forum ซึ่งเป็นการอบรมและพัฒนาบุคลากรด้านการเงินให้มีศักยภาพโดดเด่นในอุตสาหกรรมการเงินในภูมิภาคเอเชีย ผ่าน 2 หลักสูตรที่ได้รับการออกแบบมาเป็นพิเศษ ประกอบด้วย หลักสูตรภาวะผู้นำ (Taksila ASEAN Banking Forum Leadership Program 2015) สำหรับผู้บริหารระดับสูง รวมถึงผู้นำในอนาคตที่มีศักยภาพ และหลักสูตรความเชี่ยวชาญด้านการธนาคาร (Taksila ASEAN Banking Forum Banking Expertise Program 2015) สำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านการธนาคาร ผู้บริหารระดับสูง ซึ่งรับผิดชอบการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ

นายบัณฑูรกล่าวในตอนท้ายว่า การที่ข้อตกลงปฏิญญากรุงเทพฯ จะสามารถบรรลุถึงเป้าหมายได้นั้น ธนาคารในภูมิภาคอาเซียนต้องมีการร่วมมือกันพัฒนาคุณภาพและยกระดับการให้บริการทางการเงินระหว่างประเทศไปสู่กลุ่มลูกค้าในภูมิภาคได้อย่างทั่วถึง