รู้จักโลกแห่ง “ไคว้ตี้” หัวใจของระบบอี-คอมเมิร์ซจีน

เรื่องโดย : วรมน ดำรงศิลป์สกุล

ผู้เขียนได้อ่านบทความธุรกิจของจีนทราบว่า 1 ใน 10 ของแบรนด์ในใจพนักงานออฟฟิศ อันดับหนึ่ง คือ “วีแชต (WeChat)” แอปฯ แชตสีเขียวที่คนจีนใช้กันทั้งประเทศ (มิใช่แบรนด์เครื่องดื่มใดๆ อีกต่อไป) ส่วนแบรนด์อื่นๆ ก็หนีไม่พ้นแบรนด์ระดับโลกอย่างแอ๊ปเปิ้ล ไนกี้ ฯลฯ และก็มีแบรนด์หนึ่งที่สะดุดตาผู้เขียนคือ “ชุ่นเฟิง (顺丰)” ซึ่งที่โลโก้มีตัวอักษรภาษาอังกฤษที่ว่า SF และระหว่างที่เปิดเว็บช้อปปิ้งออนไลน์ไปเพลินๆ ก็พบว่าหลายร้านใส่ 4 ตัวอักษร ”顺丰包邮“ ไว้ชัดเจนที่ภาพสินค้า เมื่อค้นพบข้อมูลก็พบว่า นี่คือ ”คาถาใหม่” ของพ่อค้าออนไลน์ ที่เคลมการเลือกใช้ระบบการ “ส่งฟรี” ที่การันตีว่า “ส่งสินค้าไวที่สุดในจีน” ด้วยบริการของบริษัทขนส่ง “ชุ่นเฟิง (SF Express)” ซึ่งแน่นอนว่าจุดนี้ย่อมทำให้คนอยากคลิกซื้อสินค้ามากยิ่งขึ้นนั่นเอง!

ประกอบกับช่วงที่ผ่านมาบริษัทไปรษณีย์ของไทยตกเป็นข่าวหน้าหนึ่งว่อนเฟซบุ๊กในเรื่องของการส่งสินค้าและเกิดความเสียหาย ผู้เขียนจึงเห็นว่าระบบการขนส่งไปรณีย์ที่จีนนั้น พัฒนาไปไกลและมีประสิทธิภาพมาก ดังนั้นบทความฉบับนี้ ผู้เขียนจึงขอพาไปรู้จักกับระบบของโลกการขนส่งสินค้าซึ่งถือเป็นหัวใจของระบบอี-คอมเมิร์ซจีน ที่ถูกเรียกรวมๆ ว่า “ไคว้ตี้ (快递)” หรือการส่งสินค้าแบบด่วนจี๋สุด หรือที่ฝรั่งเรียกว่า “Express” ซึ่งหลายอย่างล้วนเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจและหวังว่าจะสามารถนำมาปรับใช้กับเมืองไทยได้เช่นกัน 

ไคว้ตี้ธุรกิจรุ่งรับอี-คอมเมิร์ซ

กว่า 80% ของพัสดุที่ส่งผ่านระบบของ “ไคว้ตี้” ในประเทศจีนวันนี้ล้วนเป็นสินค้าที่สั่งจากเว็บไซต์ทั้งสิ้น โดยทางไปรษณีย์จีนได้เผยยอดส่งพัสดุที่สุดตะลึงของปี 2013 ที่ผ่านมาว่าสูงถึง 9,000 ล้านชิ้น! และเฉพาะช่วงเทศกาลช้อปปิ้ง 11 พฤศจิกายนของทุกปี ยอดส่งพัสดุในช่วงนี้ก็มีถึงเกือบ 400 ล้านชิ้น 50% ของพัสดุเหล่านั้นสั่งจากเถาเป่า.คอม ตัวเลขเหล่านี้จึงสรุปได้ว่าธุรกิจอี-คอมเมิร์ซจีนที่โตไว ช่วยสร้างานใหม่ให้กับคนในสังคมได้จริง

ปัจจุบันธุรกิจ  “ไคว้ตี้” ในจีนมาถึงระดับที่เป็นทะเลสีเลือด เพราะมีผู้ให้บริการมากกว่า 150 รายทั้งประเทศ แต่ในจำนวนนี้ก็มีเพียง 5-6 รายยักษ์ที่คนจีนใช้บริการประจำ ได้แก่ หยวนทง (圆通)ยุ่นต๋า (韵达)เชินทง (申通)จงทง (中通)ชุ่นเฟิง (顺丰) และ EMS ของไปรษณีย์จีน

ซึ่งบริษัท 1-5 ล้วนเป็นของเอกชน มีเพียง EMS เท่านั้นที่เป็นของไปรษณีย์จีน โดย EMS มีจุดเด่นคือ ส่งถึงทุกที่แม้กระทั่งพื้นที่ห่างไกลในชนบท โดย 5 บริษัทที่ว่านี้ขยายธุรกิจด้วยการสร้างเครือข่ายจุดขนส่งจากระดับเมือง ไปยังชุมชนท้องถิ่น ซึ่งคนทั่วไปสามารถเปิดบริการธุรกิจขนส่งเหล่านี้ได้ด้วยการซื้อแฟรนชายส์ของบริษัทขนส่งต่างๆ เพื่อมาเปิดร้านค้ารายย่อยในชุมชน เพื่อกระจายสินค้าจากศูนย์กลางและมาส่งถึงลูกค้าตามบ้านในระแวกที่ใกล้เคียง

จากการศึกษาข้อมูลพบว่ากว่าสินค้าจากศูนย์กลางจะจัดส่งมาถึงลูกค้า ต้องมีการผ่านขั้นตอนอย่างน้อย 18 ขั้นตอน ได้แก่ ศูนย์กระจายสินค้าหลักของแต่ละเมือง มายังศูนย์กระจายสินค้าหลักของแต่ละเขต ผ่านการแยกแยะและแพคซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกว่าจะถึงมือผู้รับ ยิ่งส่งไปไกลขั้นตอนก็ยิ่งเพิ่มขึ้น

แต่ทุกขั้นตอนตั้งแต่การส่งออกจากมือผู้ขายถึงมือผู้รับ สามารถติดตามพัสดุได้ทุกฝีก้าวผ่านเว็บและแอปฯ

อลีบาบาเล็กๆไม่ ใหญ่ๆ ทำ
ลุกสร้างเครือข่ายไคว้ตี้ ยกระดับอี-คอมเมิร์ซทั้งประเทศ

“หม่า หยุน” ผู้ก่อตั้งและอดีตซีอีโออลีบาบา พูดเสมอว่าการทำธุรกิจแบบแอมะซอน (Amazon) ที่ทำทุกอย่างด้วยตัวเอง แม้กระทั่งการจัดและส่งสินค้า ถือว่าเป็นอี-คอมเมิร์ซยุค 1.0 ที่ยิ่งทำยิ่งเหนื่อย ดังนั้นอลีบาบาย่อมไม่เดินตามรอยฝรั่ง เมื่อธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในประเทศอย่างเว็บเถาเป่า และเทียนเมา ขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งของประเทศ โดยใช้ระบบเว็บขายของและระบบจ่ายเงินอย่างอลีเพย์คุมได้อยู่หมัดแล้ว จิ๊กซอว์สำคัญสุดท้ายคือ ระบบขนส่งสินค้า อลีบาบาไม่เลือกที่จะสร้างบริษัทขนส่งของตัวเอง แต่กลับเลือกทำตัวเป็นศูนย์กลางลิงก์กับระบบขนส่งสินค้าของพันธมิตรหลัก 14 ราย (รวม 5 รายที่ระบุข้างต้น) และสร้างเป็นระบบศูนย์กลางระบบขนส่งที่ใหญ่และครอบคลุมที่สุดในประเทศนามว่า “ไช่เหนี่ยว” หรือภาษาอังกฤษคือ China Smart Logistic Network : CSN

บริษัทไช่เหนี่ยว เปิดตัวเมื่อกลางปี 2013 แท้จริงแล้วคือบริษัทไอทีที่เล่นกับบิ๊ก ดาต้าแบบเรียลไทม์ล้วนๆ (ข้อมูลในเว็บมาจาก 3 ส่วนผสานกัน ได้แก่ ข้อมูลมาจากทั้งทางเว็บการสั่งซื้อสินค้าของเถาเป่าและเทียนเมา ข้อมูลระบบขนส่ง และข้อมูลจากการวิเคราะห์สภาพอากาศและขนส่งของภาครัฐ) โดยทีมงานดึงข้อมูลเหล่านี้มาให้ทั้งผู้ขาย ผู้ซื้อ และผู้ส่งสินค้าในเว็บเครืออลีบาบาได้ใช้อย่างโปร่งใส

เพราะเมื่อผู้ขายจะจัดส่งสินค้า ก็สามารถเลือกได้ว่าจะใช้บริการของบริษัทไคว้ตี้ไหน เมื่อกดปั๊บออเดอร์นี้ก็จะถูกส่งไปหาบริษัทไคว้ตี้รายนั้นให้มารับสินค้าไปส่ง เมื่อไคว่ตี้ได้สินค้าก็เริ่มทำการกรอกข้อมูลในระบบและนำบาร์โค้ดมาติดแต่ละกล่อง ซึ่งตัวเลขพัสุดนี้ ทั้ง 3 ฝ่ายจะเห็นตรงกัน และพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นคนขาย คนซื้อ บริษัทขนส่ง ทำให้ทุกฝ่ายสามารถตรวจเช็กสินค้าได้จากหน้าเพจของตัวเอง

นอกจากนี้ระบบของไช่เหนี่ยวยังสามารถดูภาพรวมของตลาดบริษัทขนส่งได้ว่าบริษัทไหนมีผลงานเป็นยังไง ในเชิงของยอดการจัดส่ง คุณภาพที่ลูกค้าประเมิน รวมถึงการแสดงเส้นทางการเดินรถทั่วประเทศ (หากปริมาณรถหนาแน่ก็จะเป็นสีแดง) และสภาพอากาศของแต่ละพื้นที่ เพื่อแชร์ให้กับทุกบริษัทขนส่งทุกรายได้ทราบ

ดูวิดีโอแนะนำระบบเครือข่ายขนส่งสินค้าสุดไฮเทคของไช่เหนี่ยวได้ที่นี่

ไช่เหนี่ยว เพิ่มชื่อฝรั่งเป็น EPass ตั้งเป้ารุกเว็บอี-คอมเมิร์ซทั้งโลก!

เมื่อชมวิดีโอเห็นภาพรวมของระบบไช่เนี่ยวหลายคนก็ต้องทึ่ง เพราะอลีบาบาสามารถทำธุรกิจที่มีเบื้องหลังซับซ้อน ให้เข้าถึงและสร้างความพึงพอใจกับพันธมิตรทุกฝ่ายได้จริง แต่เป้าหมายของการสร้าง “ไช่เหนี่ยว” ไม่ได้หยุดแค่ทำระบบไคว้ตี้ภายในประเทศจีนเท่านั้น ล่าสุด “ไช่เหนี่ยว” ถูกตั้งชื่อเล่นว่า “EPass” เพื่อนำไปปรับใช้กับการโกอินเตอร์ของทั้งเครืออลีบาบา

กล่าวคือ นอกเหนือจากจะรุกเปิดเว็บไซต์ใหม่ในต่างประเทศ เช่น การเปิด 11main.com ในอเมริกา ที่ต้องใช้ทั้งคนและเวลากว่าจะปั้นให้ดังได้ ทีมงานเลือกใช้กลยุทธ์ที่แยบยลกว่านั้นในการบุกอี-คอมเมิร์ซทั้งโลก นั่นก็คือ การนำระบบจ่ายเงิน (อลีเพย์) และขนส่ง (ใช่เหนี่ยว) ของตัวเองไปฝังไว้ในเว็บอี-คอมเมิร์ซของบริษัทฝรั่งต่างๆ ที่อยากดูดกระเป๋าเงินจากลูกค้าจีนที่คล่องภาษาอังกฤษ

ลองนึกภาพง่ายๆ เว็บขายเสื้อผ้าจากปารีส ที่มีภาพเสื้อผ้าคอลเล็กชันล่าสุด พร้อมเนื้อหาเป็นภาษาอังกฤษ เมื่อลูกคนรวยรุ่นจากจีนไปพบเข้า อยากจะได้เป็นเจ้าของก็เพียงกดปุ่มหยิบสินค้าลงตระกร้า และเมื่อทำการชำระเงินก็เพียงเลือกว่าจะจ่ายด้วย “อลีเพย์” ขั้นตอนการจ่ายเงินต่างๆ ก็ถูกปรับหน้าตาให้เหมือนกับการช้อปจากเว็บเถาเป่าในจีนบ้านเกิด เมื่อลูกค้าทำการชำระเงินมาที่อลีเพย์แล้ว ระบบก็จะแจ้งร้านค้าให้จัดส่งสินค้า โดยขั้นตอนการรับและจัดส่งสินค้าทั้งหมด มี “ไช่เหนี่ยว” เป็นผู้ดูแล พูดง่ายๆ ก็คือ ระบบ EPASS นี้ช่วยให้ผู้ผลิตสินค้าต่างๆ เหนื่อยน้อยลง ไม่ต้องทำเว็บใหม่เฉพาะขายคนจีน ไม่ต้องกังวลเรื่องการจัดส่งสินค้าข้ามทวีป โดย EPASS จะคิดค่าใช้จ่ายจากร้านค้าโดยเป็นเปอร์เซ็นต์จากยอดการชำระเงินแต่ละครั้งนั่นเอง

ดังนั้นกล่าวโดยสรุปก็คือ EPASS คือระบบ Outsourcing ให้กับเว็บไซต์ขายสินค้าต่างๆ ทั่วโลก ที่ดูแลเรื่องการชำระเงินออนไลน์และจัดส่งสินค้าให้กับลูกค้าจีนอย่างเบ็ดเสร็จนั่นเอง

ชุ่นเฟิง เบอร์หนึ่งเรื่องบริการและความไว

ผู้เขียนได้เกริ่นถึงชุ่นเฟิงในข้างต้น จึงขอโอกาสขยายความในหมวดนี้ วันนี้ชื่อ “ชุ่นเฟิง” เป็นเหมือนเพื่อนสนิทที่คนจีนส่วนใหญ่รู้จักอย่างดี และเชื่อมั่นในความเป็นมิตร พูดจริงทำจริง นั่นก็เพราะโพสิชั่นนิ่งของ “ชุ่นเฟิง” ในสายตาคนจีนวันนี้ก็คือ เป็นบริษัทขนส่งสินค้าที่เทพที่สุดในจีน เป็นหนึ่งเรื่องความไว และบริการที่เป็นเลิศ

“ชุ่นเฟิง” บริษัทจากกว่างโจว มีพนักงานเกือบ 3 แสนคน มียานยนตร์ในการขนส่งครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ขนของนับหมื่นคัน เครื่องบินของตัวเองอีก 15 ลำ (ผู้เล่นรายอื่นอาจจะเลือกประหยัดต้นทุนด้วยการเช่าตู้คอนเท้นเนอร์ หรือเหมาลำ) ทำให้พัสดุที่ส่งโดยชุ่นเฟิงถึงมือผู้รับสุดไว

ค่าบริการของ “ชุ่นเฟิง” สูงกว่าคู่แข่ง 20 บาท (ส่งในประเทศกิโลละ 100 บาท ส่งมาไทย กิโลละ 500 บาท) แต่การันตีว่าสินค้าทุกชิ้นจะถึงมืออย่างปลอดภัย ไว และถึงประตูบ้านไม่ว่าจะอยู่ชั้นไหน และจะมีหรือไม่มีลิฟท์ก็ตาม (หลายรายเลือกที่จะโทรศัพท์ให้ลูกค้าลงมารับที่ชั้น 1 แทน)

หลายแบรนด์ที่ขายสินค้าออนไลน์ เลือกที่จะใช้บริการส่งของชุ่นเฟิ่งเท่านั้น เช่น ยูนิโคล เสี่ยวหมี่ เป็นต้น นอกจากนี้แล้วการบูมของซุปเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์ ที่ยกของสดอย่าง เนื้อ ผัก ปู ไอศกรีม ก็เลือกใช้แต่บริการรถขนสินค้าพร้อมช่องเย็นของชุ่นเฟิงเป็นหลักด้วย

ภาพขั้นตอนการขายปูขนออนไลน์ ที่เคลมภาพตั้งแต่ออกไปจับปูยันแพคส่งของให้ลูกค้า การันตีความสด ถึงบ้านแล้วปูยังเป็นๆ

ดูวิดีโอการจัดและส่งของจากโกดังของเสี่ยวหมี่ได้ที่นี่

เจาะสเปคหนุ่มไคว้ตี้ งานไร้เกียรติแต่เงินดี

หลังจากได้เห็นภาพรวมของระบบขนส่งสินค้าในจีนไปแล้ว คนสุดท้ายในระบบนิเวศน์นี้ที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือ “ไคว้ตี้หยวน” หรือ บุคคลที่ทำหน้าที่สุดท้ายในการส่งของถึงมือลูกค้านั่นเอง

ปกติแล้วไคว้ตี้หยวน จะเป็นผู้ชาย เพราะเป็นงานกลางแจ้งที่ต้องตระเวนไปตามที่ต่างๆ อาจจะไม่สะดวกสำหรับสตรี สเปคหนุ่มไคว้ตี้ ปกติแล้วหน้าตาจะดูโหดๆ พูดน้อย เมื่อถึงบ้านผู้รับก็จะโทรแจ้งให้ลงมารับพัสดุ เมื่อคนรับเซ็นรับของแล้วก็จากไป

การจะเป็นไคว้ตี้หยวน ไม่ต้องการวุฒิการศึกษาใดๆ ขอแค่อ่านออกเขียนได้ รู้เส้นทางในท้องถิ่นที่ตนชำนาญ รายได้ของพวกเขาปกติจะอยู่ที่เดือนประมาณ 15,000 บาทโดยเฉลี่ย และค่าคอมฯ ที่คิดตามจำนวนสินค้าปกติชิ้นละ 7 บาท (หักค่าโทรศัพท์แจ้งลูกค้า 2 บาท) ทำงาน 8-12 ชั่วโมง ปกติเมืองเล็กๆ จะมีพัสดุให้จัดส่งวันละ 40-50 ชิ้น เมืองใหญ่ๆ อาจจะสูงถึงวันละ 200 ชิ้น และในช่วงเทศกาลช้อปปิ้ง จะพุ่งถึง 10 เท่า

ฟังดูแล้วงานของไคว้ตี้หยวนถือว่าได้เงินเดือนมากกว่าพนักงานบริษัทหลายตำแหน่งในจีน แต่งานนี้กลับหาคนทำงานยาก ทำได้ไม่นานก็ลาออก จากข้อมูลสัมภาษณ์จากปากของเหล่าไคว้ตี้หยวนพบว่าพวกเขาคิดว่างานนี้ซ้ำซาก ไร้อนาคต และเสียสุขภาพ เพราะไม่ค่อยได้เรียนรู้อะไรใหม่ ทั้งยุ่งจนทานข้าวไม่ตรงเวลา และเครียดเพราะหากเกิดส่งของผิดพลาดก็จะโดนทั้งหัวหน้าและลูกค้ากดดัน (ทุกครั้งที่มีการแจ้งส่งสินค้า จะให้ชื่อและเบอร์มือถือของไคว้ตี้หยวนติดไปด้วย ทำให้ตามเช็กสินค้าได้ตลอดเวลา)

ถึงตอนนี้ หากกล่าวอธิบายแบบสั้นๆ ว่าทำไมระบบขนส่งพัสดุในจีนถึงมีประสิทธิภาพ คำตอบก็คือ การร่วมมือกันของทุกฝ่าย เพื่อใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยสื่อสารระบบเครือข่ายเข้าหากัน ทำให้ทุกข้อมูลในการจัดส่งทุกขั้นตอนนั้นโปร่งใส ตรวจเช็ก และประเมินผลกันและกันได้ ประกอบกับสินค้าทุกชิ้นที่ส่งผ่านไคว้ตี้จะมีประกัน หากเกิดการผิดพลาดก็จะมีหน่วยงานตรวจสอบชดใช้สินค้า และสิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือ ภาวะการเจริญเติบโตอย่างเต็มที่ของระบบอี-คอมเมิร์ซในจีนที่มีทั้งผู้ซื้อและผู้ขายเป็นพันล้านคนทั้งประเทศนั่นเอง!