ผ่าเทรนด์ ธุรกิจค้าปลีก 58 ร้านสะดวกซื้อโตสุด ไฮเปอร์มาร์เก็ตปรับตัว จับตาควบรวมกิจการ

ธุรกิจค้าปลีกของไทยกำลังเป็นที่จับตามอง จากการขยายตัวของธุรกิจ และการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งพฤติกรรมผุ้บริโภคได้เปลี่ยนแปลงไป ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ scbeic มองว่า ภาพรวมค้าปลีกไทย ยังคงให้ความนิยมกับโมเดลขนาดเล็ก แบบร้านสะดวกซื้อ ในขณะที่โมเดลขนาดใหญ่ อย่าง ไฮเปอร์มาร์เก็ตได้รับแรงกดดันเพิ่มจากข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ และซุปเปอร์มาร์เก็ตมียอดขายต่อตารางเมตรลดลง การแข่งขันจึงทวีความรุนแรง ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัว ขยายข้าม “เซกเม้นท์”  เปลี่ยนแปลงรูปแบบสินค้าในร้าน และหารายได้อื่นๆ มาชดเชยการของยอดขายที่เติบโตช้าลง

Cash & Carry ยังโต

โมเดล Cash & Carry ยังน่าสนใจลงทุน นอกจากเติบโตได้ตามตลาด traditional trade ซึ่งยังเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยแล้ว ยังมีกลุ่มลูกค้าหลักคือ ผู้ประกอบธุรกิจ HoReCa (Hotel Restaurant และ Catering) ที่เติบโตตามอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการจัดประชุมต่างๆ ในไทย ซึ่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานั้น อุตสาหกรรมการจัดประชุมต่างๆ (MICE) นั้นเติบโตกว่า 8% ซึ่งกว่าตลาดค้าปลีก หรือ grocery store ที่เติบโตเฉลี่ย 5% ต่อปีเท่านั้น และด้วยการที่มีตลาดขนาดใหญ่และยังเติบโตได้ทำให้ผู้ประกอบการให้ความสนใจลงทุนมากขึ้น  ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเซ็นทรัลที่หันมาเปิดร้านซูเปอร์คุ้ม และซูเปอร์คุ้มขายส่ง หรือบิ๊กซีเองที่เริ่มเปิดตัวบิ๊กซีจัมโบ้ เน้นขายส่งและลูกค้าธุรกิจ HoReCa

มุ่งเน้นรายได้อาหารปรุงสด-เพิ่มพื้นที่เช่า 

นอกจากนี้ สมรภูมิค้าปลีกยุคต่อไปจะเป็นการแข่งขันข้าม Segment มากขึ้น ทั้งในแง่ของการใช้ Product Mix เป็นจุดขายและการปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจเพื่อหารายได้อื่นๆ เช่น รายได้ค่าเช่า 

ไฮเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่จะไม่ได้แข่งขันกันที่ราคาเท่านั้น แต่จะเพิ่มรูปแบบร้านค้าแบบอื่นๆ เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปมากขึ้น เช่น เทสโก้โลตัส เข้าสู่ตลาดร้านสะดวกซื้อเต็มตัวด้วยแบรนด์ใหม่ภายใต้ชื่อ “365” ที่จะเปิด 24 ชั่วโมงเหมือนกับเซเว่นอีเลฟเว่น และกำลังอยู่ในช่วงทดลองตลาด

การปรับเปลี่ยน Product Mix ที่เน้นขายอาหารสำเร็จรูปพร้อมทานมากขึ้นในซุปเปอร์มาร์เก็ตที่ใกล้แหล่งที่พักประเภทคอนโดมิเนียม การเพิ่มอาหารปรุงสดหรืออาหารตามสั่งในร้านสะดวกซื้อก็กำลังเป็นที่นิยมเพื่อดึงดูดผู้บริโภคที่มีชีวิตเร่งรีบแต่ต้องการอาหารสะอาดราคาถูก

รวมการสร้างรายได้เพิ่มผ่านการเปิดพื้นที่ให้เช่าของไฮเปอร์มาร์เก็ต ทำให้ไฮเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่หันมาสนใจรายได้ส่วนนี้ เพราะภายใน 3 ปีที่ผ่านมานั้นผู้ประกอบการในไฮเปอร์มาร์เก็ตสามารถสร้างรายได้ค่าเช่าเติบโตกว่า 12% ต่อปี ในขณะที่รายได้จากยอดขายสินค้าเติบโตเพียง 7% ต่อปีเท่านั้น

ดีลซื้อกิจการจะมากขึ้น

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ scbeic ประเมินว่า แม้ในภาพรวมของตลาดค้าปลีกยังเติบโตได้ดี แต่การเข้ามาของรายใหม่ในธุรกิจนี้ เป็นไปได้ยาก เนื่องจากผู้ประกอบการเดิมต่างมีความแข็งแกร่งและเชี่ยวชาญ และต้องใช้เงินลงทุนสูง ทางเลือกในการเข้าสู่ตลาด จึงใช้การซื้อกิจการ (M&A) การเข้าร่วมทุน ทำให้เห็นดีลการ “ซิ้อขายกิจการ”ในอุตสาหกรรมธุรกิจค้าปลีกเพิ่มขึ้น

เช่น กรณีที่ บริษัท เวฟ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ ได้เข้าซื้อกิจการร้านอาหาร เจฟเฟอร์ สเต็ก ผู้ให้บริการอาหารสไตล์ตะวันตก ซึ่งมีสาขาให้บริการเกือบ 80 สาขาทั่วประเทศ ด้วยมูลค่าในการซื้อกิจการกว่า 600 ล้านบาท เพื่อก้าวสู่ธุรกิจ  Lifestyle & Entertainment ผ่านเครือข่ายธุรกิจร้านอาหาร การศึกษา รวมถึงธุรกิจบันเทิง ก่อนหน้านี้ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เวฟ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ได้ซื้อกิจการโรงเรียนสอนภาษา Wall Street English (WSE)

รวมทั้งกรณีของ บริษัทเพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ Pace ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ได้เข้าซื้อกิจการ ของ ดีน แอนด์ เดลูก้า’ แบรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่มกูร์เมต์ชั้นนำของโลก เป็นวงเงิน 140 ล้านเหรียญสหรัฐ (หรือประมาณ 4,550 ล้านบาท)
              
โดยเพซจะได้สิทธิเป็นเจ้าของเครือข่ายซัปพลายเชน 11 สาขา และร้านจำหน่ายอาหารอีก 2 แห่งในสหรัฐอเมริกาแล้ว ยังรวมถึงสิทธิในสัญญาของร้าน ดีน แอนด์ เดลูก้าต่างๆ นอกสหรัฐอเมริกาอีก 31 สาขา ในตลาดนอกสหรัฐอเมริกา ซึ่งในจำนวนดังกล่าวเป็นธุรกิจในประเทศไทย 4 สาขา และยังมีสาขาที่ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ คูเวต กาตาร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

เป้าหมายของเพซในการเข้าสู่ค้าปลีกระดับโลก คือ การหลอมรวมธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แบบ mixed-use ระดับไฮเอนด์เข้ากับแบรนด์ไลฟ์สไตล์ระดับพรีเมียม เพื่อให้สอดรับต่อเทรนด์ตลาดโลก ที่ มิใช่แค่การนำเสนอเพียงที่พักอาศัยหรือสิ่งปลูกสร้าง แต่ต้องสร้างสภาพแวดล้อม และไลฟ์สไตล์