การเข้ามาทำตลาดในไทย “ไลน์” ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา นอกจากไลน์จะขึ้นแท่นเบอร์ 1 ในไทย “แชทแอปฯ” ด้วย “สติ๊กเกอร์” ที่โดนใจผู้บริโภคคนไทย ด้วยยอด 33 ล้านยูสเซอร์ ถือว่าเป็นตลาดใหญ่อันดับสองรองจากประเทศญี่ปุ่นจนนำไปสู่การขยายสู่การเป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม แตกขยายไปยังธุรกิจเกม บริการเอ็มคอมเมิร์ซ การ์ตูน และอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย
ขณะเดียวกันในโลกออฟไลน์ ยุทธศาสตร์สำคัญของไลน์ คือการนำ “คาแรคเตอร์”การ์ตูน ต่อยอดไปสู่การเปิดร้าน หรือ สโตร์ และนั่นคือ ที่มาของ “LINE Café” บนชั้น 2 ห้างสรรพสินค้า สยามเซ็นเตอร์ และ “LINE Character Town” บนหน้าห้างสยามสแควร์วัน เพื่อเป็นการขยายผลในเรื่องของรายได้ และเข้าถึงไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคได้ตลอดเวลา
LINE Café (ไลน์ คาเฟ่) เป็นการจับมือร่วมกันระหว่าง ไลน์ และ “True Coffee (ทรู คอฟฟี่)” โดยนำเอาจุดเด่น Brand Collaboration ของทั้งคู่มาเป็นส่วนผสมร่วมกัน ทรูจะใช้ประสบการณ์ในธุรกิจคาเฟ่ และการเป็นโอปะเรเตอร์มาใช้ในการสร้างให้เป็นร้านคาเฟ่รูปแบบใหม่ โดยจะนำเอาคาแรคเตอร์การ์ตูน และฐานลูกค้าที่ใช้ไลน์มาเป็นจุดขายในดึงดูดลูกค้า และถือเป็นไลน์คาเฟ่ แห่งแรกของโลกด้วย เพราะไลน์ ยังไม่เคยเปิดร้านลักษณะนี้ที่ไหนมาก่อน
การออกแบบร้านใช้ธีมสีขาวและดำเป็นส่วนใหญ่ ในรูปแบบของ Modern Café และมีการแบ่งโซนเป็นคาเฟ่ร้านกาแฟด้านในร้าน ส่วนบริเวณด้านนอกจะเป็นส่วน Outdoor Street
ไลน์คาเฟ่ ได้กิจกรรมก่อนเปิดตัวอย่างเป็นทางการ “Let’s countdown at the first LINE CAFÉ in the world” ให้ลูกค้ามาลงทะเบียนรับสิทธิ์ก่อนล่วงหน้าเพื่อเป็นลูกค้า 500 คนแรก พร้อมลุ้นเป็นผู้โชคดีรับของพรีเมี่ยมจากไลน์ด้วย
ล่าสุด ไลน์ ยังได้เตรียมเปิดตัว “ไลน์ คาแรคเตอร์ ทาวน์” ตั้งอยู่บนห้างสยามสแควร์วัน มีขนาดพื้นที่ประมาณ 1,200 ตารางเมตร เพื่อจำหน่ายสินค้า Merchandise ตุ๊กตา กระเป๋า สมุดของไลน์เอง ซึ่งที่ผ่านมาไลน์ ได้เปิดที่ประเทศเกาหลีใต้ ไต้หวัน และญี่ปุ่น แต่ใช้ในชื่อของ LINE Friends Store ในประเทศไทยเองก็เคยมี LINE Friends Pop-Up store เช่นกัน แต่เป็นการตั้งช้อปชั่วคราวเท่านั้น
ปัจจุบัน ไลน์มีรายได้ จากธุรกิจเกม 60% บริการด้านธุรกิจ 20% และธุรกิจ Merchandise ประมาณ 20%