8 ข้อไอทีที่เปลี่ยนไปหลังปี ค.ศ. 2015

สำหรับคนไอที และผู้ที่เพิ่งผ่านการรับชมข่าวการเปิดตัวเทคโนโลยีใหม่ๆ ในงาน CES 2015 ที่ลาสเวกัส สหรัฐอเมริกา คงปฏิเสธไม่ได้ว่า โลกในวันนี้ต่างกับโลกเมื่อต้นปี ค.ศ.2014 พอสมควร ดังจะเห็นได้ว่าบริษัทต่างๆ มีแนวคิดในการพัฒนาสินค้าบนแพลตฟอร์มใหม่ๆ มากขึ้น มีวิธีการสร้างแบรนด์ลอยัลตีที่เหนือชั้นมากขึ้น
       
วันนี้เราจึงขอพาท่านผู้อ่านไปดูกันว่า สิ่งที่เปลี่ยนไปนั้นมีอะไรบ้าง และจะทำให้เราอยู่บนโลกใบใหม่ได้ง่ายดายมากขึ้นหรือไม่
       
1.รูปแบบการค้นหาเปลี่ยนไป
       
จากที่เราเคยใช้เสิร์ชเอนจินค้นหาสิ่งที่ต้องการมาในวันนี้ กลายเป็นสิ่งต่างๆ รอบตัวกำลัง “ค้นหา” กลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายของตัวเองแทนเสียแล้ว ทุกวันนี้บริษัทต่างๆ มีวิธีการมากมายที่จะทำความรู้จักกับผู้บริโภคของตัวเองมากขึ้น พวกเขาเก็บข้อมูลการใช้งานของเรามากมาย เพื่อค้นหาว่าตัวตนที่แท้จริงของเราเป็นแบบไหน ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้เขาคัดเลือก “โฆษณา” ที่เหมาะต่อไลฟ์สไตล์ของเรามาแสดง
       
ความก้าวหน้าที่จะตามมาก็คือ เราอาจได้เห็นการเสนอบริการอย่างหนึ่งอย่างใดก่อนที่เราจะร้องขอ เช่น อาจมีบริการรถแท็กซี่สาธารณะยี่ห้อหนึ่งเสนอบริการให้เราโดยวิเคราะห์จากข้อมูลต่างๆ เช่น สถานที่ที่เราอยู่มีปัญหาการจราจรติดขัด หรือทราบว่าเรากำลังจะเดินทางไปที่ไหน เป็นต้น
       
2. สมาร์ทโฟนกลายร่างเป็นรีโมต
       
เป็นเรื่องที่ต้องยอมรับไปแล้วว่าสมาร์ทโฟนเปลี่ยนโลกจริงๆ โดยเฉพาะในยุค IoT ทุกสิ่งทุกอย่างถูกนำมาผูกพันกับสมาร์ทโฟนอย่างเหนียวแน่น แนวคิดบ้านอัจฉริยะเกิดได้อย่างสมบูรณ์ก็ในยุคนี้ ทั้งที่มีความพยายามก่อนหน้านี้ตั้งมากมาย ดังนั้น นอกจากจะเป็นโทรศัพท์แล้ว คงต้องทำใจยอมรับว่า สมาร์ทโฟนทุกวันนี้จะกลายร่างเป็นรีโมตไปด้วยแล้วนั่นเอง
       
3. มีแพลตฟอร์มใหม่ให้บริษัทได้เติบโต
       
โลกที่ไม่มีแพลตฟอร์มใหม่ๆ ก็เปรียบได้กับโลกที่ไม่มีพื้นที่ให้ต้นกล้าน้อยๆ ได้แจ้งเกิด การมาถึงของแพลตฟอร์มใหม่ทั้งหลายจึงเปรียบเหมือนฝน ต้นกล้าที่รับฝนได้ถูกจังหวะ ก็จะโตเร็ว และมีสิทธิกลายเป็นไม้ใหญ่ในป่า ซึ่งยุคนี้อาจกล่าวได้ว่า เป็นไม่กี่ครั้งที่แวดวงเทคโนโลยีมีแพลตฟอร์มใหม่ๆ ให้สตาร์ทอัปต่างๆ ได้เลือกใช้ตามความต้องการ เช่น เวอร์ชวลเรียลิตี, การพิมพ์ 3 มิติ, IoT ฯลฯ จึงอาจกล่าวได้ว่านี่เป็นอีกครั้งที่โลกเทคโนโลยีจะได้ฤกษ์เปลี่ยนโฉมครั้งใหญ่นั่นเอง
       
4. เวอร์ชวลเรียลิตีจะเป็นมากกว่าเกม
       
ในอดีต เราอาจมองเทคโนโลยีเวอร์ชวลเรียลิตีว่าเป็นเรื่องของวงการเกมเท่านั้น แต่การซื้อบริษัท Oculus โดยเฟซบุ๊ก (Facebook) ในราคา 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ อาจทำให้ทุกคนต้องหันกลับมามองเรื่องของเวอร์ชวลเรียลิตีกันใหม่
       
โดยวงการที่จะได้รับประโยชน์จากการมาถึงของเวอร์ชวลเรียลิตีคงไม่ใช่แค่วงการเกมอีกต่อไป แต่อาจหมายถึงวงการการศึกษา เด็กๆ ที่เคยเรียนแต่ในตำราอาจได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์โดยไม่ต้องเดินทางไปถึงสถานที่จริง หรืออีกวงการหนึ่ง เช่น อสังหาริมทรัพย์ ต่อไปลูกค้าอาจได้เห็นภาพจำลองของบ้านในฝันโดยที่ไม่ต้องเดินทางไปยังหน้างานจริงอีกต่อไป เป็นต้น

5. สินค้า “อัจฉริยะ” เต็มไปหมด
       
แม้เราจะเรียกโทรศัพท์เคลื่อนที่ว่าสมาร์ทโฟนมาระยะหนึ่งก็ตาม แต่ในยุคนี้อะไรๆ ก็แปะพ่วงคำว่า “Smart” กันจนเกร่อ เราจึงได้พบเห็นสินค้าที่ผนวกการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเอาไว้แล้วใช้ชื่อใหม่ว่า “Smart” เต็มไปหมด ทั้ง Smart watch, Smart glasses ฯลฯ ซึ่งในอนาคตอันใกล้ เราอาจได้พบว่า ในตัวเรา ในบ้านของเรา และในออฟฟิศของเราจะเต็มไปด้วยอุปกรณ์ Smart ในที่สุด
       
6. “ความเป็นส่วนตัว” จะมีค่ามากขึ้น
       
ที่ผ่านมา เราเดินเข้ามาในโลกที่เปิดพื้นที่เสรีให้ทุกคนแสดงความคิดเห็นอย่างไม่ทันระมัดระวัง ส่งผลให้ผู้ใช้จำนวนหนึ่งโหยหาความเป็นส่วนตัวกันมากขึ้น ข้อมูลบางอย่างก็เริ่มไม่อยากให้แสดงผล เนื่องจากเกรงว่าคนที่ไม่ประสงค์ดีจะลอบเข้ามาดู
       
ประกอบกับเรามาถึงยุคที่บริษัทต่างๆ ที่มีหัวคิด และเข้าใจผู้บริโภคมากขึ้นเลิกใช้อีเมลขยะกันแล้ว เพราะผู้บริโภคในปัจจุบันมีความเข้าใจในสิทธิส่วนตัวกันมากขึ้น บริษัทยุคใหม่เหล่านั้นจะรู้ว่าพวกเขาควรทำอย่างไรให้ลูกค้าซื้อของ แต่สำหรับบริษัทที่ยังไม่เข้าใจ และใช้วิธีเดิมๆ เช่น ส่งเมลขยะมารบกวนลูกค้า ในที่สุดก็จะเจอการตอบโต้จากลูกค้าเพื่อแสดงให้เห็นว่าความเป็นส่วนตัวเป็นสิ่งที่มีค่า เช่น การสั่งบล็อกไม่ให้เมลขยะเหล่านั้นเข้ามาอีก เป็นต้น
       
7. เทรนด์ด้านสุขภาพกาย และใจกำลังมา
       
ไม่เฉพาะคำทำนายว่าปี ค.ศ.2015 จะเป็นปีแห่งแอปสุขภาพ โดยจะมีสถานพยาบาลหลายแห่งลงมาเล่นในตลาดนี้ด้วยตัวเอง แต่จะเห็นได้ว่ามีอีกหลายบริษัทที่เล็งเห็งความสำคัญของการพัฒนาบริการมาตอบสนองผู้บริโภคในด้านสุขภาพกาย และใจ เช่น ในสหรัฐอเมริกา มีผู้พัฒนาแอปบางยี่ห้อเน้นส่งอาหารออแกนิกให้ลูกค้าโดยตรง หรือส่งไข่ไก่ที่มีคุณค่าทางโภชนาการให้ลูกค้า ซึ่งก็เป็นวิธีการทำตลาดที่ตอบรับสังคมสมัยใหม่ได้เป็นอย่างดี
       
8. ความไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศในวงการไอทีได้รับความสนใจมากขึ้น
       
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในวงการไอทีนั้นเพศมีส่วนอย่างมากในการจ้างงาน และบริษัทด้านเทคโนโลยียักษ์ใหญ่มักจ้างโปรแกรมเมอร์ผู้ชายมากกว่าผู้หญิง อีกทั้งรายได้ของทั้ง 2 เพศก็แตกต่างกัน แต่ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในสายอาชีพนี้ยังมีมากกว่านั้น เพราะลึกๆ ลงไปแล้ว ผู้หญิงส่วนน้อยเท่านั้นที่จะได้มีโอกาสคลุกคลีกับสายอาชีพไอทีตั้งแต่เล็กๆ การผลักดันให้ผู้หญิงเข้าสู่สายงานนี้จึงเป็นสิ่งที่กำลังได้รับความสนใจมากขึ้นในปี 2015 นี้นั่นเอง ยกตัวอย่าง ความพยายามที่จะสร้างสภาพแวดล้อมให้เด็กผู้หญิงคุ้นเคยกับงานด้านเทคโนโลยีมากขึ้นคือ “ของเล่น” จากบริษัท Goldieblox ที่เน้นผลิตของเล่น และเกมสำหรับเด็กผู้หญิงโดยเจาะไปที่การแก้ไขปัญหาด้านวิศวกรรมโดยเฉพาะ
       
แต่ทั้งหมดนี้อาจไม่ใช่เรื่องเลวร้าย เพราะสุดท้ายแล้วหากเราเข้าใจ และตามความก้าวหน้าของโลกใบใหม่ได้ทัน และอยู่กับมันอย่างเข้าใจ ไม่ว่าโลกแบบไหนก็มีความสุขอย่างแน่นอน

ที่มา : manager.co.th 
http://www.manager.co.th/CbizReview/ViewNews.aspx?NewsID=9580000003410