จบลงไปแล้วสำหรับ Consumer Electronics Show หรือ CES 2015 ที่จัดอย่างยิ่งใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งตัวหลักในงานแทบจะเป็นบรรดาทีวี 4K และสินค้าอัจฉริยะพ่วงเซ็นเซอร์และความสามารถในการเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟน รวมถึงบรรดารถยนต์ค่ายหรูที่มาโชว์ความโดดเด่นในงานกันคับคั่ง
อย่างไรก็ดี อาจกล่าวได้ว่านี่คือภาพต้นปีของวงการไอที ซึ่งจะส่งผลถึงภาพรวมของตลาดตลอดทั้งปีได้ด้วย ภาพของงาน CES 2015 จะสะท้อนให้เห็นถึงอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในปีนี้ได้ในมุมใดบ้าง เราไปติดตามกันได้เลย
1. ทีวีจะคมชัดมากขึ้น และราคาถูกลง
จากการนำเสนอสินค้าของค่ายซัมซุง (Samsung) และแอลจี (LG) ซึ่งนำทีวีรุ่นใหม่มาแสดงในชื่อเทคโนโลยีควอนตัมดอต (Quantum-dot) ที่อ้างว่าทำให้ภาพคมชัดมากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับทีวีแอลซีดีปกติ จึงเป็นไปได้ว่าในปี 2015 นี้ทีวีที่มาพร้อมภาพระดับ 4K Resolution จะกลายเป็นทีวีรุ่นมาตรฐาน ซึ่งนั่นหมายความว่า ทีวี 4K ได้ฤกษ์ที่จะราคาถูกลงอีกสักหน่อยแล้ว ใครที่มีแผนจะซื้อเตรียมยิ้มได้เลย
2. แม้จะไม่ต้องการ แต่สินค้า IoT จะอยู่รอบๆ ตัว
เป็นไปได้ว่า ในยุคต่อไป กาต้มน้ำธรรมดา หลอดไฟธรรมดา นาฬิกาแขวนผนังธรรมดา ฯลฯ อาจเป็นสิ่งที่ชาวต่างชาติมาหาซื้อตามตลาดในประเทศไทย เพราะในตลาดเมืองนอกอาจหาซื้อได้ยากขึ้น เนื่องจากสินค้ารุ่นใหม่ที่จะผลิตออกมาจะพากันแปะเซ็นเซอร์เพื่อเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนรองรับยุค IoT กันแทบทั้งสิ้น
เห็นได้จาก BK Yoon ซีอีโอของซัมซุงซึ่งเผยในงาน CES 2015 ว่า ในอีก 2 ปีข้างหน้าสินค้า 95 เปอร์เซ็นต์ของซัมซุงจะรองรับ IoT รวมถึงเปิดโอกาสให้สินค้าจากบริษัทคู่แข่ง (เช่น แอลจี) สามารถเชื่อมต่อกับสินค้าจากซัมซุงได้ด้วย
ส่วนในไทย แม้เทรนด์นี้จะยังมองไม่เห็นชัดเจน แต่ก็ถือเป็นโอกาสดีที่จะสะสมเครื่องใช้ไม้สอยธรรมดาๆ เอาไว้ เผื่อกระแสตีกลับอาจได้นำกาต้มน้ำธรรมดา กริ่งประตูธรรมดา ออกมาสร้างกระแสต้าน IoT ได้บ้าง
3. บ้านอัจฉริยะยังไม่เสร็จสมบูรณ์
แม้จะมีสินค้า IoT เตรียมยกทัพออกมาเจาะตลาดผู้ต้องการบ้านอัจฉริยะกันมากมาย แต่ปัญหาหนึ่งของบ้านอัจฉริยะตอนนี้คือ ความหลากหลายของแพลตฟอร์ม เนื่องจากแต่ละค่ายต่างพัฒนาระบบของตนเอง จับมือกันเอง ผลิตกันเอง สุดท้ายอุปกรณ์ที่มาจากคนละแพลตฟอร์มอาจคุยกันไม่รู้เรื่อง เช่น ควอลคอมม์ก็พัฒนา AllJoyn Technology เทคโนโลยีแบบเปิดที่ร่วมกับผู้ผลิตสินค้ากว่า 100 รายขึ้นมา หรือบางค่ายอย่าง Elgato’s Eve ก็หันไปพึ่งต้นไม้ใหญ่อย่าง HomeKit ของแอปเปิล (Apple) ไว้พักพิง หรือบางค่ายเช่น smart mattress company Luna ก็สร้างระบบของตนเองขึ้นมาโดดๆ ไม่พึ่งกับใคร ทั้งหมดนี้จึงทำให้บ้านอัจฉริยะยังไม่สามารถเป็นอัจฉริยะได้จริง จนกว่าจะมีผู้ชนะ หรือมีมาตรฐานกลางที่ทำให้สินค้า IoT จากทุกค่ายคุยกันรู้เรื่องนั่นเอง
4. โดรนจะแข็งแรงมากขึ้น
ในปี ค.ศ. 2014 เป็นที่ยอมรับแล้วว่าโดรนสามารถใช้งานได้หลากหลาย ไม่ใช่แค่ของเล่นราคาแพง ดังนั้นในปี ค.ศ. 2015 จึงเป็นปีที่อุตสาหกรรมโดรนจะเติบโตมากขึ้น และมีความแข็งแรงมากขึ้น จนสามารถขยายไปได้อีกหลายตลาด
5. งาน CES อาจถูกค่ายรถยนต์ยึดครอง
ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงหลังๆ มานี้ค่ายรถยนต์ต่างนิยมนำรถหรูของตนเองที่ผนวกระบบอัตโนมัติต่างๆ มาจัดแสดงในงาน CES กันเป็นว่าเล่น ยิ่งในยุคที่รถอัตโนมัติแบบไร้คนขับกำลังเป็นที่กล่าวขวัญ ยิ่งทำให้งาน CES เต็มไปด้วยรถยนต์จากค่ายต่างๆ เช่น เบนซ์, BMW และ Audi ที่หันมาใช้พื้นที่นี้โชว์ศักยภาพรถยนต์กันอย่างหนาตา จนแทบจะแย่งซีนสินค้าหลักของ CES ไปหมด
จากภาพงาน CES 2015 ที่ปรากฏในเดือนมกราคมนี้ เชื่อว่าตลอดปีจะยังมีความเปลี่ยนแปลงภายใต้กรอบและมุมมองนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนใครที่สามารถฉีกออกจากกรอบนี้ได้ เสียงฮือฮาคงจะตามมาอย่างไม่ต้องสงสัย
ที่มา : manager.co.th
http://www.manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9580000003842