คิดค่าโทร.ตามจริง มวยล้มต้มคนดู ??

สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ ขอความร่วมมือจากผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ เปลี่ยนวิธีการคิดค่าบริการจากเดิมที่ปัดเศษเป็นนาที เป็นคิดตามการใช้งานจริงเป็นวินาที พร้อมกำหนดเส้นตายให้โอเปอเรเตอร์เริ่มใช้ระหว่างวันที่ 16 ก.พ.-1 มี.ค.2558
 
ส่งผลให้แต่ละค่ายเลือกที่จะออกแพกเกจทางเลือกในการคิดค่าโทร.ตามแต่ละวินาทีมากกว่า แทนที่จะปรับฐานลูกค้าทั้งระบบให้กลายเป็นคิดตามวินาที เพื่อให้ลูกค้าที่สนใจเลือกเปลี่ยนมาใช้งานแทน แต่ถ้าไม่สนใจก็สามารถใช้งานโปรโมชันเดิมที่คิดค่าโทร.แบบเดิม
 
นายปัญญา เวชบรรยงรัตน์ ผู้อำนวยการอาวุโสธุรกิจภูมิภาค-ภาคใต้ และตะวันตก บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค เคยให้ข้อมูลในฐานะที่เป็นผู้วางระบบของดีแทคในการคิดค่าบริการว่า สมัยก่อนดีแทคถือเป็นผู้ให้บริการรายเดียวที่มีการคิดค่าโทร.ตามจริงเป็นวินาที ภายใต้โปรโมชัน Dprompt ซึ่งระบบที่ออกแบบในตอนนั้นก็รองรับการคิดค่าบริการในรูปแบบวินาทีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าจากการแข่งขันในตลาดยังคงยึดติดอยู่กับแพกเกจแบบเหมาจ่ายตามเดิมมากกว่า จึงทำให้ดีแทคเลิกการคิดค่าโทร.เป็นวินาที และกลับมาคิดเป็นนาทีเช่นเดิม
 
“ด้วยระบบที่วางไว้ในตอนนั้นสามารถรองรับการคิดค่าโทร.เป็นวินาทีได้อยู่แล้ว แค่มีการตั้งระบบใหม่ในการคิดค่าบริการ ไม่จำเป็นต้องมีการลงทุนเพิ่มแต่อย่างใด เพียงแต่ตลาดไม่ให้ความสนใจในเรื่องดังกล่าว และผู้ให้บริการรายอื่นก็ไม่มีการปรับเปลี่ยนจึงทำให้เลิกใช้การคิดค่าโทร.เป็นวินาทีในช่วงนั้น” พร้อมให้ความเห็นว่า ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันตลอดเวลาอยู่แล้ว เพียงแต่ในแต่ละช่วงก็จะมีรูปแบบการแข่งขันที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแข่งขันด้านคุณภาพเครือข่าย การแข่งขันในแง่ของราคา ซึ่งทุกอย่างจะเป็นไปตามธรรมชาติของการแข่งขัน
 

 
เช่นเดียวกับในเรื่องการคิดค่าโทร.เป็นวินาที เมื่อมีการกำหนดรูปแบบการให้บริการให้คิดค่าโทร.เป็นวินาที ในช่วงแรกค่าบริการอาจจะสูง แต่เมื่อทิ้งระยะเวลาให้เกิดการแข่งขัน ท้ายที่สุดแต่ละโอเปอเรเตอร์ก็จะออกแพกเกจที่เหมาะสมต่อตลาดออกมาอย่างแน่นอน จึงอยากให้ กสทช.มองว่า ทุกอย่างเป็นกลไกในการแข่งขันอยู่แล้ว
 
สำหรับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ได้ทำตามประกาศดังกล่าวด้วยการออกโปรโมชันภายใต้ชื่อ “โปรวิวิ” สำหรับลูกค้าเติมเงิน และ “โปร iSeccond” สำหรับลูกค้ารายเดือน ส่วนดีแทค ก็ออกโปรโมชันทั้งสำหรับลูกค้าเติมเงิน และรายเดือน ในชื่อ “โปรแฮปปี้ทุกวินาที” และ “Second of Love – Voice” ตามลำดับ
 
ส่วนบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทรูมูฟ เอช เลือกที่จะออกแพกเกจ “โปรคุ้มทุกวิ” ให้แก่ลูกค้าเติมเงินก่อน ส่วนลูกค้ารายเดือนจะออกตามมาทีหลังภายในวันที่ 1 มีนาคม โดยทุกค่ายเปิดโอกาสให้ลูกค้าเก่าสามารถสมัครเปลี่ยนแพกเกจได้ทั้งผ่านคอลเซ็นเตอร์ หน้าร้าน และหรือผ่านระบบออนไลน์ได้ทันที
 
แน่นอนว่า คำถามที่เกิดขึ้นคือ โปรโมชันที่แต่ละค่ายออกมาดังกล่าวจะตอบโจทย์กับที่ สปช.และ กสทช.วางไว้ในตอนแรกหรือไม่ เพราะที่เกิดขึ้นคือ แต่ละโอเปอเรเตอร์เลือกที่จะออกแพกเกจใหม่มาในระดับราคาที่เมื่อเทียบกับแพกเกจเดิมที่ใช้งานแบบเหมาจ่าย เชื่อว่าลูกค้าส่วนใหญ่ที่ใช้งานแบบเหมาจ่ายก็จะเลือกใช้งานแพกเกจเดิม มากกว่าเปลี่ยนมาเป็นแพกเกจแบบคิดเป็นวินาที
 
นายฐิติพงศ์ เขียวไพศาล ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส สายงานการตลาดและการขาย เอไอเอส กล่าวว่า การออกแพกเกจของเอไอเอส เพื่อมาจับกลุ่มความต้องการของลูกค้าที่ต้องการโทร.สั้นเป็นหลัก และถือเป็นการมอบทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคมากกว่า
 
เช่นเดียวกับ นายซิก วาร์ท โวส เอริคเซน รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการตลาด ดีแทค และนายกิตติณัฐ ทีคะวรรณ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการพาณิชย์ ธุรกิจโมบาย และหัวหน้าสายงานการพาณิชย์ และพัฒนาธุรกิจโมบาย กลุ่มทรู ที่ให้ข้อมูลในทิศทางเดียวกันว่า เป็นการมอบความคุ้มค่าให้แก่ลูกค้าในการเลือกใช้แพกเกจคิดค่าโทร.ตามจริงเป็นวินาที
 
***ย้อนรอย (ร่าง) ประกาศ เอาเปรียบผู้บริโภคโทรคมนาคม
 
การคิดค่าโทร.ตามจริงเป็นวินาทีทั้งระบบ ถือได้ว่า น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค ในสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เป็นผู้จุดประเด็นขึ้นจนทำให้เกิดการตื่นตัวในการเร่งดำเนินการของ กสทช.ในการหารือกับโอเปอเรเตอร์ ถึงความเป็นไปได้ในการคิดค่าบริการตามรูปแบบเป็นวินาที
 
เริ่มต้นด้วยการตั้ง นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช. เป็นประธานในการดำเนินการเรื่องนี้ แต่ในครั้งแรกของการแก้ปัญหาเป็นเพียงขอความร่วมมือให้โอเปอเรเตอร์ออกโปรทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการให้การคิดค่าโทร.เป็นวินาทีเท่านั้น ขณะที่โปรโมชันเก่าที่คิดค่าโทร.เป็นนาทีก็ยังใช้งานได้อยู่หากผู้ใช้สมัครใจใช้ต่อไป
 
จน “สารี” ออกมาเรียกร้องให้ กสทช. ดำเนินการเรื่องนี้ใหม่ ไม่เช่นนั้นจะดำเนินการเอง ทำให้ กสทช.ต้องมีมติเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง การกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม โดยอาศัยการใช้เครือข่าย หรือการโฆษณาอันมีลักษณะเป็นการค้ากำไรเกินควร หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ พ.ศ. … เพื่อเป็นมาตรการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค และไม่ให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมดำเนินการใดๆ ในการที่จะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค โดยอาศัยการใช้เครือข่าย หรือการโฆษณาอันมีลักษณะเป็นการค้ากำไรเกินควร หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ
 
ด้วยการนำเรื่องการคิดค่าโทรศัพท์ที่ไม่เป็นจริงตามการใช้งานบรรจุอยู่ในนี้ด้วย ดังนั้น ในระยะยาวหากร่างประกาศนี้ผ่านการประชาพิจารณ์ และมีคำสั่งประกาศใช้ ก็จะทำให้การคิดค่าโทร.เป็นวินาทีเป็นจริงได้ทั้งระบบ ซึ่งระหว่างนี้ต้องใช้เวลากว่าจะประชาพิจารณ์เสร็จ
 
ล่าสุด นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. จึงทุบโต๊ะสั่งการให้โอเปอเรเตอร์ทำก่อนโดยไม่ต้องรอร่างประกาศนี้ หรือประชาพิจารณ์ใดๆ ให้เริ่มปฏิบัติตามทันทีโดยเริ่มตั้งแต่ภายในวันที่ 16 ก.พ.-1 มี.ค. โอเปอเรเตอร์ต้องมีโปรโมชัน และโครงสร้างการคิดค่าโทร.ตามจริงเป็นวินาทีทั้งระบบ
 
สำหรับข้อกำหนดเบื้องต้นของโปรโมชันใหม่ที่โอเปอเรเตอร์ออกมาต้องคิดค่าโทร.ตามจริงเป็นวินาทีทั้งแบบรายเดือน และแบบเติมเงิน ซึ่งหากเป็นรายเดือนเมื่อโปรโมชันคิด 200 นาที ประชาชนต้องโทร.ได้ 200 นาที ไม่ปัดเศษวินาทีเป็นนาที ขณะที่ลูกค้าเติมเงินก็คิดตามจริง โดยต้องอยู่บนเงื่อนไขที่ กสทช. กำหนดไว้แต่แรกด้วย คือ ระบบ 2G คิดค่าบริการไม่เกิน 99 สตางค์ต่อนาที และระบบ 3G คิดค่าบริการไม่เกิน 84 สตางค์ต่อนาที
 
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโอเปอเรเตอร์ต่างมีต้นทุนในการจ่ายค่าเชื่อมต่อการโทร. ดังนั้น หากประชาชนโทร.ไม่ถึง 30 วินาที ให้คิดเป็น 30 วินาที แต่หากเกิน 30 วินาที ก็สามารถคิดค่าโทร.เป็นวินาทีตามจริงได้ ส่วนประชาชนที่ยังพอใจต่อการใช้งานในโปรโมชันเดิมก็สามารถใช้โปรโมชันเก่าได้ หากไม่พอใจก็สามารถเปลี่ยนได้ทันทีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
 
ทั้งนี้ ยกเว้นประชาชนที่ซื้อโปรโมชันแบบพ่วงสินค้าและบริการ เช่น การซื้อโทรศัพท์มือถือแบบผ่อน การซื้อพ่วงกับบริการทรูวิชั่นส์ เป็นต้น ไม่สามารถเปลี่ยนโปรโมชันได้ ต้องใช้สินค้าและบริการให้สิ้นสุดสัญญาเสียก่อน
 
***คุ้มครองผู้บริโภครับ “เริ่มเห็นจุดเริ่มต้นที่ดี”
 
ขณะที่ นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ตั้งข้อสังเกตว่า การจะทำให้เกิดการคิดโครงสร้างค่าโทร.ตามจริงเป็นวินาทีได้นั้น ลำดับต่อไป กสทช.ต้องประกาศให้โปรโมชันเก่าหมดอายุด้วย ไม่เช่นนั้นโอเปอเรเตอร์ก็อาจจะออกแพกเกจเพียงไม่กี่แพกเกจ ส่งผลให้อาจจะไม่โปรโมตอย่างจริงจัง
 
หรือการทำราคาโปรโมชันให้ผู้บริโภคเข้าใจยาก และคิดว่าแพงขึ้นจนไม่สนใจเปลี่ยนโปรโมชัน สุดท้ายก็จะมาอ้างว่าทำแล้วแต่ไม่มีใครสนใจใช้งานก็เป็นได้ อย่างไรก็ตาม หากโปรโมชันใหม่ที่ออกมาพบว่ามีราคาสูงขึ้น กสทช.ต้องเรียกโอเปอเรเตอร์เข้ามาชี้แจง
 
“เมื่อสอบถามไปยังผู้ให้บริการบางราย ระบุว่า ตอนนี้โปรโมชันยังไม่นิ่ง หรืออาจจะมีการเปลี่ยนแปลงในระหว่างวันที่ 1 มีนาคม ดังนั้น ตอนนี้ทางสำนักงาน กสทช.จึงรอที่จะสรุปเรื่องราคาโปรโมชันเพื่อให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้”
 
ด้าน น.ส.สารี กล่าวว่า การดำเนินการของ กสทช.ที่ออกมาแม้ว่าจะยังไม่ตรงใจที่ต้องการ แต่ก็นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ดังนั้น ต้องการให้ กสทช.เข้มแข็งในการทำงานต่อไปและควรเร่งออก (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง การกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม โดยอาศัยการใช้เครือข่าย หรือการโฆษณาอันมีลักษณะเป็นการค้ากำไรเกินควร หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ พ.ศ. … ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
 
อย่างไรก็ตาม จุดประสงค์เบื้องต้นของ “สารี” ที่ออกมาเรียกร้องให้เกิดการคิดค่าโทร.เป็นวินาที เริ่มมาจากการที่ผู้บริโภคมีการร้องเรียนถึงการปัดเศษค่าโทร.จากวินาทีให้ เป็นนาที จนเกิดการคิดหาค่าบริการส่วนเกินที่ทางโอเปอเรเตอร์คิดเพิ่มเข้าไปจากจำนวนผู้ใช้งานทั้งหมด
 
“ก่อนหน้านี้ กสทช.เคยคิดค่าเฉลี่ยค่าโทรศัพท์ทุกค่ายอยู่ที่ 1.33 บาทต่อ 1 นาที ฉะนั้นถ้าทุกคนเจอคิดค่าโทร.ปัดเศษแค่คนละ 1 นาทีต่อเดือน แต่ความจริงแล้วเชื่อว่ามันต้องมากกว่าหนึ่งนาทีอยู่แล้ว แต่เราคิดแค่ 1 นาทีพอ แล้วเอาเบอร์ 90 ล้านมาคูณ ก็จะเท่ากับเงิน 3,500 ล้าน ถ้าปีหนึ่งก็ประมาณ 43,000 ล้าน ถือเป็นเป็นเงินที่เยอะมาก”
 
ดังนั้น การออกมาเคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดการคิดค่าโทร.ตามจริงเป็นวินาทีทั้งระบบแบบถาวร ไม่ใช่เป็นการออกมาเฉพาะแพกเกจทางเลือกที่มาแล้วก็ไป และเกิดประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการทุกราย โดยไม่จำเป็นต้องย้ายไปใช้โปรโมชันใหม่แต่อย่างใด
 
ท้ายที่สุดแล้ว การคิดค่าโทร.จะเป็นจริงทั้งระบบ หรือจะเป็นเพียงแค่แพกเกจทางเลือกก็ขึ้นอยู่กับการดำเนินการของ กสทช.หลัง (ร่าง) ประกาศดังกล่าวประกาศใช้อย่างเป็นทางการ