เปิด 20 ประสบการณ์จากคนใน ทำไมไม่ชอบ "Facebook"

แม้จะได้ชื่อว่าเป็นองค์กรสุดคูลแห่งหนึ่งของโลก รวมถึงเคยได้รับโหวตให้เป็นบริษัทที่น่าทำงานด้วยจาก Glassdoorแต่ก็ใช่ว่า “เฟซบุ๊ก” (Facebook) จะหลีกหนีจากการตกเป็นเป้าเมาท์มอยของพนักงานไปได้ โดยทางเว็บไซต์ Quora.com ได้ทำการรวบรวมอดีตพนักงาน รวมถึงพนักงานปัจจุบันบางคนของเฟซบุ๊กที่ได้เคยกล่าวถึงประสบการณ์ในการทำงานกับเฟซบุ๊กมาเปิดเผย ซึ่งหลายข้อเป็นสาเหตุที่ทำให้พนักงานคนนั้น ๆ ลาออกจากเฟซบุ๊กเลยทีเดียว ส่วนเบื้องหลังในการทำงานกับเฟซบุ๊กจะมีอะไรที่ทำให้คนเราทนไม่ได้กันบ้างนั้น ไปติดตามกันเลย
 
1. ไม่มีการกั้นห้องให้พนักงาน
 
หากลองนึกภาพสำนักงานทั่วไปที่มักจัดพื้นที่ให้พนักงานนั่งทำงานอย่างเป็นสัดเป็นส่วน ทั้งเพื่อภาพลักษณ์ให้ดูเป็นมืออาชีพ และเพื่อให้พนักงานมีสมาธิกับการทำงาน แต่สิ่งเหล่านี้อาจหาไม่ได้ที่เฟซบุ๊ก เนื่องจากมีวิศวกรของเฟซบุ๊กที่ไม่ประสงค์ออกนามรายหนึ่งเผยว่า การทำงานที่เฟซบุ๊กนั้น ไม่ได้มีการกั้นห้องอย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งทำให้บริษัทขาดภาพของความเป็นมืออาชีพ ดังที่ควรจะได้พบในบริษัททั่วไปอย่างน่าเสียดาย
 
2. หัวหน้าขาดทักษะด้านการสร้างคน
 
แหล่งข่าวที่ไม่ประสงค์เปิดเผยนามซึ่งเป็นอดีตพนักงานเฟซบุ๊กออกมาเปิดเผยอีกหนึ่งปัญหาที่ทำให้เฟซบุ๊กไม่น่าทำงานด้วย ซึ่งนั่นก็คือ ปัญหาด้านทักษะการบริหารคนของเหล่าหัวหน้า โดยระบุว่า หัวหน้างานในเฟซบุ๊กสนใจแต่ตัวเอง และสิ่งที่ทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จ แต่กลับไม่สนใจที่จะสร้างแรงจูงใจให้ลูกน้อง
 
3. การจัดรูปแบบองค์กร
 
อีกสิ่งหนึ่งที่พนักงานเฟซบุ๊กระบุว่าทำให้ยากต่อการทำงานก็คือ การหาวิธีพัฒนาโปรดักซ์เจ๋ง ๆ กับทีมที่มีจำนวนคนมากถึง 4,000 คน ซึ่งพวกเขาคิดว่ามันยากต่อการตกลงหาข้อสรุปมาก และอาจจะดีกว่าหากลดจำนวนคนในทีมลงเหลือสัก 500 คนแทน
 

 
4. การถูกคาดหวังจากสังคมภายนอก
 
มีพนักงานจำนวนไม่น้อยที่ถูกญาติพี่น้อง ครอบครัว เพื่อนฝูงตำหนิ “เฟซบุ๊ก” ผ่านทางตัวเอง ทั้ง ๆ ที่บางคนอาจจะแค่ทำงานที่เฟซบุ๊ก แต่ไม่ได้อยู่ในส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโปรแกรมแต่อย่างใด ขณะที่ภรรยาหรือสามีของพนักงานเฟซบุ๊กก็ต้องคอยตอบคำถามเกี่ยวกับเฟซบุ๊กเช่นเดียวกัน เช่น การตั้งค่าความเป็นส่วนตัว ฯลฯ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว พวกเขาหรือเธออาจไม่จำเป็นต้องรับบทบาทนั้นก็ได้
 
Elaine C. Smith ภรรยาของพนักงานเฟซบุ๊กรายหนึ่งเผยว่า ทันทีที่เพื่อนบ้านทราบว่าสามีของเธอทำงานที่เฟซบุ๊ก ครอบครัวเธอมักจะถูกตำหนิเกี่ยวกับการทำงานของระบบเฟซบุ๊กไปโดยปริยาย
 
5. การไม่ปรับภาพลักษณ์ให้เหมาะสม
 
อดีตพนักงานรายหนึ่งเผยกับ Quora ว่า สิ่งที่เขาไม่ชอบที่สุดเกี่ยวกับเฟซบุ๊กก็คือ การที่บริษัทยังทำตัวเหมือนเป็นบริษัทเกิดใหม่ ทั้ง ๆ ที่ปัจจุบัน เฟซบุ๊กเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกาไปแล้ว
 
“มันเหมือนกับบทบาทของอดัม แซนเลอร์ ที่เขาแก่แล้วแต่ยังเล่นบทวัยรุ่นอยู่เลย”
 
6. ขาดวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับโปรดักซ์
 
พนักงานฝึกงานของเฟซบุ๊กรายหนึ่งเผยว่า ในวันสุดท้ายของการฝึกงานที่เฟซบุ๊ก ทีมของเขาก็ตัดสินใจโละทิ้งโปรเจ็คที่ทำมา ซึ่งเขากล่าวว่า “หากทีมงานมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับโปรดักซ์ที่จะผลิต และสามารถสื่อสารให้ทางทีมเข้าใจได้ ผมคิดว่าผมคงไม่ต้องเจอเหตุการณ์แบบนี้ และคงสามารถมองบริษัทในทางบวกได้มากกว่านี้”
 
7. ต้องจัดการเมล 1,600 ฉบับต่อวัน
 
Thomas Moore อดีตพนักงานเฟซบุ๊กเผยประสบการณ์สมัยที่เขาทำงานที่เฟซบุ๊กว่า เขาได้รับอีเมลกว่า 1,600 ฉบับต่อวัน ซึ่งไม่น้อยเลย นอกจากนั้นเขายังมองว่า ความสำเร็จของเฟซบุ๊กในวันนี้ กลับไม่ทำให้เขาคิดถึงเท่ากับวันที่เริ่มเปิดตัวใหม่ ๆ และมีผู้คนสงสัยว่า เฟซบุ๊กคืออะไร 
 

 
8. ต้องทำงานแม้ในช่วงลาพักร้อน
 
การทำงานที่เฟซบุ๊ก แม้คุณจะไม่ได้อยู่ในระหว่างทำงาน แต่ก็หลีกเลี่ยงการถูกดึงเข้าไปเกี่ยวข้องไม่ได้ รวมถึงในระหว่างที่คุณกำลังลาพักร้อนอยู่ด้วย โดย Sunayana Sen พนักงานเฟซบุ๊กในอินเดียเล่าว่า หากเขาเล่นมือถือระหว่างพักร้อน เขาจะได้ทราบความคืบหน้าของโปรเจ็ค และทีมงานผ่านกรุ๊ปในเฟซบุ๊กตลอดเวลา และมีการแจ้งเตือนใหม่ ๆ เข้ามาตลอด ซึ่งเท่ากับว่า การพักร้อนไม่มีประโยชน์ใด ๆ นั่นเอง
 
9. เสียสมาธิเพราะทดสอบโค้ด
 
Felipe Oliveira Carvalho อดีตพนักงานฝึกหัดของเฟซบุ๊กรายหนึ่งเผยว่า เขาไม่ชอบการทดสอบโค้ดบนเฟซบุ๊ก เพราะพนักงานต้องเข้าเฟซบุ๊กเพื่อทดสอบ และนั่นทำให้เขาว่อกแว่กไปกับเรื่องราวต่าง ๆ ได้ง่าย
 
10. ไม่ชอบเฟซบุ๊กเวอร์ชันสำหรับมือถือ
 
อดีตพนักงานเฟซบุ๊กรายหนึ่งเผยกับ Quora ว่า เขาไม่ชอบการจัดการกับปัญหาบนสมาร์ทโฟนของเฟซบุ๊ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต้องรับมือกับคำตำหนิจากยูสเซอร์จำนวนมากเกี่ยวกับการใช้แอปเฟซบุ๊กบนอุปกรณ์สื่อสาร ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่ามีปัญหาหลายประการ ทั้งสิ้นเปลืองแบตเตอรี่ของเครื่อง แถมช้า ไม่ทันใจ
 
11. พนักงานฝึกหัดก็ตัดสินใจได้
 
Philip Su วิศวกรซอฟต์แวร์ที่ยังทำงานอยู่ในเฟซบุ๊กเผยว่า เขาได้เห็นการตัดสินใจตามลำพังที่ทำโดยวิศวกรหนึ่งทีม หรือบางครั้งก็แค่ 1 คน หรือบางครั้งก็ตัดสินใจโดยพนักงานฝึกหัด และไม่มีการขอความเห็นจากผู้บังคับบัญชาก่อน ซึ่งการปล่อยให้เกิดการตัดสินใจแบบนี้จะส่งผลโดยตรงต่อโปรดักซ์ที่พัฒนาออกมาอย่างแน่นอน
 
12. ไม่มีความเป็นส่วนตัว
 
Daad Khujli อดีตพนักงานเฟซบุ๊กรายหนึ่งเผยว่า ในห้องทำงานที่มีโต๊ะปิคนิคเรียงเป็นแถว แต่ละแถวมีคนนั่งไหล่ชนไหล่ และความเป็นส่วนตัวเท่ากับศูนย์ ไม่ใช่สภาพแวดล้อมที่เขาจะสร้างสิ่งดี ๆ ขึ้นมาได้เลย
 
13. มองกูเกิลมากกว่ามองหาจุดเด่นของตัวเอง
 
ยูสเซอร์ของ Quora รายหนึ่งที่อ้างว่าตนเองมักถูกเชิญไปพูดที่เฟซบุ๊กบ่อย ๆ ระบุว่า คนที่เฟซบุ๊กนั้นส่วนใหญ่มักมองกูเกิล มากกว่ามองหาจุดเด่นขององค์กรตัวเอง และการถูกเชิญไปพูดที่เฟซบุ๊กนั้น ไม่ใช่เรื่องน่าสนใจแต่อย่างใด
 
14. ทำให้นักลงทุนผิดหวัง
 
พนักงานเฟซบุ๊กรายหนึ่งเผยว่าบริษัทของพวกเขานั้นควรจะมีมูลค่ากว่า 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐแล้วในวันนี้ หากไม่ทำให้นักลงทุนผิดหวังไปเสียก่อน และนั่นทำให้พนักงานรู้สึกหมดกำลังใจตามไปด้วย เนื่องจากไม่ได้เห็นมูลค่าหุ้นที่ตนเองได้รับเพิ่มสูงตามมูลค่าที่ควรจะเป็น
 

 
15. ลาออกเพราะถูกขอให้ทำเรื่องที่ไม่ใช่งาน
 
อดีตพนักงานเฟซบุ๊กรายหนึ่งเผยว่าตนเองถูกกลั่นแกล้งจากเพื่อนร่วมงาน และถูกสั่งให้ทำงานที่ไม่เหมาะสมหลายอย่าง เช่น แยกเสื้อผ้าของหัวหน้าก่อนนำไปซัก ซึ่งในเสื้อผ้าเหล่านั้นมีชุดของภรรยาหัวหน้าอยู่ด้วย
 
16. คำสั่งไม่ชัดเจน
 
มีอดีตพนักงานเฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสต์ใน Quora ว่า เหตุที่เขาออกเพราะเขาได้รับคำสั่งที่ไม่ชัดเจน เหมือนกำลังเล่นเกมทายใจกันอยู่ และทีมของเขาก็ไม่สนใจที่จะให้ฟีดแบ็กกับเขาด้วย ซึ่งเมื่อเจอสถานการณ์เช่นนั้น ทำให้เขาเลือกที่จะลาออกทันที
 
17. รู้สึกว่า กำลังทำเงินล้านให้กับคนอื่น
 
ผู้ใช้ชื่อว่า Nick Bilogorskiy ซึ่งเป็นอดีตพนักงานอีกรายหนึ่งเผยว่า เขารู้สึกว่าตนเองกำลังสร้างเงินล้านให้กับคนอื่น และกำลังทำความฝันของคนอื่นให้เป็นจริง จึงเลือกที่จะปฏิเสธการทำงานกับเฟซบุ๊กไปในที่สุด
 
18. มาร์ค ซักเคอร์เบิร์กยังคงสนใจแต่การสร้างทีม
 
สิ่งหนึ่งที่ Philips Su เผยเกี่ยวกับการทำงานในวันที่เฟซบุ๊กกลายเป็นบริษัทในตลาดหุ้นไปแล้วก็คือ การที่มาร์ค ซักเคอร์เบิร์กควรหันไปทำหน้าที่ของซีอีโอ เช่น สร้างสายสัมพันธ์กับนักลงทุน ฯลฯ เพื่อเพิ่มมูลค่าหุ้นในตลาด แต่ Su เผยว่า ทุกวันนี้ มาร์คยังคงสนใจเรื่องการพัฒนาโปรดักซ์ และการคุยกับวิศวกรมากกว่าหน้าที่ที่เขาควรจะทำ
 
19. ขาดวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการสร้างรายได้ระยะสั้น 
 
กรณีนี้เกี่ยวกับความเชื่อของมาร์ค ซักเคอร์เบิร์กที่มองว่า หากสามารถสร้างโปรดักซ์ที่สุดยอดได้ก็จะนำมาซึ่งรายได้ในระยะยาว ซึ่งพนักงานส่วนหนึ่งมองว่า เฟซบุ๊กควรจะหาวิธีเพิ่มมูลค่าหุ้นเอาไว้ด้วยที่ไม่ใช่แค่การสร้างสิ่งสุดยอดออกมาอวดอย่างเดียว
 
20. ดราม่าจากปัญหาการเมือง
 
ปัญหาทางการเมืองภายในองค์กรเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เฟซบุ๊กหนีไม่พ้น ซึ่ง Philips Su ออกมาเปิดเผยว่า นอกจากการเขียนโปรแกรมที่เหนื่อยมากแล้ว ปัญหาการเมือง คนนั้นไม่ชอบคนนี้ ยังทำให้เขาเหนื่อยเพิ่มมากขึ้นจนไม่อยากคิดถึงมันเลยทีเดียว
 
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ อย่างน้อยก็ทำให้รู้ว่า แม้จะเป็นองค์กรหมื่น – แสนล้าน แต่ก็ใช่ว่าจะถูกพูดถึงแต่ในด้านบวกเสมอไป