ดอยช์ โพสต์ ดีเอชแอล พัฒนารูปแบบการให้บริการลอจิสติกส์ เพื่อขานรับต่อเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน

ดอยช์ โพสต์ ดีเอชแอล กลุ่มผู้นำระดับโลกทางด้านบริการไปรษณียภัณฑ์และลอจิสติกส์ ได้รับเกียรติให้เป็นหนึ่งในสมาชิกของ “เศรษฐกิจแบบหมุนเวียน 100 (Circular 100 หรือ CE100)” ของมูลนิธิเอเลน แมคอาเธอร์ สมาชิกอันทรงเกียรติของซีอี 100 ต่างเป็นตัวแทนขององค์กร นักประดิษฐ์ และภูมิภาคต่าง ๆ ที่มีเจตจำนงร่วมกันในการสนับสนุนเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง ด้วยโครงการส่วนตัวหรือการกำหนดทิศทางธุรกิจโดยรวมขององค์กร

ดอยช์ โพสต์ ดีเอชแอลสามารถสร้างความประทับใจให้กับมูลนิธิด้วยกลไกการทำงานในองค์กร
และมาตรการต่าง ๆ ที่ใช้ในโครงการกลุ่ม GoGreen ของบริษัท โดยทางสถาบันได้ยกย่องในความพยายามของโครงการนี้ ที่มีเจตจำนงในการสร้างห่วงโซ่อุปทานอย่างเหมาะสม การมุมานะในการสร้างขั้นตอนการจัดการลอจิสติกส์ย้อนกลับ การลดอัตราการเกิดก๊าซเรือนกระจก การนำพลังงานต่าง ๆ
มาใช้อย่างคุ้มค่า และการมีส่วนร่วมของพนักงานในกิจกรรมเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

คริสตอฟ เออฮาร์ท รองประธานฝ่ายการประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร ดอยช์ โพสต์ ดีเอชแอล กล่าวว่า “การได้รับการยอมรับให้เป็นสมาชิกหนึ่งในกลุ่มนี้ถือเป็นเครื่องยืนยันในเจตจำนงแบบยั่งยืนของเรา และนับเป็นส่วนช่วยให้สมาชิกทั้งหลายร่วมกันฝ่าฟันอุปสรรคในอนาคตด้วยกัน

เราต่างตระหนักดีว่าทรัพยากรต่าง ๆ นั้นมีอยู่อย่างจำกัด ในขณะที่ชั้นบรรยากาศบนโลกกำลังถูกคุกคามด้วยก๊าซเรือนกระจก และการกระทำบางอย่างของเราอาจนำไปสู่อันตรายที่จะเกิดขึ้นกับโลกใบนี้ในอนาคต การร่วมกันระดมความคิดและหามาตรการรับมือกับปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้จึงนับเป็นก้าวสำคัญที่เราควรทำเพื่อลูกหลานของเราในอนาคต”

แอนดรู มอร์เล็ท ประธานบริหารมูลนิธิ เอเลน แมคอาเธอร์ กล่าวเสริมว่า “ดอยช์ โพสต์ ดีเอชแอล คือผู้นำระดับสากลในวงการให้บริการลอจิสติกส์ เราจึงมีความยินดีที่ได้ร่วมมือกับองค์กรนี้ เพื่อมาเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน 100 อนึ่ง ลอจิสติกส์แบบหมุนเวียนนั้นนับว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งผ่านระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน ซึ่งดอยช์ โพสต์ ดีเอชแอล เป็นกำลังสำคัญในการช่วยสร้างสรรค์วิสัยทัศน์ใหม่ ๆ และโอกาสอันดีให้กับโครงการนี้”

ดอยช์ โพสต์ ดีเอชแอลจะให้ความสำคัญกับการปรับปรุงสร้างความเข้าใจและสนับสนุนการพัฒนารูปแบบการบริการด้านลอจิสติกส์ ที่จะเอื้ออำนวยการไหลเวียนของสินค้าต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อก่อให้เกิดการนำมาใช้ประโยชน์ใหม่ ผลิตใหม่ และนำกลับมาใช้ใหม่ เป็นการหลีกเลี่ยงการสิ้นเปลืองทรัพยากรต่าง ๆ

มูลนิธิเอเลน แมคอาเธอร์ ก่อตั้งในประเทศอังกฤษ ปี พ.ศ.2553 มีวัตถุประสงค์เพื่อเร่งให้เกิดการส่งผ่านเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนเพื่อการนำกลับมาใช้ใหม่ โดยมีการนำเสนอโครงการ “เศรษฐกิจแบบหมุนเวียน 100” ที่มีเป้าหมายในการช่วยสร้างสรรค์รูปแบบการทำงานผ่านทางกรณีศึกษา การแลกเปลี่ยนข้อมูล และ ”การคิดนอกกรอบ” พลังงานที่นำมาใช้ใหม่ การนำวัตถุดิบและวัสดุกลับมาใช้ใหม่ และลดอัตราการเกิดก๊าซเรือนกระจก หรือการใช้วัสดุอย่างฟุ่มเฟือย ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยสำคัญที่จะก่อให้เกิดเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน และในรายงานประจำปีเกี่ยวกับเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนนั้น ทางมูลนิธิสามารถวัดค่าและคำนวณถึงมาตรการที่มีส่วนช่วย และโอกาสที่จะเป็นประโยชน์ต่อการก่อให้เกิดเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน โดยการศึกษาครั้งล่าสุดของห่วงโซ่มูลค่าโลกในปี พ.ศ.2557 ชี้ให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานหมุนเวียนในปี พ.ศ.2568 จะก่อให้เกิดห่วงโซ่มูลค่าโลกต่อปี เป็นมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 780 พันล้านยูโร และสร้างงานเพิ่มขึ้นถึง 100,000 งาน