เปิดตัวนวัตกรรมการศึกษาแห่งแรกของโลก โรงเรียนบ่มเพาะธุรกิจ : The Business Incubation School ในรูปแบบองค์กรไม่แสวงหากำไร เพื่อปิดจุดอ่อนของธุรกิจขนาดกลางและย่อม พร้อมยกระดับมาตรฐานการศึกษา สาขาบริหารธุรกิจ อันจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศอย่างยั่งยืน ด้วยมาตรฐานการเลือกอาจารย์ผู้สอนที่มีความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ มีประสบการณ์ทางธุรกิจ เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้เรียนตลอดระยะเวลาของหลักสูตร 1 ปีและ 2 ปี ทั้งหลักสูตรไม่มีปริญญาและหลักสูตรมีปริญญา
เภสัชกร ดร.แสงสุข พิทยานุกุล ผู้ก่อตั้งโรงเรียนบ่มเพาะธุรกิจ : The Business Incubation School เปิดเผยว่า จากข้อมูลของแผนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมฉบับที่ 3 (พ.ศ.2555-2559) พบว่า ประเทศไทยมีจำนวนวิสาหกิจรวมทั้งสิ้น 2,924,912 ราย โดยร้อยละ 99.60 เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม การจ้างงานของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมคิดเป็นร้อยละ 77.86 ของการจ้างงานรวมของประเทศ มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมคิดเป็น ร้อยละ 42.35 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งประเทศและมูลค่าการส่งออกของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมคิดเป็นร้อยละ 28.40 ของมูลค่าการส่งออกรวมของประเทศ จากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมีความสำคัญ และเป็นกลไกหลักในการเสริมสร้างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้แก่ประเทศ และเป็นแหล่งการจ้างงานที่สำคัญ แต่จากข้อมูลเดียวกันกลับพบจุดอ่อน จุดแข็ง โอกาส และภัยคุกคามที่พบว่าวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมีจุดแข็งด้านความคล่องตัว ยืดหยุ่น สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์แวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีความสามารถและความเชี่ยวชาญด้านทักษะงานฝีมือและงานบริการ และด้านการผลิตสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายตามความต้องการ แต่ขณะเดียวกัน กลับมีจุดอ่อนด้านการบริหารจัดการธุรกิจ ความสามารถในการพัฒนาสินค้าและบริการ โอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ความสามารถในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับในการดำเนินธุรกิจ และขาดโอกาสทางการตลาดและการเข้าถึงข้อมูลการตลาดเชิงลึก ส่งผลให้ยากที่จะประสบความสำเร็จในการก้าวข้ามเป็นธุรกิจขนาดใหญ่สู่ตลาดระดับโลก
ในฐานะที่ผมเป็นนักธุรกิจที่มีประสบการณ์จากการเป็นผู้นำด้านผลิตภัณฑ์เวชสำอางทั้งในประเทศและภูมิภาคเอเชียและผู้ก่อตั้งแบรนด์ “สมูท อี” ที่มองเห็นจุดอ่อนเดียวกัน ทั้งยังมองเห็นไปถึงจุดอ่อนของการศึกษาในระบบไทย ซึ่งนำไปสู่การไม่ประสบความสำเร็จในระดับสูงเมื่อประกอบธุรกิจ จึงเกิดแรงบันดาลใจที่จะสร้างแบบ (Model) การศึกษาใหม่ โดยหลักสูตรนี้เริ่มเปิดเป็นการศึกษาทั้งแบบมีปริญญาโท (MBA) และไม่มีปริญญา แต่ได้รับประกาศนียบัตรสำหรับการอบรมระยะยาวกว่า 400 ชั่วโมง (Certificate Degree) The Business Incubation School หรือ โรงเรียนบ่มเพาะธุรกิจ ที่กำลังดำเนินการจัดตั้งอยู่นี้เป็นรูปแบบขององค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ไม่มีค่าใช้จ่ายในระหว่างปีการศึกษา เพื่อทำให้ผู้ประกอบการมีความสามารถในการแข่งขันเชิงธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการทั้งขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME ที่หลายคนรู้จัก โดยมีนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จตัวจริง ทำหน้าที่เป็นครูและที่ปรึกษา อาทิ คุณวิชา พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) คุณอนุพงษ์ อัศวโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) คุณสมพร ธีระโรจนพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีเอสไอ โฮลดิ้ง จำกัด คุณดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดีซี คอนซัลแทนส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน) คุณอมตะ หลูไพบูลย์ บริษัท Department of Architecture เป็นต้น ซึ่งตอบโจทย์สำหรับผู้ประกอบการที่อยากสร้างธุรกิจของตัวเองหรืออยากเพิ่มศักยภาพในการบริหารธุรกิจของตนเอง โดยมีผู้ที่เคยประสบความสำเร็จคอยช่วยเป็นที่ปรึกษาชี้แนะแนวทาง
หลักสูตรสร้างความแตกต่าง และสร้างแรงจูงใจ (Uniqueness & Differentiation) ให้ผู้เรียนในรูปแบบใหม่ๆ คือ 1.ผู้เรียนทุกคนจะได้รับทุนให้ศึกษาในระยะแรกเข้า โดยมีกองทุนการศึกษาของสถาบันสำรองจ่ายให้ก่อนล่วงหน้า 2.รับประกันความสำเร็จด้านกำไร โดยผู้เรียนสามารถเข้าศึกษาตามหลักสูตรโดยยังไม่ชำระเงินจนกว่าผลประกอบการของธุรกิจผู้เรียนแสดงยอดกำไรสุทธิหลังหักภาษีเป็น 100,000-200,000 บาทต่อเดือนตามประเภทหลักสูตร จึงทยอยชำระค่าเล่าเรียน 3.เป็นหลักสูตรการบ่มเพาะที่ควบคู่กับการศึกษาทฤษฎี ทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างรอบด้าน ครบถ้วน 4.เป็นการสร้างกุศลด้านการศึกษาในการส่งต่อโอกาสและความรู้ให้กับผู้เข้าร่วมโครงการรุ่นถัดไป 5.เปิดโอกาสให้ผู้เรียนที่เข้าร่วมหลักสูตรละ 50 คน (ในรุ่นแรก) ได้มีโอกาสเรียนรู้การทำธุรกิจภายใต้การให้คำปรึกษาแนะนำจากนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในสาขาอาชีพต่างๆ 25 ท่าน 6.ผู้เข้าร่วมจะต้องมีคุณสมบัติตามข้อบังคับ อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนที่สำคัญที่สุดคือ การสัมภาษณ์เพื่อคัดเลือกอย่างเข้มข้น โดยสถาบันจะเลือกผู้เรียนที่มีแนวทางการทำธุรกิจที่สร้างสรรค์ และเหมาะสมที่สุด จากนั้นจะช่วยต่อยอดแนวทางธุรกิจ 7.สร้างการรวมกลุ่มและการพัฒนาเครือข่ายวิสาหกิจให้มีความเข้มแข็งและมีศักยภาพทางการแข่งขัน จากการนำศักยภาพที่แตกต่างกันมาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และข้อมูล
“เมื่อสามารถบรรลุเป้าหมายพื้นฐานจากการเรียนที่ โรงเรียนบ่มเพาะธุรกิจ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถเติบโตอย่างยั่งยืน รวมทั้งสร้างเครือข่ายธุรกิจและสร้างธุรกิจนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้น ไม่ใช่เพียงผลตัวเลขหรือกำไร แต่เป็นการเสริมสร้างความมั่นคง ยั่งยืน และก้าวหน้าทางเศรษฐกิจแก่ประเทศชาติและเป็นต้นแบบให้ธุรกิจเกิดใหม่ได้เดินตาม”