จากยุคโบกแท็กซี่มิเตอร์ริมทาง มาสู่ยุคเรียกแท็กซี่ผ่านแอปฯ มือถือ “อีซี่แท็กซี่-แกร็บแท็กซี่-อูเบอร์” 3 ผู้ให้บริการจาก 3 ประเทศ บุกเข้ามาเปิดตลาดในไทย ล่าสุด “ออลไทยแท็กซี่ แท็กซี่ในฝัน “นครชัยแอร์” ที่สร้างกระแสฮือฮา จะมาเป็นจุดเปลี่ยน ปฏิวัติแท็กซี่ได้จริงหรือ
จากปัญหาของ “แท็กซี่” ในเมืองไทย ที่หลายคนต้องเจอมา ไม่ว่าจากการปฏิเสธผู้โดยสาร หรือไม่กดมิเตอร์ รวมทั้งไม่ปลอดภัย สารพัดปัญหาที่เกิดขึ้น ได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนของการก่อกำเนิดธุรกิจบริการแท็กซี่ผ่านแอปพลิเคชั่นขึ้นในตลาด คือ อีซี่แท็กซี่ (Easy Taxi), แกร็บแท็กซี่ (Grab Taxi), อูเบอร์ (Uber) และล่าสุดการมาของ ออลไทยแท็กซี่ (All Thai Taxi) แท็กซี่ในฝันของนครชัยแอร์
ด้วยรูปแบบการให้บริการ รถที่หรูหรา บริการของคนขับ ที่ต้องแลกมาด้วยการจ่ายค่าบริการที่แพงขึ้น บางคนเรียก “แท็กซี่ไฮโซ” แต่กลับได้เสียงตอบรับอย่างดีจากหมู่ผู้ใช้บริการที่เป็นคนเมือง คนรุ่นใหม่ยอมจ่ายแพงขึ้น แลกกับความสะดวกในการใช้บริการ
“อีซี่-แกร็บ แท็กซี่” จับกลุ่มแท็กซี่ท้องถิ่น
จุดเริ่มต้นของบริการเรียกแท็กซี่ผ่านแอปพลิเคชั่น เริ่มจาก “อีซี่แท็กซี่” และ “แกร็บแท็กซี่” ได้เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยใกล้เคียงกันตั้งแต่ปี 2556 ด้วยโมเดลธุรกิจใกล้เคียงกัน คือ การพัฒนาแอปพลิเคชั่นขึ้นมา จากนั้นไปชักชวนให้รถแท็กซี่ท้องถิ่นในประเทศให้มาอยู่ในระบบ โดยผู้โดยสารที่เรียกผ่านแอปพลิเคชั่น จะเสียค่าธรรมเนียมเพิ่ม 20-25 บาทจากค่าโดยสาร
อีซี่แท็กซี่ มีต้นกำเนิดจากประเทศบราซิล มาได้แบ็กใหญ่อย่าง Rocket Internet เป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ ทำให้มีพาวเวอร์ในการขยายตลาดสู่ต่างประเทศอย่างรวดเร็ว ซึ่งปัจจุบันมีการทำตลาดแล้ว 32 ประเทศ ใน 182 เมือง มียอดการดาวน์โหลดแล้วกว่า 10 ล้านครั้ง และมีผู้ให้บริการขับรถที่ลงทะเบียนทั่วโลกจำนวนกว่า 155,000 คนทั่วโลก และมีคนขับแท็กซี่กว่า 8,000 คัน
ทั้ง 2 รายมีการทำตลาดแบบ Localize โดยการเข้าหาคนขับโดยตรง เช่น การตั้งบูธตามอู่รถแท็กซี่ ปั๊มแก๊ส เพื่อชักชวนให้คนขับเข้าร่วมโครงการ คุณสมบัติของคนขับแท็กซี่นั้นต้องมีแค่สมาร์ทโฟนและมีดาต้าอินเทอร์เน็ต พร้อมกับทัศนคติที่ดีในการบริการเท่านั้นพอ
แกร็บแท็กซี่ หันมาเน้นพาร์ตเนอร์ชิพ
สำหรับ แกร็บแท็กซี่ มีต้นกำเนิดจากประเทศเพื่อนบ้านประเทศมาเลเซีย ทำตลาดแล้วทั้งหมด 17 เมือง ใน 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย เวียดนาม สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเมืองไทยตลาดใหญ่สุดถ้าเทียบกับ 6 ประเทศ เพราะมีพื้นที่ใหญ่ที่สุด ประชากรมากที่สุด และมีพฤติกรรมการใช้แท็กซี่ค่อนข้างเยอะ ในประเทศไทยมีคนขับแท็กซี่ในระบบอยู่หลักหมื่นคัน แต่ในแง่จำนวนผู้ใช้ทั้งหมด 6 ประเทศมีอยู่ 5 แสนราย
ปาล์ม เลวีวงศ์ Driver Loyalty Manager บริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ปัญหาแท็กซี่เมืองไทยเหมือนกับหลายๆ ประเทศคือปฏิเสธผู้โดยสาร หรือคิดราคาเหมา แกร็บแท็กซี่จึงพัฒนาแอปพลิเคชั่นออกมา เพื่อการแก้ปัญหาของทั้งสองด้าน
ผู้โดยสารเองก็ได้รับความสะดวก เรียกผ่านสมาร์ทโฟน และยังสบายใจว่ามีการกดมิเตอร์แน่นอน ส่วนแท็กซี่เองสามารถวางแผนระยะทางได้ เพราะรู้สถานที่ล่วงหน้าของผู้โดยสารว่าจะเรียกไปที่ไหน ถ้าสามารถไปได้ก็รับงาน ถ้าไปไม่ได้ หรือแก๊สไม่พอก็ไม่รับงาน ทำให้คนขับบริหารตัวเขาเองได้มากขึ้น
ส่วนแกร็บแท็กซี่ ในฐานะตัวกลาง จะได้รับค่าธรรมเนียมที่ผู้โดยสารต้องจ่ายครั้งละ 25 บาท แกร็บแท็กซี่จะได้ส่วนแบ่ง 5-7 บาท/ครั้ง
ดังนั้นการมีแท็กซี่มาอยู่ในระบบจึงเป็นหนึ่งในภารกิจ ของแกร็บแท็กซี่ใช้วิธีการตั้งบูธลงทะเบียนตามอู่รถแท็กซี่ หรือปั๊มแก๊ส ที่เป็นศูนย์รวมคนขับแท็กซี่ เพื่อชักชวนให้คนขับเข้าร่วมโครงการ คุณสมบัติของคนขับแท็กซี่นั้นต้องมีสมาร์ทโฟนและดาต้าอินเทอร์เน็ต พร้อมกับทัศนคติที่ดีในการบริการ
กลยุทธ์การตลาดที่สำคัญของแกร็บแท็กซี่ คือ การจับมือกับพาร์ตเนอร์ ทำโปรโมชั่นส่วนลดค่าโดยสาร เช่น AP, ธนาคารกสิกรไทย, อินเทอร์เน็ต 3BB เป็นต้น รวมไปถึงการตั้งจุดเรียกแท็กซี่ตามจุดต่างๆ เช่น โรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ และจะมีจุดต่างๆ ตามห้างสรรพสินค้า และงานคอนเสิร์ต หรืออาจจะมีโปรโมชั่นล้อไปกับเทศกาล เช่น เทศกาลสงกรานต์ และเพิ่มเข้ามาเป็นกิมมิกเล็กๆ ก็คือการทำสติกเกอร์ไลน์ เป็นการส้างการรับรู้ในวงกว้าง รวมทั้งเรื่องระบบการจ่ายเงินผ่านบัตรเครดิตให้ครอบคลุมมากขึ้น
สำหรับคู่แข่งที่เข้ามาในตลาดเพิ่มมากขึ้น ปาล์มมองว่าเป็นเรื่องดี ทำให้ตลาดมีสีสัน โดยเฉพาะการมาของนครชัยแอร์ช่วยสร้างกระแสเพิ่มขึ้น มองว่าโอกาสทางธุรกิจยังมีอยู่ แท็กซี่ที่ลงทะเบียนในกรุงเทพฯ 100,000 คัน แต่ที่วิ่งเป็นประจำมี 80,000 คัน แนวโน้มมีการเพิ่มจำนวนมากขึ้น และมีการพัฒนารุ่นของรถให้ดีไปเรื่อยๆ
แต่ยอมรับว่าการแข่งขันต่อไปจะรุนแรงขึ้น และอาจเหลือแค่บริการเรียกรถแท็กซี่ผ่านแอปพลิเคชั่นเท่านั้น โดยที่แต่ละแบรนด์ก็จะมีการทำตลาดของตัวเองไป แต่สามารถทำงานร่วมกัน อำนวยความสะดวกแก่ผู้บริโภค แต่ตลาดนี้ก็เป็นในเรื่องของแอปพลิเคชั่น ซึ่งแต่ละเจ้าก็ต้องพัฒนาตนเองสม่ำเสมอ
สิ่งที่แกร็บแท็กซี่มุ่งที่จะพัฒนาต่อไปนอกจากเรื่องระบบการจ่ายเงินผ่านบัตรเครดิตให้ครอบคลุมมากขึ้น เพราะตอนนี้สามารถจ่ายผ่านบัตรเครดิตธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ เป็น 2 ธนาคารที่คนขับแท็กซี่นิยมใช้มากที่สุด แต่ยังคงมีข้อจำกัดบางประการสำหรับคนขับที่จำเป็นต้องใช้เงินสดติดตัวเพื่อค่าใช้จ่ายต่างๆ ทำให้ยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก
ล่าสุดแกร็บแท็กซี่ได้ระดมทุน 250 ล้านเหรียญสหรัฐ จาก Soft Bank ยักษ์ใหญ่ในด้านการลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น จะขยายไปในประเทศอื่นๆ ในเอเชีย
“อูเบอร์” สร้างกระแสแท็กซี่ไฮโซ
ส่วน “อูเบอร์ (Uber)” แท็กซี่จากสหรัฐอเมริกา เป็นบริการเรียกแท็กซี่ผ่านแอปพลิเคชั่นเหมือนกัน แต่สิ่งที่สร้างความแตกต่าง คือ ยกระดับรถแท็กซี่ขึ้นมาเป็นรูปแบบของรถหรูมากขึ้น โดยใช้รถโตโยต้าคัมรี่, ฮอนด้าแอคคอร์ด หรือรถเบนซ์ ในขณะที่อัตราค่าโดยสารก็ขยับขึ้นมาสูงกว่าปกติ 1.5-1.7 เท่า เริ่มต้นที่ 45 บาท และเป็นการชำระเงินผ่านบัตรเครดิตเท่านั้น ซึ่งแบ่งเป็น Uber X ที่เป็นรถยนต์ป้ายดำธรรมดา และ Uber Black รถยนต์ซีดานหรือลีมูซีน ปัจจุบันมีบริการใน 53 ประเทศและกว่า 200 เมืองทั่วโลก
โมเดลธุรกิจของอูเบอร์จะแตกต่างจากของอีซี่แท็กซี่และแกร็บแท็กซี่ตรงที่อูเบอร์ไม่ได้ลงไปจับมือกับแท็กซี่ท้องถิ่น แต่เป็นการสร้างอู่ขึ้นมาใหม่ในแต่ละท้องที่ โดยให้คนที่สนใจมาลงทะเบียนเพื่อเป็นคนขับ โดยที่ทางอูเบอร์จะกำหนดประเภทรถยนต์บุคคล 4 ประตู และอายุรถไม่เกิน 5 ปี ในเรื่องของรายได้ ผู้ขับจะจ่ายค่าใช้ระบบให้อูเบอร์ 20% ของค่าโดยสาร
ผู้ที่เคยขับรถลีมูซีนที่รับส่งผู้โดยสารจากสนามบินและโรงแรมต่างๆ หันมาหารายได้จากอูเบอร์กันมากขึ้น เพราะสามารถทำได้ 24 ชม.
แต่ปัญหาหลักของอูเบอร์ คือ การเข้าข่ายผิดกฎหมาย เพราะไม่ใช่แค่ในประเทศไทยเท่านั้นที่โดนโจมตี แต่ในประเทศอื่นๆ อย่าง เยอรมนี อินเดีย สเปน ฝรั่งเศส และอังกฤษ ก็มีการคัดค้านเช่นกัน ทั้งในเรื่องกฎหมายรถยนต์สาธารณะ และเรื่องความปลอดภัยของผู้โดยสาร เพราะรถที่ใช้เป็นรถส่วนบุคคลป้ายดำ ไม่ได้จดทะเบียนเป็นรถยนต์สาธารณะ พนักงานขับรถไม่ได้รับใบอนุญาตรถยนต์สาธารณะ และไม่มีการกำหนดค่าโดยสารโดยมิเตอร์ เป็นการแจ้งผ่านแอปพลิเคชั่น
“ออลไทยแท็กซี่” แท็กซี่ในฝันจากนครชัยแอร์
ล่าสุด คือ การเปิดตัวของ “นครชัยแอร์” อาศัยช่องว่างในเรื่องปัญหาแท็กซี่ในเมืองไทย และกระแสบริการเรียกแท็กซี่ผ่านแอปพลิเคชั่นบนมือถือ ทุ่มงบ 700 ล้านบาท เปิดตัวบริการ รถแท็กซี่ในฝัน “ออลไทยแท็กซี่ (All Thai Taxi)”
รูปแบบบริการของออลไทยแท็กซี่ จะเรียกแท็กซี่ผ่านคอลเซ็นเตอร์ เพื่อรองรับผู้ใช้บริการในระดับแมส โดยคิดค่าโดยสารเป็นราคามาตรฐานตามที่กรมการขนส่งกำหนด คือเริ่มต้นที่ 35 บาท และการเก็บค่าบริการเพิ่ม 20 บาท
แม้จะยังไม่มีการเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ เป็นแค่การเปิดตัวโครงการเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่ออลไทยแท็กซี่ก็ได้รับกระแสตอบรับอย่างดี เพราะมาในจังหวะที่ปัญหาเรื่องแท็กซี่กำลังคุกรุ่น เรียกแล้วไม่ไป ต้องส่งรถ หรือแก๊สหมด เป็นเรื่องที่ผู้โดยสารต้องประสบมาแล้ว รวมทั้งปัญหาที่นักท่องเที่ยวโดนเรียกค่าโดยสารในราคาแพงกว่าปกติ หรือที่หนักหน่อย ก็เจอเรื่องโกงมิเตอร์ แถมยังมีข่าวความไม่ปลอดภัย
นอกจากนี้ “แบรนด์ของนครชัยแอร์” เป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้วจาก “รถทัวร์” ที่นครชัยแอร์มุ่งเน้นเรื่องของบริการ เรื่องความสะดวกสบาย จนเป็นทางเลือกของผู้ใช้บริการ เมื่อหันมาทำบริการแท็กซี่กระแสจึงตอบรับค่อนข้างดี
บวกกับการที่ออลไทยแท็กซี่สร้างอู่รถเป็นของตัวเองโดยใช้ “โตโยต้าพริอุส ไฮบริด” จำนวน 500 คัน และคนขับแท็กซี่จะเป็นพนักงานของนครชัยแอร์ทุกคน ที่ผ่านการอบรม มีเงินเดือน ค่าคอมมิชชั่น และโบนัสต่างๆ มากกว่า 1,000 คน จึงสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคได้พอสมควรทีเดียว
ในส่วนของผู้บริโภคเอง คนทำงาน คนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะคนชั้นกลางในเมืองที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เป็นเทรนด์ที่นักการตลาดเองกำลังจับตามอง และออกสินค้าและบริการมาตอบสนองคนกลุ่มนี้มากขึ้น ซึ่งพฤติกรรมของคนกลุ่มนี้ จะเลือกซื้อสินค้าและบริการโดยคำนึงถึงเรื่องของความคุ้มค่า หรือ Value for money ไม่เน้นเรื่องของราคาถูก แต่ยอมจ่ายสูงขึ้นหากได้สินค้าและบริการที่มีคุณภาพ ซึ่งคนกลุ่มนี้ก็ยอมจ่ายค่าโดยสารแพงขึ้นหากได้รับบริการและความสบายใจในการนั่งแท็กซี่
นักวิชาการชี้ บริการใหม่ยกระดับแท็กซี่ไทย
ผศ.เสริมยศ ธรรมรักษ์ หัวหน้าภาควิชาการสื่อสารแบรนด์ คณะนิเทศศาสตร์ ให้ความเห็นว่า เรื่องการบริการแท็กซี่เป็นเรื่องของการใช้เทคโนโลยีเพื่อให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์และวิถีชีวิตของคนยุคใหม่ที่อยู่ในโลกออนไลน์ ถือว่าเป็นตลาดใหญ่เพราะด้วยเทรนด์การเติบโตของสมาร์ทโฟน คนใช้งานผ่านแอปพลิเคชั่นมากขึ้น กลายเป็นว่าพฤติกรรมก็เปลี่ยนไปจากแต่ก่อนที่อาจจะมีการโทรเรียกรถแท็กซี่ แต่พอมีแอปพลิเคชั่นเขามาช่วย ผู้บริโภครู้สึกว่าเป็นช่องทางที่สื่อสารได้ง่าย
การบริการเหล่านี้จะมีพวก Innovator หรือพวกชอบลองใช้บริการก่อน จากนั้นก็มาแชร์ลงโซเชียลมีเดีย ช่องทางนี้สำคัญมาก สมัยนี้ผู้บริโภคไม่เข้าเว็บไซต์เพื่อหาข้อมูลแล้ว แต่จะมีคีย์เวิร์ดแค่ 2 คำ คือ “รีวิว” และ “พันทิป” เพราะคนส่วนใหญ่เชื่อการบอกเล่าจากคนใกล้ตัวมากกว่า
สุดท้ายแล้วธุรกิจนี้แข่งขันกันด้วยบริการ สินค้าจะเกิด หรือตรงใจผู้บริโภคหรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่ว่าสินค้านั้นดีที่สุด แต่เป็นการที่สร้างความประทับใจ สร้างประสบการณ์ที่ดีให้เขา ความสำคัญอยู่ที่ระบบการจัดการต้องทำให้เขามั่นใจว่าสิ่งที่เขาเรียกไปได้รับการตอบสนองจริงๆ และการบริการต้องมีเพียงพอ เช่น ถ้าผู้โดยสารเรียกรถไปแล้วแต่รถไม่เพียงพอ ก็กลายเป็นว่าเจอปัญหาเดิมๆ
นครชัยแอร์ขึ้นชื่อเรื่องการบริการอยู่แล้ว อีกทั้งการบริการทุกอย่างอยู่ภายใต้บริษัทของนครชัยแอร์ ทั้งรถแท็กซี่และพนักงาน ทำให้การควบคุมคุณภาพได้ดีกว่าแบรนด์อื่นอยู่แล้ว แต่เชื่อว่าการบริการใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นนี้จะช่วยพัฒนาวงการแท็กซี่ไทยให้ดีขึ้น ไม่ใช่แค่องค์กรที่ทำธุรกิจนี้เท่านั้น แต่แท็กซี่ทั่วไปในตลาดก็ต้องเพิ่มมาตรฐานตัวเองให้ดีขึ้นเพื่อแข่งกับคนที่ลงมาแย่งส่วนแบ่งการตลาด ถือเป็นไปตามกลไกของตลาดด้วย ผู้บริโภคมีมาตรฐานสูงขึ้น แต่ความอดทนต่ำลง
ทีดีอาร์ไอ เชื่อ แท็กซี่แอปฯ แก้ปัญหาในระยะสั้น
อย่างไรก็ตาม นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอ ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ ทีดีอาร์ไอ ให้ความเห็นกับ Special Scoop เว็บ manager.co.th ว่า บริการเหล่านี้เป็นทางออกในการแก้ปัญหาระยะสั้นเท่านั้น เป็นเพียงแค่โอกาสให้คนที่ใช้บริการแท็กซี่มีตัวเลือกมากขึ้น และตอบโจทย์ได้เฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน ที่ผู้บริโภคมักจะต้องเจอปัญหาแท็กซี่ทั่วไปจะปฏิเสธผู้โดยสาร
ที่ผ่านมาเมืองไทยเองก็เคยมีศูนย์วิทยุฯ ที่กรมการขนส่งทางบกให้การสนับสนุน แต่สุดท้ายไม่สามารถแก้ปัญหาได้ แต่ปัญหากลับมาอยู่ที่จุดเดิม เพราะศูนย์วิทยุประกาศปลายทางที่ผู้โดยสารต้องการจะไป แต่ก็ไม่สามารถสั่งแท็กซี่ได้
นอกจากนี้ การเรียกผ่านแอปฯ อาจเหมาะกับคนยุคใหม่ที่ใช้โทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟน ขณะที่ผู้โดยสารที่ไม่ได้ใช้โทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟนก็คงต้องเลือกใช้บริการในแบบเดิมๆ ต่อไป
ส่วนบริการ “นครชัยแอร์” ได้เปิดตัวบริการใหม่ “รถแท็กซี่ในฝัน” All Thai Taxi ซึ่งแตกต่างจากรถแท็กซี่ทั่วไป และแตกต่างจาก Uber Taxi, Grab Taxi, Easy Taxi การบริหารจัดการของนครชัยแท็กซี่เป็นโมเดลใหม่ คล้าย Dispatch Taxi ที่มีศูนย์สั่งการตรง
แต่สิ่งที่แตกต่าง คือ ศูนย์จ่ายเงินเดือนให้ รถต้องรับงานตามที่สั่ง ดังนั้นแม้ว่าผู้โดยสารน้อยแต่ยังมีรายได้ ซึ่งข้อตกลงเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำให้พนักงานขับรถยอมรับในอัตรารายได้ขั้นต่ำนี้ได้
ดร.สุเมธ มองว่า คงไม่ได้ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างของระบบรถแท็กซี่ไทย เพราะยังมีจำนวนน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบในระบบทั้งแสนกว่าคัน แต่หากอนาคตกระแสคนใช้บริการแท็กซี่เป็นที่ยอมรับ และนครชัยแอร์ขยายไลน์ 2 -3 พันคัน จะเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ อาจจะมีการถ่ายเทมาที่แท็กซี่ในกลุ่มที่มีการบริหารจัดการในรูปแบบเดียวกันนี้ ซึ่งเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงลักษณะนี้ เชื่อว่าแท็กซี่ในระบบเถ้าแก่ซึ่งมีปัญหามากที่สุด จะมีการปรับตัวบริหารจัดการในเรื่องคนขับให้มีระเบียบมากขึ้น