แฉ “บิ๊ก ป.” สั่งประมูล 4G ปีหน้า

ชัดเจนแล้วว่าในเดือน ส.ค.ที่จะถึงนี้ คงไม่ได้มีการประมูลความถี่ 1800 MHz กับ 900 MHz หรือการประมูล 4Gตามที่ก่อนหน้านี้หลายๆ คนใน กสทช.คาดว่าจะได้ประมูล เพราะคำสั่งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สั่งให้เลื่อนการประมูล 4G ออกไป 1 ปี นับจาก 17 ก.ค.57 โดยความหมายตามตัวอักษรเข้าใจได้ว่า คสช.คงมีคำสั่งตามมาเพื่อให้สามารถประมูลได้หลังพ้นกำหนด 1 ปี ซึ่งตามขั้นตอนหากได้รับคำสั่งต้องใช้เวลาอย่างน้อย 4-5 เดือน เพื่อดำเนินการตามระเบียบต่างๆ อย่างการประกาศเงื่อนไข การทำประชาพิจารณ์ ที่กำหนดระยะเวลาแน่นอน
 
หมายถึงวันนี้ที่ยังไม่มีสัญญาณใดๆ จาก คสช.กลับมา ทุกอย่างยังเงียบสนิท ก็อย่าหวังว่าจะได้ประมูลภายในเดือน ส.ค.หรือ ภายในปี 58 นี้ ตอกย้ำด้วยเสียงลือในแวดวงผู้ทรงอำนาจ ล้อมรอบตัว “บิ๊ก ป.” ได้ยินเสียงประกาศก้องว่าให้ไปประมูล 4G ต้นปีหน้า ทำให้เชื่อได้ว่าปีนี้คงไม่ได้ประมูล เพราะบิ๊ก ป.ผู้นี้ทรงอำนาจนัก ไม่ว่าจะเป็นสมัยรัฐบาลการเมือง หรือรัฐบาลเฉพาะกิจในขณะนี้
 
บิ๊ก ป.อาจไม่รู้หรือไม่สนใจถึงผลกระทบที่จะตามมาก็ได้เพราะสนแต่เสียงล็อบบี้จากกลุ่มทุนที่เกื้อหนุนกันมามากกว่า ไม่สนแม้กระทั่งการเลื่อนประมูลไปปีหน้าทำให้ประเทศชาติเสียโอกาสที่จะมีรายได้งามๆ ไม่ต่ำกว่า 4-5 หมื่นล้านบาท จากการประมูลใบอนุญาต ไม่สนว่าเอกชนที่ได้ใบอนุญาตไปจะวางเครือข่าย 4G จ้างคน สร้างงาน หมุนเวียนเศรษฐกิจอีกเป็นแสนล้านบาท ไม่สนว่าเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ 4G จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักที่สำคัญที่สนองตอบนโยบาย Digital Economy ของรัฐบาลได้รวดเร็วกว่าแขนขาของรัฐ หรือแม้กระทั่งไม่สนใจว่าประชาชนตาดำๆ จะได้ประโยชน์มากมายจากบริการสื่อสารข้อมูลความเร็วสูงไร้สาย และไม่สนใจว่าการกระทำครั้งนี้จะเป็นการสร้างแต้มต่อให้เกิดต่อกลุ่มทุนโทรคมนาคมบางรายให้เหนือกว่าคู่แข่ง สร้างความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน
 
*** เลื่อนประมูลเพื่อใคร ??
 
เสียงลือประมูล 4G ปีหน้า ดูเหมือนสอดคล้องต่อสิ่งที่ สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่ระบุว่า ไม่เข้าใจว่า คสช.รออะไร เพราะเหตุใดถึงไม่รีบตอบจดหมาย หรือส่งสัญญาณใดๆ ให้มีความชัดเจนอย่างเร็วที่สุดเพื่อให้มีการจัดประมูล 4G ความไม่ชัดเจนของ คสช.ตอนนี้ทำให้คิดได้ 2 ประเด็นคือ ประเด็นแรกรอเพื่อแก้ไขกฎหมายเปิดเสรีให้ต่างชาติสามารถเข้ามาร่วมประมูลได้ หรืออีกประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ รอให้ พ.ร.บ.คณะกรรมการเศรษฐกิจดิจิตอลแห่งชาติ พ.ศ. … มีผลบังคับใช้ก่อนเพื่อให้การจัดสรรคลื่นความถี่อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการเศรษฐกิจดิจิตอลแห่งชาติ
 
“ถ้ารอเพราะประเด็นหลังแสดงว่าต้องมีผู้มีอำนาจสามารถล็อบบี้ คสช.ได้ และหากเป็นเช่นนั้น ผู้มีอำนาจผู้นั้นก็น่าจะมีอำนาจในการล็อบบี้คณะกรรมการเศรษฐกิจดิจิตอลแห่งชาติ ให้จัดสรรคลื่นความถี่แบบบิวตี้ คอนเทสต์ ให้เอกชนรายไหนก็ได้ที่วิ่งเต้นเก่งๆ เช่นกัน”
 
ที่สำคัญคณะกรรมการชุดดังกล่าวก็ยังน่าเป็นห่วงเพราะมี บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเจ้าของสัมปทานคลื่นความถี่ตามเดิมเป็นกรรมการ และการตัดสินใจบริหารคลื่นความถี่ว่าจะให้ใครนั้นกฎหมายระบุว่า ให้เป็นดุลพินิจของคณะกรรมการ
 
หากเป็นเช่นนั้นรับรองประเทศชาติเสียหายแน่ เพราะนอกจากจะได้เอกชนที่ไม่มีศักยภาพและไม่มีประสิทธิภาพในการนำคลื่นความถี่ไปต่อยอดก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจแล้ว รัฐบาลเองก็จะได้รายได้จากการบิวตี้ คอนเทสต์นี้น้อยกว่าวิธีการประมูลแน่นอน หรือหากรัฐวิสาหกิจทั้ง 2 รายที่กล่าวมาข้างต้นได้ความถี่ไป ทั้ง 2 รัฐวิสาหกิจก็จะเอาความถี่ไปขายช่วงให้เอกชนไปทำต่อเหมือนที่ผ่านมาอยู่ดี
 
“ความจริง คสช.ไม่ควรชะลอตั้งแต่ปีที่แล้วด้วยซ้ำ เพราะมันทำให้เศรษฐกิจเสียหาย อย่างคราวที่ประมูล 3G ล่าช้าครั้งก่อน ก็ทำให้ดัชนีระหว่างประเทศของไทยลดลง ถ้ามีการประมูลเร็ว ก็จะมีการลงทุนเพิ่มขึ้นเร็วเช่นกัน จีดีพีของประเทศก็จะสูงขึ้น ดังนั้น ขอให้ คสช.ที่ต้องการเข้ามาปราบคอร์รัปชัน ลดการทุจริต อย่าถอยหลังเข้าคลอง หรือมาตกม้าตายกับเรื่อง 4G เลย”
 
สอดคล้องต่อความคิดเห็นของ “พัชรสุทธิ์ สุจริตตานนท์” อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้เชี่ยวชาญด้านการประมูลและการออกแบบตลาดซึ่งมีส่วนสำคัญในการประมูล 3G ครั้งที่ผ่านมาเห็นว่า วิธีการประมูลตามหลักสากลแล้วสามารถสร้างรายได้เข้ารัฐมากกว่าวิธีการบิวตี้ คอนเทสต์ แน่นอน และจะไม่เกิดคำถามตามมาถึงดุลพินิจของคณะกรรมการเศรษฐกิจดิจิตอลแห่งชาติว่า ใช้เกณฑ์อะไรในการคัดสรรทั้งๆ ที่มีทั้งทีโอที และ กสท เป็นคณะกรรมการในชุดนั้น เพราะคนส่วนใหญ่จะตั้งคำถามถึงความโปร่งใส 
 

 
*** ถ้าไม่ประมูลประเทศอาจเสียหาย 3 แสนล้าน
 
แม้ว่าช่วงที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกมายืนยันว่า ยังไงเสียประเทศไทยก็ต้องมีการเปิดประมูล 4G ในคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ที่ถูกชะลออย่างแน่นอน ทำให้ “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” เลขาธิการ กสทช.มีความหวังว่ายังไงเสียก็ต้องเปิดประมูลได้อย่างแน่นอน
 
แต่แล้วก็เริ่มหมดหวังว่าจะได้ประมูล 4G ในเดือน ส.ค.แล้ว หลังทำจดหมายสอบถามไปยัง คสช.ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.57 เพื่อต้องการทราบคำตอบว่าจะไฟเขียวให้เปิดประมูล 4G ได้ทันทีหลังคำสั่งชะลอการประมูลเมื่อ 17 ก.ค.57 ครบ 1 ปี หรือไม่ แต่กลับไม่ได้รับคำตอบใดๆ ทั้งสิ้น และปัญหาที่จะตามมาก็คือ หาก คสช.มีคำสั่งมาในเดือน ก.ค.58 กว่าจะประมูลได้ก็ราวเดือน ธ.ค.58 หรือ ม.ค.59 แต่ที่สำคัญ คือ พ.ร.บ.คณะกรรมการเศรษฐกิจดิจิตอลแห่งชาติฯ ก็คงถูกประกาศใช้แล้ว และอำนาจในการจัดสรรคลื่นความถี่จะยังเป็นของ กสทช.อยู่หรือ
 
เลขาธิการ กสทช.กล่าวว่า การประมูล 4G จะสามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศได้ไม่น้อยกว่า 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมถึงการลงทุนของผู้ประกอบการทั้ง 4 ใบอนุญาตที่คาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนประมาณรายละ 4-6 หมื่นล้านบาท เมื่อคิดรวมแล้วเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจเบื้องต้นประมาณ 3 แสนล้านบาท เพราะเมื่อเปิดให้บริการ 4Gได้ มูลค่าทางเศรษฐกิจของธุรกิจด้านโทรคมนาคมจะมีมูลค่าเกินล้านล้านบาทอย่างแน่นอน จะทำให้เกิดบริการใหม่ๆ เช่น แอปพลิเคชันใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อินเทอร์เน็ตทีวี หรือทีวีออนโมบาย รวมทั้งการซื้อขายสินค้าผ่านโทรศัพท์มือถือ
 
“การประมูลคลื่นความถี่ 4G จำนวน 4 ใบอนุญาต คือ คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และ 900 MHz ประเภทละ 2 ใบอนุญาตนั้นจะเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศขยายตัว จากการมีเม็ดเงินเพิ่มเข้ามาในอุตสาหกรรมมากกว่า 3 แสนล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย ค่าประมูลใบอนุญาตที่ต้องส่งให้เป็นรายได้แผ่นดินไม่ต่ำกว่า 42,000 ล้านบาท ซึ่งหากอ้างอิงจากการลงทุนโครงข่าย 3G ที่ผ่านมา พบว่า ผู้ประกอบการภาคเอกชนมีการลงทุนราว 60,000-70,000 ล้านบาทต่อ 1 ใบอนุญาต”
       
******ถ้าไม่ประมูลใครได้เปรียบ
 
ในมุมของผู้ให้บริการเครือข่ายรายใหญ่อย่างเอไอเอส สมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เคยให้ข้อมูลในการแถลงวิสัยทัศน์ของบริษัทว่า จะยังให้ความสำคัญต่อการขยายบริการ 3G ให้ครอบคลุม และเตรียมความพร้อมในการประมูล 4G ไว้เรียบร้อยแล้ว ที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับทาง กสทช. ว่าจะมีความชัดเจนในหลักการประมูล และทางเอไอเอสก็พร้อมที่จะทำตามมติของทาง กสทช.อย่างเคร่งครัด เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบที่วางไว้
 
อย่างไรก็ตาม จุดที่น่าจับตามากที่สุดคือ เรื่องของการให้บริการ ที่ปัจจุบันเอไอเอสเป็นผู้ให้บริการเพียงรายเดียวที่ไม่มีบริการ 4G เนื่องจากข้อจำกัดของคลื่นความถี่ รวมไปถึงความร่วมมือกับทีโอทีก็ยังไม่คืบหน้า ส่งผลให้กลายเป็นโอเปอเรเตอร์รายเดียวที่เสียเปรียบที่สุดในเรื่องปริมาณความถี่ตอนนี้
 
ในขณะที่ทางดีแทค ก็เริ่มขยายพื้นที่การให้บริการ 4G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz ออกไป ตามแผนที่วางไว้คือ ให้ครอบคลุม 30 หัวเมืองภายในสิ้นเดือนมีนาคม 2558 โดยมองว่า หัวเมืองเหล่านั้นมีอัตราการใช้งานดาต้าสูง จึงเหมาะที่จะติดตั้งสถานีฐานที่รองรับการให้บริการ 4G ควบคู่ไปกับการให้บริการ 3G บนคลื่น 850 MHz และ 2.1 GHz
 
โดยข้อมูลล่าสุด ดีแทคจะติดตั้งสถานีฐานของทั้ง 3G และ 4G จำนวนกว่า 6,500 สถานีในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมไปถึง 30 เมืองใหญ่ จากเมื่อช่วงสิ้นปีที่แล้วติดตั้งแล้วเสร็จ 2,700 สถานี
 
ส่วนทางทรูมูฟ เอช ถือเป็นผู้ให้บริการที่ค่อนข้างได้เปรียบกว่ารายอื่น เพราะได้คลื่นความถี่ 850 MHz จาก กสท โทรคมนาคม มาร่วมให้บริการกับคลื่นความถี่ 2.1 GHz ทำให้ปัจจุบันพื้นที่การให้บริการ 3G ของทรูมูฟ เอช จะครอบคลุมพื้นที่ใช้งาน 97% ส่วนการให้บริการ 4G ก็ขยายเพิ่มขึ้นครอบคลุม 80% ภายในเดือนเมษายน 2558
 
เมื่อดูถึงการให้บริการ และปริมาณคลื่นความถี่ที่ถือครองในปัจจุบัน จะเห็นได้เลยว่า การให้บริการ 3G บนคลื่น 2.1 GHz ของเอไอเอส ก็แทบไม่เพียงพอแล้ว จึงไม่มีโอกาสที่จะแบ่งมาให้บริการ 4G ได้เลย ส่วนคลื่นความถี่ 900 MHz ที่แต่เดิมมีอยู่ก็จะหมดอายุสัมปทานในเดือนกันยายนนี้
 
ในขณะที่อีก 2 ค่ายที่เหลือยังมีคลื่นความถี่อย่าง 850 MHz ที่นำมาร่วมให้บริการได้ ทำให้ปัจจุบันสามารถให้บริการได้ทั้ง 3G และ 4G ควบคู่กันไป ที่สำคัญคือ การเข้ามาของ 4G จะช่วยลดปริมาณการใช้งาน 3G ในพื้นที่หนาแน่นลงไปด้วย เพราะผู้บริโภคที่ใช้งานดาต้าสูงส่วนใหญ่จะมีเครื่องที่รองรับการใช้งาน 4G อยู่แล้ว
 
***หวังได้ประมูล 4G ปีนี้
 
ซิคเว่ เบรคเก้ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีแทค กล่าวว่า การประมูลคลื่นความถี่ในปี 58 มีความสำคัญ และจำเป็นเพราะจำนวนผู้ใช้งานดาต้าและจำนวนการใช้งานดาต้าในประเทศไทยมีการเติบโตต่อเนื่อง โดยอัตราการใช้งานสมาร์ทโฟน (smartphone penetration) คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจาก 35% ในปี 57 เป็น 61% ในปี 60
 
ดังนั้น การใช้งานโมบายล์ดาต้าคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 2 เท่าในทุกๆ ปีในช่วง 2-3 ปีนี้ เพื่อตอบสนองความต้องการใช้งานดาต้าที่เติบโตสูงอย่างรวดเร็ว จึงต้องให้ความสำคัญมากขึ้นต่อการปลดล็อกคลื่นความถี่สู่การประมูล ซึ่งเป็นทางออกในวันนี้ที่จะช่วยให้เกิดประโยชน์สูงสุดตรงกับความต้องการใช้ งานสำหรับลูกค้า รัฐบาลและสังคมโดยรวม
 
ดีแทค จึงหวังว่า การประมูลคลื่นความถี่ในปีนี้นอกจากจะตอบสนองความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนขยายโครงข่าย และการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญต่อนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลแล้ว ยังช่วยให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรมบนพื้นฐานที่เท่าเทียมกันของผู้ให้บริการโทรคมนาคมทุกราย
 
“ดีแทคยังเชื่อมั่นว่าจะมีการประมูลในปีนี้ พร้อมทั้งขอแสดงจุดยืนสนับสนุน และแสดงความพร้อมในการเข้าร่วมการประมูลคลื่น 4Gเพื่อสนองตอบนโยบาย และแนวคิดของรัฐบาลที่ก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิตอล”
 
เกมเลื่อนประมูล 4G เพื่อรอให้ พ.ร.บ.คณะกรรมการเศรษฐกิจดิจิตอลฯ ในการจัดตั้งคณะกรรมการเศรษฐกิจดิจิตอลแห่งชาติมีผลบังคับใช้ เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดสรรคลื่นความถี่จากการประมูลไปสู่บิวตี้ คอนเทสต์ หรือการประกวดคุณสมบัติ ซึ่งตัดสินกันด้วยดุลพินิจของกรรมการ ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงที่ความถี่ 1800 MHz และ 900 MHz เมื่อถึงเวลานั้น จะถูกกระบวนการล็อบบี้ที่ทรงพลัง ใช้เหตุผลว่าเป็นบริการสาธารณะและเพื่อความอยู่รอดของหน่วยงานรัฐ ควรยกให้ทีโอที และ กสท ไปดำเนินการเลย
 
ซึ่งสอดคล้องต่อความต้องการของกระทรวงไอซีทีที่อยากอุ้มหน่วยงานทั้ง 2 เพราะเมื่อความถี่เอกชนไม่เพียงพอให้บริการก็จำเป็นต้องมาจับมือกับทั้ง 2 หน่วยงาน แต่จะเป็นรูปแบบที่เอกชนได้ประโยชน์มหาศาลจากทรัพยากรรัฐที่ไม่ต้องลงทุน รัฐได้แต่เพียงเศษเนื้อข้างเขียงเหมือนที่เคยเกิดขึ้นตลอดมา ที่สำคัญอุตสาหกรรมโทรคมนาคมกำลังจะกลับเข้าไปสู่รูปแบบสัมปทานในอดีต
 
ทางด้านผู้ให้บริการเอกชนก็ยินดีที่จะได้ใช้คลื่นความถี่โดยไม่ต้องเสียเงินประมูล เพราะเอกชนทำงานภายใต้ระบบสัมปทานกับหน่วยงานของรัฐมาเป็นเวลานาน การกลับไปสู่ระบบสัมปทานไม่ใช่ปัญหาของเอกชน
 
แต่สิ่งที่ต้องตั้งคำถามคือ นโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แท้จริงแล้วคือการเดินหน้า หรือการถอยหลังเข้าคลองกันแน่ ความพยายามในการเลื่อนการประมูล 4G ออกไป และเอาคลื่นความถี่มายกให้หน่วยงานของรัฐ ดึงเอกชนย้อนกลับเข้าสู่ยุคสัมปทาน เป็นการฉุดความเจริญก้าวหน้าของประเทศ และทำให้รัฐสูญเสียรายได้หลายหมื่นล้านบาทที่ควรจะได้จากการประมูล 4G ซึ่งอาจสมใจอยาก “บิ๊ก ป.” ที่อำนาจคับฟ้าก็เป็นไปได้