เซินเจิ้นขึ้นแท่น สุดยอดแหล่งรวมธุรกิจเกิดใหม่ เทียบชั้นซิลิคอน แวลลีย์ ในซานฟรานซิสโก

เซาท์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์- เซินเจิ้นได้รับการจัดอันดับจากนิตยสารชื่อดังของอเมริกา ให้เป็นสุดยอดศูนย์กลางบริษัทเปิดใหม่ของคนไม่กี่คน หรือที่เรียกว่า สตาร์ทอัฟ (start-up) ในภาคไอที เทียบชั้นซิลิคอน แวลลีย์ ในซานฟรานซิสโก

เซินเจิ้น เมืองชายฝั่งภาคใต้จีน ตรงข้ามกับเกาะฮ่องกง ได้รับการจัดอันดับจากนิตยสาร Inc หนึ่งในนิตยสารที่ใหญ่ที่สุดของอเมริกา ให้ขึ้นทำเนียบเป็นซิลิคอน แวลลีย์ (Silicon Valley) สำหรับผู้ประกอบการทำผลิตภัณฑ์ฮาร์ดแวร์ เพราะเป็นแหล่งรวมกลุ่มบริษัทเปิดใหม่จากทั่วโลก และเป็นแหล่งรวมบริษัทยักษ์ธุรกิจด้านเทคโนโลยี อาทิ เท็นเซ็นต์ (Tencent) บริษัทไอทีอันดับ 1 ของจีน ดีเจไอ (DJI) ผู้นำด้านการผลิตโดรน (Drone) อากาศยานไร้คนขับแห่งยุค และ วันพลัส (OnePlus) บริษัทผู้ผลิตสมาร์ทโฟนของจีน
       
“เซินเจิ้นเป็นที่ซึ่งพวกนักลงทุนพยายามเข้ามาช่วยคุณสร้าง ทดสอบ ปรับแต่ง และทำอะไรนับล้านอย่างภายในวันเดียว” เกรก ลินด์เซย์ ผู้แต่งร่วมหนังสือเรื่อง Aerotropolis: The Way We’ll Live Next กล่าว
       
“เซินเจิ้นกลายเป็นแหล่งดึงดูดบริษัท start-up มากขึ้น หลังจากที่ก่อนหน้านี้ เป็นเพียงศูนย์กลางรับจ้างผลิต (outsource) ให้บรรดาผู้ประกอบการ ตอนนี้กลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดบริษัทฮาร์ดแวร์จากทั่วโลกที่อยากเรียนรู้จากบริษัทผู้ประกอบการสินค้าอิเลคทรอนิคส์กระแสหลัก พวกที่เป็นรายใหญ่ที่สุดของโลก (และมักเป็นผู้ประกอบการระดับดีที่สุดของโลกด้วย)”
       
ลินเซย์ ยกตัวอย่าง Haxlr8r กองทุนลูกครึ่งจีน-อเมริกัน ที่ให้ทุนสนับสนุนกับทีมหรือบริษัทเปิดใหม่ โดยเน้นไปที่การพัฒนาฮารด์แวร์เป็นหลัก และใช้ Kickstarter หรือเว็บไซต์ที่อนุญาตให้บริษัทรวมถึงบุคคลต่างๆ เข้าไประดมทุนสำหรับโปรเจคที่กำลังทำงานอยู่ เป็นตัวขับเคลื่อนหาตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยระบุว่า Haxlr8r ก็ใช้ประโยชน์จากกลุ่มโรงงานที่มีอยู่ในเซินเจิ้น เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบให้ออกมาได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งสามารถทดสอบตลาดได้ก่อนปล่อยสินค้าออกท้องตลาดจริง “ทำให้บริษัทเปิดใหม่รบชนะได้หลายครั้งในการหาตลาด และหลีกเลี่ยงความเสียหายที่มีมูลค่ามหาศาลอันอาจเกิดจากการที่ผู้ผลิตเบี้ยวงาน (parachute manufacturing)” ไซริล เอเบอร์ชไวเลอร์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Haxlr8r กล่าวไว้
       
ส่วนตัวอย่างโครงการหนึ่งของ Haxlr8r ก็คือ Prynt บริษัทสตาร์ทอัพเล็กๆ ของฝรั่งเศส ซึ่งเข้าไประดมทุนใน Kickstarter จากนั้นก็หาชิ้นส่วนต่างๆ ในเมืองเซินเจิ้น เพื่อมาประกอบเป็นเคสสมาร์ทโฟนอัจริยะที่เปลี่ยนสมาร์ทโฟนเป็นโพราลอยด์ได้ด้วยการเสียบเข้ากับพอร์ตของ Prynt และพิมพ์ภาพออกมาโดยไม่ต้องพึ่งบลูทูธ (Bluetooth) หรือไวไฟ (wifi) ทั้งนี้ Prynt สามารถระดมทุนได้มากกว่าเป้าที่ตั้งไว้ถึง 28 เท่าตัว
       
ดังนั้น เซินเจิ้นจึงกลายเป็นเมืองในฝันของเหล่าบริษัทสตาร์ทอัพในการทำธุรกิจ
       
ด้านนายเกา เล่ย ผู้บริหาร Betwine บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์พกพาด้านสุขภาพ กล่าวว่า เขาชอบเซินเจิ้นมากกว่าเมืองอื่นอย่างปักกิ่ง หรือเซี่ยงไฮ้
       
“สิ่งที่ช่วยผมได้มาที่สุดจากการอยู่ในเซินเจิ้น ก็คือ โอกาสที่ทำให้ได้เจอคนที่มีฝันร่วมกับเรา ตอนนี้พวกเขาเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจของผมแล้ว” นายเกา กล่าวกับเซาท์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์
       
“การให้ผู้ผลิตคิดค้น มีสถานที่ทำงานที่ดี ทำงานได้ง่ายขึ้น มันช่วยทำให้เกิดนวัตกรรม” นายเกา กล่าว “รัฐบาลตั้งเป้าที่จะหนุนผู้ประกอบการ จึงสนับสนุนทางการเงินให้แก่ผู้ผลิตและผู้ประกอบการจำนวนมาก เพื่อเร่งเครื่องธุรกิจใหม่”
       
อนึ่ง เซินเจิ้นเป็นเมืองที่มีความสำคัญมาตั้งแต่จีนปฏิรูปเศรษฐกิจใน 3 ทศวรรษก่อน หลังผู้นำสูงสุดเติ้ง เสี่ยวผิง ปราศรัยระหว่างตรวจการเขตเศรษฐกิจภาคใต้ ในปี 2535 และออกนโยบายปฏิรูปเปิดประเทศให้ต่างชาติเข้ามาในประเทศ จนทำให้ประเทศจีนพลิกโฉมอย่างมหัศจรรย์ ในการณ์นั้น มีการกำหนดให้เซินเจิ้น เป็นหนึ่งในเขตเศรษฐกิจพิเศษของมณฑลก่วงตงด้วย
       
ต่อมา เซินเจิ้นประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว สามารถดึงดูดและส่งเสริมกลุ่มนวัตกรรมโดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี หรือที่เรียกกันว่า สตาร์ทอัพ (Start up) ให้เติบโตขึ้นมาได้อย่างมากมายแตกต่างจากฮ่องกง เมืองใกล้เคียง ที่รัฐบาลท้องถิ่นออกมาประกาศว่าจะสนับสนุนการลงทุนในด้านเทคโนโลยี แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่มีทีท่าทีชัดเจน จนทำให้บริษัทใหญ่อย่าง ดีเจไอ (DJI) ผู้นำด้านการผลิตโดรน ซึ่งก่อตั้งโดยแฟรงค์ หวัง เต๋า นักศึกษาปริญญาโท จากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทศโนโลยีฮ่องกง ต้องหันไปตั้งบริษัทในเซินเจิ้น ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้น เขาหวังจะสร้างบริษัทในฮ่องกง แต่ติดปัญหาด้านเงินทุนและการสนับสนุนจากรัฐบาลฮ่องกงเอง
       
อย่างไรก็ดี แม้จะมีข้อดีอยู่มาก แต่เซินเจิ้นก็ยังมีความเสี่ยงบางประการต่อการทำธุรกิจ โดยนิตยาสาร Inc ระบุเตือนไว้ว่า “ข้อเสียที่อาจเกิดขึ้นจากการทำธุรกิจในเซินเจิ้นก็คือ เรื่องการโจรกรรมทรัพย์สินทางปัญญา” ทั้งนี้ หน่วยงานความมั่นคงแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา ออกมาระบุว่า ในแต่ละปี การโจรกรรมทรัพย์สินทางปัญญา สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจอเมริกามากถึง 320,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 10.24 ล้านล้านบาท
       
“ใครที่อยากจะพุ่งทะยานและเริ่มธุรกิจในจีน จะพบว่า ที่นี่เป็นจักรวาลมหึมาในเรื่องความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคต่างๆ” ลินเซย์ กล่าว “เซินเจิ้นเป็นศูนย์กลางความโกลาหลที่ทำให้ได้เจอเทคนิคต่างๆ โดยบังเอิญได้”
       
ส่วนแหล่งรวมสตาร์ทอัพแหล่งอื่นที่ติด 1 ใน 5 ของการจัดอันดับครั้งนี้ ก็คือ เมืองอิสตันบูล ของตุรกี ทาลลินน์ เมืองหลวงของสาธารณรัฐเอสโทเนีย ซานตีอาโก เมืองหลวงของชิลี และดูไบ

ที่มา : http://manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9580000025665