เฟซบุ๊กเคลียร์ชัด โพสต์แบบไหน “รับได้”

เฟซบุ๊ก (Facebook) ยักษ์ใหญ่โซเชียลมีเดียอัปเดตคู่มือการใช้งาน เพิ่มความชัดเจนในการโพสต์ภาพ ที่มีความใกล้เคียงกับภาพโป๊เปลือย การใช้ความรุนแรง ถ้อยคำที่ทำให้เกิดความเกลียดชัง และหัวข้อที่เป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างกว้างขวางแล้ว เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถแยกแยะความแตกต่างได้
 
เพราะมีผู้ใช้งานกว่าพันล้านคน จึงไม่แปลกที่ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กบางคนจะตีมึนโพสต์ในสิ่งที่เว็บไซต์ห้าม หรืออาจเป็นเพราะความแตกต่างทางวัฒนธรรมจึงทำให้ไม่เข้าใจในนโยบาย แต่ล่าสุด ทางยักษ์ใหญ่โซเชียลมีเดียรายนี้ได้ออกมาปรับปรุงนโยบายการใช้งานดังกล่าวแล้ว โดยได้เพิ่มตัวอย่างที่ชัดเจนเพื่อสร้างความเข้าใจกับผู้ใช้ให้มากขึ้น
 
ยกตัวอย่างเช่น คู่มือการใช้งานตัวใหม่ของเฟซบุ๊กประกาศว่า ไม่มีนโยบายให้ใช้เฟซบุ๊กเผยแพร่ภาพกราฟิกที่มีเข้าข่ายภาพของกลุ่มผู้นิยมการทรมานผู้อื่นเพื่อความสุขของตัวเอง หรือการใช้ความรุนแรงอีกต่อไป
 
หรือการเผยแพร่ภาพโป๊เปลือยก็จะถูกตัดออกเช่นกัน โดยจะยินยอมให้มีการเผยแพร่ภาพเปลือยได้ในบางกรณี เช่น การเผยแพร่ข้อมูลทางการแพทย์ การให้ความรู้ด้านการให้นมบุตร และการให้ความรู้ด้านศิลปะ
 
การเพิ่มเติมนโยบายในการใช้งานครั้งนี้ได้ประกาศด้วยว่า จะไม่ยอมให้ผู้ใช้งานใช้เฟซบุ๊กเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนการก่อการร้าย, อาชญากรรม และการสร้างความเกลียดชังอีกต่อไป
 
นอกจากเฟซบุ๊กแล้ว ค่ายทวิตเตอร์ก็เป็นอีกบริษัทหนึ่งที่ตัดการเชื่อมต่อของกลุ่ม IS ออก ซึ่งมีการต่อต้าน รวมถึงการข่มขู่ตามมาอีกไม่น้อย โดยมีรายงานระบุว่า มีผู้ใช้ทวิตเตอร์กว่า 46,000 คนเลยทีเดียวที่มีการเชื่อมโยงไปยังกลุ่มกบฏดังกล่าว
 
อย่างไรก็ดี ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ยักษ์ใหญ่โซเชียลมีเดียจะหันมาให้ความสนใจกับประเด็นการก่อการร้าย-การใช้ความรุนแรงกันมากขึ้น เพราะในแง่ธุรกิจแล้ว หากเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ฯลฯ ไม่สามารถจัดการกับกลุ่มผู้ใช้งานในลักษณะดังกล่าวได้ การขยายธุรกิจไปยังตลาดใหม่ๆ ที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมสูงก็อาจเป็นไปไม่ได้นั่นเอง
 
“คู่มือตัวใหม่นี้ออกแบบมาเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมให้เฟซบุ๊กเป็นสถานที่ที่สามารถเติมพลังให้กับผู้คน และจูงใจให้คนหันมาปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความเคารพ” Monika Bickert ผู้บริหารด้านนโยบายระดับสากลของเฟซบุ๊กกล่าว
 
“เราได้รับคำแนะนำจากผู้คนมากมายว่าจะเป็นการดีหากคู่มือการใช้งานเฟซบุ๊กมีการให้ข้อมูลที่ชัดเจน พร้อมยกตัวอย่าง นี่จึงเป็นสิ่งที่เราเพิ่มเติมขึ้น”
 
จากตัวเลขการร้องขอข้อมูลจากรัฐบาลของประเทศต่างๆ ที่เฟซบุ๊กได้ทำการเปิดเผยนั้น พบว่ามีเพิ่มสูงขึ้น จาก 34,946 ครั้งในช่วงครึ่งปีหลัง ของปี ค.ศ.2013 เป็น 35,051 ครั้งในช่วงเดียวกันของปี ค.ศ.2014 ด้วย โดยประเทศที่ขอข้อมูลมากขึ้นคือ อินเดีย ขณะที่สหรัฐอเมริกาและเยอรมนีมีการขอข้อมูลน้อยลง
 
ส่วนคอนเทนต์ที่เผยแพร่บนเฟซบุ๊กและละเมิดกฎหมายท้องถิ่นเพิ่มขึ้น 11 เปอร์เซ็นต์จาก 8,774 เคส เป็น 9,707 เคสในปี ค.ศ. 2014 โดยประเทศที่แจ้งให้ระงับการเผยแพร่ข้อมูลมากขึ้น ได้แก่ ตุรกี และรัสเซีย