ก้าวเข้าสู่ยกที่สองของ สมรภูมิดิจิตอลทีวี แต่กลับย้อนรอยเข้าสู่โหมด อนาล็อกแบบเดิมๆ เมื่อบรรดาเหล่าดิจิตอลทีวีต่างขน “ละคร” ออนแอร์กันแบบจัดเต็ม หวังชิงคนดู และเรตติ้งช่วงไพร์มไทม์จากช่องอนาล็อกขึ้นสู่ท็อปไฟว์ จนทำให้สภาพทีวีของไทยเวลานี้ต้องเข้าสู่ภาวะ “ละครล้นจอ” นี่หรือ คือ ภูมิทัศน์ใหม่ของดิจิตอลทีวี ?
เมื่อการเปลี่ยนผ่านจากอนาล็อกทีวีมาสู่ “ดิจิตอลทีวี” ในช่วงออกสตาร์ท 6 เดือนแรกเต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนาม มาเริ่มเข้าที่เข้าทางเมื่อเดือนมกราคม 2558 ที่ผ่านมา ตัวเลขคนดูช่องดิจิตอลทีวีเพิ่มขึ้น ในขณะที่ช่องอนาล็อกเดิม ช่อง 3, 5,7 และ 9 ความนิยมลดลง
แม้ว่าช่อง 7 และช่อง 3 จะยังครองแชมป์เรตติ้งอันดับ 1 และ 2 แต่ก็ต้องปาดเหงื่อไม่น้อยกับคู่แข่งดิจิตอลทีวี ที่เข้ามาแย่งชิงเรตติ้งลดลงไปจากเดิม แต่ที่อาการจะหนักกว่า คือ ช่อง 5 และช่อง 9 ที่ถูกช่องดิจิตอลถอนรายการที่เคยออกในช่องอนาล็อกมาออนแอร์ในช่วงของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเวิร์คพอยท์ ของเสี่ยตา–ปัญญา นิรันดร์กุล ที่ถอนรายการจากช่อง 9 ไปออนแอร์ในช่องเวิร์คพอยท์ทีวี หรือค่ายเอ็กแซ็กท์และซีเนริโอ ในเครือแกรมมี่ ถอนทั้งละครหลังข่าว ที่ป้อนให้กับช่อง 5 มาอย่างยาวนาน และรายการเดอะสตาร์ ที่ออกอากาศในช่อง 9 ไปออกอากาศในช่อง ONE
ช่องดิจิตอลเมื่อเห็นโอกาสจากยอดคนดูช่องดิจิตอลเพิ่มขึ้น ในขณะที่ช่องอนาล็อกที่กำลังอยู่ในช่วงขาลง จึงเร่งขยับปรับผังรายการกันอย่างคึกคัก เพิ่มรายการต่างๆ ข่าว บันเทิง วาไรตี้ ถ่ายทอดสดกีฬา โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายการ “ละคร” ที่ถือเป็น “ไฮไลต์” สำคัญของสมรภูมิดิจิตอลทีวี ยกที่สองในปีนี้
เพราะทุกรายต่างประเมินแล้วว่า นอกจากกีฬาดังแล้ว ละครหลังข่าวถือเป็นช่วงเวลาไพร์มไทม์ที่ทำเงินจากโฆษณาได้มากที่สุด ดังนั้น ต้องใช้ “ละคร” เป็นตัวนำ เป้าหมายแรก คือ เบียดแซงช่อง 5 และช่อง 9 ที่อยู่อยู่ในช่วงอ่อนแรง ก้าวขึ้นไปเป็น 1 ใน 5 รายอันดับแรกให้เร็วที่สุด หากยิ่งช้าโอกาสรอดตายก็ยิ่งห่างไกล
หลายค่ายทั้งที่เคยเป็นผู้ผลิตเดิมและหน้าใหม่ ต่างหันมาให้น้ำหนักกับ “ละคร” หลังข่าวกันชนิดจัดเต็ม ทั้งผลิตเอง จ้างผลิต แบ่งเวลาขายโฆษณา หรือไทม์แชร์ริ่ง เรียกว่า ใครมีเท่าไหร่ใส่กันไม่ยั้ง
ช่อง “พีพีทีวี” ของ นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ที่มีฐานเงินทุนแน่นหนา โดยได้ดึงเขมทัตต์ พลเดช นั่งเป็นกรรมการผู้อำนายการใหญ่ ช่อง “พีพีทีวี เอชดี” หลังจากออกสตาร์ทช่วง 6 เดือนแรก ด้วยรายการข่าว วาไรตี้ บันเทิง เพื่อให้มีความหลากหลาย โดยมี “ซีรีส์เกาหลี” เป็นแม่เหล็กใช้สร้างฐานคนดูในช่วงสั้นๆ
มาปีนี้ พีพีทีวี ประกาศใช้ 1,600 ล้านบาท ลงทุนสตูดิโอ โปรโมตช่อง และใช้งบส่วนใหญ่กับผลิตคอนเทนต์ เพื่อมุ่งเจาะตลาดคนดูกลุ่มแมสเพิ่มขึ้น โดยจะมีทั้งรายการเกมโชว์ เรียลลิตี้ ซีซันนอล รวมทั้ง “ละครหลังข่าว” ที่จะเป็นคอนเทนต์หลักของพีพีทีวีปีนี้ เพราะมองว่าคนไทยกว่า 60-70% ยังชื่นชอบรายการบันเทิงเป็นหลัก รองมาเป็นกีฬา 20% และข่าว 10%
พีพีทีวี ได้ผู้ผลิตละคร อย่าง เอ-ศุภชัย ศรีวิจิตร ผู้จัดการดารามือทอง ที่ปั้นดาราระดับซุปตาร์ให้ดังมานักต่อนัก มาประเดิมผลิตละคร “เพลิงดาว” เรื่องราวที่สะท้อนเบื้องหลังวงการมายา เป็นเรื่องแรก เมื่อได้เอมาประเดิมเปิดกล้องผลิตละครให้ ทำให้ผู้ผลิตละครรายอื่นๆ ทยอยผลิตละครป้อนให้ไม่น้อยกว่า 8-10 เรื่องในปีนี้ และอยู่ระหว่างผลิตอีก 15 เรื่อง ที่จะ “สต็อก” ไว้จึนถึงปี 2560
แนวละครของช่องนี้จะเน้นคนดูที่เป็นกลุ่มคนเมือง (Urban Mass) และวัยรุ่น ซึ่งพีพีทีวี ตั้งเป้าว่า จะสามารถขยับเรตติ้งจากอันดับที่ 14 มาเป็นอันดับ 6 และคาดว่าปีนี้จะต้องขึ้นติดท็อปไฟว์ของดิจิตอลทีวีให้ได้
ทางด้าน “เจ๊ติ๋ม-พันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย” ประมูลใบอนุญาตมาได้ 2 ช่อง คือ ช่องข่าวไทยทีวี และช่องเด็กโลก้า ที่ออกสตาร์ทช่วงแรกแบบจัดเต็ม
โดยเฉพาะช่องไทยทีวี ที่นอกจากจะดึงพันธมิตรผลิตรายการข่าว ส่วนเนื้อหาบันเทิง เจ๊ติ๋ม ประกาศผลิต “ละคร” ท้าชนกับช่อง 3 และช่อง 7
แต่มาในช่วงหลัง เริ่มมีกระแสข่าวลือว่าละครที่เจ๊ติ๋มเปิดกล้องไว้ต้องหยุดถ่ายทำ เพราะไม่มีเงินทุนทำต่อ บางกระแสก็ว่า เจ๊ติ๋มต้องหอบเอาละครที่ลงทุนไว้ เรื่องละ 20 ล้านบาท ไปเร่ขายให้กับดิจิตอลทีวีบางช่อง แม้ว่าเจ๊ติ๋มได้ออกมาปฏิเสธว่า สายป่านยาวพอจะอยู่ต่อไปได้ไม่เดือดร้อน
แต่ล่าสุด มีกระแสข่าวว่า “เจ๊ติ๋ม” ได้เปิดทางให้ บริษัทเอ็มวี เทเลวิชั่น (ไทยแลนด์) ซึ่งทำธุรกิจช่องทีวีดาวเทียมมาตั้งแต่ยุคเริ่มแรก เน้นหนังชุดและซีรีส์จีน เข้ามาเทกโอเวอร์ ช่อง LOCA ช่องเด็กและครอบครัวไปแล้ว
แต่เพื่อไม่ให้ผิดกติกาของ กสทช.ที่กำหนดไว้ว่าตลอดอายุใบอนุญาตที่ได้ไปจะต้องดำเนินงานเองห้ามขายหุ้นเปลี่ยนมือ บริษัทเอ็มวีทีวีจะเข้ามาในฐานะของผู้รับจ้างผลิตในสัดส่วน 40% แต่ในทางปฏิบัติเวลานี้พนักงานทั้งหมดของ LOCA ได้โอนย้ายไปอยู่กับเอ็มวีทีวีหมดแล้ว ส่วนเจ๊ติ๋มยังคงต้องเป็นคู่สัญญากับ กสทช.ต่อไปเช่นเดิม
เจ๊ติ๋ม เมื่อตัดอวัยวะเพื่อรักษาชีวิตแล้ว จะหันไปมุ่งเน้นช่องข่าว “ไทยทีวี” นอกจากเพิ่มทีมข่าว 40-50 คนแล้วเพื่อผลิตข่าวสาร ในส่วนของบันเทิง จะเริ่มทยอยนำละคร 7 เรื่องที่สต็อกไว้ออกมาออนแอร์ ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมา
แนวละครของเจ๊ติ๋ม มุ่งเน้นกลุ่มคนดูทั่วไป ลงลึกในระดับชาวบ้าน ทั้ง ผี ตลก ชิงรัก หักสวาท รวมทั้งแนวจักรๆ วงศ์ๆ อย่าง แก้วหน้าม้า แนวเดียวกับช่อง 7 แต่เพิ่มความแซ่บแบบครบเครื่อง แต่แทนที่จะเป็นในช่วงไพร์มไทม์หลังข่าว เจ๊ติ๋มเลี่ยงไปออนแอร์ในช่วงเวลา 1 ทุ่มครึ่ง ซึ่งเป็นข่าวราชสำนักฯ ของช่องต่างๆ เพื่อหวังโกยคนดู ก่อนช่วงไพร์มไทม์ละครหลังข่าว
เพื่อเรียกคนดู และโฆษณาให้มาเร็วขึ้น แทนที่จะใช้วิธีโฆษณาเคาะประตูเรียกคนดูแบบเดิม เจ๊ติ๋มใช้วิธีเดินสายลงทุนเอาโทรทัศน์ไปตั้งให้ฟรี ในต่างจังหวัด เช่น อนามัยอำเภอ ชุมชนต่างๆ แต่ละจุดต้องมีไม่น้อยกว่า 500 คนขึ้นไป มีข้อแม้ เปิดได้เฉพาะช่องไทยทีวีช่องเดียวเท่านั้น
เจ๊ติ๋มเชื่อว่า วิธีนี้สร้าง “อายบอล” ได้ทันที ช่วงแรกเน้นต่างจังหวัดเป็นหลัก ตั้งเป้าติดตั้งทีวีให้ได้ 8,000 จุด เฉลี่ยจุดละ 500 คน ได้คนดูมาทันที 4 ล้านคน ไว้เคลมโฆษณาได้โดยไม่ต้องพึ่งวัดเรตติ้ง
เมื่อต่างจังหวัดติดตั้งได้ครบแล้ว จะใช้กลยุทธ์ “ป่าล้อมเมือง” จากต่างจังหวัดขยับเข้ากรุงเทพฯ สวนทางกับคู่แข่ง ที่เน้นคนดูในเมืองก่อน จึงค่อยออกต่างจังหวัด
ส่วนละครเหล่านี้เจ๊ติ๋มใช้วิธี “ไทม์แชร์ริ่ง” คือ แบ่งเวลาโฆษณาให้ผู้ผลิตละครไปขาย 8 นาที ส่วนเจ๊ติ๋มขายเอง 4 นาทีครึ่ง เป็นวิธีเดียวกับที่ช่อง 3 เคยใช้มาแล้วในช่วงหาผู้จัดละคร
ทางด้าน จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จากที่เคยออมแรงไว้ช่วงแรก 4-5 เดือนแรก เมื่อเห็นว่าฝุ่นหายตลบ ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ค่ายนี้ใส่เกียร์เดินหน้า โดยหันมาให้น้ำหนักกับ “ละคร” เต็มสูบ
ผ่านทางช่อง ONE ช่องความคมชัดสูง HD และช่อง จีเอ็มเอ็ม แชนแนล 2ช่องดิจิตอลทีวีในมือแกรมมี่
ช่อง ONE มี “ถกลเกียรติ วีรวรรณ” เป็นผู้กุมบังเหียน ฝีไม้ลายมือเมื่อครั้งยังผลิตป้อนให้กับช่อง 5 มายาวนานจึงมีฐานแฟนละครเหนียวแน่น เมื่อยกเลิกผลิตป้อนให้กับช่อง 5 เพื่อมาออกอากาศทางช่อง ONE หันมามุ่งเน้นผลิตละครเป็นไฮไลต์สำคัญ โดยมุ่งเน้นกลุ่มคนดูที่เป็นคนเมืองและหัวเมืองใหญ่ จนได้ชื่อว่าเป็นคู่แข่งคนสำคัญที่มีผลให้เรตติ้งช่อง 3 ต้องหล่นลง
นอกจากจะได้ทีมงานชุดเดิมจาก ซีเนริโอ และเอ็กแซ็กท์ยังเปิดให้ดาราในสังกัดขึ้นแท่นเป็นผู้จัด ผลิตละครป้อน เพื่อเติมความหลากหลาย โดยเป้าหมายอยู่ที่ช่วงไพร์มไทม์ช่วงละครหลังข่าว โดยหลังจากจุดติดจาก ละครสงครามนางงาม ที่คนดูยอมรับในความแซ่บของเนื้อหา ช่อง ONE ทยอยส่งสื่อริษยาที่เพิ่งออนแอร์ วันจันทร์ และอังคาร ตามต่อด้วย เล่ห์รตี ออกอากาศวันพุธ และพฤหัส
ช่อง ONE ถูกจับตามองว่าเป็นคู่แข่งที่สำคัญของช่อง 3 ที่มีผลให้เรตติ้งของช่อง 3 ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ยิ่งมาได้จีเอ็มเอ็ม แชนแนล ที่เน้นคนดูในเขตกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ ทำให้ช่อง ONE ถูกจับตามองว่ากำลังเป็นคู่แข่งที่สำคัญของช่อง 3 และมีผลทำให้เรตติ้งของช่อง 3 ลดลงอย่างเห็นได้ชัด
สำหรับ จีเอ็มเอ็ม แชนแนลมี “พี่ฉอด-สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา” เป็นแม่ทัพ โดยมุ่งเน้นคนดูกลุ่มวัยรุ่น ที่มีซีรีส์ต่างๆ ที่ได้วัตถุดิบจาก “คลับฟรายเดย์” ที่มีดีเจพี่อ้อย พี่ฉอด ตอบปัญหารักในคลื่นวิทยุ ขยับมาผลิตเป็นซีรีส์ดัง และยังมีเหล่าดีเจดังมาปั้นเป็นดาราป้อนให้กับ “ซีรีส์” ต่างๆ แบบไม่ขาดช่วง แล้วยังได้ค่ายหนัง “จีทีเอช” ที่โด่งดังจากซีรีส์ฮอร์โมน มาช่วยผนึกกำลังผลิตรายละคร เรื่องล่าสุด “น้ำตากามเทพ” ที่แค่เปิดตัวก็ได้กระแสจากกลุ่มคนดูในเมืองแล้ว
สำหรับช่อง 8 ของค่ายอาร์เอส มีฐานคนดูมาจากทีวีดาวเทียม เมื่อประมูลได้ดิจิตอลทีวีมาได้ จึงนำเอาช่อง 8 มาต่อยอดออกอากาศได้ทันที โดยเติมเนื้อหาวาไรตี้เพิ่ม ส่งให้เรตติ้งของอาร์เอสไต่ขึ้นอยู่ในอันดับต้นๆ ขึ้นปีใหม่ อาร์เอส จึงจัดเต็มอัดฉีดเงินลงทุน เพิ่มเนื้อหา โดยเฉพาะเพิ่มเวลาละคร แนวละครของช่อง 8 มุ่งเน้นไปยังลูกค้าชาวบ้านทั่วไป ทั้งแนวตบจูบ เป็นกลุ่มเดียวกับช่อง 7
ในขณะที่ค่าโฆษณาของช่อง 8 แม้ว่าจะมีการปรับขึ้นมาแล้ว 4-5 เท่า เพื่อรับกับเรตติ้งที่สูงขึ้น แต่ก็ยังไม่เท่ากับช่อง 7 จึงทำให้ช่อง 8 เป็นตัวเลือกให้เจ้าของสินค้าและเอเยนซี่ที่ต้องการเจาะฐานลูกค้าทั่วไปมาเลือกลง
เมื่อดิจิตอลทีวีต่างก็พร้อมใจกันหันหัวรบมาที่ “ละคร” เพื่อหวังในเรื่องเรตติ้งคนดู และรายได้ค่าโฆษณา เพื่อหวังคืนทุนโดยเร็ว เพราะมีโจทย์ใหญ่รออยู่ ทั้งค่าใช้จ่ายรออยู่ ทั้งค่าใบอนุญาต ค่าโครงข่าย ค่าคอนเทนต์ การแข่งขันก็สูง เพราะมีถึง 24 ช่อง แต่เม็ดเงินโฆษณาเท่าเดิม และยังมีสื่อออนไลน์อย่าง “ยูทิวบ์” เข้ามาแย่งแชร์คนดู และเม็ดโฆษณาไปอีก
จนอาจลืมไปว่า ดิจิตอลทีวี ที่ กสทช.เคยวาดฝันไว้ว่า จะเกิดการปฏิวัติวงการ สร้าง “ภูมิทัศน์” ใหม่ให้กับอุตสาหกรรมทีวี เพื่อให้ผู้ชมมีทางเลือกดูเลือกชมรายการอันหลากหลายจากดิจิตอลทีวีทั้ง 24 ช่อง แตกต่างจากที่เคยอยู่ในมือช่อง 3 และช่อง 7 ทำให้คนดูไม่มีทางเลือกมากมายนัก ต้องทนดูละครน้ำเน่า แต่ปรากฏว่าคนดูกลับยิ่งต้องเผชิญกับภาวะ “ละคร” ล้นจอ แต่จะเป็นละครแนวไหน เน่ามากเน่าน้อย ขึ้นอยู่กับนโยบาย และกลุ่มเป้าหมายของแต่ละช่องเท่านั้น