สายการบินเครียด นักท่องเที่ยวเคว้ง หลังญี่ปุ่นระงับเพิ่มเที่ยวบินจากไทย

คำสั่งขององค์การการบินระหว่างประเทศ (ICAO) ที่ทำให้ทางการญี่ปุ่นระงับการเพิ่มเที่ยวบินจากประเทศไทย เหมือนดั่งสายฟ้าฟาด สำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทยที่วางแผนไปเยือนแดนอาทิตย์อุทัยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งหากกรมการบินพลเรือนของไทยยังไม่สามารถแก้ปัญหาเพื่อเรียกคืนความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยได้ ก็อาจมีความเสี่ยงที่ประเทศอื่นๆจะระงับการขยายเส้นทางการบินเหมือนกับญี่ปุ่น
 
ถึงแม้กรมการบินพลเรือนของไทยจะระบุว่า มาตรการล่าสุดของกรมการบินพลเรือนญี่ปุ่นจะไม่กระทบกับสายการบินที่ให้บริการแบบประจำ หากแต่ “จังหวะเวลา” ที่เกิดขึ้นถือว่าส่งผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวชาวไทยอย่างมาก เนื่องจากเทศกาลสงกรานต์เป็นช่วงวันหยุดยาว ที่คาดว่าจะมีคนไทยเดินทางไปยังญี่ปุ่นมากกว่า 5 หมื่นคน
 
ผลกระทบที่เกิดขึ้นหนักหนาแค่ไหนสามารถจับความรู้สึกได้จากคำสัมภาษณ์ของพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีคมนาคม ที่กล่าวว่า “ผิดหวังการตอบรับขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ และผิดหวังญี่ปุ่น เพราะที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมพยายามทำแผนแก้ไขอย่างชัดเจน แต่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ยังไม่ผ่านความเห็นชอบและให้ไทยแก้ไขอีก ส่วนที่ผิดหวังอีกเรื่องคือ ปกติแผนแก้ไขข้อบกพร่องจะต้องให้เวลาเราครบตามมาตรฐานทั่วไป 90 วัน แต่ทางญี่ปุ่นกลับออกมาตรการมาก่อนครบ 90 วัน”
 
สายการบินที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการของกรมการบินพลเรือนญี่ปุ่น คือ
 
1. สายการบินไทย แอร์เอเชีย เอ็กซ์ ไม่ได้รับอนุญาตให้เพิ่มสนามบินที่จะทำการบินไปในเส้นทางฮอกไกโด
 
2. สายการบินนก สกู๊ต ไม่ได้รับอนุญาตให้บินเช่าเหมาลำสำหรับในช่วงสงกรานต์ ไปยังเมืองเกียวโต และโอซากา
 
3. สายการบินเอเชีย แอตแลนติก ไม่ได้รับอนุญาตให้บินเช่าเหมาลำในช่วงเทศกาลสงกรานต์
 
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากมาตรการของฝ่ายญี่ปุ่นแล้ว ช่องทางรอดเฉพาะหน้าของบริษัททัวร์และสายการบินค่อนข้างจำกัดมาก เพราะกรมการบินพลเรือนของญี่ปุ่นได้สั่งห้ามทั้งการเพิ่มท่าอากาศยาน เพิ่มจำนวนเที่ยวบิน และเปลี่ยนแบบอากาศยาน ซึ่งหมายความว่า ไม่สามารถจะใช้เครื่องบินขนาดใหญ่กว่าเพื่อรองรับผู้โดยสารในเที่ยวบินที่ถูกระงับไปได้
 

เอเชีย แอตแลนติก หนึ่งในสายการบินที่ถูกระงับเที่ยวบินพิเศษในช่วงสงกรานต์
 
ทางเลือกที่สายการบินพอจะมี คือการ “ขอยืม” ใช้ใบอนุญาตจากสายการบินอื่น เช่น นกสกู๊ตอาจใช้ใบอนุญาตการบินจากสิงคโปร์ เนื่องจากมีผู้ถือหุ้นเป็นสายการบินสกู๊ตจากสิงคโปร์ หากแต่ทางเลือกนี้ก็มีข้อจำกัดทางกฎหมาย รวมทั้งเส้นทางการบินที่อาจจะไม่ได้ออกเดินทางจากประเทศไทยโดยตรง
 
ทางด้าน ไทย แอร์เอเชีย เอ็กซ์ ก็คงต้องเตรียมรับบทหนักเช่นเดียวกัน เพราะเส้นทางการบินใหม่ไปยังเมืองซับโปโรของฮอกไกโดได้รับความนิยมอย่างมากจนตั๋วจำหน่ายหมดในเวลาอันรวดเร็ว โดยแอร์เอเชียยังพอมีเวลาหาทางออกจนถึงกำหนดการเที่ยวบินแรกในวันที่ 1 พฤษภาคม
 
จากการตรวจสอบเว็บไซต์ของไทย แอร์เอเชีย เอ็กซ์ ล่าสุดพบว่ายังไม่มีแถลงการณ์ใดๆ จากทางบริษัทฯ ว่าจะดำเนินการอย่างไรกับผู้โดยสารที่ซื้อตั๋วไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่เป็นสายการบินต้นทุนต่ำ และโปรโมชั่นตั๋วราคาถูกก็ทำให้แอร์เอเชียเหลือช่องว่างด้านต้นทุนไม่มากนักที่จะ “ขายผ้าเอาหน้ารอด”ได้
 
สิ่งที่ภาครัฐของไทยต้องกระหนัก คือ 3 สายการบินที่ถูกหางเลขในครั้งนี้เป็นเพียง “ตัวอย่าง” เท่านั้น เพราะสายการบินอื่นๆ รวมทั้งการบินไทย ต้องชะลอแผนขอเพิ่มเที่ยวบินไปญี่ปุ่นทั้งหมด ซึ่งถือว่าเสียโอกาสอย่างยิ่ง เพราะแดนอาทิตย์อุทัยเป็นปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวไทย ยิ่งกว่านั้นมาตรการสายฟ้าฟาดจาก ICAO ยังอาจทำให้ประเทศอื่นๆ เช่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย สหรัฐ และยุโรป พิจารณาระงับการขยายเส้นทางบินจากประเทศไทยด้วยเช่นกัน.