แผนสำรองไปฮอกไกโด หลังญี่ปุ่นแบนเที่ยวบินจากไทย

สายการบินและนักท่องเที่ยวต่างตกอยู่ภาวะปั่นป่วน หลังจากกรมการบินพลเรือนของญี่ปุ่นสั่งระงับการขยายเที่ยวบินจากไทยไปญี่ปุ่น โดยเฉพาะเส้นทางเปิดใหม่อย่างซับโปโร ซึ่งนักท่องเที่ยวจำนวนมากได้จองตั๋วและเตรียมตัวไว้เกือบหมดแล้ว
 
คำสั่งขององค์การการบินระหว่างประเทศ (ICAO) เรื่องปัญหามาตรฐานความปลอดภัยของเที่ยวบินจากประเทศไทย ที่ทำให้ทางการญี่ปุ่นระงับการเพิ่มเที่ยวบินจากประเทศไทย ทำให้นักท่องเที่ยวชาวไทยที่วางแผนไปเยือนแดนอาทิตย์อุทัยในช่วงเทศกาลสงกรานต์อาจต้อง “ฝันค้าง” เนื่องจากกรมการบินพลเรือนของญี่ปุ่นได้สั่งห้ามทั้งการเพิ่มท่าอากาศยาน เพิ่มจำนวนเที่ยวบิน และเปลี่ยนแบบอากาศยาน ทำให้ช่องทางแก้ปัญหาให้ทันเวลาในช่วงสงกรานต์นั้นยากยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นภูเขา
 
อย่างไรก็ตาม สายการบินที่ดูเหมือนจะได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ เนื่องจากเส้นทางการบินใหม่ไปยังเมืองซับโปโรของฮอกไกโดที่ถูกกรมการบินพลเรือนของญี่ปุ่นระงับนั้น ทางแอร์เอเชียต้องการให้เป็น “เที่ยวบินประจำ” ไม่ใช่เที่ยวบินเช่าเหมาลำเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์
 
ขณะนี้ผู้โดยสารซึ่งซื้อตั๋วของแอร์เอเชียไปแล้วต่างกังวลว่าจะได้เดินทางหรือไม่? ซึ่งถือแม้เที่ยวบินปฐมฤกษ์จะเริ่มบินในวันที่ 1 พฤษภาคม แต่จนถึงขณะนี้ทางแอร์เอเชียก็ยังไม่มีแถลงการณ์ใดๆ ออกมาบรรเทาความร้อนใจของบรรดาผู้โดยสาร โดยแอร์เอเชียก็อยู่ในสภาพ “กลืนไม่เข้า คายไม่ออก” เพราะต้องรอการแก้ไขปัญหาจากกรมการบินพลเรือนก่อน
 
บรรดาผู้โดยสารอาจต้อง “เผื่อใจ” ไว้บ้าง ซึ่งในระหว่างนี้การทำความเข้าใจเกี่ยวกับเส้นทางเดินทางสู่ฮอกไกโด อาจช่วยในการวางแผนสำรองสำหรับผู้ที่ยังอยากไปฮอกไกโด
 

 
ฮอกไกโด : ดินแดนสวยงามอันห่างไกล
 
ฮอกไกโดกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากแรงโปรโมทของรัฐบาลญี่ปุ่นเมื่อไม่กี่ปีมานี้ หากแต่ในสมัยอดีตดินแดนแห่งนี้ คือ แหล่งเนรเทศนักโทษที่ทำความผิดร้ายแรงจนไม่อาจให้อยู่บนแผ่นดินใหญ่ของญี่ปุ่นได้ ดินแดนกว้างใหญ่อันหนาวเหน็บที่มีความหมายตามชื่อ ฮอกไกโด แปลว่า “เส้นทางสู่ทะเลเหนือ” 北海道 จึงเป็นสถานที่สังเวยชีวิตของนักโทษจำนวนมากที่ทนความกันดารไม่ไหว ก่อนที่มาจากเป็นแหล่งชมหิมะ และกินปูดูหมีในทุกวันนี้
 
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากฮอกไกโดเป็นพื้นที่ที่แยกออกจากแผ่นดินใหญ่บนเกาะฮอนชูของญี่ปุ่น ทำให้การคมนาคมยังคงไม่ทั่วถึงจนกระทั่งทุกวันนี้
 
วิธีที่สะดวกที่สุดในการไปยังเมืองซับโปโร เมืองเอกของฮอกไกโด คือ เครื่องบิน โดยมีเที่ยวบินในประเทศของญี่ปุ่นจำนวนมากที่บินมาลง ณ สนามบินนิว ชิโตเสะ แต่ด้วยความที่เครื่องบินเป็นวิธีการเดินทางที่สะดวกที่สุด ก็ทำให้สนามบินนิว ชิโตเสะ เป็นสนามบินที่คับคั่งที่สุดของญี่ปุ่น รองจากสนามบินนาริตะและฮาเนดะ และการล่าช้าหรือดีเลย์เป็นเรื่องปกติ
 
สำหรับตั๋วบินภายในประเทศจากกรุงโตเกียวมายังซับโปโร อาจมีราคาต่ำที่สุดเพียง 10,000 เยน (ราว 3,000 บาท) หากแต่ราคานี้จำเป็นต้องจองตั๋วล่วงหน้ามากกว่าหนึ่งเดือน
 
ไม่มีชินคันเซน รถไฟใช้เวลาข้ามวัน
 
การเดินทางโดยรถไฟมายังฮอกไกโดใช้เวลาและค่าใช้จ่ายมาก (อาจแพงกว่าเครื่องบิน) โดยขณะนี้ยังไม่มีรถไฟด่วนชินคันเซนมาถึงเกาะฮอกไกโด เส้นทางชินคันเซนสิ้นสุดที่เมืองอาโอโมริ จากนั้นต้องเปลี่ยนมาโดยสารรถไฟเจอาร์ ซึ่งจะแล่นผ่านอุโมงค์เซคัน อุโมงค์ใต้ทะเลที่ยาวที่สุดในโลก ระยะทาง 23.3 กิโลเมตร
 
การเดินทางโดยรถไฟจากกรุงโตเกียวมายังซับโปโร ใช้เวลามากถึง 16 ชั่วโมงครึ่งโดยราคาตั๋วที่ถูกที่สุดประมาณ 12,600 เยน (ราว 4,200บาท) นอกจากนี้ในบางกรณีอาจต้องรอเปลี่ยนรถเป็นเวลานานที่สถานีอาโอโมริ ซึ่งทำให้ใช้เวลามากขึ้นไปอีก 
 

สายการบินภายในประเทศจำนวนมากเดินทางมายังสนามบินนิว ชิโตเสะ
 
ดาวรุ่งดวงใหม่
 
ฮอกไกโดถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ห่างไกลแม้กระทั่งสำหรับชาวญี่ปุ่นเอง รัฐบาลฮอกไกโดได้พยายามส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ต่อเนื่องกันมาหลายปี และก็ประสบความสำเร็จอย่างมาก
 
ตั้งแต่อดีตจนถึงทุกวันนี้ นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปยังแดนอาทิตย์อุทัยมักใช้ “เส้นทางทองคำ” คือ ระหว่างโตเกียวและโอซากา ซึ่งรวมถึงเมืองรอบๆเส้นทาง สถิติจากองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งชาติญี่ปุ่น ระบุว่า แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมยังคงเป็น กรุงโตเกียว ที่มีนักท่องเที่ยวพักค้างคืนถึง 13.45 ล้านคืน, ตามมาด้วยนครโอซากา มีสถิติพักค้างคืน 5.84ล้านคืน ขณะที่ฮอกไดโด ตามมาเป็นอันดับสามด้วยสถิติพักค้างคืน 4.03ล้านคืน มากกว่านครเกียวโต เมืองมรดกโลกของญี่ปุ่นด้วยซ้ำ ฮอกไกโดจึงถือเป็น “ดาวรุ่ง” ที่สายการบินและบริษัทท่องเที่ยวต่างๆ หวังจะบุกเบิกการท่องเที่ยวพื้นที่ใหม่ในญี่ปุ่น
 
สถิติจากองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งชาติญี่ปุ่น ระบุว่า นักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปญี่ปุ่นมากเป็นอันดับ 5 โดยช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา ชาวไทยเดินทางไปญี่ปุ่นมากถึง 44,800คน หรือเพิ่มขึ้นถึง 64.9% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ดังนั้นการที่สายการบินของไทยถูกสั่งระงับการเพิ่มเที่ยวบิน ทั้งแอร์เอเชียที่ไม่สามารถเปิดเที่ยวบินใหม่ได้ แม้แต่การบินไทยก็ไม่สามารถปรับเปลี่ยนขนาดเครื่องบินเพื่อรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นได้ จึงถือเป็นการ “แช่แข็ง” โอกาสที่จะขยายการท่องเที่ยวจากไทยไปยังญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเส้นทางที่คึกคักมากที่สุด รัฐบาลไทยจึงจำเป็นต้องเรียกคืนความเชื่อมั่นด้านมาตรฐานความปลอดภัยทางการบินอย่างรวดเร็วที่สุด ก่อนที่ความไม่มั่นใจจะขยายผลไปยังประเทศอื่นๆ
 
ขณะเดียวกันคำกล่าวอ้างที่ว่า “ไทยเที่ยวไทย ไม่เสียดุล” นั้นเป็นการมองเพียงมิติเดียว เพราะการเดินทางไปต่างประเทศไม่ใช่การนำเงินออกไปใช้เพียงอย่างเดียว แต่ผู้ประกอบธุรกิจชาวไทย ทั้งบริษัทท่องเที่ยว, สายการบิน, สนามบิน แม้กระทั่งร้านค้าต่างๆ ล้วนได้รับอานิสงค์จากการหมุนเวียนของระบบเศรษฐกิจทั้งสิ้น.