แท็กซี่"เซ็นทรัลเวิล์ด" ครองแชมป์ปฏิเสธผู้โดยสาร

ประกาศทะเบียนรถแท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสารประจำเดือน ในศูนย์การค้าสยามพารากอน (ภาพจากเฟซบุ๊ก Pippin Chan)

 

ASTVผู้จัดการออนไลน์ – อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เผยกรณี “สยามพารากอน” ขึ้นบัญชีดำแท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสาร 54 ราย เรียกรายงานตัวแล้ว สั่งปรับ 31 ราย พักใบขับขี่ 2 ราย อีก 23 รายกำลังเร่งติดตามตัว เผยสถิติเดือนที่ผ่านมาเซ็นทรัลเวิล์ดครองแชมป์แท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสาร 45 ราย เรียกเสียค่าปรับทุกราย ประสานทหาร-ตำรวจ-ห้างสรรพสินค้าจับตาใกล้ชิด หวั่นกระทบภาพลักษณ์ท่องเที่ยว พร้อมเป็นต้นแบบจัดระเบียบทั่วกรุงเทพฯ วอนประชาชนช่วยรายงานผ่านแอปพลิเคชั่น

 

จากกรณีที่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน ขึ้นประกาศทะเบียนรถแท็กซี่ ปฏิเสธผู้โดยสาร เดือนมีนาคม 2558 จำนวน 54 รายชื่อ โดยได้ระบุหมายเลขทะเบียนและชื่อสหกรณ์ และเป็นที่รับรู้ผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ตามที่นำเสนอไปแล้วนั้น นายธีระพงษ์ รอดประเสริฐ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยถึงผลการจัดระเบียบการให้บริการรถแท็กซี่บริเวณห้างสรรพสินค้า 4 แห่งย่านราชประสงค์ ร่วมกับทหารจากมณฑลทหารบกที่ 11 และเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ และผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้า ได้แก่ ห้างสรรพสินค้าเอ็มบีเค เซ็นเตอร์, ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน, ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ และห้างสรรพสินค้าแพลทินัมแฟชั่นมอลล์ เพื่อแก้ไขปัญหาการจอดกีดขวางจราจร โดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วนระหว่างเวลา 16.30 น. – 20.00 น. และตรวจสอบรถแท็กซี่กระทำผิดกฎหมาย ได้แก่ การปฏิเสธผู้โดยสาร การไม่ยอมใช้มาตรมิเตอร์การทิ้งผู้โดยสาร การแต่งกาย ฯลฯ

 

โดยนับตั้งแต่เริ่มดำเนินการจัดระเบียบ เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2558 จนถึงปัจจุบัน ตรวจสอบพบแท็กซี่กระทำความผิดแล้วจำนวนทั้งสิ้น 138 ราย โดยบริเวณหน้าสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ พบการกระทำผิดสูงสุด 45 ราย รองลงมา ได้แก่ ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน 39 ราย ห้างสรรพสินค้าเอ็มบีเค เซ็นเตอร์ 35 ราย และห้างสรรพสินค้าแพลทินัม แฟชั่นมอลล์ 19 ราย ซึ่งได้ดำเนินการเปรียบเทียบปรับตามข้อหาความผิดแล้วทุกรายโดยในจำนวนนี้มีผู้กระทำความผิดซ้ำสั่งลงโทษพักใช้ใบอนุญาตจำนวน 1 ราย

      
ทั้งนี้ เพื่อให้การจัดระเบียบรถแท็กซี่ย่านราชประสงค์เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม กรมการขนส่งทางบกได้เพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการร่วม ระหว่างเจ้าหน้าที่ตรวจการ ทหาร ตำรวจ และพนักงานห้างสรรพสินค้า ประจำจุดให้บริการบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าและบริเวณใกล้เคียงที่มีประชาชนและนักท่องเที่ยวเรียกใช้บริการรถแท็กซี่ ซึ่งหากพบการกระทำความผิด

      
โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพบแท็กซี่เอาเปรียบนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะเข้าดำเนินการตามกฎหมายทันทีเนื่องจากส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของประเทศ พร้อมจัดส่งประวัติการกระทำผิดเข้าศูนย์ประวัติผู้ขับรถสาธารณะ เพื่อติดตามพฤติกรรมอย่างต่อเนื่อง

      
นอกจากนี้ ห้างสรรพสินค้าทั้ง 4 แห่งยังได้ให้ความร่วมมือด้วยการจัดสถานที่จุดจอดรถแท็กซี่เพื่อให้ผู้ใช้บริการสะดวกขึ้น มีการติดตั้งกล้องวงจรปิด เพื่อตรวจสอบพฤติกรรมการให้บริการและช่วยเหลือผู้ใช้บริการในภาวะฉุกเฉิน มีการจัดเจ้าหน้าที่บริการนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเพื่อป้องกันปัญหาในการสื่อสาร รวมทั้งมีการติดป้ายเตือนรถแท็กซี่ให้ปฏิบัติตามกฎหมายด้วย

      
ในส่วนของห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน ที่มีการติดป้ายประกาศแสดงหมายเลขทะเบียนรถแท็กซี่ที่มีพฤติกรรมปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร เป็นหนึ่งในกระบวนการทำงานร่วมกันของภาครัฐและผู้ประกอบการภาคเอกชน โดยห้างสรรพสินค้าจะตรวจสอบการให้บริการและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในช่วงเวลานอกเหนือจากชั่วโมงเร่งด่วน เมื่อพบการกระทำความผิดจะบันทึกพฤติกรรม รายละเอียด และนำส่งข้อมูลให้กรมการขนส่งทางบกดำเนินการติดตามตัวต่อไป

      
“จากจำนวนรถแท็กซี่ทั้งหมดที่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอนรายงานเข้ามามีจำนวนทั้งสิ้น 54 ราย กรมการขนส่งทางบกได้เรียกให้เข้ามารายงานตัวแล้วทุกราย โดยดำเนินการลงโทษเปรียบเทียบปรับแล้ว 31 ราย ในจำนวนนี้พบมีการกระทำความผิดซ้ำ 2 ราย จึงได้สั่งพักใช้ใบอนุญาตขับรถเป็นเวลา 7 วัน ได้แก่ รถแท็กซี่คันหมายเลขทะเบียน ทร-3609 และคันหมายเลขทะเบียน ทศ-3380 และได้ส่งตัวผู้กระทำผิดเข้ารับการอบรมเพื่อสร้างจิตสำนึกการให้บริการที่ดีแล้วทุกราย ส่วนอีกจำนวน 23 ราย อยู่ในระหว่างเร่งติดตามตัวให้เข้ามารับทราบข้อกล่าวหาและตรวจสอบข้อเท็จจริง” นายธีระพงษ์ กล่าว

      
นายธีระพงษ์ กล่าวว่า การจัดระเบียบรถแท็กซี่ย่านราชประสงค์ หากประสบความสำเร็จ ก็พร้อมจะขยายผลเป็นต้นแบบการจัดระเบียบการให้บริการรถสาธารณะทั่วกรุงเทพมหานครต่อไป ซึ่งจากผลการจัดระเบียบแท็กซี่ย่านราชประสงค์ตลอดระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา พบว่าการปฏิเสธผู้โดยสารเป็นปัญหาสูงสุด รวมถึงพบปัญหาการใช้มาตรมิเตอร์ด้วย ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลที่ได้รับการร้องเรียนผ่านศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารรถสาธารณะ 1584 และแอพพลิเคชั่น DLT Check in

      
นอกจากนี้ ยังพบรถแท็กซี่ไม่นำรถเข้าตรวจสภาพตามระยะเวลาที่ทางราชการ รวมถึงผู้ขับรถแท็กซี่ไม่แสดงใบอนุญาตขับรถสาธารณะ ซึ่งตามกฎหมายแล้วกำหนดให้ผู้ขับรถแท็กซี่ต้องพกพาใบอนุญาตขับรถขณะปฏิบัติหน้าที่เสมอ และพร้อมแสดงต่อเจ้าหน้าที่ทันที ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท เพื่อให้การดำเนินการจัดระเบียบรถแท็กซี่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ขอความร่วมมือประชาชนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพรถแท็กซี่ผ่านแอพพลิเคชั่น DLT Check in ทุกครั้งที่ใช้บริการเพื่อประเมินคุณภาพการให้บริการและแสดงความคิดเห็น โดยข้อมูลจะถูกส่งตรงสู่ฐานข้อมูลกรมการขนส่งทางบก เพื่อติดตามพัฒนาและลงโทษผู้กระทำผิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนแท็กซี่ที่ได้รับการประเมินในมาตรฐานดี กรมการขนส่งทางบกจะส่งเสริมให้มีมาตรฐานยิ่งขึ้นต่อไป

      
อ่านประกอบ : ขาช้อปเฮ! “สยามพารากอน” ขึ้นบัญชีดำแท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสาร

ที่มา : http://manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9580000048134