ชอปออนไลน์ สุดคึก ยักษ์ค้าปลีก เปิดศึก Click & Mortar

จาก Place to Space ยักษ์ใหญ่วงการค้าปลีก “เซ็นทรัล-เทสโก้ โลตัส-สหพัฒน์” ลุยเต็มสูบ ในการกระโจนจากออฟไลน์สู่โลกออนไลน์ รับกระแสชอปออนไลน์โตทะลักจอ

ด้วยยอดการจับจ่ายใช้สอยผ่านออนไลน์เพิ่มขึ้นทุกปี ล่าสุดตัวเลขของตลาดอีคอมเมิร์ซ ปี 2557มูลค่า 700,000 ล้านบาท เติบโต 30%  ด้วยตัวเลขหอมหวานแบบนี้ มีหรือที่กลุ่มทุนค้าปลีกรายใหญ่จะยอมพลาด พร้อมเคลื่อนทัพเข้าสู่สนาม “ชอปออนไลน์” กันแบบเต็มพิกัด

ถ้าดูตัวเลขจำนวนผู้ประกอบการค้าปลีกออนไลน์ในไทยในเวลานี้ ผลปรากฏว่า ผู้ค้าออนไลน์รายเล็ก 8 แสนรายแล้ว ขนาดกลาง 2 แสนราย ส่วนค้าปลีกรายใหญ่ที่ลงมาทำตลาดผ่านอีคอมเมิร์ซเพิ่มเป็น 5,000 รายแล้ว

“เซ็นทรัล” เปิด “เซ็นทรัล ออนไลน์” ปูพรมอีคอมเมิร์ซ

กลุ่มเซ็นทรัล ประกาศชัดเจนถึงการหันมาเอาจริงเอาจังกับการเข้าสู่รอีคอมเมิร์ซมาตั้งแต่ ปี 2555 ผ่านกลยุทธ์ “ควบรวมกิจการ” “ออฟฟิศเมท” ธุรกิจจำหน่ายเครื่องเขียนและอุปกรณ์ในสำนักงาน โดยการเข้าถือหุ้นในสัดส่วน 75% และได้โอนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกัน เช่น ออฟฟิศ ดีโป และบีทูเอสให้กับออฟฟิศเมท

ความสำคัญของการควบรวมกิจการของเซ็นทรัลในครั้งนั้นก็เพื่อเป็นการสยายปีกให้กลุ่มเซ็นทรัลเข้าสู่ธุรกิจออนไลน์ในอนาคต โดยต้องการนำเอาโนว์ฮาวและประสบการณ์ของออฟฟิศเมทที่มีมาในโลกออนไลน์ ทั้งระบบทางด้านไอที การจัดส่งสินค้า และระบบโลจิสติกส์ เพื่อนำเซ็นทรัลก้าวเข้าสู่โลกชอปปิ้งออนไลน์โดยไม่ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ 

จากนั้นจึงใช้บ่มเพาะ 3 ปีเต็ม เพื่อนำธุรกิจออนไลน์ของเซ็นทรัลเข้ามารวม จึงได้คลอด “เซ็นทรัล ออนไลน์” หรือเว็บไซต์ Central.co.th อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ภายใต้การบริหารของออฟฟิศเมท เป็นการเปิดฉากเข้าสู่ธุรกิจ “อีคอมเมิร์ซ” อย่างเต็มตัวของซ็นทรัลที่รวบรวมสินค้าที่วางขายในเซ็นทรัลมาขายบนออนไลน์

เพื่อให้เกิดความชัดเจน บริษัทออฟฟิศเมทได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นกลุ่ม “ซีโอแอล (COL)” หรือ เซ็นทรัล ออนไลน์ ซึ่งประกอบไปด้วย 5 กลุ่ม ธุรกิจภายใต้ซีโอแอลได้แก่ 1.ออฟฟิศเมท 2.บีทูเอส 3.เมพ คอร์ปอเรชั่น 4.เซ็นทรัล ออนไลน์ และ 5.เซ็นเนอร์จี อินโนเวชั่น โดยที่ในอนาคตจะมีการเพิ่มธุรกิทางด้านโลจิสติกส์ และมาร์เก็ตเพลส เว็บไซต์

วรวุฒิ อุ่นใจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธุรกิจออนไลน์มีโอกาส โดยเติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 30% หลังจากที่ทางกลุ่มเซ็นทรัลได้ควบรวมธุรกิจของบริษัทในกลุ่มเซ็นทรัลแล้ว ก็พบว่ามีการเติบโตสูงถึง 4-5 เท่า เพราะบริษัทในเครือต่างปรับตัวและปรับกลยุทธ์ในการทำธุรกิจมากขึ้น ทำให้เห็นภาพของการทำอีคอมเมิร์ซชัดเจนกว่าเมื่อก่อน ตั้งเป้าทั้งกลุ่มโต 19% ซึ่งตอนนี้รายได้จากออนไลน์มีเพียงแค่ 1% ของกลุ่มเซ็นทรัลเท่านั้น แค่ในปีนี้เราตั้งเป้าว่าจะต้องเป็น 10% ให้ได้

วรวุฒิยังได้ฉายภาพธุรกิจอีคอมเมิร์ซในไทยต่ออีกว่า “อีคอมเมิร์ซหรือการชอปปิ้งออนไลน์ในประเทศไทยจะมีสภาพตลาดคล้ายกับประเทศจีน คือส่วนใหญ่เป็นแบบ C2C (Consumer to Consumer) หรือผู้บริโภคซื้อขายสินค้ากันเอง และถ้าเป็นเว็บไซต์ส่วนใหญ่เป็นผู้เล่นรายเล็กๆ ลูกค้าจึงขาดความมั่นใจ ซึ่งคนไทยมักจะกลัวทั้งก่อนซื้อและหลังซื้อ ในเรื่องสินค้า เช่น จะได้รับตรงตามที่คิดหรือเปล่า จึงเป็นอุปสรรคสำคัญในการเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคให้คนที่ไม่เคยซื้อหันมาซื้อได้ จึงต้องเริ่มสร้างมั่นใจให้ได้ก่อน”

เซ็นทรัลจึงต้องมุ่งเน้นสร้าง “ความมั่นใจ” ผ่านการสื่อสารภายใต้แนวคิด “Shop with Confidence” สร้างจุดขายที่สินค้าคุณภาพมาตรฐาน สะดวก รวดเร็ว และเชื่อถือได้ เหมือนกับการไปชอปปิ้งที่ห้างเซ็นทรัลตามปกติ โดยนำภาพลักษณ์ของแบรนด์ “เซ็นทรัล” ที่หลายคนไว้ใจมาเชื่อมกับออนไลน์

ขณะเดียวกันต้องมี “โปรโมชัน” มาดึงดูดใจ โดยจะมี Flash deal เป็นโปรโมชันลดราคาทุกวัน และจัดส่งสินค้าฟรีเมื่อชอปครบ 499 บาท พร้อมผนวกโปรแกรม CRM ของเซ็นทรัลในการใช้ “เดอะ วันการ์ด” ในการสะสมแต้มได้ด้วย

ปัจจุบันเซ็นทรัลมีฐานลูกค้าของเดอะ วันการ์ดรวมกับสปอต รีวอร์ด (ท็อปซูเปอร์มาร์เก็ต) รวม 10 ล้านราย คาดว่าจะดึงฐานลูกค้ากลุ่มนี้เข้ามาชอปออนไลน์ได้ และตั้งเป้าจะมีจำนวนผู้เข้าเว็บไซต์จำนวน 33 ล้านรายภายในสิ้นปีนี้

อย่างไรก็ดี แม้เซ็นทรัลจะมีความพร้อมในการบุกตลาดอีคอมเมิร์ซแค่ไหน แต่ในเรื่องของจำนวนสินค้าในเว็บไซต์ถือว่ายังไม่ครอบคลุมเสียทีเดียว ซึ่งปัจจุบันมีอยู่จำนวน 50,000 รายการ แต่ตั้งเป้าที่จะเพิ่มเป็น 120,000 – 150,000 รายการ ให้ได้ภายในสิ้นปีนี้

ส่วนรายได้ที่มาจากช่องทางออนไลน์ของเซ็นทรัลนั้น ยังคิดเป็น 0.5-1% เท่านั้น หรือ 80 ล้านบาท ตั้งเป้าในนี้จะเพิ่มเป็น 800 ล้านบาท หรือ 10% ของรายได้ทั้งหมด

 

“เทสโก้ โลตัส” ลงทุน “ลาซาด้า” เพิ่มช่องทางการขายสินค้า “นอน-ฟู้ด”

ทางด้านเทสโก้ โลตัส ยักษ์ใหญ่แห่งวงการค้าปลีกในเมืองไทย ก็มีการเคลื่อนไหวทางด้านอีคอมเมิร์ซอย่างต่อเนื่องเช่นกัน หลังจากที่ได้เปิดตัวเว็บไซต์สำหรับการชอปออนไลน์แล้ว ต่อมาได้มีการเพิ่มช่องทาง “แอปพลิเคชัน” เพื่อรองรับการใช้งานผ่านสมาร์ทโฟน เพราะมีแนวโน้มในการใช้งานผ่านสมาร์ทโฟนถึง 20-30%

สลิลลา สีหพันธุ์ รองประธานกรรมการบริหารฝ่ายกิจการบรรษัท บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด ผู้บริหารเทสโก้ โลตัส กล่าวว่า ในชอปออนไลน์ของเทสโก้ โลตัสเราวางจุดยืนชัดเจนว่าจะเน้นสินค้าอุปโภค บริโภค และอาหารสดเป็นหลัก เพื่อเชื่อมโปรโมชันหรือกิจกรรมในสโตร์มาสู่ออนไลน์

ส่วนสินค้าอื่นๆ จะขายผ่านเว็บไซต์ลาซาด้า ซึ่งกลุ่มเทสโก้ (สำนักงานใหญ่) ได้เข้าไปลงทุนถือหุ้นในลาซาด้า และเริ่มขาย 2556 เริ่มจากสินค้าพวกเครื่องใช้ไฟฟ้า เวลานี้มีสินค้ากว่า 5,000 รายการแล้ว เพราะประเมินแล้วว่า ด้วยประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ ฐานลูกค้า ตลอดคนเข้าชมเว็บไซต์จำนวนมากของลาซาด้า ที่ทำตลาดในหลายประเทศ จะเป็น “ตัวช่วย” ที่ดีในการกรุยทางสู่การค้าบนโลกออนไลน์ ซึ่งยังใหม่สำหรับเทสโก้ โลตัส

“ในแต่ละประเทศอาจจะมีการวางขายสินค้า หรือการทำตลาดที่แตกต่างกันไป และลาซาด้าเองก็มีความเชี่ยวชาญทางด้านสินค้าไลฟ์สไตล์มากกว่า และทางเทสโก้เองก็ต้องการแยกจุดยืนที่ชัดเจนด้วย”

ในอนาคตเทสโก้ โลตัสมีแผนจะเพิ่มจำนวนรายการสินค้าที่วางขายในลาซาด้าเช่นกัน จากที่ปัจจุบันมีอยู่ 5,000 รายการ แต่ยังอยู่ในช่วงพิจารณาอยู่ ส่วนในเรื่องที่จะเข้าไปลงทุนกับเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซอื่นๆ ทางเทสโก้ โลตัสยังขออุบไว้ก่อน เพราะยังไม่มีข้อมูลในส่วนนี้

 

“สหพัฒน์” จับมือพาร์ตเนอร์ “ทรานสคอสมอส” รุกอีคอมเมิร์ซ

กลุ่มสหพัฒน์ ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคและบริโภค และร้านสะดวกซื้อ ลอว์สัน 108 เป็นอีกรายที่ประกาศชัดเจนถึงการให้ความสำคัญกับ “การค้าออนไลน์” ล่าสุดได้กระโดดเข้าร่วมทุนกับ บริษัท ทรานสคอสมอส ประเทศไทย จำกัด ด้วยการเข้ามาถือหุ้น 30% และทางญี่ปุ่น 70%  ซึ่งทรานสคอสมอสได้ทำธุรกิจด้านอีคอมเมิร์ซแบบนันสต็อปเซอร์วิสระหว่างประเทศในประเทศไทยมากกว่า 6 ปี และลูกค้าส่วนใหญ่เป็นบริษัทญี่ปุ่นที่มาลงทุนในไทย

การที่สหพัฒน์เข้ามาร่วมทุนครั้งนี้ถือว่า “ถูกฝาถูกตัว” โดยมองว่า ทรานสคอสมอสจะมาช่วยให้ช่องทางขายอีคอมเมิร์ซของสหพัฒน์เติบโตได้เร็วขึ้น โดยสหพัฒน์จะนำเอาบุคลากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอีคอมเมิร์ซทั้งหมด มาทำงานร่วมกับทีมงานของทรานสคอสมอส เพื่อทำให้เป็นหน่วยงานเดียวกัน

บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานกลุ่มสหัพฒน์ มองว่า ช่องทางอีคอมเมิร์ซ ถือเป็นช่องทางขายที่มีศักยภาพ สหพัฒน์จะใช้ช่องทางนี้นำเสนอสินค้าในเครือทั้งหมด ในราคาระดับกลางราคาถูกกว่าหน้าร้าน เจาะกลุ่มวัยรุ่น เบื้องต้นจะเป็นสินค้าในกลุ่มไอซีซีทั้งหมดและเป็นกลุ่มสินค้าคอนซูเมอร์เป็นหลัก เชื่อว่าภายใน 5 ปีจะผลักดันให้ยอดขายในกลุ่มอีคอมเมิร์ซทั้งหมดอยู่ที่ 5% ของรายได้รวมสหพัฒน์ จากปัจจุบันยังมีน้อยกว่า 5%


 
“ซาโลร่า” เตรียมเปิด “ชอป” ขยับจากออนไลน์สู่ออฟไลน์!

ขณะที่ทุนค้าปลีกของไทยต่างมุ่งหวังในการโลดแล่นเข้าสู่โลกของอีคอมเมิร์ซ ผู้เล่นที่ถือกำเนิดจากธุรกิจชอปปิ้งออนไลน์ อย่าง “ซาโลร่า (Zalora)” เอง ก็กำลังเปิด “ชอป” เพื่อลูกค้ามาเลือกสินค้าแบบจับต้องได้จริง

การเปิดร้านป็อปอัปสโตร์ (Click & Mortar) ของซาโลร่า จึงเป็นการก้าวจากโลกออนไลน์ เพื่อสร้างประสบการณ์ และสร้างความมั่นใจในการชอปปิ้งให้ลูกค้ามากขึ้น โดยได้เปิดโมเดลธุรกิจนี้ที่สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และมาเลเซียแล้ว และวางแผนที่จะเปิดในประเทศไทยภายในปีนี้

ไมเคิล เฟอร์ราริโอ กรรมการผู้จัดการซาโลร่า ประเทศไทย มองว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยมีการเติบโตขึ้นสูงมาก มีผู้เล่นหน้าใหม่ลงมาเรื่อยๆ และมีความแข็งแกร่งมากขึ้น ประกอบกับระบบอินฟราสตรักเจอร์ในไทยก็แข็งแกร่งขึ้นเช่นกัน ซาโลร่าจึงต้องรักษาความเป็นผู้นำในตลาดอีแฟชั่น ด้วยการสร้าง “เอ็นเกจเมนต์” กับผู้บริโภค จึงต้องมีกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง และการเปิดป็อปอัปสโตร์ก็เป็นส่วนสำคัญในการดึงผู้บริโภคเข้ามาชอปในออนไลน์

โมเดลร้านป็อปอัป (Click & Mortar) จะเป็นรูปแบบของชอปที่วางโชว์สินค้าเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ไม่สามารถซื้อในร้านได้ในทันที แต่จะมี QR Code เพื่อเชื่อมต่อไปซื้อสินค้าในเว็บไซต์ ความสำคัญในการเปิดป็อปอัปคือให้ผู้บริโภคได้สัมผัสกับสินค้าจริงๆ ได้รู้ว่าเนื้อผ้าเป็นแบบไหน ลองแล้วเหมาะกับตัวเองหรือเปล่า แต่ยังคงเน้นที่การซื้อในช่องทางออนไลน์อยู่ โดยแบรนด์ที่จำหน่ายในร้านป็อปอัปจะเป็นเฮาส์แบรนด์ของซาโลร่าเอง คือแบรนด์ Zalora และ Ezra หรือแบรนด์อื่นๆ ที่ยังไม่มีชอปในประเทศไทย เพราะต้องการสร้างความแตกต่างจากแบรนด์อื่น

“ตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการหาพื้นที่ในการเปิดร้านป็อปอัปแห่งแรกและแห่งเดียว เพราะซาโลร่าต้องการให้เป็น “แฟล็กชิปสโตร์” แห่งเดียวในประเทศไทย ทำเลคงเป็นในห้างสรรพสินค้า เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่าย พื้นที่ราว 100-200 ตารางเมตร

นอกจากนี้ ซาโลร่ายังเน้นกลยุทธ์ Event Marketing โดยการร่วมกับพาร์ตเนอร์ที่มีชื่อเสียงในวงการแฟชั่น เพื่อทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อเป็นช่องทางให้คนรู้จักซาโลร่ามากขึ้น ในปีที่ผ่านมาได้ร่วมมือกับ ELLE Fashion Week และ Vogue Night Out