จะบอกว่าพ่ายแพ้หมดรูปก็ไม่ได้ เพราะ 1 ปีหลังจากไมโครซอฟท์ผ่านกระบวนการซื้อกิจการโทรศัพท์มือถือของโนเกียอย่างเป็นทางการด้วยมูลค่า 5.44 พันล้านยูโร (ราว 2.33 แสนล้านบาท) ไมโครซอฟท์ยืนยันว่า สามารถจำหน่ายสมาร์ทโฟนลูเมีย (Lumia) เพิ่มขึ้น 18% แต่จะยกย่องว่าดีลนี้ประสบความสำเร็จก็ไม่ได้ เพราะไมโครซอฟท์กำลังเตรียมแทงดีลนี้เป็นหนี้สูญเพื่อแก้ไขบัญชีที่ติดตัวแดงขาดทุนยับเยิน หลังจากยื่นเอกสารเตือนผู้ถือหุ้นสุดเครียดถึงภาวะสภาพคล่องทางการเงินลดลง และความเสี่ยงจากธุรกิจฮาร์ดแวร์ของบริษัทในอนาคต
การแก้ไขบัญชีจากดีลไมโครซอฟท์โนเกียมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคมนี้ คาดว่าจะเป็นการตัดบัญชีที่มีมูลค่าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ไมโครซอฟท์ หลังจากที่เคยดำเนินการลักษณะนี้เมื่อครั้งไมโครซอฟท์ขาดทุนครั้งแรกในรอบ 26 ปี เพราะการซื้อบริษัทโฆษณาออนไลน์ aQuantive มูลค่า 6.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อปี 2007
ลูเมียขายดีขึ้น
ปลายเดือนเมษายนของปีที่แล้ว ไมโครซอฟท์สามารถซื้อกิจการธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ของโนเกียได้อย่างสมบูรณ์ จนทำให้ตัวเองกลายเป็นผู้ผลิตโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่แบบก้าว กระโดด การเทเงินหลายพันล้านเหรียญสหรัฐทำให้ไมโครซอฟท์มีสินค้ากลุ่มโทรศัพท์เคลื่อนที่สำหรับทำตลาดแอปพลิเคชัน ระบบปฏิบัติการ และบริการออนไลน์ที่มีอยู่อย่างรวดเร็ว
ข่าวดี คือ เมื่อ 1 ปีผ่านไป ธุรกิจสมาร์ทโฟนที่ไมโครซอฟท์ซื้อมาส่งสัญญาณเติบโต โดยไมโครซอฟท์ระบุว่า สามารถจำหน่ายสมาร์ทโฟนกลุ่มลูเมีย (Lumia) ได้ราว 8.5 ล้านเครื่อง ในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคมที่ผ่านมา คิดเป็นสัดส่วนเติบโต 18% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีที่แล้ว
นักสังเกตการณ์เชื่อว่า นโยบายราคาทำให้ Lumia ขายดีเทน้ำเทท่า การเปิดตัว Lumia รุ่น 430, 535, 640 และ 640XL นั้น มีราคาระหว่าง 70-200 เหรียญสหรัฐ โดยไม่ติดสัญญา หรือประมาณ 2,300-6,400 บาทเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ยอดขาย 8.5 ล้านเครื่องนั้นน้อยมากเมื่อเทียบกับแอปเปิล (Apple) ซึ่งประกาศว่าสามารถจำหน่ายไอโฟน (iPhone) ได้มากถึง 61.2 ล้านเครื่อง ในช่วงเวลาเดียวกัน
ที่สำคัญ แม้ยอดจำหน่ายสมาร์ทโฟนจะส่งสัญญาณเติบโต แต่ไมโครซอฟท์พบแล้วว่า ธุรกิจสมาร์ทโฟนราคาประหยัดนั้นให้กำไรน้อยมาก ผลจากต้นทุนที่สูงเมื่อเทียบกับสินค้ากลุ่มอื่นที่ไมโครซอฟท์เคยทำกำไรอย่างงามมาก่อน โดยต้นทุนของธุรกิจผลิต และจำหน่ายสมาร์ทโฟนมักอยู่ที่งานการตลาด งานวิจัยและพัฒนา รวมถึงค่าใช้จ่ายจิปาถะอื่น
การเปิดตัวกองทัพสมาร์ทโฟน Lumia ราคาประหยัดในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ไมโครซอฟท์ต้องประกาศขาดทุนมูลค่า 4 ล้านเหรียญสหรัฐในไตรมาสล่าสุด ทั้งที่สามารถทำรายรับมากกว่า 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ
ซีอีโอไมโครซอฟท์ “สัตยา นาเดลลา (Satya Nadella)” แสดงความเห็นในแง่บวก ว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนแนวโน้มเติบโตชัดเจนในตลาดสมาร์ทโฟนราคาสุดคุ้ม หรือ Value Smartphone แต่ก็ยอมรับว่า ไมโครซอฟท์จะต้องดำเนินการใดสักอย่างเพื่อลดต้นทุนก่อนที่ฮาร์ดแวร์ระบบปฏิบัติการวินโดวส์รุ่นใหม่อย่าง Windows 10 จะพร้อมลงตลาด
อาจแทงดีลเป็นหนี้สูญ
ท่ามกลางแถลงการณ์โลกสวยของซีอีโอ ไมโครซอฟท์กลับชี้แจงในเอกสารถึงทางการสหรัฐฯ ว่ากำลังพบปัญหาที่ทำให้บริษัทอาจต้องเตรียมพร้อมตัดค่าใช้จ่ายหลายพันล้านเหรียญสหรัฐจากการควบรวมโนเกีย ให้เป็นหนี้สูญ (write-off) โดยการตัดดีลนี้ออกจากระบบบัญชีไมโครซอฟท์จะทำให้เจ้าพ่อยักษ์ใหญ่ซอฟต์แวร์โลกพ้นจากภาวะขาดทุนซ้ำซ้อนได้
สื่อต่างประเทศ เชื่อว่า การตัดดีลโนเกียออกจากระบบบัญชีไมโครซอฟท์อาจเกิดขึ้นช่วงกรกฎาคมนี้ ซึ่งเป็นช่วงเริ่มปีการเงินใหม่ 2016 ของไมโครซอฟท์ โดยในเอกสาร 10-Q ซึ่งไมโครซอฟท์ยื่นต่อคณะกรรมการกำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์ (U.S. Securities and Exchange Commission : SEC) เมื่อปลายเดือนเมษายน ไมโครซอฟท์อธิบายถึงความจำเป็นในการปรับปรุงบัญชีของบริษัทว่า เพราะแนวโน้มกระแสเงินสดของบริษัทที่ลดลง ทิศทางยอดจำหน่ายเครื่องสมาร์ทโฟนที่ชะลอตัว และความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากการลดราคาสินค้า ล้วนทำให้รายการบัญชีในแผนกฮาร์ดแวร์โทรศัพท์เคลื่อนที่ (Phone Hardware) เกิดปัญหาขึ้น
หนึ่งในการแก้ไขปรับปรุงบัญชีที่เป็นไปได้คือ การลงบัญชีเป็นหนี้สูญ หรือ write-off จุดนี้เบน ทอมป์สัน (Ben Thompson) นักวิเคราะห์อิสระประเมินว่า หากไมโครซอฟท์ดำเนินการตัดดีลเป็นหนี้สูญจริง หนี้สูญครั้งนี้จะถือเป็นการ write-off ที่มีมูลค่าสูงมาก ผลที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ ไมโครซอฟท์จะต้องประกาศขาดทุนมหาศาลในไตรมาสที่ดำเนินการ จุดนี้ทำให้ไมโครซอฟท์ต้องเตือนนักลงทุนให้ทราบก่อนล่วงหน้า
ที่ผ่านมา ไมโครซอฟท์นับเอากิจการโนเกียเป็นสินทรัพย์ หรือกู้ดวิล (goodwill) มูลค่า 5.46 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยการันตีว่า ความเชี่ยวชาญของโนเกียจะเป็นฐานที่ทำให้ไมโครซอฟท์ต่อยอดธุรกิจในระยะยาว แต่ภาวะการแข่งขันดุเดือดทำให้ไมโครซอฟท์ต้องเปลี่ยนความคิด และยอมรับว่าความหวังที่บริษัทวาดไว้ไม่สามารถเป็นจริงได้เพราะสินทรัพย์ที่ซื้อมาจากโนเกีย
เบื้องต้น เอมี ฮูด (Amy Hood) ประธานฝ่ายการเงินไมโครซอฟท์ยังไม่ยอมรับว่า จะดำเนินการ write-off ตัดเม็ดเงินลงทุนในโนเกียออกจากบัญชีทั้งหมด โดยยืนยันเพียงว่า ไมโครซอฟท์กำลังเดินนโยบายลดต้นทุนของแผนกงานโทรศัพท์เคลื่อนที่
การ write-off ครั้งล่าสุดของไมโครซอฟท์เกิดขึ้นเมื่อปี 2012 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ไมโครซอฟท์ประกาศผลประกอบการขาดทุนครั้งแรกในรอบ 26 ปี การขาดทุนครั้งแรกนับตั้งแต่เป็นบริษัทมหาชนของไมโครซอฟท์เกิดจากการทุ่มเงินซื้อกิจการบริษัท aQuantive เพื่ออัปเดตใหญ่ผลิตภัณฑ์กลุ่มธุรกิจโฆษณาออนไลน์ที่ยังไล่ตามกูเกิลไม่ได้สักที ปรากฏว่า หลังซื้อธุรกิจนี้ก็ยังติดตัวแดงต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2007 การทุ่มเงินครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไมโครซอฟท์ (ในช่วงเวลานั้น) จึงทำให้บริษัทขาดทุน แม้จะมีกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นตามปกติ
ครั้งนั้นรายจ่ายทั้งหมด 6.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ (จากเงินทั้งหมดที่ไมโครซอฟท์จ่ายให้ aQuantive จำนวน 6.3 พันล้านเหรียญ) จึงถูกบันทึกโดยไม่มีรายได้เข้ามาทดแทน จุดนี้ไมโครซอฟท์เปิดเผยว่า นับตั้งแต่การซื้อกิจการ aQuantive แผนกโฆษณาออนไลน์ของไมโครซอฟท์ขาดทุนมากกว่า 9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วง 5 ปีหลังการซื้อกิจการ
ข่าวลือโนเกียสะพัด
ในขณะที่สื่อมวลชนวิเคราะห์ความเป็นไปในวาระ 1 ปีดีลโนเกียไมโครซอฟท์ โนเกียกลับต้องออกแถลงการณ์เพื่อตอบโต้ข่าวลือหนาหู ว่า ไม่มีแผนกลับมาจำหน่ายโทรศัพท์มือถือสำหรับผู้บริโภคทั่วไป หรือคอนซูเมอร์โฟนอีกครั้ง อย่างที่ข่าวลือก่อนหน้านี้ระบุว่า โนเกียอาจหวนคืนตลาดอีกครั้งในปี 2016
ข่าวลือที่โนเกียต้องออกแถลงการณ์ปฏิเสธนี้ถูกเผยแพร่โดยสำนักข่าวรีโค้ด (Re/code) ซึ่งอ้างข้อมูลจาก 2 แหล่งข่าววงในที่ระบุว่า การขายกิจการสมาร์ทโฟนให้ไมโครซอฟท์เมื่อปี 2013 นั้นมีข้อกำหนดว่าโนเกียจะไม่สามารถผลิตสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ออกมาจำหน่ายได้จนกว่าจะถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2015 ล่าสุด จุดนี้ทำให้แหล่งข่าวของรีโค้ด เชื่อว่า โนเกียกำลังเตรียมแผนกลับมาเล่นในตลาดสมาร์ทโฟนอีกครั้งช่วงปีหน้า ซึ่งเหลืออีกเพียง 8 เดือน ก็จะพ้นกรอบเวลาที่กำหนดไว้
ในแถลงการณ์ โนเกียยืนยันว่า บริษัทจะไม่ดำเนินการผลิต หรือขายอุปกรณ์พกพาใดสำหรับผู้บริโภค (consumer handset) พร้อมกับปฏิเสธว่ารายงานข่าวเรื่องหน่วยธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ของโนเกีย ซึ่งถูกขายกิจการให้แก่ไมโครซอฟท์ (Microsoft) จะหันมาผลิตสมาร์ทโฟนเพื่อจำหน่ายให้แก่ชาวโลกนั้นไม่เป็นความจริง โดยเฉพาะข้อมูลที่ระบุว่า แม้โนเกียจะไม่สามารถผลิตฮาร์ดแวร์สมาร์ทโฟนได้จนกว่าจะถึงปลายปีนี้ แต่โนเกียมีการออกแบบแนวคิดทุกประเด็น (ยกเว้นระบบการผลิต) ไว้แล้ว
หันหาพันธมิตรจีนเพิ่ม
แม้จะยังไม่มีการประกาศร่วมมือเป็นพันธมิตรกับไมโครซอฟท์อย่างเป็นทางการ แต่ตัวแทนจาก “เสี่ยวหมี่ (Xiaomi)” ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนยักษ์ใหญ่แดนมังกรออกมายอมรับว่า ได้นำระบบปฏิบัติการ Windows 10 ไปทดสอบกับสมาร์ทโฟนรุ่น “Mi 4” ของตัวเองแล้ว ซึ่งหากประสบความสำเร็จ เสี่ยวหมี่ จะพัฒนาสินค้า Windows 10 ลงตลาดควบคู่กับโนเกีย
การร่วมมือกับพันธมิตรใหม่สัญชาติจีนถูกมองเป็นเรื่องจำเป็นของไมโครซอฟท์ เพราะไมโครซอฟท์จะได้รับโอกาสงามในการเพิ่มยอดผู้ใช้งาน Windows 10 ภายใต้ธงของเสี่ยวหมี่ ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับความนิยมอย่างมากในจีน ที่ผ่านมา เสี่ยวหมี่ มียอดขายสมาร์ทโฟนเติบโตเหนือกว่าซัมซุง (Samsung) และแอปเปิล จนได้รับชื่อเล่นอย่างไม่เป็นทางการว่า “Apple of China” เลยทีเดียว
แม้การจับมือกับพันธมิตรใหม่จะสะท้อนว่าดีลซื้อโนเกียอาจเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด แต่ทั้งหมดนี้ยังต้องรอดูผลแพ้ชนะในวันที่ระบบปฏิบัติการ Windows 10 เริ่มทำตลาดจริงจังในช่วงกลางปีนี้