หนักมาก !  เด็กยุคมิลเลนเนียลใช้สายตากับอุปกรณ์ดิจิตอลเกิน 9 ชั่วโมงต่อวัน

พบชาวมิลเลนเนียลใช้สายตาหนักเกินจำเป็น เหตุเพราะอยู่กับอุปกรณ์ดิจิตอลวันละ 9 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย ส่งผลให้อวัยวะอย่าง “ดวงตา“” เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาในการทำงาน
       
จากการศึกษาของ The Vision Council พบว่า 68 เปอร์เซ็นต์ของชาวมิลเลนเนียลยอมรับว่าตนเองมีอาการปวดตา ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ดวงตาของเด็กยุคมิลเลนเนียลเกิดปัญหานั้นมีหลายสาเหตุ แต่ประเด็นหลักมาจากการจ้องมองหน้าจอที่มีแสงจ้า เช่น หน้าจอคอมพิวเตอร์ หน้าจอทีวี แท็บเล็ต โทรศัพท์มือถือนานเกินไป
       
ที่แย่ไปกว่านั้นคือ ผู้ที่จ้องมองหน้าจอมักจะกะพริบตาน้อยครั้งกว่าผู้ที่ใช้ชีวิตห่างจากเทคโนโลยี ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาตาแห้ง หรือเกิดการระคายเคืองได้
       
นอกจากนี้ แสงสีฟ้าที่รู้จักกันในชื่อ HEV – High Energy Visible ที่ปล่อยออกมาจากหน้าจอของอุปกรณ์ต่างๆ ก็มผลต่อดวงตาอย่างมาก โดยงานวิจัยของ The Vision Council ระบุว่า แสงสีฟ้านี้อาจทำอันตรายต่อเซลล์เรตินอลได้เลยทีเดียว
       
อาการของโรคปวดตาในยุคดิจิตอลที่พบได้บ่อยคือ อาการตาแห้ง เคืองตา ปวดตา มองภาพไม่ชัด น้ำตาไหลบ่อย และปวดศีรษะ
       
แม้จะเป็นวิถีชีวิตที่ไม่ดีต่อสุขภาพ แต่ก็ยากมากที่คนสมัยนี้จะหลีกเลี่ยงการทำงานในรูปแบบดังกล่าวได้ ซึ่งการจะป้องกันดวงตาให้ไม่ต้องทำงานหนักเกินไปอาจทำได้โดยการพักสายตาจากหน้าจอคอมพิวเตอร์บ่อยๆ เท่าที่จะทำได้ ซึ่งในจุดนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของต่างประเทศต่างมีคำแนะนำในเรื่องเวลาในการพักสายตาที่แตกต่างกันออกไป
       
โดยทางผู้ทำสำรวจในครั้งนี้อย่าง The Vision Council แนะนำว่าควรใช้หลัก 20-20-20 คือ พักสายตาทุกๆ 20 นาที โดยให้พักสายตาครั้งละ 20 วินาที และให้มองสิ่งของที่อยู่ไกลออกไปประมาณ 20 ฟุต
       
แต่หากเป็นข้อกำหนดของกระทรวงแรงงาน ประเทศแคนาดานั้น แนะนำว่า ควรพักสายตาจากจอคอมพิวเตอร์ทุกชั่วโมง ชั่วโมงละห้านาที
       
หรือหากเป็นทางอังกฤษก็กำหนดไว้ว่า พนักงานควรได้รับโอกาสในการพักสายตาเป็นเวลาสั้นๆ แต่ให้บ่อยครั้ง เช่น ทุก 50-60 นาทีต่อการพักหนึ่งครั้ง โดยการพักสายตาครั้งหนึ่งอาจใช้เวลา 5-10 นาที เป็นต้น
       
ทางแก้อื่นที่สามารถทำได้ เช่น การปรับค่าหน้าจอให้ง่ายต่อการมองเห็น เพื่อจะได้ไม่ต้องเพ่งมองจนลูกตาใกล้กับหน้าจอมากเกินไป หรือการปรับแสงของหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้ใกล้เคียงกับความสว่างในห้อง หรือในบ้าน

ที่มา : http://manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9580000051859