พระภิกษุกลายเป็นอาชีพยอดนิยมในญี่ปุ่น โดยพระญี่ปุ่นเป็นทั้งผู้ประกอบพิธีกรรม, ที่ปรึกษาปัญหาชีวิต,รวมทั้งยังสามารถประกอบธุรกิจต่างๆได้เหมือนกับประชาชนทั่วไป
ถึงแม้ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะไม่ได้นับถือศาสนาใดอย่างเป็นทางการ แต่ศาสนาที่มีบทบาทต่อวิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่นมากที่สุด คือ ลัทธิชินโตและศาสนาพุทธ โดยชาวญี่ปุ่นจะสักการะทั้งศาลเจ้าและวัดโดยไม่ยึดติดกับความเชื่ออย่างใดอย่างเดียว
สังคมที่เร่งรีบและเคร่งเครียดทำให้ผู้คนต้องการที่พึ่งทางจิตใจมากขึ้น และทำให้พระภิกษุในญี่ปุ่นกลายเป็นอาชีพยอดนิยม
เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา วัดพุทธนิกายต่างๆในแดนอาทิตย์อุทัยได้ร่วมกันจัดงาน “มุไคฮาจิเมะ” ที่วัดโซโจจิ กรุงโตเกียว โดยเป็นเทศกาลทางพระพุทธศาสนาขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 6 พันคน ภายในงานนอกจากจะมีกิจกรรมของวัดต่างๆแล้ว ประชาชนยังสามารถสนทนาธรรมกับพระภิกษุ โดยผู้ที่เข้าร่วมงานล้วนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “รู้สึกสบายใจขึ้นมาก หลังจากได้ปรึกษาปัญหาชีวิตกับพระภิกษุ”
ทั้งนี้ พระภิกษุของญี่ปุ่นบางนิกายสามารถแต่งงานและมีครอบครัวได้ โดยพระเป็นเพียง “อาชีพ” อย่างหนึ่งที่ช่วยชาวบ้านประกอบพิธีกรรมและดูแลวัด บางครอบครัวเปิดตำหนักพระหรือวัดเล็กๆ โดยมีลูกหลานดูแลสืบทอดกันต่อมา พระญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยจึงมีอาชีพอื่นๆด้วย เช่น เป็นอาจารย์ หรือประกอบธุรกิจต่างๆ ดังนั้นพระญี่ปุ่นจึงมีชีวิตที่เหมือนกับประชาชนทั่วไป สามารถเล่นดนตรี, สรวลเสเฮฮา และบางครั้งก็ดื่นสุราได้ด้วย
วัดชินเกียวจิ ที่จังหวัดคาวาซากิ ได้เปิดร้านกาแฟภายในวัด และได้รับความนิยมอย่างมาก โดยภายในร้านจะมีบริการอาหารเมนูวัด ซึ่งเมนูมังสวิรัติเป็นที่เลี่ยงลือ โดยนอกจากลิ้มรสอาหารแล้ว ผู้ใช้บริการยังสามารถปรึกษาปัญหาชีวิตและสนทนาธรรมกับพระภิกษุ 3 รูปที่จะผลัดเปลี่ยนกันมาประจำที่ร้านกาแฟภายในวัด นอกจากนี้ผู้ที่สนใจยังสามารถฝึกคัดลอกพระคัมภีร์หรือร้อยลูกประคำสำหรับสวดมนต์ได้ด้วย
พระญี่ปุ่นยังสามารถทำกิจกรรมที่อาจไม่มีนักบวชที่ใดในโลกทำได้ นั่นคือ การเปิด “บาร์เหล้า” บาร์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ “บาร์แม่ชีวัดโคเอนจิ” และ “นากาโนบาร์” ที่กรุงโตเกียว โดยบาร์ทั้งสองแห่งบริการโดยพระภิกษุและแม่ชี อบอวลด้วยกลิ่นธูปกำยาน และตกแต่งด้วยพระพุทธรูป
ตามคติของพุทธศาสนาแบบไทย ผู้ออกบวชคือ “ผู้ที่สละแล้วซึ่งทางโลก” หากแต่พระญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งกลับคิดว่า การช่วยชาวบ้านให้คลายทุกข์เป็นหน้าที่อย่างหนึ่งของพระ พระเหล่านี้จึงเลือกที่จะอยู่ร่วมและเป็นที่ปรึกษาให้กับชาวบ้าน แทนที่จะปลีกวิเวกเพื่อแสวงหาความสันโดษส่วนตัว โดยขณะเดียวกันพระภิกษุที่ออกสู่สังคมเหล่านี้ก็สามารถเรียนรู้ว่า “ความทุกข์และความสุขที่แท้จริงคืออะไร?”
กระแสนิยมในพุทธศาสนาแบบเฉพาะตัวของญี่ปุ่น ทำให้สถานีโทรทัศน์อาซาฮีผลิตรายการที่ชื่อว่า “บุตฉะเคจิ” ซึ่งเป็นวาไรตี้โชว์ที่มีพระและแม่ชีเป็นผู้ร่วมรายการ รายการนี้นำเสนอวิธีแก้ปัญชีวิตต่างๆด้วยแนวคิดของพระพุทธศาสนา ขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วยมุกฮาๆของสองพิธีกร ทำให้ได้รับความนิยมจากผู้ชมอย่างสูง
พระญี่ปุ่นอาจแตกต่างอย่างมากจากพระภิกษุที่คนไทยรู้จัก แต่หากพิจารณาจากข้อเท็จจริงของสังคมญี่ปุ่นที่มองว่าพระคืออาชีพอย่างหนึ่ง พระญี่ปุ่นก็คือสามัญชนคนธรรมดาที่ช่วยประกอบพิธีกรรม และยังเป็นที่ปรึกษาปัญหาทางใจ รวมทั้งช่วยสืบทอดแนวคิดของพระพุทธศาสนาไปในขณะเดียวกันด้วย เหมือนกับที่โปรดิวเซอร์รายการ “บุตฉะเคจิ” ระบุว่า “พระเป็นบุคคลที่มีวาทศิลป์ และรู้จิตวิทยาในการสื่อสารกับผู้คนเป็นอย่างดี ซึ่งนี่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้พระพุทธศาสนาสืบทอดยาวนานมากว่า 2500 ปี สังคมสมัยใหม่คนต้องการที่พึ่งทางใจมากขึ้น และพระจะมีบทบาทช่วยปลดทุกข์ให้ประชาชนได้”
ชมคลิปรายการ “บุตฉะเค” วาไรตี้พุทธศาสนาสุดฮา
ที่มา : http://manager.co.th/Japan/ViewNews.aspx?NewsID=9580000064819