จับตา ! แอปเปิลปฏิวัติวงการเพลงรอบ 2 ด้วย “Apple Music”

เจ้าพ่อไอทียักษ์ใหญ่แอปเปิล (Apple) ปฏิวัติวงการเพลงมารอบหนึ่งแล้วเมื่อครั้งเปิดตัวเครื่องเล่นเพลงเอ็มพีสาม “ไอพ็อด (iPod)” ล่าสุด แอปเปิลกำลังพยายามปฏิวัติอีกครั้งด้วยการเปิดตัวบริการ “แอปเปิลมิวสิก (Apple Music)” ซึ่งเป็นผลต่อยอดจากการซื้อกิจการหูฟังเทพอย่าง “บีตส์ (Beats’)”
 
เมื่อครั้งแอปเปิลซื้อ Beats ผู้ผลิตหูฟังสวมศีรษะสีสดใสในราคา 3 พันล้านเหรียญสหรัฐเมื่อปีที่แล้ว นักสังเกตการณ์หลายคนสงสัยว่า แอปเปิลมีแผนการใดในใจ มาวันนี้ทุกคนได้ทราบคำตอบ เพราะแอปเปิลใช้งานประชุมนักพัฒนาที่จัดขึ้นในซานฟรานซิสโก เป็นเวทีเปิดตัวบริการฟังเพลงออนไลน์ใหม่ของบริษัท ซึ่งซีอีโอแอปเปิลการีนตีว่า จะเป็นบริการที่เปลี่ยนประสบการณ์ฟังเพลงของทุกคนไปตลอดกาล
 
ทิม คุก (Tim Cook) ซีอีโอแอปเปิลใช้คำว่า “It will change the way you experience music forever.” ขณะที่ผู้บริหารรายอื่นใช้คำว่า “การปฏิวัติ” หรือ Revolutionary
 
แอปเปิลระบุบนเวทีว่า Apple Music จะพร้อมให้บริการผู้ใช้แอปเปิลในช่วงปลายเดือนมิถุนายนนี้ ก่อนจะขยายไปยังผู้ใช้อุปกรณ์ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ (Android) ภายในปลายปี ด้วยค่าบริการรายเดือน 9.99 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 320 บาท ผู้ใช้จะได้ฟังเพลงแบบไม่จำกัด ผ่านรูปแบบการเช่าเพลง ไม่ใช่การซื้อเพลง
 
หลักการของ Apple Music เป็นไปตามที่หลายคนคาดการณ์ เพราะแอปเปิลกำลังตีตัวออกห่างจากรูปแบบบริการดาวน์โหลดเพลง ซึ่งเคยเป็นที่นิยมมากนับตั้งแต่แอปเปิลเปิดตัว iPod ตั้งแต่ปี 2001 ความนิยมในช่วงเวลาเกิน 10 ปีที่ผ่านมา ถดถอยจนแอปเปิลต้องเบนเข็มสู่รูปแบบบริการใหม่ แม้ว่าบริการดาวน์โหลดเพลงจะเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมเพลงอย่างพลิกฝ่ามือไปแล้วก็ตาม
 
 
จุดต่างระหว่างการปฏิวัติทั้ง 2 ครั้ง คือ แอปเปิลไม่ได้เป็นผู้นำการปฏิวัติครั้งนี้ แต่เนื่องจากแนวโน้มรายได้จากธุรกิจดาวน์โหลดเพลงนั้นถูกรูปแบบบริการฟังเพลงออนไลน์ หรือสตรีมมิง (Streaming) ไล่กินส่วนแบ่งต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยปัจจุบัน ตลาดสตรีมมิงเพลงออนไลน์มีเบอร์หนึ่งอยู่แล้วในชื่อ “สปอติไฟ (Spotify)” ซึ่งเป็นบริการที่มีฐานผู้ใช้ทั่วโลกมากกว่า 15 ล้านคน
 
จุดเด่นที่แอปเปิลพยายามสร้างให้ Apple Music คือ การเปิดช่องทางให้ผู้ใช้เลือกเพลงด้วยตัวเองได้ง่ายขึ้น ไม่ใช่การยึดระบบวิเคราะห์เพื่อแนะนำเพลง หรืออัลกอริธึมอย่างที่ผ่านมา ที่สำคัญ แอปเปิลพยายามทำให้การค้นหาเพลงเป็นไปได้สะดวกกว่าเดิมผ่านการเอ่ยปากถาม “สิริ (Siri)” โปรแกรมผู้ช่วยส่วนตัวบนไอโฟน ซึ่งจะทำให้การค้นหาเพลงยุคเก่าทำได้ในเวลาไม่กี่วินาที รวมถึงการค้นหาเพลงอันดับหนึ่งของตารางล่าสุด
 
Apple Music ยังเป็นพันธมิตรกับบริษัทซาวด์คลาวด์ (SoundCloud) บริการที่นักดนตรีอิสระสามารถอัปโหลดงานเพลงขึ้นสู่อินเทอร์เน็ต เพื่อให้แมวมอง หรือผู้สนใจเพลงใหม่ได้เพลิดเพลินกับเพลงอินดี้ได้สะดวก นอกจากนี้ แอปเปิลยังแอบเหยียบเข้าตลาดเดียวกับยูทิวบ์ (YouTube) บริการวิดีโอออนไลน์ของกูเกิล (Google) เพราะผู้ใช้สามารถชมมิวสิกวิดีโอเพลงบนบริการใหม่ของแอปเปิลได้ด้วย
 
ทั้งหมดนี้ แอปเปิลลงมือสร้างสถานีวิทยุออนไลน์ 24 ชั่วโมง สำหรับการฟังทั่วโลกในชื่อ “บีตส์ วัน (Beats One)” สถานีนี้จะเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการเลือกเพลง รองรับการฟังเพลงในมากกว่า 100 ประเทศ
 
ไม่เพียงบริการเช่าเพลงทุกเพลงในบริการไอจูนส์ (iTunes) ที่มีเพลงในคลังมากกว่า 30 ล้านเพลง Apple Music ยังเปิดให้ผู้ใช้มีโอกาสติดตามศิลปินด้วย จุดนี้ผู้ใช้สามารถทำผ่านบริการแอปเปิลมิวสิกคอนเนกต์ (Apple Music Connect) ซึ่งจะมีรายละเอียดเพลงของศิลปิน ทั้งเนื้อเพลง ภาพ ซิงเกิลใหม่ รวมถึงการส่งความเห็นให้ศิลปินในดวงใจ ทั้งหมดนี้ผู้ใช้อุปกรณ์แบรนด์แอปเปิลทั้งไอโฟน ไอพ็อดทัช ไอแพด (iPad) คอมพิวเตอร์แมคอินทอช (Mac) และแอปเปิลทีวี (Apple TV) ได้ใช้งานแน่นอน
 
การเปิดตัวบริการเพลงครั้งใหม่ของแอปเปิลนำไปสู่คำถาม 2 ประเด็นที่ยังรอคำตอบ หนึ่ง คือ บริการเพลงของแอปเปิลเป็นการ “ปฏิวัติวงการ” จริงหรือไม่ เนื่องจากบริการเพลงออนไลน์ลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ สอง คือ ผู้คนทั่วโลกจะยอมจ่ายเงินเพื่อฟังเพลงกับแอปเปิลหรือไม่ ทั้ง 2 ประเด็นยังต้องรอดูผลต่อไปในอนาคต
 
เบื้องต้น ข้อมูลระบุว่า แอปเปิลมีข้อมูลบัตรเครดิตในระบบมากกว่า 800 ล้านใบ (สถิติปี 2014) บวกกับฐานผู้ใช้อุปกรณ์ของแอปเปิลที่มีอยู่ทั่วโลก นักวิเคราะห์จึงเชื่อว่า บริการเพลงของแอปเปิลจะมีโอกาสฮอตฮิตมากกว่าบริการสตรีมมิงเพลงที่เคยมีมา งานนี้เรียกว่าบริการเจ้าตลาดอย่าง Spotify เตรียมรับศึกหนักเต็มตัวได้เลย
 

ทิม คุก (Tim Cook) ซีอีโอแอปเปิล
 

ไม่เพียงอุปกรณ์แบรนด์แอปเปิลทั้งไอโฟน ไอพ็อดทัช ไอแพด (iPad) คอมพิวเตอร์แมคอินทอช (Mac) และแอปเปิลทีวี (Apple TV) แต่ผู้ใช้แอนดรอยด์และพีซีจะได้ใช้งานด้วยเช่นกัน