บริษัทโทรคมนาคมในกลุ่มประเทศสหภาพุโรป หรืออียู (European Union) จะไม่สามารถคิดค่าบริการโรมมิ่ง หรือการขอใช้บริการข้ามเครือข่ายนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2017 ภายใต้คำสั่งของอียูที่ขีดเส้นกำหนดบังคับใช้ 1 ปี จากวันประกาศคือ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา
ผลจากคำสั่งนี้ทำให้ชาวยุโรปผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เดินทางท่องเที่ยวในประเทศกลุ่มอียู สามารถจ่ายค่าบริการโทรศัพท์ได้ในอัตราเดียวกับประเทศที่อาศัยอยู่ ซึ่งที่ผ่านมา ผู้ใช้จะต้องเสียค่าบริการพิเศษเพราะการใช้บริการ “โรมมิ่ง” หรือการใช้บริการข้ามเครือข่ายตามที่ผู้ให้บริการในประเทศได้ทำข้อตกลงกันเอาไว้ โดยล่าสุด โอเปอเรเตอร์ และคณะกรรมาธิการของอียูได้บรรลุข้อตกลงร่วมกันว่าทุกฝ่ายจะไม่มีการเก็บค่าบริการโรมมิ่งเพื่อผลักดันให้ประชาชนอียูกดโทรศัพท์สื่อสารกันได้อย่างเต็มที่
แม้คำสั่งนี้จะเป็นผลจากการเจรจาระหว่างโอเปอเรเตอร์ กับสภายุโรป (European Parliament) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รวมภาครัฐของกลุ่มประเทศอียู และคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ในบรัสเซลส์ แต่ข้อตกลงนี้ยังต้องผ่านการอนุมัติอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลของทั้ง 28 ประเทศในกลุ่มต่อไป
ตัวแทนคณะกรรมาธิการยุโรปให้ความเห็นถึงคำสั่งนี้ว่า เป็นการทำให้พรมแดนระหว่างประเทศไม่ใช่ต้นเหตุที่ทำให้เกิดค่าบริการที่ผู้บริโภคต้องจ่าย โดยยกย่องข้อตกลงนี้ว่า เป็นข้อตกลงที่ยอดเยี่ยม และสำคัญมากต่อวงการโทรคมนาคมในอนาคต
อย่างไรก็ตาม การบรรลุข้อตกลงในครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่บริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวนมากต่อต้านคำสั่งนี้ เนื่องจากหวั่นเกรงว่าการยกเลิกค่าบริการโรมมิ่งจะทำให้รายได้ของบริษัทลดลงไปด้วย โดยร้องเรียนว่า ในยุโรปนั้นมีโอเปอเรเตอร์มากกว่า 100 ราย สงครามราคาจึงมีความดุเดือดมาก ขณะเดียวกัน หลายประเทศก็พบวิกฤตเศรษฐกิจหนักหน่วง
เบื้องต้น การประเมินพบว่าคำสั่งยกเลิกค่าบริการโรมมิ่งในกลุ่มประเทศอียูจะทำให้กระแสเงินสดของผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในยุโรปลดลงเป็นมูลค่ามากกว่า 7 พันล้านยูโร (ราว 2.6 แสนล้านบาท) ในปี 2020 หรืออีก 4 ปีข้างหน้า โดยเป็นการประเมินของกลุ่ม Etno ตัวแทนอุตสาหกรรมโทรคมนาคมยุโรปที่ประกาศไว้เมื่อปี 2013