จับชีพจร Facebook ครึ่งปีแรก

ตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา เครือข่ายสังคมอันดับ 1 ของโลกอย่าง “เฟซบุ๊ก” (Facebook) ถูกจับตามองใกล้ชิดในหลายวงการ เพราะการประกาศทดสอบระบบมากมายที่เชื่อกันว่าจะสามารถต่อยอดธุรกิจของเฟซบุ๊กในตลาดใหม่ได้อย่างยั่งยืน ท่ามกลางนักวิเคราะห์ที่ฟันธงว่า สิ่งที่เฟซบุ๊กทำและสถิติที่สรุปได้ในช่วงครึ่งปีแรกของปีม้าทองนี้จะนำไปสู่เม็ดเงินรายได้เข้ากระเป๋าเฟซบุ๊กมูลค่าหลักพันล้านแน่นอน
 
ความเคลื่อนไหวที่ฮือฮาที่สุดต้องยกให้การเปิดเสรีแชตผ่านแอปพลิเคชัน “แมสเสนเจอร์” (Messenger) โดยไม่ต้องมีบัญชีเฟซบุ๊ก หมากเกมนี้ของเฟซบุ๊กมีนัยซ่อนอยู่เพราะการเปิดเสรีจะทำให้แอป Messenger นั้นมีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นแตะหลักพันล้านคน ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้นับหมื่นล้านเหรียญสหรัฐในอีก 5 ปี ผ่านบริการชำระเงินในแอป Messenger
 
ฮือฮารองลงมาคือ เฟซบุ๊กประกาศลุยให้บริการ “เฟซบุ๊ก ไลต์” (Facebook Lite) เพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้เครือข่าย 2G ในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งจะมีผลช่วยให้ฐานผู้ใช้ และสถิติการชมสื่อบนเฟซบุ๊กยิ่งขยายตัวมากขึ้นอีก โดยเฉพาะยอดชมวิดีโอที่กำลังไล่ตีตื้นเบอร์ 1 อย่างยูทิวบ์ (YouTube) เข้าไปทุกที
 
นอกจากนี้ ยังมีการประกาศทดสอบระบบกรอกข้อมูลการตลาดอัตโนมัติที่จะดึงข้อมูลประวัติของผู้ใช้มาเติมโดยที่ผู้ใช้ไม่ต้องเสียเวลาพิมพ์ ซึ่งไม่ใช่เพียงข้อมูลอย่างอีเมล ชื่อ หรือวันเกิดของตัวเอง แต่ยังมีโอกาสที่ข้อมูลเจาะลึกเช่นตำแหน่งงาน ชื่อบริษัทที่ทำงาน รวมถึงรหัสไปรษณีย์ จะถูกเติมลงในแบบฟอร์มแบบอัตโนมัติด้วย การทดสอบระบบนี้เกิดขึ้นท่ามกลางข่าวพัฒนาการอัจฉริยะของระบบวิเคราะห์ข้อมูลตัวตนบนเฟซบุ๊ก รวมถึงการระบุตัวตนผู้ใช้ได้แม้จะเห็นใบหน้าเพียงเสี้ยวเดียว
 
เปิดเสรีแชต Messenger
 
25 มิถุนายน 2015 เจ้าพ่อเครือข่ายสังคมอันดับ 1 ประกาศเปิดเสรีให้ผู้ใช้สามารถลงชื่อใช้งานแอปพลิเคชันแชต “Messenger” ได้โดยไม่ต้องใช้บัญชีเฟซบุ๊ก เพียงใช้เบอร์โทรศัพท์ก็สามารถส่งข้อความสนทนากับเพื่อนฝูงได้ทั่วโลก
 
นักสังเกตการณ์เชื่อว่า เฟซบุ๊กกำลังพยายามเพิ่มจำนวนผู้ใช้แอปพลิเคชันแชต Messenger ที่ให้บริการแบบแยกเดี่ยว หรือ standalone อย่างจริงจัง ซึ่งเป็นไปตามแผนที่ซีอีโอผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กเคยประกาศว่า ต้องการให้ Messenger เป็นประตูเชื่อมต่อร้านค้าปลีก ร้านอาหาร รวมถึงธุรกิจอื่นๆ
 
ก่อนการเปิดเสรีแอปพลิเคชัน Messenger มีผู้ใช้ราว 700 ล้านคน (รวมยอดผู้ใช้รายใหม่ 100 ล้านคนในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาแล้ว) จุดนี้เชื่อว่าการเปิดเสรีจะทำให้ Messenger มีฐานผู้ใช้เข้าใกล้หลัก 1 พันล้านอย่างรวดเร็ว
 
ถามว่าทำไมเฟซบุ๊กต้องเร่งมือขยายฐานผู้ใช้ คำตอบคือ กลยุทธ์หารายได้ที่เฟซบุ๊กบอกใบ้ไว้ต่อสังคมเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ครั้งนั้น เฟซบุ๊กเปิดบริการรับส่งเงินระหว่างผู้ใช้ (peer-to-peer payment) บนแอปพลิเคชัน Messenger แบบฟรีไม่มีค่าธรรมเนียมโอน ซึ่งเรียกคะแนนจากผู้ใช้อย่างเต็มเปี่ยม
 
ระบบโอนเงินบน Messenger ไม่เพียงทำให้การซื้อสินค้า และบริการบน Messenger เกิดขึ้นได้ง่ายเท่านั้น แต่ยังช่วยให้นักพัฒนาแอปพลิเคชันได้ลืมตาอ้าปากผ่านการสร้างสรรค์แอปพลิเคชันสำหรับ Messenger จุดนี้เฟซบุ๊กเคยประกาศในเดือนมีนาคมว่า จะพยายามชักจูงให้แบรนด์และธุรกิจใช้ Messenger เป็นช่องทางในการส่งใบเสร็จรับเงิน แจ้งข้อมูลสถานะการจัดส่งสินค้า รวมถึงการจัดการงานบริการลูกค้าที่ทั่วถึง
 

ตัวอย่างหน้าจอ Massenger บนเครื่องแอนดรอยด์
 
หากเฟซบุ๊กสามารถแทรกตัวเพื่อให้บริการสุดยอดช่องทางสื่อสารระหว่างธุรกิจ และผู้บริโภคได้สำเร็จ เฟซบุ๊กก็จะยิ่งมีโอกาสสร้างเงินรายได้มากขึ้นตามไปด้วย จุดนี้ธนาคารแห่งชาติเยอรมนี (ธนาคาร Deutsche) ได้คาดการณ์ว่า แอป Messenger นั้นจะมีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 พันล้านคน และสามารถสร้างรายได้ 9-10 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี ค.ศ.2020
 
ธนาคาร Deutsche ประเมินว่า บริการทางการเงินบน Messenger สามารถทำเงินได้มากกว่า 49 ล้านเหรียญสหรัฐแล้วในวันนี้ แต่ในปี ค.ศ.2020 จะทำเงินได้ 4.224-4.827 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 17% ของรายได้จากโฆษณาของเฟซบุ๊กทั้งหมด
 

 
เพื่อชาว 2G
 
หลังจากมีแผนส่ง Facebook Lite ลงเจาะประเทศกำลังพัฒนา 8 ประเทศ อย่าง บังกลาเทศ เนปาล ไนจีเรีย แอฟริกาใต้ ซูดาน ศรีลังกา เวียดนาม และซิมบับเว เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ล่าสุด โครงการนี้ทยอยเปิดตัวสู่ระดับโลกต่อเนื่อง โดยในผู้ใช้ในภูมิภาคเอเชีย แอฟริกา ละตินอเมริกานั้นสามารถดาวน์โหลดไปใช้งานได้ก่อนชาวยุโรป
 
ข้อมูล ระบุว่า Facebook Lite นี้มีการขยายสู่ประเทศอินเดีย และฟิลิปปินส์แล้ว เฉพาะอินเดีย เฟซบุ๊กมีฐานผู้ใช้มากกว่า 125 ล้านคน และ 90% เป็นผู้ใช้งานผ่านอุปกรณ์พกพา จุดนี้แม้โลกจะมีเครือข่าย 4G แล้ว แต่เครือข่าย 2G ที่ช้ากว่าก็ยังเป็นช่องทางที่ได้รับความนิยม
 
ผู้บริหารเฟซบุ๊กประเมินว่า ปัจจุบันผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบนอุปกรณ์พกพาผ่านเครือข่าย 2G นั้นมีจำนวนมากกว่า 875 ล้านคนทั่วโลก จุดนี้ทำให้เฟซบุ๊กต้องการสร้างประสบการณ์ยอดเยี่ยมเพื่อเข้าถึงคนกลุ่มนี้
 
แม้ Facebook Lite จะไม่รองรับคุณสมบัติที่ต้องมีการรับส่งข้อมูลจำนวนมาก เช่น วิดีโอ แต่ขณะนี้สถิติการชมวิดีโอบนเฟซบุ๊กนั้นกำลังขยายตัวสุดขีด ซึ่งไม่แน่ Facebook Lite อาจจะเป็นฐานสำคัญที่ทำให้เฟซบุ๊กมียอดใช้บริการคุณสมบัติสูงในอนาคตก็ได้
 
จากการสำรวจเมื่อกลางเดือนมิถุนายนพบว่า แม้ยอดชมวิดีโอออนไลน์บนยูทิวบ์จะยังเป็นอันดับ 1 ด้วยตัวเลขทะลุหลัก 3 ล้านล้านครั้งในปีนี้ แต่ยอดชมบนเฟซบุ๊กกำลังมีแนวโน้มทะยานสู่หลัก 2 ล้านล้านครั้ง เรียกว่าเฟซบุ๊กมีโอกาสครองยอดชมวิดีโอออนไลน์ 2 ใน 3 ของยอดชมวิดีโอบนยูทิวบ์
 
บริษัทวิจัยตลาดแอมแปร์ อนาลไลสิส (Ampere Analysis) พบว่า ยอดชมวิดีโอบนยูทิวบ์ถูกมองว่าเด่นเฉพาะในแง่ปริมาณ หรือ volume แต่ยอดชมวิดีโอบน Facebook นั้นโดดเด่นเรื่องคุณภาพมาก เนื่องจากผู้ชมทุกคนจะต้องลงชื่อใช้งาน หรือ log in แน่นอนว่าเหล่าแบรนด์จะมีข้อมูลของผู้ชมบนเฟซบุ๊กมากกว่าบนยูทิวบ์
 
ข้อมูลสะพัด
 
ที่ผ่านมา นักการตลาดจำนวนมากต้องสร้างระบบเพื่อดึงให้ชาวออนไลน์เข้ามาลงทะเบียน สำหรับการรับส่งข่าวสารในอนาคต ล่าสุด เฟซบุ๊กริเริ่มทดสอบระบบดึงข้อมูลชื่อ และอีเมลแอดเดรสของผู้ใช้แบบอัตโนมัติ ทำให้นักการตลาดทั่วโลกกำลังจะมีวิธีรวบรวมข้อมูลของผู้บริโภคได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม
 
เฟซบุ๊กทดสอบระบบนี้ในโฆษณาบนอุปกรณ์พกพา ชื่อของบริการคือ “ลีด แอดส์” (lead ads) นักการตลาดจะสามารถใช้ระบบนี้ในกรณีที่ขอให้ผู้ใช้ลงชื่อเพื่อรับอีเมล หรือโทรศัพท์สำหรับแจ้งข้อมูลของสินค้า และบริการเพิ่มเติม ซึ่งเมื่อผู้ใช้เฟซบุ๊กคลิกสมัครสมาชิก หรืออ่านโฆษณาที่ผูกพ่วงกับแบบฟอร์มอัตโนมัติ ระบบของเฟซบุ๊กจะเป็นผู้เติมแบบฟอร์มนั้นให้อัตโนมัติโดยดึงข้อมูลจากประวัติเฟซบุ๊กโปรไฟล์ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ผู้ใช้ยินยอมเปิดเผยอยู่แล้ว เช่น ชื่อจริง อีเมลแอดเดรส เบอร์โทรศัพท์ และรหัสไปรษณีย์
 
แต่ด้วยความที่รูปแบบของแบบฟอร์มที่จะสามารถกรอกข้อมูลได้อัตโนมัตินั้นมีหลากหลาย ซึ่งนักการตลาดจะสามารถเลือกรูปแบบที่เหมาะต่อโฆษณาโมบายของตัวเองที่ลงไว้กับเฟซบุ๊กได้อย่างเสรี นี่เองที่ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตว่า ข้อมูลอื่น เช่น ประเทศที่อยู่ ชื่อบริษัท ชื่อตำแหน่งงาน รวมถึงสถานภาพอื่นอาจจะถูกกรอกลงในแบบฟอร์มแบบอัตโนมัติได้ด้วย
 
การทดสอบนี้สะท้อนว่า เฟซบุ๊กกำลังพยายามตอบโจทย์นักการตลาดที่ใส่ใจต่อกลุ่มผู้คลิกชมโฆษณาเป็นพิเศษ ซึ่งจะเป็นคนละกลุ่มกับนักการตลาดที่ให้น้ำหนักต่อยอดชมโฆษณาแบบผ่านตาเพื่อสร้างแบรนด์เป็นหลัก จุดนี้ข้อมูลระบุว่า ปี 2014 ที่ผ่านมา นักโฆษณาที่เน้นกลยุทธ์ตอบสนองลูกค้ารายคน มีการลงโฆษณาคิดเป็นสัดส่วน 59% ของยอด 5.01 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐที่สะพัดในวงการโฆษณาดิจิตอลแดนลุงแซม
 
สถิติเหล่านี้สะท้อนคุณค่าของข้อมูลผู้ใช้ เหตุผลนี้ทำให้เฟซบุ๊กประกาศเพิ่มความสามารถให้ระบบวิเคราะห์ข้อมูลผู้ใช้เฟซบุ๊กต่อเนื่องตลอดเวลา สำหรับครึ่งปีแรกปี 2015 นี้ เฟซบุ๊กทดสอบอัลกอริธึมใหม่ที่สามารถวิเคราะห์ความสนใจของผู้ใช้งานแต่ละรายบนคอนเทนต์หลากหลาย ขณะเดียวกัน ก็พัฒนาระบบวิเคราะห์ภาพ ทำให้เฟซบุ๊กสามารถระบุตัวตนผู้ใช้ได้แม้จะเห็นภาพใบหน้าผู้ใช้เพียงครึ่งเดียว
 
เพื่อทดสอบอัลกอริธึมดังกล่าว ทีมงานของเฟซบุ๊กได้รวบรวมภาพบุคคลจากเว็บไซต์ฟลิกเกอร์ (Flickr) จำนวน 40,000 ภาพมาให้ระบบทำการวิเคราะห์ และพบว่า ความแม่นยำในการระบุตัวบุคคลนั้นสูงถึง 83% แม้ว่าภาพบางภาพจะเห็นใบหน้าไม่ครบ ภาพไม่ชัด หรือเป็นภาพใบหน้าด้านข้าง แต่อัลกอริธึมก็สามารถหาเอกลักษณ์ของบุคคลในภาพเพื่อมาวิเคราะห์ได้อย่างถูกต้อง เช่น เสื้อผ้า เครื่องประดับ หรือทรงผม
 
…ครึ่งปีแรกผ่านไปแล้ว ครึ่งปีหลังของเฟซบุ๊กสนุกแน่นอน…