แนวคิดใหม่เฟซบุ๊ก (Facebook) เปิดตัว Suggested Video Feed ช่วยผู้ผลิตคอนเทนต์ดูแลคลิป แถมคลิปไหนมียอดผู้ชมนานกว่าก็จะได้รับเงินค่าโฆษณามากขึ้นด้วย
ตลาดของยูทิวบ์ (YouTube) ถูกท้าทายครั้งใหญ่จากเฟซบุ๊ก โดยล่าสุด เป็นการเปิดตัว “Suggested Video Feed” โดยเฟซบุ๊ก พร้อมแนวคิดในการแบ่งค่าโฆษณาที่ต่างจากยูทิวบ์ โดยดีลของยูทิวบ์คือ การเก็บ 45 เปอร์เซ็นต์ของรายได้เข้าบริษัท ส่วนอีก 55 เปอร์เซ็นต์ให้แก่ผู้ผลิตคอนเทนต์นั้นๆ แต่ดีลของเฟซบุ๊กนั้นต่างออกไป เพราะแม้บริษัทจะเก็บ 45 เปอร์เซ็นต์เข้าเป็นรายได้ของบริษัทก็จริง แต่อีก 55 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือนั้นจะกระจายกันไปในหมู่ผู้ผลิตคอนเทนต์ คลิปใดมียอดผู้ชมโดดเด่นก็จะได้รับส่วนแบ่งมากกว่า
นอกจากนี้ จากการเปิดเผยของเฟซบุ๊ก ระบุว่า ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กมีการรับชมวิดีโอประมาณ 4 พันล้านวิวต่อวัน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านโฆษณา Eleni Marouli เผยว่า “นี่คือหายนะของยูทิวบ์” เลยทีเดียว
“เราคาดการณ์ว่า ยูทิวบ์จะสูญเสียส่วนแบ่งตลาดภายในปีหน้าเป็นอย่างช้า แม้จะบอกไม่ได้ว่าโมเดลธุรกิจของเฟซบุ๊กเป็นโมเดลที่เยี่ยมยอด แต่เราจะได้เห็นการต่อสู้ระหว่างเฟซบุ๊กกับยูทิวบ์ในการแย่งชิงผู้ผลิตสื่อให้เข้าหาแพลตฟอร์มของตนเองอย่างชัดเจนมากขึ้น”
โดยในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ช่อง HBO ของสหรัฐอเมริกา ก็ประกาศว่า จะมีการสตรีมมิ่งบางรายการของตนเองผ่านทางเฟซบุ๊กแล้วด้วย
การนำเงินมายั่วใจย่อมดึงดูดให้ผู้ผลิตสื่อต่างหันมาอัปโหลดวิดีโอลงบนแพลตฟอร์มมากขึ้น และเมื่อมีผู้ผลิตคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มมากขึ้น ก็ทำให้รายได้ขององค์กรเพิ่มขึ้น รายงานจาก BusinessInsider ระบุว่า เฟซบุ๊กมีรายได้จากค่าโฆษณา 3.3 พันล้านเหรียญสหรัฐในช่วงไตรมาสแรกของปี โดย 73 เปอร์เซ็นต์มาจากรายได้ค่าโฆษณาในตลาดโมบาย
“เฟซบุ๊กปรับตัวได้รวดเร็วมาก ในปี ค.ศ.2012 พวกเขายังไม่มีรายได้จากโฆษณาบนตลาดโมบายเลย แต่ในเวลาเพียง 2 ปี ก็สามารถสร้างรายได้ขึ้นมาได้มากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ทั้งหมด”
“จากการคาดการณ์ของเรา ภายในปี ค.ศ.2018 เฟซบุ๊กจะมีส่วนแบ่งจากตลาดโฆษณาออนไลน์ในยุโรปถึง 25 เปอร์เซ็นต์ และในสหรัฐอเมริกา อาจเป็นตัวเลขที่มากกว่านั้นอีก”
อย่างไรก็ดี ปัญหาหนึ่งที่ผู้ผลิตคอนเทนต์ควรทราบ คือ (ในตอนนี้) การเสิร์ชหาวิดีโอบนเฟซบุ๊กยังยากกว่าการเสิร์ชหาบนยูทิวบ์ แต่ในอนาคตอาจไม่แน่เสมอไป
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์รายนี้ได้ฝากถึงเฟซบุ๊กเอาไว้ว่า “ธุรกิจรายใหญ่ไม่ต้องการเฟซบุ๊ก หรือยูทิวบ์ในการเผยแพร่คอนเทนต์ของพวกเขา ถ้าดีลที่ได้รับไม่สามารถสร้างความพึงพอใจได้ พวกเขาก็จะถอนตัวออกไปเหมือนอย่างที่ Channel 4 ทำกับยูทิวบ์นั่นเอง”