จีเอฟเค บริษัทวิจัยทางการตลาดเผยถึงผลการศึกษาถึงพฤติกรรมผู้บริโภคคนไทยในปัจจุบันที่มี “ค่านิยม” เป็นผู้ยึดหลักประเพณีนิยมสูงที่สุดในเอเชีย โดยที่จีเอฟเคได้แบงออกเป็น 7 กลุ่มใหญ่ด้วยกัน ได้แก่ ผู้ยึดหลักความสำเร็จ (Achievers), ผู้ที่ยึดหลักประเพณีนิยม (Traditionalists), ผู้ยึดหลักอุปถัมภ์ (Nurturers), ผู้ที่ยึดหลักบรรทัดฐานทางสังคม (Social Rationals), ผู้ที่ยึดหลักอุปถัมภ์ (Survivors), ผู้ที่ยึดหลักการของตัวเอง (Self-Directeds) และผู้ที่ยึดหลักสุขนิยม (Hedonists)
เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในเอเชียรวม 20 ประเทศ พบว่าผู้บริโภคเอเชียส่วนใหญ่เป็นผู้ยึดหลักความสำเร็จ (Achievers) ซึ่งจะให้ความสำคัญอย่างมากต่อการประสบความสำเร็จ และแสดงถึงสถานะทางสังคม ประเทศอินเดีย และประเทศจีนส่วนใหญ่จะเป็นคนกลุ่มนี้ คิดเป็นสัดส่วนใหญ่ที่ 67% และ 40% ตามลำดับ
ในขณะที่ประเทศไทยค่านิยมของผู้ที่ยึดหลักประเพณีนิยมนำสูงมากที่สุดที่ 44% เชื่อมั่นในวิถีชีวิตที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นวิธีที่ดีที่สุด เรียกง่ายๆ ว่ายังคงยึดมั่นกับวัฒนธรรม หรือจารีตประเพณีดั้งเดิมของไทย รองลงมาเป็นกลุ่มของผู้ยึดหลักความสำเร็จ 30%
โดยทั่วไปแล้วผู้ยึดหลักนิยมมักจะโน้มเอียงไปในทางปิดกั้นนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งอาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการพัฒนานวัตกรรมค่อนข้างต่ำ
แต่ในแง่ของการตอบสนอง ”เทคโนโลยี” คนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก มีผลการศึกษาว่า ประเทศไทยติดอันดับที่ 8 ของตลาดเทคโนโลยีที่มีการเติบโตสูงที่สุดในปี 2558 เห็นได้จากกระแสการเปิดตัวของสมาร์ทโฟนไม่ว่ารุ่นใดก็ตาม คนไทยจะตื่นตัวเป็นพิเศษ