ASTVผู้จัดการรายวัน – วิกฤตภัยแล้งไม่กระทบผู้ผลิต “น้ำดื่มบรรจุขวด” ยักษ์ใหญ่ “ไทยเบฟ” โวเตรียมมาตรการพร้อมหลังน้ำท่วมใหญ่ ย้ำ 11 โรงงานในนิคมฯ นวนคร และอมตะยังเดินหน้าผลิตเต็มกำลัง ด้าน “SUN GREEN” ผู้ประกอบการ SMEs ไม่หวั่นหากเกิดปัญหาเตรียมเจรจาขอซื้อน้ำประปาสำรองจาก กปน. มั่นใจรัฐไม่ปล่อยให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำเพราะจะส่งผลกระทบวงกว้างทุกองค์กรธุรกิจ ส่วนผู้ประกอบการหน้าใหม่ “124 WATER” กักน้ำสำรองพร้อมรับมือเต็มที่
นายมารุต บูรณะเศรษฐกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ในเครือ “ไทยเบฟ” ที่มีเครื่องดื่มหลากหลายแบรนด์ทั้ง “โออิชิ”, “คริสตัล”, “ช้าง” เป็นต้น เปิดเผยว่า จากปัญหาการขาดแคลนน้ำประปาที่เป็นอยู่ในขณะนี้ บริษัทฯ ขอยืนยันว่ายังไม่มีผลกระทบในแง่การผลิตกับเครือแต่อย่างใด และคาดว่าไม่น่าจะส่งผลกระทบร้ายแรงแต่อย่างใดด้วยจากวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ เพราะว่าโรงงานของบริษัทฯ ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร จ.ปทุมธานี กับนิคมอุตสาหกรรมอมตะ จ.ชลบุรี ซึ่งมีการให้คำมั่นกันแล้วว่าจะจัดการหาน้ำให้ไม่ให้ขาดแคลน โดยเฉพาะโรงงานที่ปทุมธานีที่อยู่ในพื้นที่น้ำประปาขาดแคลนในเวลานี้
อีกทั้งในโรงงานผลิตน้ำของบริษัทแต่ละแห่งจะมีบ่อพักน้ำทั้งภายในและภายนอกนิคมฯ ที่จะมีการเก็บน้ำสำรองไว้พอสมควร ทุกวันนี้โรงงานทั้ง 11 โรงงานในเครือทำการผลิตสินค้าน้ำดื่มเต็มที่เต็มกำลังการผลิตซึ่งอาจจะเพิ่มได้อีกเล็กน้อย ไม่น่าจะเกิดการขาดแคลนน้ำดื่มแต่อย่างใด
“เรามีมาตรการต่างๆ เตรียมไว้อย่างดีตั้งแต่ตอนช่วงที่เกิดน้ำท่วมใหญ่แล้ว ตอนนี้ก็เตรียมการป้องกันปัญหาไว้อย่างดี กับพวกการผลิตเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ต่างๆ เช่น ชาเชียว โออิชิ, น้ำดื่ม คริสตัล และน้ำดื่ม ช้าง เป็นต้น และตอนนี้ยังไม่เห็นมีออเดอร์ที่เข้ามาแบบผิดปกติ หรือมากกว่าเดิมแบบผิดสังเกตแต่อย่างใด” นายมารุตกล่าว
*** “SUN GREEN” เร่งเจรจา กปน. ขอซื้อน้ำประปาสำรอง ***
น.ส.วรพรรณ สินธุโสภณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เค.จี.เอ็น.วอเตอร์ จำกัด ผู้ผลิตน้ำดื่มบรรจุขวดแบรนด์ “SUN GREEN” เปิดเผยว่า รู้สึกวิตกเล็กน้อยกับปัญหาสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2558 เนื่องจากเป็นวัตถุดิบต้นน้ำสำคัญที่ใช้ในการผลิต ซึ่งหากเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำจริงๆ อาจจำเป็นต้องใช้วิธีติดต่อซื้อน้ำสำรองจากการประปานครหลวง (กปน.) ในราคาธุรกิจแต่ก็สูงกว่าราคาปกติเล็กน้อย เหมือนเมื่อครั้งที่เกิดปัญหาน้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปี 2554 และเหตุการณ์ท่อประปาขนาดใหญ่แตกเมื่อประมาณปี 2555
อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุที่บริษัทฯ เปิดดำเนินงานมา 19 ปีแล้ว จึงมั่นใจว่ารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงไม่ปล่อยให้ปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภคเกิดขึ้น เพราะถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จำเป็นต่อหน่วยงานและองค์กรต่างๆ เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน โรงแรม โรงงานอุตสาหกรรม บ้านพักอาศัยทั่วไป ตลอดจนสถานบริการต่างๆ แต่ขอแนะนำให้ผู้ใช้น้ำประปาทุกท่านควรประหยัดการใช้น้ำและเก็บสำรองน้ำไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉินด้วย
บริษัทฯ มีโรงงานตั้งอยู่ในพื้นที่ ซ.เสือใหญ่อุทิศ ถ.รัชดาภิเษก เขตจตุจักร กรุงเทพฯ ทำการผลิตในลักษณะ OEM และแบรนด์ของตัวเองในสัดส่วนเท่ากันคือ 50:50 ด้วยกำลังการผลิตวันละประมาณ 4 พันโหล ในขนาด 350 มล., 500 มล., 600 มล., 630 มล., 1.5 พัน มล. และบรรจุถัง 18.9 ลิตร แต่ละปีมีการขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 8% เพื่อเป็นการรักษาคุณภาพและมาตรฐานการผลิต โดยเน้นตลาดค้าส่ง ประเภทโรงเรียน โรงแรม ร้านอาหาร และอื่นๆ รวมทั้งจำหน่ายปลีกในร้ายกาแฟคาเฟ่อะเมซอน เน้นพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล 80% ต่างจังหวัด 20%
“ปัจจุบันบริษัทฯ มีผลิตภัณฑ์ 2 ชนิด คือ น้ำดื่ม Reverse Osmosis หรือน้ำดื่ม RO ซึ่งเป็นน้ำกรองผสมมาตรฐาน และน้ำดื่ม Pi-Water เป็นน้ำแร่ที่กรองด้วยเครื่องแม่เหล็กแรงสูง ซึ่งทั้งสองชนิดมีคุณภาพและมาตรฐานการผลิตสูง จึงขอแนะนำผู้บริโภคน้ำดื่มบรรจุขวดควรพิจารณาองค์ประกอบทั้งสองข้อเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกซื้อมากกว่าราคาซึ่งปัจจุบันมีมากมายในตลาด” น.ส.วรพรรณกล่าวในตอนท้าย
*** 124 WATER เร่งเก็บตุนสำรองน้ำประปา ***
ทางด้าน น.ส.สุนิสา ธีระวาทิน กรรมการผู้จัดการ หจก. 124 วอเตอร์ ผู้ผลิตน้ำดื่มบรรจุขวดแบรนด์ “124 WATER” เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ไม่ได้รู้สึกกังวลปัญหาขาดแคลนน้ำประปาเพื่อใช้ในการผลิตนัก เนื่องจากโรงงานตั้งอยู่ในพื้นที่บางนาซึ่งขณะนี้ยังไม่มีผลกระทบแต่อย่างใด นอกจากนั้นโรงงานยังมีการสำรองปริมาณน้ำประปาเป็นประจำ ทั้งในถังเก็บน้ำขนาด 1-5 พันลิตร เพื่อใช้ผลิตน้ำดื่มปริมาณวันละ 500-800 โหล ทุกขนาดตั้งแต่ปริมาณ 350 มล., 500 มล., 600 มล. 1.5 พัน มล. และขนาดบรรจุถัง 18.9 ลิตร
ปัจจุบันโรงงานเน้นการผลิตในลักษณะ OEM ประมาณ 70-80% และผลิตแบรนด์ของตัวเอง 20-30% เน้นตลาดร้านอาหารและลูกค้าขาจรในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล 80% ต่างจังหวัด 20% โดยอนาคตอันใกล้มีแผนขยายตลาดไปยังประเทศลาว โดยขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรธุรกิจนักลงทุนท้องถิ่น คาดว่าจะเห็นผลในเร็วๆ นี้ พร้อมเพิ่มกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าตัวเพื่อรองรับปริมาณความต้องการที่มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง