LINE Pay ผู้ท้าชิงตลาดชำระเงินออนไลน์

หลังจากที่ไลน์ได้เปิดตัวสินค้าและบริการต่างๆ ไปมากมายแล้ว ทั้งสติ๊กเกอร์ เกม แอพพลิเคชั่นต่างๆ รวมไปถึงแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอย่างไลน์ ช้อป ทีนี้ก็ถึงคราวที่ไลน์จะทำให้ระบบอีคอมเมิร์ซครบวงจรมากขึ้นด้วยการเปิดตัว LINE Pay ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการชำระเงินที่พ่วงกับบัตรเครดิต หรือบัตรเดบิต หรือที่เรียกกันว่า Payment Gateway

ไลน์ได้เปิดให้บริการแบบ Soft Launch เมื่อวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา จากนั้นได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 เป็นการเปิดตัวเป็นประเทศที่ 2 ต่อจากญี่ปุ่น ซึ่งทางไลน์มองว่าในประเทศไทยยังมีโอกาสอีกเยอะด้วยฐานผู้ใช้ 33 ล้านคน และการเติบโตของอีคอมเมิร์ซก็สูงขึ้นเรื่อยๆ ภายใน 1 เดือนที่ได้เปิดตัวไป มียอดผู้สมัครแล้วรวม 1 ล้านคน

แม้ในตลาด Payment Gateway ในเมืองไทยตอนนี้จะมีผู้เล่นหลายรายด้วยกัน โดยที่มีทั้งรูปแบบ Bank และ Non-Bank รายใหญ่ๆ ที่เป็นที่รู้จักได้แก่ PayPal, Pay Solution และ Pay Sabuy แต่ถ้านับรายย่อยอื่นๆ ถือว่ามีนับ 100 รายเลยทีเดียว

แต่สิ่งที่ไลน์จะนำมาเป็นจุดเด่นก็คือการใช้งานง่ายที่สามารถเข้าผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ได้เลย และใช้เข้าถึงผู้ใช้ได้ง่าย เพราะไลน์ได้เข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของแต่ละคนแล้ว รวมไปถึงการทำโลคอล คอนเทนต์ เพื่อให้ผู้ใช้เข้าใจการทำงานได้ง่าย ต่างจากผู้เล่นรายอื่นที่ยังไม่มีโลคอล คอนเทนต์มากนัก

ผู้ที่สามารถใช้บริการไลน์ เพย์ได้นั้นจะเป็นได้ทั้งกลุ่ม “ยูสเซอร์” ทั่วไป ที่ต้องการชำระเงินบนช่องทางออนไลน์ หรือจะเป็น “ร้านค้า” ที่สามารถใช้บริการไลน์ เพย์เพื่อเป็นอีกช่องทางให้ลูกค้าได้ชำระเงิน ในปัจจุบันมีร้านค้าที่เข้าร่วมใช้บริการกว่า 100 ร้านค้าแล้ว เป็นทั้งแบรนด์ใหญ่ แบรนด์กลาง และระดับ SME ตั้งเป้าสิ้นปีมีทั้งหมด 300 ร้านค้า

ทางไลน์เองก็ได้ดึงดูดให้ผู้ใช้ให้มาร่วมใช้บริการด้วยการทำ Cross-Promotion ต่างๆ เช่นการแจกสติ๊กเกอร์ฟรี หรือเหรียญฟรี ส่วนทางด้านร้านค้าจะสามารถโปรโมทผ่าน Official Account ของ LINE Pay ได้ด้วย

ประภากร ลิปิกรณ์ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจ LINE Pay กล่าวว่า ไลน์ เพย์เป็นแพลตฟอร์มการชำระเงินรูปแบบใหม่ มองว่าในตลาดยังโตได้อีกเรื่อยๆ เพราะแนวโน้มธุรกิจออนไลน์เติบโตขึ้นทุกปีๆ ความท้าทายก็ยังคงมีอยู่เพราะพฤติกรรมผู้ใช้ยังคงติดกับการใช้เงินสด เพราะฉะนั้นจึงต้องให้ลูกค้าลองใช้ และปัจจัยที่สำคัญของธุรกิจนี้คือต้องง่าย และสนุก ถ้ามีการใช้งานที่ซับซ้อนเขาจะไม่ใช้เลย

สำหรับรายได้ที่ไลน์จะได้จากไลน์ เพย์ก็คือ “ค่าธรรมเนียม” จากร้านค้า โดยแบ่งเป็นสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ แต่ในระยะแรกไลน์จะยังไม่เก็บค่าธรรมเนียมจนถึงสิ้นปี 2558 เพื่อดึงยูสเซอร์ให้เข้ามาใช้งานมากกว่า จะเริ่มเก็บค่าธรรมเนียมอย่างจริงจังในปี 2559 แต่ยังไม่เปิดผยว่าในอัตราเท่าไหร่

“เอ็นโซโก-ไลน์ช้อป” โตขึ้น 30%

จาก 100 ร้านค้าที่ได้กล่าวข้างต้นไปว่าเป็นร้านค้าที่ได้นำไลน์ เพย์เข้ามาเป็นรูปแบบการชำระเงินอีก 1 ช่องทาง ซึ่งมีแบรนด์ใหญ่เข้าร่วมมากมาย เช่น LINE SHOP, Central.co.th, Ensogo และ SE-ED

เว็บไซต์เอ็นโซโก้ที่ได้รวบรวมดีลสินค้าและบริการได้เปิดเผยว่าหลังจากไลชไลน์ เพย์แล้วมีการเติบโตขึ้น 30% ในแง่ของจำนวนการใช้จ่าย แต่ถ้าในแง่ของมูลค่าเพิ่มขึ้น 15%

กิตติสันต์ คำทิพย์ หัวหน้าฝ่ายการตลาด บริษัท เอ็นโซโก้(ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เราได้เริ่มใช้ไลน์ เพย์มาได้ราว 2 สัปดาห์ ซึ่งก็พบว่ามีการเติบโตสูงขึ้นถึง 30% เพราะว่าลูกค้าได้รับความสะดวกมากขึ้น สามารถชำระเงินผ่านสมาร์ทโฟนได้ทันที พฤติกรรมผู้บริโภคสมัยนี้อยู่กับสมาร์ทโฟนเป็นประจำอยู่แล้วด้วย และโดยปกติลูกค้าของเอ็นโซโก้ก็ชำระผ่านบัตรเครดิตอยู่แล้วในสัดส่วน 80%

ในขณะเดียวกัน LINE SHOP ที่เป็นอีคอมเมิร์ซภายใต้ชายคาของไลน์เองที่ได้กระหน่ำโปรโมทอยู่พักใหญ่ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ภายหลังจึงมีการเพิ่มช่องทางการชำระเงินผ่านไลน์ เพย์ ผลปรากฏว่ามีการเติบโตขึ้น 32% เช่นกัน ทำให้เห็นทิศทางต่อไปของไลน์ ช้อปว่าจะเหลือเพียงช่องทางการชำระเงินผ่านไลน์ เพย์อย่างเดียวเท่านั้น